วิรัตน์ แสงทองคำ : เซ็นทรัล…สยามสแควร์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ / https://viratts.com/

 

เซ็นทรัล…สยามสแควร์

 

เรื่องราวเซ็นทรัล “ขาใหญ่” ขยับ…อีกตอน ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ มีสีสันด้วยเรื่องราวหลายแง่มุม

ที่สำคัญ เชื่อว่าจะน่าสนใจกว่าตอนก่อนหน้า (เซ็นทรัล “ขาใหญ่” ขยับ – มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2564) อย่างแน่นอน

กลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN มีความเคลื่อนไหวอย่างครึกโครม ล่าสุด ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ด้วยดีลมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท เข้าซื้อกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกแห่ง (บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF) เป็นทางผ่านอันรวดเร็ว สู่ธุรกิจค้าปลีกโมเดลที่แตกต่างจากกลุ่มเซ็นทรัลมี

อันที่จริงมีอีกดีล เป็นไปได้อย่างเงียบๆ เมื่อ 2 เดือนก่อน แต่ข่าวเพิ่งปะทุ CPN ชนะประมูลในการพัฒนาที่ดินบริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ ให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยประกาศผลเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564

 

ว่าด้วยทำเลพื้นที่ Block A มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ เชื่อว่ามีความหมายสำคัญต่อกลุ่มเซ็นทรัลอย่างมาก ด้วยอยู่ตรงข้ามสยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัฟเวอรี และสยามพารากอน

ผมเคยฟันธงไปว่า ศูนย์กลาง “จับจ่ายใช้สอย” (หรือจะเรียก Shopping paradise ก็ได้) ใจกลางกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง อยู่ที่สยามพารากอน ในฐานะแม่เหล็กอันทรงพลัง เมื่อผนึกผสานกันกับสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี จึงอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ขณะที่ฝั่งตรงข้ามถนน-สยามสแควร์ และเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เป็นดาวบริวารวงใน

สยามพารากอน เปิดตัวในช่วงปี 2548 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังการพักฟื้นครั้งใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย เพิ่งผ่านวิกฤตการณ์ (ตั้งแต่ปี 2540) ปัจจัยสำคัญอีกประการ มาจากการสร้างระบบขนส่งมวลชนครั้งแรกของกรุงเทพฯ-รถไฟฟ้าบีทีเอส (2542) โดยจุดศูนย์กลางของเครือข่ายและระบบ อยู่ที่สถานีสยาม

ก่อนหน้านั้น กลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้เรือธง-เซ็นทรัลชิดลม ซึ่งอยู่ห่างกันตามถนนพระรามหนึ่ง หรือเส้นทางบีทีเอส เพียงประมาณ 2 กิโลเมตร ถือว่ามีแรงดึงดูดสำคัญในย่านนั้น มาเกือบๆ 3 ทศวรรษ

แม้ว่าเซ็นทรัลชิดลม (2517) กับสยามเซ็นเตอร์ (2516) เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน ดูเหมือนว่าสยามเซ็นเตอร์เป็นเพียงส่วนต่อขยายของสยามสแควร์ เพื่อเข้าถึงวัยรุ่น ประกอบด้วยผู้ค้ารายเล็กๆ

ขณะที่เซ็นทรัลชิดลม เป็นผู้นำกระแส ด้วยการนำเข้าสินค้าต่างประเทศ สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่มีอิทธิพลของกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับกระแสอิทธิพลอย่างต่อเนื่องจากยุคสงครามเวียดนาม

แม้ว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะมีเซ็นทรัลเวิลด์ อยู่ในทำเลใกล้เคียง ได้ปรับโฉม เปิดตัวขึ้นภายหลังเล็กน้อย (ปี 2550) กับสยามพารากอน แต่ดูเหมือนได้กลายเป็นเพียงดาวกระจายรอบๆ เท่านั้น น่าจะมาจากอยู่ในทำเลที่ไม่ดีเท่า

ตั้งแต่นั้น อาจถือว่า กลุ่มเซ็นทรัลในฐานะผู้บุกเบิกผู้นำค้าปลีกไลฟ์สไตล์ แห่งกรุงเทพฯ ยุคสมัยใหม่ มาราวๆ ครึ่งศตวรรษ ได้สูญเสียตำแหน่งสำคัญไปเสียแล้ว

 

“ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2548 สยามพารากอนเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ด้วยเงินลงทุนถึงกว่า 15,000 ล้านบาท นับเป็นเงินลงทุนโดยภาคเอกชนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทยในเวลานั้น ซึ่งช่วยฟื้นฟูความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศไทยได้อย่างมหาศาล…” คำอธิบายปัจจุบันของสยามพารากอนเอง ให้ภาพสะท้อนบริบทไว้ด้วย (http://www.siamparagon.co.th)

อันที่จริงก่อนหน้านั้น (ราวๆ ปี 2556) มีคำอธิบายที่น่าสนใจที่สำคัญอีกมิติหนึ่งอยู่ด้วย (ขณะนี้ไม่ปรากฏ) “โครงการแห่งความภูมิใจของคนไทย มีความสง่างามและมาตรฐานสูงสมศักดิ์ศรีของที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘วังสระปทุม’ มุ่งหมายให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทย ช่วยยกระดับกรุงเทพมหานครให้เป็น “World-class Shopping Destination” อันมีส่วนช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจของชาติ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน”

เรื่องราวเกี่ยวกับวังสระปทุม มีการนำเสนอในวงกว้างไว้เช่นกัน “วังสระปทุมตั้งอยู่บริเวณย่านสยาม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดคลองแสนแสบ ทิศตะวันออกติดคลองอรชรริมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทิศใต้ติดถนนพระรามที่ 1 และทิศตะวันตกติดถนนพญาไท ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ของวังออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก เป็นพื้นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าสร้างศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้ากลุ่มวันสยาม ได้แก่ สยามดิสคัฟเวอรี สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ซึ่งทั้งสามห้างนี้ดำเนินงานโดยบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ตั้งอยู่ติดกับถนนพระรามที่ 1 และอยู่ด้านตรงข้ามกับสยามสแควร์…”

(อ้างจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกมิติกว้างขึ้น ว่าด้วยโฉมหน้ากรุงเทพฯ มองผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรม และการใช้สอยเชิงพื้นที่ของเมืองสะท้อนการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย

เปิดฉากด้วยแรงกระตุ้นอันมหาศาลครั้งแรกๆ มาจากอิทธิพลสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเวียดนาม ท่ามกลางสังคมไทยตื่นตัวกับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์อยู่ กำลังขยายตัวในชนบท

เรื่องราวเกิดขึ้นปี 2502 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี InterContinental Hotel ได้เสนอสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว ขึ้นในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ

ขณะนั้น InterContinental อยู่ในเครือข่าย Pan American Airline สายการบินระดับโลกของอเมริกา ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในช่วงสงครามเวียดนาม

เป็นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ จึงเป็นที่มาของการร่วมมือโดยรัฐเข้าถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับเอกชนไทยบางส่วน และ InterContinental

การสร้างโรงแรม 5 ดาวครั้งแรกๆ ในกรุงเทพฯ เป็นไปค่อนข้างช้า กว่าจะเปิดบริการอย่างเอิกเกริกในฐานะโรงแรมใหญ่อันโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม ขนาด 400 ห้องใช้เวลาหลายปี (ปี 2509) แต่ในระหว่างนั้นได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้มีการพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียง

ในราวปี 2505 สยามสแควร์ พื้นที่ฝั่งตรงข้าม เริ่มดำเนินการก่อสร้าง พัฒนาที่ดินประมาณ 63 ไร่ ทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณสี่แยกปทุมวัน ริมถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท ให้เป็นศูนย์การค้าแนวราบและเปิดโล่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ สูงแค่ 3-4 ชั้น มีอาคารขนาดใหญ่บ้าง โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์ ที่มาของตำนานโรงภาพยนตร์ในยุคซิกตี้-สยาม (เปิดปี 2509) ลิโด้ (2511) และสกาลา (2512) เป็นอีกยุคถัดมาราวทศวรรษ

ต่อจากตำนานโรงภาพยนตร์คิงส์ ควีนส์ และแกรนด์ ในที่เดิมที่เป็นวังบูรพาภิรมย์

 

เป็นที่น่าสังเกต พื้นที่บริเวณนี้ มักมีจังหวะการพัฒนาขึ้น ท่ามกลางหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคม

ในปี 2516 สยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าแห่งแรกของเมืองไทย สูง 4 ชั้น พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ออกแบบโดย Robert G Boughey สถาปนิกชาวอเมริกัน ได้เปิดบริการขึ้น เป็นการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ในเวลาซึ่งห่างกันกว่าทศวรรษ ในปลายสงครามเวียดนาม กับช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเปิดกว้างครั้งใหญ่ของบรรดานักศึกษาไทย

และอีกครั้ง ผ่านช่วงพัฒนาการแห่งกรุงเทพฯ มากว่า 2 ทศวรรษ ในปี 2540 สยามดิสคัฟเวอรี ศูนย์การค้าที่ต่อเนื่องทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และความเป็นเจ้าของจากสยามเซ็นเตอร์ ได้เปิดตัวท่ามกลางวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่

ตัดฉากสู่ยุคปัจจุบัน และยุคจากนี้ ยุคต่อเนื่องและหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 นอกจาก “แกะรอย” ปะติดปะต่อ ติดตามความเป็นไป จาก “ชิ้นส่วน” ปรากฏการณ์ต่างๆ รวมทั้งกรณีกลุ่มเซ็นทรัล กับแผนการปรับโฉมสยามสแควร์ โดยเฉพาะกับพื้นที่เดิมโรงภาพยนตร์แห่งกรุงเทพฯ เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว และจากนั้น กลุ่มเซ็นทรัล กับสยามพิวรรธน์ ในฐานะพลังขับเคลื่อนบางอย่างในกรุงเทพฯ จะขับเคี่ยวทางธุรกิจกันหรือไม่ อย่างไร

ขณะที่เป็นอีกมิติหนึ่ง อาจสะท้อนทิศทางและโฉมหน้ากรุงเทพฯ เมืองหลวงทันสมัยแห่งหนึ่งของโลก ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง