เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : มือของฉันมีความสุขที่ได้ขีดเขียนสิ่งประหลาด

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง “ห้องส่วนตัว” ที่แปลจาก A Room of One’s Own ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ โดย มาลินี แก้วเนตร แต่มันไม่ใช่ถ้อยคำของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ หากแต่เป็นของ เลดี้ วินชิลซี นักเขียนหญิงในศตวรรษที่ 16 ที่ผู้เขียนคือ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ หยิบยกมา

เป็นข้อความที่ทำให้ผู้เขียนหยุดชะงัก เพราะมันคือความจริงของคนที่ชอบขีดเขียน คนที่มีชีวิตอยู่ และดำรงชีวิตด้วยการขีดเขียน และเป็นชีวิตของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนหญิงคนสำคัญคนหนึ่งของโลกเช่นกัน

ใช่อย่างแน่แท้ที่ว่า คนที่ชอบขีดเขียนมีความสุขเมื่อได้ขีดเขียน งานเขียนเหมือนลมหายใจ บางวันเมื่อไม่ได้ขีดเขียนถึงขนาดนอนไม่หลับ

เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นอกจากจะทำให้เกิดวรรณกรรมชิ้นเอกที่เขียนโดยผู้หญิง ยังทำให้เกิดบันทึกประวัติศาสตร์การดิ้นรนของผู้หญิงที่ต้องการจะมีตัวตน มีสถานะเทียบเท่ากับชาย เป็นประเด็นที่ยังไม่คลี่คลายไปโดยสิ้นเชิงในทุกวันนี้

นักเขียนหลายคนอาจจะเลือกเขียนนวนิยายเพื่อสื่อสารความคิดนี้

แต่ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เลือกเขียนเป็นความเรียง แบบไหนยากกว่าหรือดีกว่า ก็สุดจะตัดสินได้

 

รู้แต่ว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านต้องหยุดคิดทีละประโยค ฉงนฉงายกับการลื่นไหลของความคิดที่ต่อเนื่องชวนติดตาม

ผู้เขียนนำเสนอประเด็นหลายประเด็นที่อยู่รอบๆ ความไม่เท่าเทียมกันของหญิงและชาย

การใช้ห้องส่วนตัวเป็นสัญลักษณ์ของการมีอำนาจเหนือพื้นที่เล็กๆ ที่เป็นของเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งอิสรภาพของผู้หญิงที่มาพร้อมกับการมี 500 ปอนด์ต่อปีเป็นของตัวเอง

ผู้หญิงที่พ่อแม่มีฐานะและสามารถจัดหา “ห้องส่วนตัว” ให้กับลูกสาวย่อมไม่มีวันรู้ถึงความรู้สึกของผู้หญิงที่พ่อแม่ฐานะไม่ดีและทำให้เธอไม่มีห้องส่วนตัว และยิ่งไม่มีความรู้สึกให้กับผู้หญิงในยุควิกตอเรียนที่สถานะของผู้หญิงต่ำต้อยเหมือนสิ่งที่เกินเลยออกมา ไม่ได้รับการส่งเสริม ไม่ได้รับการยอมรับถึงงสติปัญญา ความสามารถ และพรสวรรค์

แน่นอนพวกเธอก็คงจะต้องอยู่ในห้องรวมกันหลายๆ คน หรือไม่ก็นอนอยู่กับพ่อแม่ ไม่ทันไรก็ต้องแต่งงานและอยู่ห้องเดียวกับสามี

ไม่ว่าลูกสาวจะมีพรสวรรค์หรือความสามารถอย่างไรก็แล้วแต่ เวอร์จิเนีย เขียนไว้ว่า “หล่อนไม่มีโอกาสได้เรียนไวยากรณ์หรือตรรกวิทยาอย่างพี่ชาย อย่าว่าแต่ฮอเรซหรือเวอจิลเลย หล่อนหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเป็นครั้งคราว ก็คงเป็นหนังสือที่พี่ชายหล่อนทิ้งไว้นั่นเอง

อ่านไปได้สองสามหน้า พ่อแม่ก็เข้ามาขัดจังหวะ สั่งให้หล่อนไปชุนถุงเท้า หรือคอยคนสตู”


เวอร์จิเนียเองโชคดีกว่าผู้หญิงในยุคเดียวกันก็ตรงที่เธอมีห้องสมุดอยู่ในบ้าน ทำให้ได้อ่าน ได้คิด ความเรียงของเธอบอกถึงความเป็นนักอ่านที่อ่านอย่างกว้างขวางแล้วนำมาขบคิดโดยเฉพาะในประเด็นที่เธอสนใจคือเรื่องของผู้หญิง อ่านมาก ตกผลึกมาก ก็ทำให้แต่ละบรรทัดที่เขียนอัดแน่นไปด้วยข้อคิดที่มีชีวิตชีวา

ประเด็นที่เธอเวียนกลับมาเอ่ยถึงหลายครั้งก็คือ 500 ปอนด์ที่เธอได้รับต่อปี

มันมาจากไหน

มันมาจากป้าของเธอเองที่ทำพินัยกรรมไว้ ให้มีการจ่ายให้หลานสาวคือเธอปีละ 500 ปอนด์ ไม่เช่นนั้นเธอก็คงต้องแบมือขอพ่อแม่ทุกครั้งที่ต้องการเสื้อผ้าใหม่สักชุด อย่าพูดถึงหนังสือสักเล่ม ไม่มีวัน แล้วเช่นไรมันจึงมีความหมายกับเธอมากเช่นนั้น เพราะไม่ว่าผู้หญิงในยุคเธอจะมีพรสวรรค์อย่างไร ก็ไม่สามารถมีอาชีพดีๆ ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเลี้ยงตัวเอง เพราะสังคมไม่เชื่อว่าผู้หญิงทำงานที่ผู้ชายเขาทำกันได้ อย่างดีก็แค่เป็นพี่เลี้ยงเด็กหรืออ่านหนังสือให้คนแก่ฟัง แล้วเธอจะมีรายได้ 500 ปอนด์ต่อปีได้อย่างไรถ้าไม่มีงานดีๆ ทำ

เวอร์จิเนียเล่าว่าเธอได้ข่าวว่าป้าให้มรดกปีละ 500 ปอนด์ชั่วชีวิตของเธอวันเดียวกับที่มีการประกาศว่าผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งแน่ละเธอบอกว่า ถ้าให้เธอเลือกเธอก็ต้องเลือก 500 ปอนด์มากกว่าการเลือกตั้ง

ผู้หญิงในยุคของเวอร์จิเนีย และผู้หญิงในยุคก่อนเธอคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเขียนความเรียงนี้ขึ้นมา ในศตวรรษที่ 16 ก็มีผู้หญิงที่แต่งงานและมีสามีดี แต่ก็ต้องลุกขึ้นมาขีดเขียน อย่าง เลดี้ วินชิลซี เรื่องเศร้าแบบผู้หญิงฆ่าตัวตายเกิดขึ้นหลายครั้งเพราะการที่ผู้หญิงโดนกีดกันไม่ให้ทำงานตามพรสวรรค์ที่มี เพราะว่าผู้ชายพยายามดูหมื่น ดูแคลน เยาะเย้ย ถากถาง

ผู้หญิงโดนกีดกันไม่ให้เป็นนักเขียน เป็นศิลปิน เป็นนักเทศน์

 

การอ่าน A Room of One’s Own ฉบับแปลของ มาลินี แก้วเนตร ทำให้ได้รสชาติจากภาษาแปลที่เธอใช้ ที่มีการเลือกสรรคำอย่างประณีต ใคร่ครวญ

เธอใช้คำที่ง่าย แต่เฟ้นมาหลากหลาย อย่างเช่นประโยคนี้ “เห็นได้ชัดเลยว่าในศตวรรษที่สิบเก้า ผู้หญิงก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นศิลปิน ตรงกันข้ามหล่อนถูกกีดกัน บอกปัด ตบหน้า เทศนาสั่งสอน ทั้งตักเตือน” แทนที่จะใช้คำง่ายๆ คำเดียวคือคำว่า “กีดกัน” เวอร์จิเนียก็ลงรายละเอียดให้เห็นว่านอกจากจะโดนกีดกัน ก็อาจจะโดนบอกปัด หรือไม่เขาก็ใช้วิธีเทศนาสั่งสอน หรือไม่ก็ใช้การตักเตือน

ทำไมหนังสือนี้จึงเป็นหนังสือที่ลูกผู้หญิงควรอ่าน เพราะเป็นเหมือนการคุยกันของเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อมันได้รับการตีพิมพ์ออกมาในครั้งแรกจะต้องเป็นหนังสือที่ผู้คนอึ้งตะลึง เหมือนนิยายเรื่อง เลดี้ แชตเตอร์เลย์ ที่เผยถึงอิสรภาพและความกล้าของผู้หญิงในอีกรูปแบบหนึ่ง

เมื่อเวอร์จิเนียพูดถึงห้องส่วนตัว เธอจะบอกเราว่านี่เป็นหัวใจของงานสร้างสรรค์ เธอพูดถึงการที่สมัยศตวรรษที่ 16 ในยุคเอลิซาเบธ ผู้หญิงต้องอยู่ในห้องมืดทึม จึงไม่มีงานสร้างสรรค์จากผู้หญิง

“บ้านที่มีห้องอันคับแคบ อับมืด เราก็พอจะเข้าใจได้แล้วว่าไม่มีวันที่ผู้หญิงคนไหนจะลุกขึ้นมาเขียนกวีนิพนธ์ได้ในยุคนั้น เราได้แต่คาดหวังว่าอีกไม่นานนักคงจะมีเลดี้ผู้ยิ่งใหญ่บางท่านถือโอกาสใช้ประโยชน์จากสถานภาพอันสะดวกสบายและอิสรเสรีกว่าคนอื่นๆ ตีพิมพ์งานเขียนบางอย่างออกมา”

 

นี่คือความสำคัญของ “ห้องส่วนตัว” ที่เวอร์จิเนียเห็นว่ามีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการสร้างสรรค์งานเขียนของผู้หญิงและรวมถึงงานสร้างสรรค์อื่นๆ และลึกๆ เธอได้บอกเราว่าเงินรายปี 500 ปอนด์ที่ช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องไปดิ้นรนหารายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการไปดูแลเด็กและอ่านหนังสือให้คนแก่นี่แหละได้อำนวยความสะดวกให้เธอมีเวลาพอจะขีดๆ เขียนๆ อะไรได้บ้าง

ผู้เขียนจบบรรทัดนี้ในห้องส่วนตัวของตัวเอง ในบ้านเล็กๆ ที่มีอิสรภาพและบรรยากาศที่ดี รวมทั้งมีเงินในบัญชีธนาคารอยู่พอสมควร

แล้วก็อยากจะบอกไปให้เวอร์จิเนียได้ยินว่า “ฉันเข้าใจคุณค่ะ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ”