แยกกันเดิน รวมตี ‘กันเอง’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

แยกกันเดิน

รวมตี ‘กันเอง’

 

แม้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะชี้แจงเป็นแผ่นเสียงตกร่อง

ว่า การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นการลงพื้นที่ตามภารกิจปกติ

ขณะที่ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ลงพื้นที่เป็นไปตามการแบ่งกันตรวจราชการเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม

“ทั้งสองรักกันดีและช่วยกันทำงานเพื่อดูแลทุกข์สุขของคนไทยทั้งประเทศ” นายธนกรกล่าวย้ำแล้วย้ำอีก

แต่กระนั้น ดูเหมือนคนจะไม่เห็นสอดคล้องด้วย

แถมยังมองว่า “การลงพื้นที่” เป็นการช่วงชิง “อำนาจ” และการนำทางการเมืองของพี่น้อง 2 ป.มากกว่า

 

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า เหตุผลสำคัญหนึ่งที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หยิบมาเขย่า พล.อ.ประยุทธ์ นั่นก็คือห่างเหินจาก ส.ส. ไม่รับรู้ หรือนำสิ่งที่ ส.ส.ต้องการ ไปแก้ไขหรือไปขับเคลื่อนในการบริหาร

จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ที่ถูกประชดประชันว่ามัวแต่ทำงานที่บ้าน พลิกตัวอย่างฉับพลัน

ด้วยการลงพื้นที่ถี่ยิบ

นอกจากเพื่อแก้ข้อกล่าวหาไม่ใกล้ชิด ส.ส.แล้ว

อีกด้านหนึ่ง ก็มองว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวกระชับอำนาจในพรรค พปชร.ด้วย

ซึ่งไม่ได้มองอย่างเข้าใจไปเองหรือลอยๆ หากแต่มีร่องรอยให้ตั้งข้อสังเกตได้

เพราะพื้นที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงไปตรวจงานนั้น ไม่ว่าสมุทรปราการ ชลบุรี ชัยนาท เพชรบุรี ล้วนเป็นพื้นที่ที่เป็น ส.ส.ในกลุ่มที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้การกำกับดูแลของแกนนำมุ้งสำคัญในพรรค ไม่ว่านายสุชาติ ชมกลิ่น นายอนุชา นาคาศัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ทั้งสิ้น

จึงถูกมองว่า นี่เป็นการรวมกลุ่ม ส.ส.เพื่อถ่วงดุลในพรรค พปชร.ใช่หรือไม่

 

ตัวอย่างล่าสุด คือ การเดินทางไปตรวจงานที่ จ.เพชรบุรี ในวันที่ 22 กันยายน ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงการ “จัดการ” ที่ตอบสนองเป้าหมายข้างต้นได้เป็นอย่างดี

กล่าวคือ คณะที่เดินทางไป ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ซึ่งล้วนเป็นฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ และเป็นตัวละครที่มีปัญหากับฝ่าย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ยืนเคียงข้าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.ทั้งสิ้น

โดยที่ จ.เพชรบุรี ถือเป็นพื้นที่ของ พปชร. มี ส.ส.เพชรบุรี มาต้อนรับประกอบด้วยนายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เขต 1 นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เขต 2 นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เขต 3 โดยมีนายชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ.มาร่วมด้วย

ขณะเดียวกันมี ส.ส.จากจังหวัดใกล้เคียงมาร่วม อาทิ จ.กาญจนบุรี มี พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.เขต 1 นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.เขต 4 และนายอรรถพล โพธิพิพิธ ส.ส.เขต 5 ยกเว้นนายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.เขต 2 ที่แยกไปรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ส่วน จ.ราชบุรี มี น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.เขต 1 นางบุญยิ่ง กาญจนา ส.ส.เขต 2 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.เขต 4 มาร่วม ยกเว้น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.เขต 3 ที่ไปต้อนรับ พล.อ.ประวิตร ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

โดยมีข่าวว่า ส.ส.เหล่านี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้ระดมให้มาร่วมในการลงพื้นที่ครั้งนี้

เพื่อเสริมภาพและบารมีให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ายังได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.อย่างหนาแน่นอยู่

 

ขณะที่ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์กำลังปลุกภาพดังกล่าว

ก็มีภาพบังเอิญจากฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้าม คือในวันเดียวกัน วันที่ 22 กันยายน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. เดินทางพร้อมคณะ อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเช่นกัน

โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ มีรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัสได้ให้ทีมงานโทรศัพท์เช็ก ส.ส.รายคนว่า จะเดินทางไปลงพื้นที่กับ พล.อ.ประวิตร หรือไม่ และกำชับ ส.ส.ในพรรคมาต้อนรับคณะให้มากที่สุด

ซึ่งการกำชับดังกล่าว จะมองว่าเป็นการแข่งกับคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงไม่ผิดนัก

ปรากฏว่า มีบรรดา ส.ส.และแกนนำพรรค พปชร.มารอ พล.อ.ประวิตรคับคั่ง ถึงประมาณ 55 คน จากภาคเหนือ อีสาน กลาง และ กทม.

อาทิ นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตร ส.ส.สระบุรี นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ ยังรวมถึงนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง และรองหัวหน้าพรรค ซึ่งถูกมองว่าอยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาร่วมด้วย

นายบุญสิงห์ วรินทรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค พปชร. ชี้แจงว่านี่ไม่ใช่การแสดงพลัง แต่ ส.ส.ต้องการมาดูว่า ที่นี่บริหารจัดการน้ำอย่างไร

โดยยืนยันตัวเลขว่า วันนี้มี ส.ส.มากันทั้งหมด 40-50 คน

 

แน่นอน ภาพนี้หากไปถามนายธนกรในฐานะโฆษกรัฐบาล ก็คงย้ำว่าเป็นการแบ่งกันทำงาน ทั้งสองฝ่ายไม่มีความขัดแย้ง

แต่ไปถามคนนอกโดยเฉพาะฝ่ายค้าน อย่างนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ย่อมมีมุมมองตรงข้าม

โดยนายวิโรจน์ชี้ว่า การลงพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น หากก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์มีพฤติกรรมทำงานแบบนี้มาต่อเนื่องก็คงไม่เป็นที่น่าสังเกต

แต่ช่วงนี้กลับลงพื้นที่และพบปะกับ ส.ส.ในท้องที่ต่างๆ ซึ่งแต่เดิมบทบาทนี้เป็นของ ร.อ.ธรรมนัส

จึงเป็นที่ชัดเจนว่า บทบาทของเลขาธิการพรรค พปชร.นั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไว้ใจให้ ร.อ.ธรรมนัสทำหน้าที่เป็นโซ่เชื่อมระหว่างรัฐบาลกับพรรค พปชร. และข้าราชการส่วนกลางในพื้นที่

เท่ากับว่า รอยร้าวที่มีอยู่กลายเป็นรอยปริแตกแล้ว

แต่ความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร มีความซับซ้อนมาก เป็นความสัมพันธ์ที่ผูกพันกันมานาน ทำให้ไม่เชื่อว่าทั้งสองคนจะหักกันโดยสมบูรณ์ คือยังมีส่วนที่ยังคุยกันอยู่ แต่เรื่องงานบางส่วนก็ปริแตกโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการพรรค พปชร.ที่ถือว่าปริแตกแน่นอน

การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์จึงถือเป็นการกระชับอำนาจของการเมืองเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง แต่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่คิดที่จะยุบสภา เพราะกระแสความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ตกต่ำจนถึงขีดสุด หากเลือกตั้งตัวเองก็ต้องแพ้

“ดังนั้น การลงพื้นที่ของนายกฯ กับรัฐมนตรีเป็นการกระชับอำนาจมาที่ตัวเอง” นายวิโรจน์ระบุ

 

การ ‘เดินสาย’ ไม่ว่าจะเป็นที่สมุทรปราการ ชัยนาท ชลบุรี เพชรบุรี และพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังจะติดตามมา

จึงไม่ได้เป็นอย่างที่โฆษกรัฐบาลพยายามบอกว่า ไม่มีปัญหาอะไร เป็นการแบ่งงานกันทำ

เพราะมีภาพประชันพลังระหว่าง 2 ขั้วชัดเจน

ทั้งที่หากมองจากรากฐาน “เดิม” ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นพี่น้องใน ‘กลุ่ม 3 ป.’

การ ‘เดินสาย’ ของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ น่าจะเป็นคุณ ไปในแบบยุทธวิธี “แยกกันเดิน รวมกันตี”

ซึ่งล้วนเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล และของพรรค พปชร.

ด้านหนึ่ง เป็นการตรวจงานเกี่ยวกับการบริหารน้ำ และแก้ไขอุทกภัยให้ชาวบ้าน

ด้านหนึ่ง เพื่อกระชับเอกภาพทางการเมือง เพื่อให้รัฐบาลแข็งแกร่ง

สร้างความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมก่อนยุบสภา เลือกตั้งใหม่

แต่สถานการณ์อันเป็นผลตกค้างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่นำไปสู่กรณีปลด 2 รัฐมนตรียังไม่ได้จบสิ้น

แถมยังขยายใหญ่และส่งผลสะเทือนอย่างไม่คาดหมายต่อการช่วงชิงอำนาจใน พปชร.

ทำให้ขั้วอำนาจใหญ่ในพรรคและในรัฐบาล สะสมกำลังที่จะนำไปสู่ภาวะการสร้างดาวคนละดวง

เอกภาพทางการเมืองระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลายเป็น ‘คำถาม’ และข้อสงสัย

แม้กระทั่งการแยกสายไปตรวจงานเพื่อปูทางไปสู่การได้สะสมความนิยม เพื่อเตรียมพร้อมการเลือกตั้งในอนาคต แบบ “แยกกันเดิน รวมกันตี” น่าจะเป็นเรื่องความปกติของรัฐบาลและพรรคการเมือง

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น การแยกสายไปทำงานที่ควรเป็นสิ่งปกตินั้น กลับถูกมองและตั้งข้อสงสัยว่า

เป็นการแยกแบบ “ต่างคนต่างเดิน”

และที่สำคัญ ไม่ใช่การรวมพลังไปตีคนอื่น

กับกลายเป็นการหันหน้าเข้า “ตีกันเอง”

ซึ่งแม้ พล.อ.ประวิตรจะประกาศยืนยันหนักแน่นว่า

“ผมและ พล.ประยุทธ์กอดคอและสนิทสนมกันมา 50 กว่าปีแล้ว ข่าวที่ออกมาบ้าบอทั้งสิ้น จำเอาไว้นะ ให้ตายจากกัน เรา 3 ป.ถึงจะเลิกรักกัน รู้สึกบ้าบอมากเลยกับข่าวที่ออกมาว่าทะเลาะเบาะแว้ง วัดกำลังกัน”

คนจะเชื่อ และสยบกระแส “ขัดแย้ง” ลงได้หรือไม่ ยังเป็นคำถาม!