ธรรมนัสคือสัญญาณขาลงของประยุทธ์/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

ธรรมนัสคือสัญญาณขาลงของประยุทธ์

 

กรณีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า งัดข้อกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนทำให้ต้องเกิดการสั่งปลดพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี ได้นำไปสู่การปริร้าวในหมู่ 3 ป. เพราะทั้ง ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีนั้น ล้วนเป็นคนรอบตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของ 3 ป.

โดย พล.อ.ประยุทธ์ลงมือปลดก่อนแล้วไปบอก พล.อ.ประวิตรในภายหลัง

จะไม่ให้เกิดการปริร้าวได้อย่างไร!?

แม้ว่าในเวลาต่อมา พล.อ.ประยุทธ์จะโชว์ภาพยังกลมเกลียวเหนียวแน่นกับ พล.อ.ประวิตร ด้วยการเดินกอดไหล่กอดหลังกัน อีกทั้ง พล.อ.ประวิตรก็ยอมกลืนเลือด เล่นบทนิ่งสงบไม่แสดงอาการขัดแย้งแตกแยกให้ปรากฏ

แต่ในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจ 3 ป.ย่อมไม่เหมือนเดิม

อีกทั้งถ้าหากก่อนหน้านั้น พล.อ.ประวิตรไม่ทุบโต๊ะเบรกกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จนยอมยุติแผนการโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ

ถ้าบิ๊กป้อมไม่เบรก ร.อ.ธรรมนัสจนอยู่หมัด เราก็อาจได้เห็นเสียงโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ สูงกว่าเสียงไว้วางใจ เท่ากับการล้มรัฐบาลกลางสภา สังเวยญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใของฝ่ายค้าน

อาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ผ่านกลไกสภา!

อันสอดคล้องกับเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชนจำนวนมาก ที่ยากลำบากในสถานการณ์โควิด รับไม่ได้ที่รัฐบาลจัดหาวัคซีนมาอย่างล่าช้า จนทำให้หยุดการระบาดไม่ได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจก็ไม่สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ เกิดปัญหาปากท้องหนี้สินตามซ้ำอีก

เรียกได้ว่า เกือบจะได้เห็น ร.อ.ธรรมนัสกลายเป็นฮีโร่ ผู้เปลี่ยนแปลงการเมืองไทย ผู้หาทางออกให้กับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความอึมครึมและความไม่พึงพอใจของประชาชน

แต่ลงเอย ร.อ.ธรรมนัสก็โดนเขี่ยพ้นรัฐบาลเสียเอง ซึ่งเหมือนจะยิ่งสร้างความขัดแย้งให้ลงลึกมากขึ้นไปอีก

รอวันจะเกิดการปะทุยกใหม่

เพราะแม้ไม่มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล แต่ก็ยังคงเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่เป็นฐานหลักให้กับรัฐบาลประยุทธ์ เป็นพรรคที่ยังกุมชะตากรรมของรัฐบาลอยู่

ทั้งหลายทั้งปวง เหตุการณ์นี้คือความขัดแย้งแตกแยกครั้งรุนแรงในกลุ่มอำนาจการเมืองยุคนี้

สะท้อนให้เห็นว่า สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มั่นคงแข็งแกร่งอีกต่อไปแล้ว!

 

การเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมืองไทยนั้น ย้อนดูอดีตที่ผ่านมา มักเกิดจากปัญหาความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่ยอมรับรัฐบาล จนเกิดกระแสต่อต้านหลายรูปแบบ และผสมผสานกับความแตกแยกกันเองในหมู่ผู้มีอำนาจ

ความขัดแย้งกันเองในกลุ่มอำนาจ บางยุคก็นำมาสู่การนำกำลังทหาร เข้ายึดอำนาจ โค่นล้มกันเอง

แต่ความขัดแย้งในกลุ่มอำนาจปัจจุบัน แสดงผ่านทางพรรคการเมืองที่เป็นฐานรัฐบาล จนเกิดความสั่นไหวครั้งใหญ่!

อำนาจยุคปัจจุบัน นำโดยกลุ่ม 3 ป. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือบิ๊กป้อม เป็นพี่ใหญ่ เล่นบทดูแลโอบอุ้มอีก 2 ป.มาโดยตลอด โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เล่นบทเป็นผู้นำ ทั้งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เข้ายึดอำนาจการปกครอง จัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นปกครองประเทศ โดย พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เอง มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา บิ๊กป๊อก เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยกระทรวงสำคัญ ขณะที่พี่ใหญ่บิ๊กป้อมเป็นรองนายกฯ ผู้ดูแลด้านความมั่นคง ทหาร ตำรวจ

แล้วกลุ่ม 3 ป.ก็สืบต่ออำนาจ ผ่านการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ด้วยกติการัฐธรรมนูญที่มีกลไกเอื้ออำนวยให้ได้กุมอำนาจต่อ

จนกระทั่งในปี 2563 หรือปีที่ 6 ในอำนาจของ 3 ป. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เริ่มเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิดที่ทำให้ประชาชนคนไทยยากลำบากอย่างมาก ประกอบกับเป็นปีที่คนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ถึงจุดไม่ทนกับปัญหาประเทศชาติ ลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในระดับโครงสร้างอย่างจริงจังครั้งใหญ่

พอในปี 2564 หรือปีที่ 7 ของ พล.อ.ประยุทธ์และ 3 ป. เกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่ พร้อมกับประจานความผิดพลาดในการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า และไม่สามารถจัดหาวัคซีนระบบเชื้อเป็นที่ทั่วโลกยอมรับมาฉีดให้คนไทยได้

ทั้งโรคระบาดแพร่หนัก ทั้งเศรษฐกิจที่ยิ่งทรุดหนัก

แรงต่อต้านจากประชาชนที่มีต่อรัฐบาลยิ่งรุนแรง หลังจากที่ม็อบคนรุ่นใหม่ปูพื้นปูกระแสเอาไว้ตั้งแต่ปี 2563

ทั้งกระแสความไม่พอใจของประชาชนอย่างหนักหน่วงเพราะทุกข์ยากที่โควิดและเศรษฐกิจสาหัส เป็นคลื่นต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่แผ่กว้างไปทั่ว จนทำให้ภายในหมู่ผู้มีอำนาจเอง เกิดความคิดหักโค่นกันเอง ในจังหวะที่พรรคฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเน้นย้ำเรื่องความผิดพลาดด้านวัคซีนและการล้มตายของประชาชนในโควิด

ความไม่ลงตัวในหมู่ผู้มีอำนาจเริ่มปรากฏ เมื่อกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสมองเห็นว่ารัฐบาลประยุทธ์ผิดพลาด แล้วทำให้พรรคพลังประชารัฐรับเคราะห์ไปด้วย เมื่อเห็นกระแสสังคมเป็นเงื่อนไขอันสุกงอม เหมาะต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จึงเกิดการเคลื่อนไหวนำ ส.ส.รัฐบาลสัก 40 เสียงมาโหวตร่วมกับฝ่ายค้าน

แต่สุดท้ายก็ต้องยุติแผน ทำให้ประยุทธ์รอด แต่ก็ยิ่งแตกร้าวกันเข้าไปใหญ่ เมื่อประยุทธ์เดินหน้าสั่งปลดธรรมนัส!

 

คนที่เป็นแกนนำเขย่าอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ คือ ร.อ.ธรรมนัสนั้น กินดีหมีใจมังกรมาจากไหน จึงกล้าคิดหักนายกรัฐมนตรีที่รู้กันดีว่า มีเครือข่ายอำนาจนอกระบบสนับสนุนอย่างสุดตัว ทั้งอาจจะเป็นอันตรายอย่างมากมายด้วยซ้ำ ถ้าคิดแล้วทำไม่สำเร็จ

แต่ ร.อ.ธรรมนัสกล้าทำ แล้วสุดท้ายเมื่อได้รับการขอร้องจาก พล.อ.ประวิตรให้ยุติแผน ก็ยอมหยุด แต่ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ไม่หยุด กลายเป็นการสั่งปลด

กระนั้นก็ตาม ร.อ.ธรรมนัสก็ยังเดินหน้าต่อไปบนถนนการเมือง ในฐานะเลขาธิการพรรคหลักของรัฐบาล

ดูแล้วเอาเข้าจริงๆ แม้ ร.อ.ธรรมนัสจะเพลี่ยงพล้ำ แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้มากกว่านี้ และการยังเป็นคีย์แมนของพรรคการเมืองใหญ่พรรคหลักของรัฐบาล กลายเป็นความน่าหวาดกลัวมากกว่าด้วยซ้ำสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์

เส้นทางของ ร.อ.ธรรมนัสตั้งแต่โดนคดีแป้ง แล้วยังสามารถยิ่งใหญ่ในการเมืองยุครัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งเป็นยุคที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายอำนาจนอกระบบอย่างเต็มตัว

นั่นย่อมแสดงว่า ตัว ร.อ.ธรรมนัสเองก็เป็นคนสำคัญคนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจนี้ด้วย

อาจจะเป็นคำตอบได้ว่า ธรรมนัสทำไมถึงกล้าหาญเขย่าอำนาจบิ๊กตู่ เพราะตัวเองก็มีดีไม่ธรรมดา

นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งในกลุ่มผู้มีอำนาจด้วยกันเองแท้ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เราได้เคยเห็นมาแล้วในอดีต

จึงต้องจับตาว่าความขัดแย้งในหมู่ผู้มีอำนาจระหว่าง ร.อ.ธรรมนัสกับ พล.อ.ประยุทธ์จะพัฒนาต่อไปอย่างไรหรือไม่

อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์และ 3 ป. มาถึงจุดขัดแย้งแตกแยกภายในครั้งแรกและเป็นครั้งรุนแรง

วันนี้ ป.ป้อมเริ่มมีรอยแผลใจ โดยยังมี ร.อ.ธรรมนัสเป็นขุนพลข้างกาย

เมื่อประสานเข้ากับกระแสใหญ่ในสังคมไทยที่ไม่พึงพอใจรัฐบาลประยุทธ์รุนแรงในวิกฤตโควิดจากความผิดพลาดเรื่องวัคซีน รวมทั้งคลื่นจากคนรุ่นใหม่ที่ยังเดินหน้าเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไม่มีถอย

ปัจจัยขัดแย้งทั้งภายในกลุ่มอำนาจและกระแสจากประชาชนภายนอก

สถานการณ์กำลังเคลื่อนเข้าจุดสำคัญมากเข้าไปทุกที!