การเมืองไทยปี 2565 ไม่เหมือนเดิม/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

การเมืองไทยปี 2565

ไม่เหมือนเดิม

 

ด้วยความเชื่อในความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง โดยเฉพาะการเมืองไทย อีกทั้งยังอาจเป็นการมองในมุมมองของการเมืองเรื่องของอำนาจ

ผมจึงเริ่มตั้งต้นที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก

แล้วลองมองย้อนเส้นทางการเมือง กำลัง อิทธิพล บารมี นโยบายและผลงานอย่างประมวลรวบยอด

เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวตน ความคิดและสถานภาพของคุณประยุทธ์เมื่อแรกก้าวเข้าสู่การเมืองทางการในระบบรัฐสภาประมาณปี 2562

แล้วมีสมมุติฐานว่า ปี 2565 น่าจะเป็นหมุดหมายของการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง หากเป็นเช่นนี้ก็ด้วยคุณประยุทธ์คงได้ตัดสินใจเล่นการเมืองต่อไปอีกหนึ่งสมัย เมื่อคุณประยุทธ์อยู่ครบวาระคือปี 2566

หรือคุณประยุทธ์จะไม่เล่นการเมืองต่อไป แต่จะเป็นเช่นไร มีความสุข อยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ ด้วยผมไม่ใช่หมอดู จึงไม่ทราบ

มาดูกันตรงนี้ดีกว่า

 

คุณประยุทธ์เมื่อปี 2562

หากเพ่งไปที่ พลังอำนาจหลัก ของคุณประยุทธ์เมื่อปี 2562 น่าจะประกอบด้วยตัวคุณประยุทธ์เอง ส.ว. 250 คน กองทัพ พรรคพลังประชารัฐและพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงฝ่ายสนับสนุนคุณประยุทธ์คือ กปปส. ที่มีภารกิจโค่นล้มระบอบทักษิณ

ก็นับได้ว่า ทุกพลังอำนาจหนุนให้คุณประยุทธ์ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นหัวหน้า คสช. หรือคณะรัฐประหารนั่นเอง

มิหนำซ้ำ ฐานะพิเศษที่ว่านี้ยังช่วยผลักดันให้มีการจัดตั้งรัฐบาล เพราะมีกลไกพิเศษคือเสียง ส.ว.จำนวน 250 คน ที่ คสช.ตั้งมากับมือเอง ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

ตรงนี้มี 2 ความหมายที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันคือ

อย่างแรก ช่วยให้คุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ยาก

ดังนั้น ผลตามมาอย่างที่สอง จึงทำให้ใครๆ คือ ส.ส. กองทัพ ข้าราชการ กลุ่มทุนขนาดใหญ่เทความสนับสนุนคุณประยุทธ์แทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

คำถามคือ ในบรรดาพลังอำนาจหลักของคุณประยุทธ์ อะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด

น่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคที่คลอนแคลนอย่างที่สุด ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ

ประการแรก ความคลอนแคลนด้วยปัญหาพื้นฐานคือ พรรค พปชร.แท้จริงเป็นพรรครวมห่อของนักการเมืองและนักเลือกตั้งอยู่ตั้งแต่ต้นแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีอะไรยึดโยงระหว่าง ส.ส.ด้วยกันเอง

ความเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองในพรรคจึงเป็นความเป็นจริงทางการเมืองของพรรคตั้งแต่ต้นแล้ว

ผมเองก็ไม่ทราบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ท่านใช้อะไรยึดโยงความภักดีของ ส.ส.เอาไว้

แต่สาระสำคัญคือ คุณประยุทธ์ยิ่งไม่มีอะไรยึดโยงกับ ส.ส.ที่จะสนับสนุนทางการเมืองทั้งในสภาและนอกสภาเลย

ประการที่สอง นโยบายและผลงานของพรรคพปชร ตรงนี้น่าสนใจใน 2 ชั้น หากเรายกตัวอย่าง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และอะไรทำนองนโยบายในชื่อเรียกคือ สานประชารัฐ ตรงนี้มาจาก คสช. มาจากคณะทำงานของคุณประยุทธ์ ซึ่งคณะบุคคลที่ดำเนินการและนำมาสานต่อคือรัฐมนตรีในกลุ่มก้อนของคุณประยุทธ์ หาใช่นโยบายที่มาจาก ส.ส.ของพรรคเลย ในอีกด้านหนึ่ง ผลงานที่สืบต่อจากนโยบายของรัฐบาล ทั้งเรื่องการกอบกู้เศรษฐกิจและการบริหารจัดการโรคระบาดโควิด-19 กลับย่ำแย่เป็นอย่างมาก ซึ่ง ส.ส.ของพรรค พปชร.เองก็ไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง

อาการคลอนแคลนแห่งพรรค พปชร.เห็นได้ชัด สุกงอมและถูกตอกย้ำจาก การเคลื่อนไหวเพื่อโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีช่วงที่เพิ่งผ่านไปนี่เอง

ตรงนี้แสดง อาการคลอนแคลน แห่ง 3 ป. ในเวลาเดียวกันด้วย หากคุณประยุทธ์จะยังคงเดินต่อไปบนเส้นทางการเมือง โดยเฉพาะแข่งขันเพื่อชิงชัยในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ทั้ง 3 ป.จะทำอะไรต่อไปกับพรรคการเมืองอันเป็นสิ่งแปลกปลอมของพวกท่านเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรค พปชร. หรือพรรคสำรองดังที่รู้กันอยู่เนื่องจาก พล.อ.ประวิตรนับเป็น แนวการเมืองแบบเก่า ท่านไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการเลือกตั้ง ท่านไม่มีความเข้าใจและสันทัดใน political marketing

แน่นอนครับ เรื่องเหล่านี้คงมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาเสนอหน้าช่วยจัดการให้ แต่จะทำได้จริงๆ หรือ

ที่สำคัญคือ เงิน ใครคือสปอนเซอร์หลักของพรรคพลังประชารัฐ พวกเขาสนับสนุนผลงานคุณประยุทธ์ในช่วงปีแรก ซึ่งก็สมเหตุสมผลดีในแง่ของความสัมพันธ์สองฝ่ายที่เกื้อกูลผลประโยชน์ด้วยกัน

นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ความคลอนแคนของ 3 ป. และสมการการเมืองรูปแบบใหม่ เงินย่อมเลือกเส้นทางความน่าจะเป็นและประโยชน์อันจำต้องได้มากกว่า

 

ก่อนถึงปี 2565

นับตั้งแต่นี้ไป อาจกล่าวอย่างกว้างได้ว่า ยังไม่เห็นอะไรเป็นคุณประโยชน์ทางการเมืองต่อคุณประยุทธ์และพวกเลย สัญญาณหนึ่งคือ ส.ว.ที่สนับสนุนให้การเลือกตั้งครั้งหน้าใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบจำนวน 60 คน แม้จำนวนไม่มากย่อมสะท้อนความเห็นต่างจากกลุ่มเพื่อนคุณประยุทธ์ ซึ่งมีอยู่ 10 คนที่ออกเสียงไม่เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อนคุณประยุทธ์ออกอาการ กลัวผีทักษิณ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครรู้ได้ว่า กติกาใช้บัตร 2 ใบจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองไหนแน่

หลายคนบอกว่า การเมืองนอกสภา ทั้งการเคลื่อนไหวของม็อบกลุ่มต่างๆ จะไม่ก่อผลให้เกิดแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาล ตรงนี้อาจจะจริงหากมองในระยะสั้น แต่เป็นการมองความหมายของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่แคบจนเกินไป

ม็อบที่ทำการประท้วง แสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิทางการเมือง เปลี่ยนไปเป็น ม็อบสะท้อนความทุกข์ยากของประชาชน การประท้วงยังดำเนินต่อไป

เป้าหมายการประท้วงอยู่ที่ให้ประยุทธ์ลาออกอย่างไม่มีเงื่อนไขก็จริง แต่จริงๆ แล้วเป็นการประท้วงที่มากไปกว่าประยุทธ์ลาออกไป

เป็นการประท้วงของคนรุ่นใหม่ต่อความล้มเหลวของการปกครอง และอนาคตของสังคมไทย ที่คนรุ่นใหม่ผิดหวัง ไม่ว่าเรียกว่าชื่อกลุ่มอะไร พวกเขาเหมือนกันตรงที่ ต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวพวกเขาเอง

เราไม่ควรลืมว่า ภาวะเศรษฐกิจย้ำแย่มากๆ คนตกงาน อดอยาก ความล้มเหลวของการจัดการกับการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้วมีผู้คนล้มตาย เตียงไม่พอ วัคซีนมั่วๆ อาจไม่ได้แค่หล่อเลี้ยงความไม่พอใจ ขาดศรัทธาต่อรัฐบาลและคุณประยุทธ์เท่านั้น เราไม่ควรลืมว่า ความรู้สึกของคนไทยเช่นนี้มาก่อนในการเมืองไทยร่วมสมัย อย่างเบาที่สุด มันคือ ความตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ อันจะมีผลขั้นต่ำต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

แล้วหวนกลับมาดูกำลัง อิทธิพล บารมีของ 3 ป. มีอะไรเหลืออยู่บ้าง และมีมากขนาดไหน เพียงมองอาณาบริเวณการเมืองรัฐสภาก็คลอนแคลนและแผ่วเบา ยังมีการเมืองนอกสภาอีก ทำไมประเมินคนไทยโดยเฉพาะเยาวชนและคนรุ่นใหม่ต่ำเช่นนี้

เช่นเดียวกัน 3 ป.ไม่ควรลืมธรรมนัส-นฤมล ด้วยนะครับ