E-DUANG : การก่อเกิด “ทิพยรูป” ภายในตัว “ยิ่งลักษณ์”

หากศึกษา “ท่าที” จาก 1 คสช. และ 1 รัฐบาล ผ่านเอกสารในแบบ”แหล่งข่าว” ประสานกับ “แผนกรกฎ 52”

ก็จะประจักษ์ใน “ความหวั่นไหว”

หวั่นไหวในพลังอันมาจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างที่ศัพท์ทางการทหารเรียกว่า

Soft Power

นี่ย่อมเป็นพลังอันแตกต่างจากที่เคยเห็นจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากที่เคยเห็นจาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล

2 คนนี้แม้จะ Drama แต่ “กร้าว แข็ง”

ความหวั่นไหวอันมาจาก “คสช.” ความกังวลอันมาจาก “รัฐบาล” จึงมีเหตุผล

เท่ากับยอมรับในพลังของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

บทบาทของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เหมือนกับบทบาทของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แน่นอน

เพราะเธอพูดไม่เก่ง

เนื่องจากมิได้ตระเตรียมมาเพื่อ “เป็น” หรือ “เล่น” ในบทของ “นักการเมือง”

ถูกผลักรุนเข้ามาตามความจำเป็น

เพราะนับแต่ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 พรรคไทยรักไทย ถูกรุกไล่ตกอยู่ในจุดอัน “ถอย” แล้วถอยเล่า แม้ “อวตาร” มาเป็นพรรคพลังประชาชน

ก็ยังถูกตามราวีด้วยแผน “ตุลาการภิวัตน์”

“สถานการณ์” ต่างหากที่ลากดึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามา ขณะเดียวกัน “สถานการณ์” อีกนั่นแหละที่ทุบตีและสร้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้น

กลายเป็น “ทิพยรูป” ตามสำนวนของ “นายผี-อัศนี พลจันทร”

 

“การเมือง” เป็นเรื่องแปลก คนที่อยากเป็นอาจไม่ได้เป็น คนที่ไม่อยากเป็นกลับจะได้เป็น “นักการเมือง”

เพียงแต่กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เหมือนคนอื่น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาตาม “ตรอก” แต่ออกเพราะถูก “รัฐประหาร” อยู่ในฐานะ “ถูกกระทำ” แต่ก็ “อดทน”

เป็นไปตามบทสรุปไทยแต่โบราณครบถ้วน “แรงเหมือนมด อดเหมือนกา”

กระทั่งค่อยๆสถาปนา Soft Power ขึ้นเป็นของตน