จาก ‘ผึ้งตรวจระเบิด’ ถึง ‘แมงมุมกู้ชีพ’ บุญคุณที่มนุษย์ติดค้าง/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก ‘ผึ้งตรวจระเบิด’

ถึง ‘แมงมุมกู้ชีพ’

บุญคุณที่มนุษย์ติดค้าง

 

นับจากสุนัข Laika ซึ่งถือเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกในโลกที่โคจรไปกับดาวเทียม Sputnik II ของรัสเซีย

มาถึงลิง Gordo ที่ก็ได้ไปท่องอวกาศกับจรวด Jupiter IRBM AM-13 รวมถึงเพื่อนลิงอีก 3 ตัวได้แก่ Able และ Baker ซึ่งโดยสารไปกับจรวด Jupiter AM-18 รวมถึง Ham ของ NAZA ที่ส่งขึ้นไปกับยาน Mercury Redstone 2 หรือ MR2 ของสหรัฐ

ในยุคโบราณ มนุษย์นำนกพิราบมาใช้ในการสื่อสารด้วยการผูกจดหมายไปกับเท้านกพิราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสงครามที่นอกจากช้างม้าวัวควายแล้ว อูฐกับนกกระจอกเทศก็เคยออกรบกับเขาด้วย

ไม่ต้องพูดถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นเสบียงในกองทัพ และว่ากันว่า ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการนำสุนัขสงครามหรือ War Dog มาช่วยในการรบและเสียชีวิตมากกว่าหมื่นตัว!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุนัขตำรวจ หรือ K-9 ทำหน้าที่ตรวจหายาเสพติด แกะรอยคนร้าย และที่สำคัญก็คือภารกิจดมกลิ่นวัตถุระเบิด

และบางครั้งหมาค้นระเบิดก็ต้องตายแทนคน!

ในวงการตรวจระเบิด นอกจากสุนัขแล้ว ยังมีโลมาปากขวด และสิงโตทะเล ที่เคยถูกส่งไปเข้าประจำการในอิรักเพื่อค้นหาทุ่นระเบิดใต้น้ำ รายงานข่าวบอกว่า สาเหตุที่ใช้สัตว์ 2 ชนิดนี้ เพราะโลมาปากขวดมีคลื่นโซนาร์ซึ่งสามารถค้นหาวัตถุต่างๆ ได้ดี และสิงโตทะเลก็สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ในน้ำลึกได้อย่างชัดแจ๋ว

หนักข้อยิ่งไปกว่านั้น คือการนำค้างคาว ที่เคยมีข่าวว่าเตรียมใช้เป็นอุปกรณ์บรรทุกระเบิดเพลิงลูกย่อมๆ ไปหย่อนใส่กองทัพพี่ยุ่นมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รหัส Project X-Ray

อีกข่าวหนึ่งก็คือการนำไก่ไปใช้ในยุทธการ KFC ย่อมาจาก Kuwaiti Field Chicken ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งมีการจับเอาไก่ที่ได้รับการฝึกให้ไปตรวจจับก๊าซพิษบนรถฮัมวี่

 

ขณะที่ข่าวซึ่งโด่งดังที่สุดเห็นจะเป็น “ผึ้งตรวจระเบิด”

“ผึ้งตรวจระเบิด” เป็นผลงานของ Los Alamos National Laboratory ที่ค้นคว้าวิจัยเทคนิคการตอบสนองของผึ้ง ว่าผึ้งจะแลบลิ้นออกมาเมื่อได้กลิ่นน้ำหวาน

นอกจากนี้ ความที่ผึ้งมีสมรรถนะการรับกลิ่นที่ดีเยี่ยม เนื่องจากผึ้งจะรับรู้กลิ่นทุกกลิ่นในระยะทำการ แม้ว่ากลิ่นนั้นจะเจือจางเท่าไหร่ก็ตาม

นักวิจัยจึงจับจุดเด่นของผึ้งประการดังกล่าวมาสอนมันให้แลบลิ้นเมื่อได้กลิ่นวัตถุระเบิด!

วิธีการฝึก “ผึ้งตรวจระเบิด” ก็คือ จะจัดแบ่งผึ้งออกเป็นฝูงเล็ก ราวฝูงละ 4-5 ตัว โดยผึ้งจะถูกจับใส่เอาไว้ในกล่องตรวจกลิ่น ที่ติดตั้ง Webcam หรือ Web Camera (กล้องวงจรปิดตัวเล็ก ส่งสัญญาณภาพผ่านเครือข่าย internet) ที่เชื่อมต่อกับ Software ตรวจจับความเคลื่อนไหวของลิ้น ทันทีที่ลิ้นผึ้งแลบออกมา สัญญาณเตือนจะถูกส่งไปยัง รปภ.

เมื่อนำผึ้งเจ้าบรรจุในกล่องตรวจกลิ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ครูฝึกก็จะจัดแจงอัด “กลิ่นระเบิด” ให้โชยเข้าไปในกล่อง ฝึกจนกระทั่งผึ้งแลบลิ้นเมื่อได้กลิ่นระเบิดก็เป็นอันเสร็จสิ้น

โดยทุกครั้งที่ผึ้งทำตามบทเรียนได้สำเร็จ ก็จะมีการตบรางวัลเป็นน้ำหวานชั้นเลิศให้อีกด้วย

เมื่อจบหลักสูตรแล้ว ฝูงผึ้งบรรจุกล่อง จะมีความสามารถสำรวจตรวจตราเพื่อดมหากลิ่นระเบิดได้นานาชนิด ไล่ตั้งแต่ TNT(Trinitrotoluene) Dynamite C4 TATP (Triacetone Triperoxide) IED (Improvised Explosive Devices)

โดยจะมีการทำ QC (Quality Control) ซึ่งก็คือ Software ตรวจจับ ที่จะส่งสัญญาณเตือนในกรณีที่ผึ้ง 3 ตัวขึ้นไปแลบลิ้นเท่านั้น

รายงานข่าวไม่ได้บอกว่าระหว่างการฝึกดังกล่าวมีผึ้งหนีเรียนกี่ตัว หรือมีผึ้งออกปฏิบัติการจริงแล้วตายในหน้าที่ (โดนระเบิด) กี่ตัว อย่างไรก็ดี Project ต่อไป คือโครงการฝึกผึ้งให้พวกมันสามารถตรวจหาซากศพในอาคารร้าง และค้นหายาเสพติดในสนามบินได้ต่อไปในอนาคตครับ

เขียนถึงสรรพสัตว์นานาชนิดที่มนุษย์ติดค้างหนี้บุญคุณ มาจนกระทั่งถึง “ผึ้งตรวจระเบิด” เมื่อสักครู่ อันดับต่อไปเป็นข่าวล่ามาเรือเกลือ นั่นก็คือ เรื่องราวของ “แมงมุมกู้ชีพ” ครับ

อันที่จริง ลำพัง “แมงมุม” มันก็อยู่ของมันดีๆ ไม่ได้มีหน้าที่ “กู้ชีพ” แต่อย่างใด ทว่า เป็นเพราะมนุษย์ไปสร้างบทบาทให้กับมัน ซึ่งก็เป็นบทบาทที่ดี ที่สร้างคุณูปการให้กับมวลมนุษยชาติ

นั่นก็คือ รายงานข่าวการสกัดพิษแมงมุม Funnel-Web Spider ในประเทศออสเตรเลีย ให้มาช่วยยับยั้ง “สัญญาณแห่งความตาย” ใน “คนไข้หัวใจวาย” ได้

เมื่อไม่นานมานี้ วารสารวิชาการ Circulation ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาจากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Queensland แห่งประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับข้อค้นพบใหม่ ว่าพิษของแมงมุมพื้นเมืองพันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า Funnel-Web Spider บนเกาะ Fraser Island ทางตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย มีกรดอะมิโนที่มีโมเลกุลสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งอาจช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน

ทั้งนี้ เนื่องเพราะโมเลกุลของกรดอะมิโนดังกล่าว จะเข้าไปช่วยยับยั้ง “สัญญาณแห่งความตาย” ที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจส่งออกมาเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการหัวใจวาย ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที!

ในอดีตชนเผ่าพื้นเมืองชาวอะบอริจิ้นที่อาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียล้วนทราบดีว่า Funnel-Web Spider แมงมุมเจ้าถิ่นของออสเตรเลียตัวนี้ร้ายกาจเพียงใด

มีการศึกษาว่า Funnel-Web Spider อยู่มาก่อนชาวอะบอริจิ้นเสียอีก และพวกมันมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานถึง 400 ล้านปีแล้ว

เป็นที่รู้กันในหมู่นักวิจัย ว่า Funnel-Web Spider มีพิษที่สลับซับซ้อนมากที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยโมเลกุลต่างๆ ถึงราว 300 ชนิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารเคมี Peptide ที่มีชื่อว่า Hi1a ซึ่งจะมาช่วยสกัด “สัญญาณแห่งความตาย”

แพทย์หญิง Sarah Scheuer หัวหน้าทีมนักวิจัย บอกว่า โมเลกุลของ Hi1a จากพิษของ Funnel-Web Spider นอกจากจะช่วยผู้ป่วยหัวใจวายแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจอีกด้วย

แพทย์หญิง Sarah Scheuer ปิดท้ายว่า เป้าหมายปลายทางของเราต่อจากนี้ก็คือ การพัฒนาโมเลกุลของ Hi1a เพื่อใช้สำหรับคนไข้ฉุกเฉินทุกประเภท

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละเกือบ 20 ล้านคน

โดยทั่วไป เมื่อผู้ป่วยมีอาการหัวใจขาดโลหิตหล่อเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่าภาวะ “หัวใจวาย” กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดออกซิเจนจากเลือดจะทำให้เซลล์มีสภาพเป็นกรด และจากภาวะเช่นนี้เซลล์จะสื่อ หรือส่ง “สัญญาณแห่งความตาย” ทำให้เซลล์อื่นๆ ของหัวใจหยุดทำงานไปด้วย

จากการวิจัยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาวงการแพทย์ยังไม่สามารถพัฒนายาตัวใดเพื่อช่วยสกัด “สัญญาณแห่งความตาย” ลักษณะนี้ได้

ดังนั้น ข่าวเกี่ยวกับพิษของ Funnel-Web Spider ที่ช่วยให้นักวิจัยได้พบวิธีบำบัดผู้มีอาการหัวใจวายหรือ Heart Attack ซึ่งเป็นผลจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดโลหิตหล่อเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน

จึงนับเป็นข่าวดี ที่ Funnel-Web Spider สามารถช่วยเซฟชีวิตผู้คนได้นั่นเอง!