มนุษย์ชั่วร้ายตั้งแต่เกิด? (1)/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

มนุษย์ชั่วร้ายตั้งแต่เกิด? (1)

 

ธรรมชาติที่แท้ของมนุษย์เป็นคนดีหรือชั่วร้าย?

เป็นคำถามที่เหล่ามนุษย์ถกเถียงกันมาเนิ่นนาน

ซึ่งคำตอบของคำถามนี้นำมาซึ่งสิ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาเพื่อจัดการมนุษย์ด้วยกัน

ถ้าธรรมชาติเป็นคนดีก็จัดการแบบหนึ่ง ถ้าธรรมชาติเป็นคนชั่วก็ต้องจัดการอีกแบบ

มีคำกล่าวที่พูดถึงความชั่วร้ายในตัวมนุษย์ว่า “มนุษย์ก็คือหมาป่าสำหรับมนุษย์ด้วยกัน” (Man is a wolf to man) ซึ่งปรากฏในงานของพลอทัส นักแต่งบทละครชาวโรมันช่วงศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล

คำเปรียบเปรยเช่นนี้มีมาให้เห็นตลอดวัฒนธรรมมนุษย์ เช่น นิทานหมาป่ากับหนูน้อยหมวกแดง หมาป่ากับลูกหมูสามตัว ไปจนถึงวรรณกรรมและภาพยนตร์มากมาย

ทุกวันนี้ก็ยังมีคนเปรียบเทียบคนเจ้าเล่ห์ว่าเหมือนหมาป่าหรือหมาจิ้งจอก

ความคิดว่ามนุษย์เกิดมาชั่วร้ายมาจากไหน?

มาร์แซล ซาห์ลินส์ อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เขียนหนังสือ The Western Illusion of Human Nature ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าทัศนะการมองธรรมชาติมนุษย์แบบตะวันตกเป็นความผิดพลาดอย่างไร

นี่น่าสนใจเพราะเราต่างทราบดีว่า มาถึงวันนี้วิธีคิดแบบตะวันตกก็ส่งอิทธิพลไปแทบจะทั่วโลก รวมถึงบ้านเราด้วย

เขาพยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นเวลากว่าสองพันปีแล้วที่ ‘ชาวตะวันตก’ ถูกหลอกหลอนครั้งแล้วครั้งเล่าจากปีศาจที่อยู่ภายในตัวพวกเขาเอง

ปีศาจตนนี้คือความละโมบโลภมากและชอบห้ำหั่นฟาดฟันกันซึ่งนำมาสังคมถดถอยไปสู่อนาธิปไตย (ความอลหม่านโกลาหล)

หนึ่งในผู้ที่ถูกอ้างถึงบ่อยครั้งในหนังสือเล่มนี้คือ ‘ธูซีดีดิส’ นักประวัติศาสตร์สมัยโบราณซึ่งผู้เขียนมองว่าส่งอิทธิพลต่อนักคิดในยุคหลังไม่น้อย

ในงานเขียนของธูซีดีดิสจะเห็นความอลหม่านของสงครามและความวุ่นวายของการแบ่งพรรคแบ่งพวกอยู่ตลอดเวลา

อย่างเหตุการณ์ปะทะกันที่นครคอร์ซีรา เขาก็เขียนถึงการรบพุ่งกันระหว่างชนชั้นที่เหนือกว่ากับฝ่ายประชาชนซึ่งไม่ยอมจำนนต่ออำนาจคณาธิปไตย

โดยบรรยายความวุ่นวายทางการเมืองเหมือนการเกิดโรคระบาด

ซึ่งโรคที่ว่านี้คือธรรมชาติมนุษย์ที่มักต่อต้านกฎหมาย ต่อต้านอำนาจของผู้ปกครอง อันเป็นแรงปรารถนาที่ไม่อาจถูกกำราบให้สงบลงได้

 

ซาห์ลินส์เล่าว่า โทมัส ฮอบส์ คือคนแรกที่แปลสารของธูซีดีดิสจากโลกภาษากรีกมาเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีแรงผลักสำคัญคือความเกลียดชังประชาธิปไตย

สำหรับฮอบส์ ชีวิตมนุษย์ในสภาวะธรรมชาตินั้นโดดเดี่ยว ยากจน หยาบช้า โหดร้าย และแสนสั้น จึงง่ายที่จะนำไปสู่ความโกลาหล

ทางออกที่เขาเสนอคือการให้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มีเอกภาพแก่องค์อธิปัตย์ซึ่งจะทำให้ทุกคนหวาดกลัว

มิใช่แค่ฮอบส์เท่านั้นที่มีความคิดทางการเมืองโดยมีฐานคิดว่าธรรมชาติมนุษย์ชั่วร้าย อิมมานูเอล คานต์ ก็กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่ปรารถนาผู้ปกครอง”

ซึ่งมาร์แซล ซาห์ลินส์ กัดไว้เจ็บว่า “เป็นคำกล่าวที่มีแต่ความสิ้นหวัง เพราะผู้ปกครองซึ่งก็เป็นสัตว์ย่อมต้องมีผู้ปกครองที่เหนือกว่า”

นอกจากนั้น เจอรัลด์ นัดดาฟ นักเขียนคลาสสิคยังตั้งข้อสังเกตกลับไปที่เรื่องราวของเทพเจ้ากรีกที่เทพเจ้าซุสผู้เป็นใหญ่ในทวยเทพจัดการปราบยักษ์ไททันที่ก่อกบฏ ในช่วงเริ่มต้นจักรวาลเต็มไปด้วยความวุ่นวายและการทะเลาะเบาะแว้งในหมู่ทวยเทพ

สภาวะไร้กฎเกณฑ์ของสังคมเทพสอดคล้องไปได้ดีกับช่วงแรกก่อตัวของจักรวาล ซึ่งเกิดเสถียรภาพขึ้นได้ด้วยฝีมือของซุสผู้มีชัย ฉะนั้น ทางออกจากความโกลาหลตามตำนานเทพกรีกมิใช่การตกลงเจรจากัน หากคือใช้ความรุนแรง

ฉะนั้น เฮสิโอดผู้เขียนปกรณัมกรีกจึงเป็นอีกคนที่มองว่ามนุษยชาติผู้โฉดชั่วคือศัตรูของระเบียบที่ดีของสังคม

ซึ่งความคิดแบบแทนที่กันได้ระหว่าง ‘สังคม’ กับ ‘ธรรมชาติ’ เป็นวิธีคิดแบบกรีกโบราณ คือสังคมและธรรมชาติถูกวาดภาพมาให้ขัดแย้งกัน จึงเกิดคู่ขัดแย้งขึ้นระหว่าง Physis (ธรรมชาติ) กับ Nomos (ระเบียบประเพณี) พูดให้ง่ายคือวิธีคิดแบบนี้เชื่อว่า ‘ธรรมชาติ’ คือสิ่งที่มีมาก่อน มันต่อต้านความเป็นสังคม ไม่อยู่ในระบบระเบียบจึงจำเป็นต้องถูกควบคุมโดย ‘วัฒนธรรม’

ผู้เขียนชี้ว่า วิธีคิดแบบยกให้ขั้วใดขั้วหนึ่งดีกว่าและเหนือกว่าอีกขั้วมีรากความคิดมาจากการแบ่ง Physis กับ Nomos นี่เอง ซึ่งเป็นฐานคิดของโลกตะวันตกสืบต่อกันมายาวนาน

 

อีกที่มาของความคิดเรื่องนี้คือคริสต์ศาสนา

“ตั้งแต่ยุคกลางจนถึงยุคสมัยใหม่ สังคมถูกรับรู้ในฐานะยาต้านที่จำเป็นและให้ผลรุนแรงต่อความเห็นแก่ตัวที่อยู่ภายในตัวมนุษย์” มาร์แซล ซาห์ลินส์ ว่าไว้เช่นนั้น

และกล่าวถึงสิ่งที่ปอล ริเกอร์ เสนอไว้ว่า “สำหรับโลกตะวันตกแล้ว ปิศาจร้ายไม่ใช่สภาวะพื้นฐานและไม่ใช่โศกนาฏกรรมที่พระเจ้ามอบให้ แต่มันคือความรับผิดชอบของมนุษย์โดยลำพัง มนุษย์ผู้ซึ่งรักแต่ตัวเอง มนุษย์ผู้ซึ่งละทิ้งความเคารพนบนอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงเพื่อจะแสวงหาความสุขความพึงพอใจให้แก่ตัวเอง เอวาและงูซึ่งเป็นร่างจำแลงของซาตานจะต้องมีส่วนรับผิดต่อความชั่วร้าย และอาดัมเองก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องถูกประณาม”

ดังที่นักบุญออกุสตินว่าไว้ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์แห่งความชั่วร้ายนี้ว่ายเวียนอยู่ภายในน้ำอสุจิของอาดัม หมายความว่า “เราทุกคนล้วนแล้วแต่ถือกำเนิดขึ้นจากน้ำอสุจิของคนเพียงคนเดียว”

ความคิดเรื่องบาปกำเนิด (Original sin) สร้างข้อสรุปเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ให้แก่คริสตจักรมาหลายศตวรรษ และยังส่งผลต่อวิธีคิดทางจิตวิทยาและการเมืองด้วย ในเมื่อเราทุกคนมีบาป มีความชั่วติดตัวมาตั้งแต่เกิดจึงจำเป็นต้องมีผู้ปกครองสูงสุดหรือรัฐที่เข้มงวดทำหน้าที่กดปราบความชั่วร้ายป่าเถื่อนในตัวมนุษย์ มิฉะนั้น มนุษย์ก็จะกลืนกินเลือดและเนื้อของมนุษย์คนอื่นไม่ต่างจากสัตว์ร้ายอื่นๆ

นักบุญออกุสตินกล่าวว่า “พวกมนุษย์จะกดขี่และกันเลือดกินเนื้อกันเองได้อย่างไร เมื่อปลาตัวหนึ่งกินปลาอีกตัวหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็วมันก็ย่อมถูกปลาตัวอื่นกิน กฎของโลกนั้นถูกสถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าเพื่อยังประโยชน์แก่ชนชาติต่างๆ ด้วยความเกรงกลัวต่อกฎ มนุษย์ก็อาจไม่กัดกินเนื้อของมนุษย์คนอื่นแบบปลา”

คำกล่าวว่า “ปลาใหญ่ย่อมกินปลาเล็ก” นั้นมีมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังใช้สนับสนุนอุดมการณ์ทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่อยู่ แถมยังเพิ่มอีกด้วยว่า “ปลาไวกินปลาช้า” จึงเห็นได้ว่าแนวคิดว่าธรรมชาติมนุษย์ชั่วร้ายแย่งชิงกันนั้นสอดแทรกในชีวิตเราตลอด

 

เมื่อโลกเดินทางมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความเห็นแก่ตัวที่เคยถูกกำราบกลายมาเป็นสิ่งที่ถูกให้คุณค่าและเป็นรากฐานของความมั่งคั่งทั้งของบุคคลและชาติทั้งหลาย

ระบบทุนนิยมปรับเปลี่ยนความเห็นแก่ตัวให้มาอยู่ในรูปของการได้รับวัตถุสิ่งของ

ผู้คนสร้างสัมพันธ์กันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ซึ่งเป้าหมายนั้นคือผลประโยชน์ของตัวเอง ปัญหาคือความปรารถนาที่ทุนนิยมสร้างขึ้นมาใหม่ตลอดเวลานั้นไม่มีวันได้รับการเติมเต็ม สังคมจึงหล่อเลี้ยงไปด้วยกิจกรรม ข้าวของ ความต้องการสุขภาพดี เรือนร่างดี ความสำเร็จส่วนบุคคล ฯลฯ

สำหรับการปฏิวัติอเมริกา ผลประโยชน์ส่วนตัวซึ่งนำไปสู่ความสุขส่วนตัวเป็นสิทธิที่พระเจ้าทรงประทานมาให้ ความเป็นปัจเจกบุคคลมาพร้อมกับสิทธิในการถือครองทรัพย์สินและเสรีภาพพื้นฐาน ไม่ต้องเป็นทาสหรือแรงงานติดที่ดินส่งส่วยให้ขุนนางอีกต่อไป

‘เสรีภาพ’ แบบเสรีนิยมใหม่สามารถกระทำการใดๆ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง โดยรัฐบาลจะต้องไม่เข้ามายุ่มย่ามแทรกแซง

กลายเป็นว่ารัฐบาลที่มีอำนาจน้อยคือรัฐบาลที่ดีที่สุด

ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์กลับถูกมองเป็นแรงผลักดันระบบเศรษฐกิจให้พัฒนารุ่งเรืองต่อไป

ซึ่งแน่นอนว่าความรุ่งเรืองนั้นวัดจากไม้บรรทัดของ ‘มนุษย์’ ไม่ใช่สิ่งอื่นทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในโลกใบนี้