Cross-Gen Workforce เทคนิคปรับตัว ทำงานร่วมกับ Generation Mute/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Cross-Gen Workforce

เทคนิคปรับตัว

ทำงานร่วมกับ Generation Mute

 

ผมเคยเขียนถึงเรื่องราวของ Generation ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้ หลายต่อหลายครั้ง ในวันนี้น่าจะไม่ต้องอารัมภบทในประเด็น Generation อีก ท่านผู้อ่านสามารถค้นข้อมูลย้อนหลังได้ครับ

แต่ที่หยิบยกคำว่า Generation มาพูดถึงอีกครั้งในตอนนี้ ก็เนื่องมาจากว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ปรากฏศัพท์คำหนึ่ง ซึ่งมีความน่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟัง นั่นก็คือศัพท์คำว่า Generation Mute

พูดถึง Mute หลายถึงนึกถึงคำว่า Silent ที่แม้รูปศัพท์อาจดูคล้ายกัน และ แปลว่า “เงียบ” เหมือนกัน

แต่ Generation Mute ไม่ใช่คำที่มีความหมายเดียวกับคำว่า The Silent Generation ซึ่งเป็น Generation รุ่นพี่อย่างแน่นอน

เพราะ The Silent Generation หมายถึง ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 ถึงปี ค.ศ.1940 อันเป็นยุคสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม คนรุ่นนี้คือผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ส่วน Generation Mute นั้น หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กํากับดูการสื่อสารในสหราชอาณาจักร หรือ Office of Communications (Ofcom) ได้ให้นิยามคำว่า Generation Mute หรือเยาวชนช่วงอายุ 16-24 ปี ว่าเป็นกลุ่มคน “รุ่นปิดเสียง”

อันมีที่มาจากพฤติกรรม “ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ” หรือ Ringtone และ “เสียงเตือนข้อความเข้าทุกชนิด”

สอดคล้องกับสำนักข่าว The Telegraph ของอังกฤษ ที่รายงานว่า หนุ่มสาวยุคใหม่สมัยนี้ นิยม “ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ” เพราะเขาและเธอ ใช้ชีวิตอยู่ติดกับหน้าจอโทรศัพท์ตลอดเวลา

“ดังนั้น Ringtone จึงไม่จำเป็น เพราะหนุ่ม-สาวยุคใหม่สามารถรู้ได้ในทันทีที่มีใครโทร. หรือส่งข้อความเข้ามา” The Telegraph กระชุ่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generation Mute นิยมการสื่อสารกันแบบเงียบๆ ผ่าน “การส่งข้อความ” ที่นอกจากจะมองว่าเป็นเรื่องของมารยาททางสังคมแล้ว

ยังเป็นการป้องกันไม่ให้พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง หรือคนรอบข้างทราบว่า เขาและเธอกำลังสนทนากันในเรื่องอะไรอยู่อีกด้วย!

ทั้งนี้ The Telegraph ได้อ้างผลการสำรวจของ Ofcom ที่ระบุว่า Generation Mute นิยม “ส่งข้อความโต้ตอบกันแบบทันที” มากกว่า “การโทร.ออก-รับสาย” ถึง 2 เท่า!

The Telegraph รายงานต่อไปว่า ปัจจุบัน ยอดการซื้อ Ringtone หรือ “เสียงเรียกเข้า” จากการ Download ผ่านเครือข่าย Internet ในสหราชอาณาจักร มีปริมาณลดลงมาถึง 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าความรุ่งเรืองของธุรกิจ Ringtone นั้น อยู่ในช่วงปลายยุค 90 ต่อต้นยุค 2000

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี ค.ศ.2004 ที่ Ringtone ชื่อ Crazy Frog ของ Jamba! ได้รับความนิยมผ่านการ Download มากที่สุดในโลก ทำเงินได้ถึง 40 ล้านปอนด์!

สะท้อนให้เห็นว่า Trend การปรับแต่ง “เสียงเรียกเข้ามือถือของตัวเอง” เพื่อสร้างความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร ในยุคนั้น มีความสำคัญกับวัยรุ่นมากแค่ไหน ซึ่งต่างจากปัจจุบันแบบหน้ามือกับหลังมือเลยทีเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sensor Tower บริษัทวิเคราะห์ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ได้เปิดผลการสำรวจยอดการติดตั้ง Application ประเภท Ringtone ในอังกฤษ ว่ามีอัตรา ลดลงมากถึง 20% ระหว่างปี ค.ศ.2016 ถึงปี ค.ศ.2020 จาก 4.6 ล้านครั้ง เหลือ 3.7 ล้านครั้งเท่านั้น!

เช่นเดียวกับ Jenny Ehren รองหัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Childwise ที่เผยว่า เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ ชาว Generation Mute มักนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปใช้ในห้องเรียน

“เด็กๆ จึงต้องปิดเสียงทุกชนิด เพื่อไม่ให้คุณครูได้ยิน หรือจับได้ว่ากำลังเล่นโทรศัพท์มือถืออยู่” Jenny Ehren สรุป

Ernest Doku ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมของ USwitch เสริมว่า ปัจจัยหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการล่มสลายของธุรกิจ Ringtone ต้องยอมรับว่า ความก้าวหน้าของอุปกรณ์ Wearable มีผลอย่างมาก

“ทุกวันนี้ คนหนุ่ม-สาวส่วนใหญ่นิยมสวมใส่ Smart Watch แม้กระทั่ง Fitbit ก็มี Function การเตือนผู้ใช้งานให้ทราบตลอดเวลา ทันทีที่มีข้อความหรือมีสายเรียกเข้ามาโดยที่ไม่ต้องเปิดเสียงโทรศัพท์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์เกี่ยวกับมารยาททางสังคม ที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหลายยี่ห้อได้พากันใช้ Manner Mode หรือ “มารยาทดี” ซึ่งก็คือการ “ปิดเสียงทุกชนิด” แทน Silent Mode หรือ “เงียบสนิท” นั่นเองครับ

 

เมื่อเราได้ทำความรู้จักกับความหมายของ Generation Mute กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันดับต่อไป เรามาดู Cross-Gen Workforce หรือเทคนิคการปรับตัวทำงานร่วมกับ Generation Mute กันบ้างครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุค Disruption แบบนี้ ที่ทุกองค์กรต้องปรับตัว สร้างความ Agile (ยืดหยุ่น) ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การบริหารคน”

ข้อเท็จจริงก็คือ Generation Mute นั้น หมายถึง Generation Z อยู่กลายๆ หากดูจากอายุอานามก็จะพบว่าเป็นรุ่นราวคราวเดียวกัน

ดังนั้น ระบบอาวุโส หรือ SOTUS ในอดีต คงจะนำมาใช้กับ Generation Z หรือ Generation Mute ผู้รักอิสระเสรีเหนืออื่นใดไม่ได้อีกแล้ว

ก็ขนาด “เสียงโทรศัพท์” และ “เสียงข้อความ” ของตัวเองแท้ๆ Generation Mute ยังปิดทิ้งไปอย่างไม่ไยดี!

ในทางตรงข้าม Generation Mute กลับต้องการให้คนอื่นรับฟังความคิดเห็นของตนอยู่เสมอ!

Generation Mute จะรับไม่ได้ทันทีที่ไม่มีใครรับฟังพวกเขา!

ดังนั้น สายการบังคับบัญชาแบบ Top-Down จึงเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว เมื่อองค์กรเริ่มมีคน Generation Mute เข้ามาร่วมงานมากขึ้นเรื่อยๆ

จึงต้องเปลี่ยนสายการบังคับบัญชาให้เป็นแบบ Flat หรือ Horizontal แทนสายการบังคับบัญชาแบบ Vertical หรือ Top-Down

เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ชอบโครงสร้างการบริหารแบบ Top-Down แต่ชอบทำงานแบบ Bottom-up

Generation Mute ไม่อยากทำตามคำสั่งทุกอย่าง แต่ชอบแสดงความเห็น และออกไปปะทะ หรือคุยกับลูกค้าโดยตรงด้วยตนเอง

 

สิ่งหนึ่งซึ่งต้องไม่ลืมก็คือ คุณสมบัติพิเศษประการสำคัญของ Generation Mute คือการที่พวกเขาเป็นกลุ่มคนรุ่นที่มีความ Multi Skill มากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นอกจาก Multi Skill แล้ว Generation Mute ยังมี Multi Discipline อยู่อย่างเต็มเปี่ยม

อย่างไรก็ดี องค์กรต้องให้ความสำคัญกับ Mindset ไม่แพ้การสร้าง Skill

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้าง Startup Mindset และ Growth Mindset ให้เกิดขึ้นพร้อมกันในตัว Generation Mute

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า Generation Mute มักต้องการการวัดผลที่ชัดเจน จะได้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องพัฒนาคืออะไรในการทำตามเป้าหมายได้

ความหมายก็คือ Generation Mute ต้องการทราบเป้าหมายขององค์กรที่พวกเขาต้องเดินไปให้บรรลุสิ่งที่องค์กรคาดหวังอย่างชัดเจน

อย่าลืมว่า Generation Mute ไม่กลัวความล้มเหลว แต่ขอความชัดเจนเป็นอันดับแรก

นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ Generation Mute

 

กระนั้นก็ดี กระบวนการทำงานแบบดั้งเดิม ที่ต้องดำเนินตามขั้นตอน 1-2-3-4-5 ถึง 10 นั้น คงใช้ไม่ได้กับ Generation Mute อย่างแน่นอนครับ เพราะพวกเขาสามารถทำทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน

จึงต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงานเป็น 10-9-8-7-6 ถอยหลังไปจนถึง 1

เพราะ Generation Mute สามารถเป็นได้ทั้ง Developer และเป็นได้ทั้ง Designer ในงานเดียวกัน!

ดังนั้น องค์กรยุคใหม่ ต้องมีนโยบายรับมือกับ Generalist อย่างใกล้ชิด เพราะอย่างที่กล่าวไป ว่า Generation Mute นั้น ไม่ใช่ Specialist แบบเดิมๆ ที่เชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือทำงานได้เฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่ง

แต่ Generation Mute มีความรู้รอบด้าน เป็นได้ทั้ง Developer และเป็นได้ทั้ง Designer ในงานเดียวกันนั่นเองครับ!