2503 สงครามลับ สงครามลาว (48)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (48)

 

แผนเข้าตี

พันเอกชวงอธิบายรายละเอียดแผนเข้าตีหลังการปิดล้อม สรุปได้ดังนี้…

พื้นที่ส่วนกลางของบ้านนาประกอบด้วยที่มั่นแข็งแรงของข้าศึกเป็นจำนวนมาก เป้าหมายสำคัญคือกลุ่มที่ตั้งของปืนใหญ่กระสุนวิถีโค้ง 105 ม.ม. และเครื่องยิงระเบิด 4.2 นิ้ว คลังสิ่งอุปกรณ์ พื้นที่ขึ้น-ลงเฮลิคอปเตอร์ และกลุ่มที่มั่นแข็งแรง 4 แห่งบนยอดเนินของสันเขาด้านล่าง

พื้นที่สูงของสันเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านนา ประกอบด้วยกลุ่มที่มั่นแข็งแรง 4 แห่ง

พื้นที่นี้มีหน่วยระดับกองร้อยเพิ่มเติมกำลังจากกองพันทหารไทย และหน่วยทหารลาวรับผิดชอบบริเวณสันเขาสูงข่มทางใต้ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองพันทหารลาวมีที่มั่นแข็งแรง 4 แห่งเช่นเดียวกัน

“ข้าพเจ้าได้ขอให้ผู้บังคับหน่วยทุกคนแทรกซึมเล็ดลอดเข้าไปให้ใกล้ที่หมายที่สุด ทำการสำรวจแต่ละที่หมายอย่างละเอียดและใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจต่อที่หมายอย่างชัดเจนสำหรับการจัดทำแผนเข้าตีต่อแต่ละที่หมาย”

“การวางแผนเข้าตีเป็นไปด้วยความรอบคอบและสมบูรณ์แบบ แต่ 4 วันก่อนเริ่มเปิดฉากการยิง กรมได้รับคำสั่งจากกองบัญชาการแนวหน้าให้โยกย้ายกองพันที่ 5 และ 6 ซึ่งเป็นกำลังหลักในการเข้าตีไปเป็นกองหนุนสำหรับกำลังที่จะเข้าตีล่องแจ้ง”

“เรามีเวลาเหลือเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดความยุ่งยากในการปรับแผนและกำลังในการเข้าตีเสียใหม่ ข้าพเจ้าจึงได้เรียกประชุมผู้บังคับหน่วยจนถึงระดับผู้บังคับกองร้อยรวมทั้งฝ่ายอำนวยการกรมเพื่อหารือการปรับแผนการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกำลังที่เหลืออยู่ ประเด็นสำคัญในการหารือคือเราจะกำหนดเป้าหมายและยุทธวิธีในการเข้าตีต่อแต่ละที่หมายเสียใหม่อย่างไร”

“กำลังที่ขาดหายไปถึง 2 กองพันหรือประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังทั้งสิ้น ในขณะที่ภารกิจมิได้ลดลงนับเป็นเรื่องใหญ่ในการรบ แต่พันเอกเหงียนชวง ในฐานะผู้บังคับการกรมก็เขียนไว้ในรายงานว่ายังคงมุ่งมั่นต่อภารกิจ ด้วยการปรับแผนเสียใหม่ให้สอดคล้องกับกำลังที่เหลืออยู่…”

“ในที่สุด ที่ประชุมก็ตกลงใจเปลี่ยนแผนการปฏิบัติจากการเอาชนะอย่าง ‘รวดเร็ว’ เป็นปฏิบัติการที่ ‘ยาวนาน’ ขึ้น จากการเข้าตีทุกที่หมายพร้อมกัน เป็นการเข้าตี ‘ครั้งละที่หมาย-ครั้งละพื้นที่’ ด้วยยุทธวิธี ‘ปิดล้อมและเข้าตี’ เช่นเดิม โดยรวมกำลังที่เหนือกว่าเข้าบดขยี้แต่ละที่หมายไป นำไปสู่การทำลายล้างข้าศึกทั้งหมดที่บ้านนาในที่สุด”

 

แผนการปฏิบัติต่อที่หมายซึ่งมีการดัดแปลงที่มั่นอย่างแข็งแรงของทหารไทยที่บ้านนา จะเริ่มด้วยการวางกำลังปิดล้อมอย่างเหนียวแน่นด้วยกำลังทั้งสิ้นที่มีอยู่ จากนั้นกระชับวงล้อมให้แน่นขึ้นตามลำดับ ด้วยการขุดแนวคูรบรุกคืบเข้าประชิดที่หมายเพื่อบีบรัดข้าศึกในวงล้อมที่เล็กลง เมื่อขุดสนามเพลาะรุกคืบหน้าเข้าไปประชิดที่ตั้งทหารไทยได้แล้ว ให้ตัดลวดหนามตามวงรอบแนวป้องกันและสร้างช่องว่างให้เกิดขึ้น อาวุธหนักให้ระดมยิงและทำลายที่ตั้งยิงและกำจัดกำลังกำลังทหารไทยตามแนวเจาะนี้ เมื่อสามารถเปิดช่องเจาะได้แล้ว จะส่งกำลังทหารราบส่วนเข้าตีแตกหักเข้าไปตามช่องทางนี้

แผนการปฏิบัติได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม…

“หลังปรับแผนการปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวเท่านั้นก่อนเริ่มปฏิบัติการตามแผน ทุกหน่วยต่างกระตือรือร้นเต็มที่ในการเข้าสู่สนามรบ ทหารทุกคนมีความเชื่อมั่นและกระหายในชัยชนะตามแผน”

“แต่กระนั้นข้าพเจ้าก็ยังคงมีความกังวลอยู่ลึกๆ เนื่องจากหน่วยของเรามีกำลังลดลงทำให้ต้องใช้กำลังที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ในการเข้าตีต่อกลุ่มที่มั่นแข็งแรงทั้งหมด ถึงแม้ว่าทุกหน่วยของกรมจะพยายามรวมกำลังกันอย่างถึงที่สุดในการเข้าตีแล้ว เราก็ยังต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการเลือกโจมตีต่อที่หมายใดก่อน-หลังให้เหมาะสม”

“เราต้องมั่นใจว่าจะสามารถเอาชนะต่อทุกที่หมายได้ตามลำดับขั้นตามแผนที่กำหนดไว้ เพราะหากมีที่หมายใดทำไม่สำเร็จก็จะนำไปสู่การชะงักงันของแผนทั้งหมดของฝ่ายเรา…”

“เสนาธิการกรม โดฟูวัง (Do Phu Vang) เข้าใจดีถึงความกังวลของข้าพเจ้าจากการที่ถูกดึงกำลังออกไปจากกรมถึง 2 กองพัน เราจึงให้ความสนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดทำแผนการปิดล้อมและเข้าตีต่อที่หมายที่ 3 ซึ่งเป็นที่หมายแรกของปฏิบัติการอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจในความสำเร็จอันจะนำไปสู่การรักษาน้ำหนักในการปฏิบัติการต่อที่หมายลำดับต่อๆ ไป”

 

เข้าตี

2กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 หลังการปิดล้อมยาวนานเดือนเศษ เมื่อทุกอย่างพร้อมตามแผนการรบก็ถึงขั้นการเข้าตีแตกหัก พันเอกเหงียนชวน บันทึกในรายงานว่า…

“ขณะนี้ถึงเวลา 20.00 น. ดวงจันทร์ส่องแสงสาดส่องผ่านใบไม้ของป่าทึบ ข้าพเจ้าดีใจเงียบๆ เพราะแสงสว่างนี้จะทำให้หน่วยรบสามารถเตรียมการเข้าตีได้ง่ายขึ้น ปืนใหญ่ข้าศึกยังคงยิงฉากป้องกันที่ตั้งต่อไป เครื่องบินข้าศึกก็ยังคงทิ้งระเบิดตามพิกัดเป้าหมายที่เตรียมการไว้ล่วงหน้า บางครั้งก็ตกใกล้ บางครั้งก็ตกไกลออกไป กระสุนส่องสว่างทำให้สนามรบสว่างไสว ร่มพยุงกระสุนล่องลอยไปตามกระแสลม แล้วค่อยๆ ลับหายไปในแสงจันทร์ ทันใดนั้นเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น พนักงานสื่อสารรายงานให้ทราบว่า ขณะนี้ฝ่ายเราได้วางกำลังโอบล้อมพื้นที่ที่หมาย 2 (ที่มั่นแข็งแรงรายล้อม บก.พัน และฐานยิงปืนใหญ่ของไทย) ไว้เรียบร้อยแล้ว ที่ตรวจการณ์รายงานว่าข้าศึกยังคงไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทุกหน่วยรอคำสั่งเปิดฉากการยิง ซึ่งหมายความว่ากำลังของเราได้เข้าไปประชิดที่มั่นของข้าศึกขณะที่ข้าศึกยังไม่รู้ว่าเราได้วางกำลังรายล้อมไว้แล้ว”

“ยังเหลือเวลาอีก 10 นาทีก่อนกำหนดเปิดฉากการยิง ข้าพเจ้ารับรายงานเหล่านี้ด้วยความยินดี แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้สึกเครียด การสู้รบคงจะเป็นไปอย่างรุนแรงอย่างถึงที่สุด ท้าทายความสำเร็จของฝ่ายเรา เราจึงต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบยิ่งกว่าการรบทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ข้าพเจ้าต้องเอาชัยชนะให้ได้ หน่วยของเราจะล้มเหลวไม่ได้ นี่คือความสำนึกต่อความรับผิดชอบและเกียรติยศของข้าพเจ้า”

“การสู้รบเริ่มขึ้นอย่างรุนแรง เสียงกระสุนปืนใหญ่ รวมทั้งเสียงระเบิดจากเครื่องยิงระเบิดทุกขนาด ประสานกับเสียงกระสุนปืนกลทั้งขนาดหนักและขนาดกลางสั่นสะเทือนไปทั่วขุนเขาและผืนป่า กระสุนส่องวิถีส่องแสงประสานไปทั่วพื้นที่เหนือศีรษะ รวมทั้งพลุส่องแสงทำให้พื้นที่ป่าสว่างไสวไปทั่วทั้งบริเวณ”

“ที่ตรวจการณ์รายงานให้ทราบว่า การระดมยิงด้วยปืนใหญ่ของเราสามารถกดดันพื้นที่ส่วนกลางและทำลายกองบังคับการและที่ตั้งปืนใหญ่ของข้าศึกอย่างได้ผล”