ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (5) สะเต็มศึกษา-การศึกษาพิเศษ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีประชุมวิชาการนานาชาติ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทั้ง 11 ประเทศอภิปรายถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาคเช้าปิดลงด้วยประเด็นที่กำลังฮิต คือ สะเต็มศึกษา

ครู Herwin Hamid แลกเปลี่ยนว่า สะเต็มศึกษาของอินโดนีเซียคือการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบใหม่ ที่ต้องบูรณาการกับทุกวิชาด้วยกัน ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้นักเรียนสามารถคิดเชิงวิพากษ์ได้ผ่านการการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์

ดังนั้น สะเต็มศึกษาจึงไม่ได้หมายถึงเพียงวิทยาศาสตร์แต่หมายถึงทุกวิชามาบูรณาการเข้าด้วยกัน ระบบของสะเต็มศึกษาสามารถช่วยให้นักเรียนนำความรู้ไปใช้ได้ในอนาคต และสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้

ครู Zainuddin Zakar เล่าถึง สะเต็มศึกษาได้เข้ามาในประเทศมาเลเซียเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน ปัญหาคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนสามารถสร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์ แบ่งปันทรัพยากร และการใช้ ICT ได้

ยกตัวอย่างเช่น การสอนแบบ Topic learning คือการเรียนรู้จากเนื้อเรื่อง ด้วยการนำครูหลายวิชามาอยู่กลุ่มร่วมกัน กลุ่มละ 3 คน จากนั้นให้ครูสร้างนวัตกรรมโดยใช้ความรู้จากวิชาที่ตัวเองสอนมาบูรณาการกัน ตัวอย่างเช่น การทำแผนที่ในโรงเรียนโดยการใช้ software 2 มิติ หรือ 3 มิติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ และในรายวิชาคณิตศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับพื้นที่ อัตราส่วน เป็นต้น

การเตรียมพร้อมให้นักเรียนมีทักษะชีวิต จะช่วยให้นักเรียนสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ และสะเต็มศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักเรียนรับมือกับโลกในอนาคต

 

ส่วนครูเฉลิมพร ของไทย ย้ำว่า สะเต็มศึกษาคือการบูรณาการจากชีวิตจริงโดยการใช้ปัญหาเป็นฐาน ใช้ทุกศาสตร์ร่วมกันในการแก้ปัญหาในชีวิต สะเต็มศึกษาบูรณาการได้หลากหลายวิชา

ตัวอย่างที่โรงเรียนของครูเฉลิมพรได้ทำชุดผสมเกสรดอกปาล์มน้ำมันที่ต้องใช้หลากหลายวิชา เช่น รายวิชาวิทยาศาสตร์จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับต้นปาล์ม วิชาคณิตศาสตร์เป็นการคำนวณ ด้านเทคโนโลยีคือการสืบค้นข้อมูล วิชาศิลปะออกแบบรูปลักษณ์ เศรษฐศาสตร์ในเรื่องเกี่ยวข้องกับความคุ้มทุนคุ้มค่า วิชาสังคมเกี่ยวกับชีวิตในท้องถิ่น มีการทำเกษตรกรรมอย่างไร เราจะเข้าไปพัฒนาได้อย่างไร และวิชาภาษาไทยและภาษาต่างประเทศจะเกี่ยวข้องการสื่อสารให้ถูกต้องชัดเจน รวดเร็ว เป็นต้น

“ดังนั้น ครูควรทำความเข้าใจและนำวิธีการของสะเต็มศึกษาไปประยุกต์กับการสร้างสรรค์กิจกรรมให้มีความหลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากกิจกรรมการจัดอบรมแบบเดิม เพราะอนาคตข้างหน้า เศรษฐกิจจะต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องให้นักเรียนฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหาและสามารถพัฒนามาเป็นนวัตกรรมได้”

 

ต่อภาคบ่ายเป็นคิวของครู Ratanawatibinti Haji Mohammad จากบรูไน กับครู Wang-Lim Ai Lian จากสิงคโปร์ ภายใต้หัวข้อ “การศึกษาพิเศษและการสนับสนุนด้านการศึกษานักเรียนที่มีปัญหาผลการเรียน”

ครู Ratanawatibinti ประกอบอาชีพครูมาเป็นเวลา 28 ปีเคยเป็นครูสอนนักเรียนปกติมาก่อน หลังจากนั้นได้ผันตัวมาเป็นครูการศึกษาพิเศษจวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี

จุดเริ่มต้นที่มาเป็นครู มี 2 เหตุผล คือ สมาชิกในครอบครัวทุกคนเป็นครู รวมทั้งเคยมีประสบการณ์สอนน้องจนสอบได้ที่ 1

และเหตุผลที่สำคัญคือ ลูกสาวเป็นเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จึงเป็นแรงผลักดันและแรงบันดาลใจศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสม เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยอาศัยความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวนักเรียนเป็นสำคัญ

ครูมีประสบการณ์ตรงได้สอนและดูแลเด็กหญิงที่มีพฤติกรรมชอบทำอะไรซ้ำๆ ซึ่งเรียนร่วมกับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษอีก 11 คน นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากบางครั้งเด็กจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว เรียกร้องความสนใจ โดยครูท่านอื่นๆ ในโรงเรียนไม่ให้ความสนใจ และมองเป็นภาระ

แต่สำหรับครู กลับมีความคิดว่าต้องให้ความสำคัญกับเด็กคนดังกล่าวเป็นพิเศษ จึงมีการหารือปัญหาของเด็กร่วมกับผู้ปกครอง และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กพิเศษอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เขียนได้ดีขึ้น ซื้ออาหารได้เอง ใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง เช่น แปรงฟัน ล้างหน้า เป็นต้น

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้พิจารณาว่า สิ่งสำคัญที่ครูที่สอนเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษต้องมี คือ “ใจเย็น อดทน มีเมตตา ให้ความรักกับเด็ก”

การฝึกอบรมเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ประเทศบรูไนมีหลักสูตรประกาศนียบัตร จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า Learning support teacher แต่ปัญหาที่พบคือ ครูที่สอนเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับเด็ก และผู้บริหารไม่ค่อยให้การสนับสนุน

 

สําหรับครู Wang-Lim Ai Lian สอนระดับประถมศึกษา สอนเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จุดเริ่มต้นที่มาเป็นครูเนื่องจากประทับใจครูที่สอนในวัยเด็ก ที่ใส่ใจและดูแลนักเรียนทุกคนด้วยความรัก แม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ครู Wang-Lim เคยได้รับคำพูดให้กำลังใจเมื่อครั้งที่ทราบข่าวว่ายายเสียชีวิต จึงอยากจะดำเนินรอยตาม และส่งมอบสิ่งดีๆ เหล่านั้นให้กับเด็กคนอื่นๆ ต่อไป

ครูคิดว่านักเรียนทุกคนคือแรงบันดาลใจ และมีกรณีตัวอย่างที่ประทับใจและท้าทายให้ช่วยเหลือเด็ก 2 กรณี คือ

1. เด็กที่เป็นโรคความบกพร่องในการอ่าน (Dyslexia) ซึ่งผู้ปกครองเข้าใจว่าเด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้ เล่นตลอดเวลา แต่ครู Wang-Lim พยายามวิเคราะห์พฤติกรรมของเด็ก และบันทึกพัฒนาการของเด็ก โดยทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา พบว่า เด็กมีความพยายามที่จะเรียนรู้ แต่เนื่องจากภาวะของโรคดังกล่าวจึงทำให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเด็กปกติ เมื่อผู้ปกครองทราบและเข้าใจสภาพปัญหา จึงให้ความในใจและใส่ใจดูแลเด็กมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ประทับใจ คือ เด็กมีความฝันที่อยากจะเป็นครูเช่นเดียวกับตน

และ 2. เด็กพิเศษ ซึ่งครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีเวลาดูแลลูกเท่าที่ควร

เมื่อครูมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมที่บ้าน พบความยากลำบากของเด็ก ไม่มีแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ใดๆ ในบ้าน จึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ และพบว่าสิ่งที่เด็กต้องการคือ แท่นสำหรับเคารพศพพ่อ และโซฟาสำหรับแม่ ไม่ได้ร้องขอเพื่อความต้องการของตนเองเลย

เด็กกล่าวถึงคำสอนของครูที่เป็นส่วนสำคัญ คือ คำสอนเรื่อง “การให้” ซึ่งเด็กได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

 

สิงคโปร์มีนักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญช่วยสอนเสริมให้กับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และมีการอบรมครูโดยการจัด Sharing Session สังเกตการณ์การสอน ติดตามพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน ทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน

แรงบันดาลใจในการเป็นครูการศึกษาพิเศษของทั้งสองคนสอดคล้องกัน เริ่มต้นมาจากการพบปัญหาจากคนในครอบครัวและการเห็นครูที่เคยสอน มีความรู้ ความเข้าใจ ใส่ใจ อดทน มีเมตตา มีความรัก และที่สำคัญคือ การทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงาน นอกจากนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจจากครอบครัว ครูในโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ โดยไม่จำเป็นต้องแยกเด็กพิเศษออกมาจากเด็กปกติ จึงจะพัฒนาพฤติกรรมของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษให้ดีขึ้น สามารถเรียนรู้ร่วมกับเด็กปกติได้ และใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด

“เมื่อใช้ใจสัมผัสความรู้สึกของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ หรือเด็กพิการ จะพบว่าเด็กต้องการ “ความรัก ความห่วงใย” สิ่งเหล่านี้ทุกคนสามารถมอบให้กับเด็กทุกคนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”

“ใช้เพียงใจที่บริสุทธิ์ส่งต่อไปถึงเด็กเท่านั้น” คำพูดของครูทั้งสองประทับใจผู้ฟังจนยากที่จะลืม