เกษียร เตชะพีระ : ปริศนาแห่งการปฏิวัติ 2475 (ตอนจบ) : ว่าด้วยความต่อเนื่อง

เกษียร เตชะพีระ

ย้อนอ่านปริศนาแห่งการปฏิวัติ 2475 (ตอนต้น) คลิก

ปริศนาตกค้างคาใจประการที่สองสืบเนื่องจากการปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คือปริศนาเรื่องความต่อเนื่องหรือ continuity

กล่าวคือ มีความต่อเนื่องโดยแก่นสารสาระหรือไม่ระหว่างการปฏิวัติ 2475 กับระบอบอำนาจนิยมแบบชาตินิยมทหารของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งก่อรูปขึ้นต้นพุทธทศวรรษ 2480 และมักถูกถือเป็นต้นแบบของรัฐบาลเผด็จการทหารในชั้นหลังต่อมา?

ก่อนอื่นเป็นเรื่องสำคัญที่พึงทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า ในสังคมการเมืองหนึ่งๆ ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่ระเบียบอำนาจเก่าล่มสลายและถูกแทนที่ด้วยระเบียบอำนาจใหม่ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นนั้น จะมีความเป็นไปได้ของการพัฒนาคลี่คลายขยายตัวมากกว่าหนึ่งกระแสเสมอ

ส่วนผลสุดท้ายปลายทางจะลงเอยเยี่ยงไร ก็อยู่ที่การปะทะขัดแย้งต่อสู้ที่เป็นจริงระหว่างกระแสความเป็นไปได้ทางการเมืองต่างๆ เหล่านั้น ว่ากระแสใดประสบชัยชนะ สามารถพิชิตกระแสอื่นให้เพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้กระทั่งถูกกลบลบเลือนไปในประวัติศาสตร์ได้

เมื่อมองย้อนหลังกลับไปจากปัจจุบัน จึงง่ายที่เราจะเห็นแต่กระแสที่มีชัยลอยเด่นขึ้นมาในประวัติศาสตร์ และอาจหลงเข้าใจผิดคิดไปว่านั่นคือกระแสหนึ่งเดียวที่มีอยู่และเป็นไปได้ในอดีต กระทั่งสรุปฟันธงว่ามีความต่อเนื่อง (continuity) ระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ดังกล่าวกับกระแสเดียวนั้นเท่านั้น

ภาพของความต่อเนื่องดังกล่าวจึงสถาปนาตนเองขึ้นมาบนการละเลยหลงลืมโอกาสที่พลาดหายไป (opportunities missed and forgotten) และกระแสทางเลือกอื่นที่ปราชัยหรือถูกมองข้ามไป (alternatives defeated or ignored) ในประวัติศาสตร์นั่นเอง

ดังตัวอย่างความเข้าใจทั่วไปของสังคมไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เคยวิเคราะห์วิจารณ์ไว้ว่า :

“ความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับ 14 ตุลากับประชาธิปไตยไทย หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า วาทกรรม 14 ตุลากับประชาธิปไตยไทย มีสาระสำคัญ 3 ประการ แต่ละข้อล้วนมีข้อจำกัด จนกลายเป็นประวัติศาสตร์บิดเบี้ยวไป

ประการแรก ประชาธิปไตยคือผลของการต่อสู้กับเผด็จการทหาร บ้างขยายความในทางวิชาการว่าคือการต่อสู้กับรัฐราชการที่มีกองทัพเป็นตัวแทน บ้างขยายความออกไปอีกว่าผู้ต่อสู้ได้แก่พลังนอกระบบราชการ ซึ่งหมายถึงประชาชน กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง (เช่น นักศึกษา) และกลุ่มทุนนานาชนิด…

ประการที่สอง ประชาธิปไตยคือการต่อสู้กับอำนาจเงินอำนาจทุนที่ฉ้อฉลเอาแต่แสวงหาประโยชน์ใส่ตัวเองภายใต้กรอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา…

ประการที่สาม ดังนั้น ประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาตามทัศนะทั้ง 2 แบบดังกล่าวมา จึงได้แก่การต่อสู้เพื่อสถาปนาระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้งเพื่อรัฐบาลที่สะอาดและมีคุณธรรม…

“ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยตามทัศนะนี้มีพัฒนาการควบคู่มากับขบวนการ 14 ตุลา แล้วเติบโตมากับประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา ที่มองเห็นพัฒนาการของประชาธิปไตยว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้กับเผด็จการทหารและนักการเมืองไร้คุณธรรมเท่านั้น แต่กลับมองข้ามปัญหาสำคัญที่ครอบงำประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยเกือบตลอด 73 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ปัญหาว่าด้วยบทบาทของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจในการเมืองไทย…

“ปัญหาใจกลางของประชาธิปไตยไทยที่ต่อสู้ขัดแย้งอย่างคอขาดบาดตายระหว่างปี 2475-2494 (19 ปี) จากนั้นลดถอยสงบเสียงลงระหว่างปี 2495-2516 (21 ปี) กลับได้รับคำตอบหรือทางออกรูปธรรมอย่างเงียบๆ นับจากปี 2516 (32 ปีนับถึงขณะนี้) 14 ตุลา 2516 คือความสำเร็จโดยพื้นฐานของการรื้อฟื้นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ขึ้นใหม่ในระบบการเมืองไทย แต่เป็นบทบาทใหม่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยมีมาก่อน…

“ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาจึงไม่ใช่แค่การต่อสู้ของประชาชนกับเผด็จการทหาร และไม่ใช่แค่การต่อสู้กับทุนท้องถิ่นทุนระดับชาติที่หนุนนักการเมืองฉ้อฉล แต่ขณะนี้ (หลังทหารหมดบทบาท) เป็นระบบการเมืองแบบ 3 ส่วน ได้แก่ มวลชน ทุนและนักการเมือง และฝ่ายกษัตริย์นิยม…”

(ธงชัย วินิจจะกูล, ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา : ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2548, น.15-18, 38-39)

ในทำนองเดียวกัน ผมใคร่เสนอว่าเราอาจพิจารณาปัญหาความต่อเนื่องของการปฏิวัติ 2475 กับระบอบพิบูลสงครามได้ดังนี้คือ

ผมขออธิบายการตีความประเด็นปัญหาความต่อเนื่องดังกล่าวไล่เรียงไปตามแผนภูมิข้างต้นตามลำดับดังนี้ :-

1) การปฏิวัติ 2475 ได้เปลี่ยนแปลงรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutist state) ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ไประดับหนึ่ง กล่าวคือ มันได้โค่นอำนาจรัฐในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) ลงไป ทว่า สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่สืบเนื่องต่อมาหลังการปฏิวัติคือระบบราชการรวมศูนย์อัตตาณานิคม-ศักดินา (centralized autocolonial-patrimonial bureaucracy) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกรัฐในการใช้อำนาจบริหารปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ โดยลอกแบบมาจากรัฐอาณานิคม (colonial state) ของมหาอำนาจตะวันตกที่อยู่ข้างเคียงในภูมิภาค

2) ฉะนั้น รัฐที่บังเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นรัฐรัฐธรรมนูญ (constitutional state) ของคณะราษฎร ที่ประกอบไปด้วยอำนาจรัฐใหม่ในระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutional regime) ที่เข้ามาแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บวกกับกลไกรัฐแบบเดิมที่รับช่วงสืบทอดมาจากรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ก่อนการปฏิวัติ

3) อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐรัฐธรรมนูญแบบใหม่หลังปฏิวัติ ในหมู่ชนชั้นนำใหม่แห่งคณะราษฎรซึ่งมีจุดร่วมคือต่อต้านพลังอำนาจเก่าแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ก็ปรากฏกระแสแนวโน้มที่ขัดแย้งกันเองแฝงฝังอยู่ในหมู่พวกเขาอย่างน้อย 2 กระแส ได้แก่ :-

a. กระแสที่มุ่งหมายจะผลักดันรัฐรัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นรัฐประชาธิปไตย (democratic state) ที่ประกอบไปด้วยอำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตย (democratic regime) และกลไกรัฐในระบบราชการเดิม ซึ่งมี ปรีดี พนมยงค์ เป็นแกนนำและตัวแทน กับ

b. กระแสที่มุ่งหมายจะผลักดันรัฐรัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นรัฐราชการ (bureaucratic polity) ที่ประกอบไปด้วยอำนาจรัฐในระบอบอำนาจนิยมทหาร (militaristic authoritarian regime) และกลไกรัฐในระบบราชการเดิม ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นแกนนำและตัวแทน

c. โดยที่ตลอดช่วงการเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิวัตินี้ โครงสร้างการเมืองการปกครองที่ไม่เปลี่ยนตลอดมาและกลายเป็นพลังจำกัดและกำกับกรอบความเป็นไปได้ทางการเมือง ก็คือกลไกรัฐแห่งระบบราชการรวมศูนย์อัตตาณานิคม-ศักดินาที่สืบเนื่องกันมาแม้จะผ่านการปฏิวัติที่เปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองไปแล้วก็ตาม

d. และด้วยระบบราชการที่เป็นโครงสร้างแกนกลางในการเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิวัติ จึงทำให้ฐานะบทบาทของแกนนำการปฏิวัติทั้งสองมีข้อจำกัด กล่าวคือ ปรีดี พนมยงค์ เป็นนักปฏิวัติประชาธิปไตยก็จริง แต่ก็เป็นนักปฏิวัติประชาธิปไตยแห่งระบบราชการไทย ขณะที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำชาตินิยมไทย แต่เอาเข้าจริงฐานะบทบาทของท่านจะเป็นที่เข้าใจได้ชัดเจนสมจริงกว่าหากมองว่าท่านเป็นผู้นำรัฐนิยมแห่งระบบราชการไทย

e. พันธมิตรแห่งสองกระแสแนวโน้มในคณะราษฎรที่ร่วมกันต่อต้านระบบเก่านี้ มามีอันแตกหักจากกันเมื่อญี่ปุ่นยกทัพบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยกระแสแนวโน้มรัฐราชการของจอมพล ป. ที่เป็นรัฐบาลเลือกร่วมรบเข้าข้างญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะ ขณะที่กระแสแนวโน้มประชาธิปไตยของปรีดีเลือกเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรและต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานยึดครอง โดยก่อตั้งพลพรรคเสรีไทยใต้ดินขึ้นเพื่อกู้ชาติ

4) สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงโดยฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ ฝ่ายปรีดีและเสรีไทยได้ขึ้นครองอำนาจ ขณะที่จอมพล ป. ตกเป็นผู้ต้องหาอาชญากรสงคราม แต่เนื่องจากกระแสแนวโน้มรัฐประชาธิปไตยที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นแกนนำและตัวแทนเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ไปเมื่อปรีดีริเริ่มโยกย้ายอำนาจให้หลุดออกไปจากมือกลไกระบบราชการประจำในรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ พ.ศ.2489 และกระแสแนวโน้มรัฐราชการที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นแกนนำและตัวแทน สามารถช่วงชิงโอกาสพลิกกลับขึ้นมาครองอำนาจสืบต่อไปใหม่ได้ในการรัฐประหารปี พ.ศ.2490 โดยฝ่ายหลังกดปราบกวาดล้างฝ่ายแรกลงไปจนหลายคนล้มตายและต้องลี้ภัยไปต่างประเทศนับแต่นั้นมา

5) ฉะนั้น ในที่สุด เมื่อมองย้อนหลังกลับไปจากปัจจุบันจึงปรากฏภาพแห่งความต่อเนื่องของการปฏิวัติ 2475 มายังรัฐราชการแห่งระบบอำนาจนิยมทหารของจอมพล ป. และผู้นำเผด็จการทหารรุ่นหลังๆ ขณะที่กระแสแนวโน้มรัฐประชาธิปไตยของฝ่ายปรีดีกลายเป็นผู้พลาดโอกาสและทางเลือกที่พ่ายแพ้ จนมันถูกละเลยลืมเลือนไปในความเข้าใจของคนรุ่นหลัง ราวกับว่ากระแสทางเลือกแบบประชาธิปไตยแห่งการปฏิวัติ 2475 นั้นไม่เคยดำรงอยู่นั่นเอง

(มรกต เจวจินดา, ภาพลักษณ์ ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย, พ.ศ.2475-2526, 2543, http://www.openbase.in.th/files/pridibook128.pdf)