แรงกระเพื่อม หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีตามกลไกในมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 เกือบจะเหมือนเทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นปีละครั้ง เนื่องจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าสามารถยื่นเรื่องให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ โดยกระทำได้ปีละหนึ่งครั้ง

เทศกาลการอภิปราย จึงเหมือนงานที่ทุกฝ่ายต้องตระเตรียม นับแต่ฝ่ายค้านที่กำหนดเป้าหมายตัวบุคคลที่จะอภิปราย กำหนดหัวข้อ ค้นหาข้อมูล เตรียมการนำเสนอ ไปจนถึงการซักซ้อมการอภิปรายเพื่อให้สิ่งที่ตนนำเสนอนั้นเป็นที่รับรู้ประทับใจประชาชนและเกิดผลสัมฤทธิ์ในคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ

ในฟากของฝ่ายรัฐบาล การเตรียมการเพื่อตอบโต้คำอภิปรายนั้นคงไม่เดือดร้อนแค่รัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย

แต่ยังหมายรวมถึงฝ่ายราชการประจำที่ต้องยกทีม จัดระบบการสนับสนุนไปตั้งกองบัญชาการตามห้องต่างๆ ในอาคารรัฐสภาเป็นที่วุ่นวาย มีทีมจด ทีมวิเคราะห์ ทีมผลิตและส่งประเด็นขึ้นไปให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายในแทบจะทันทีที่ถูกเปิดประเด็นในห้องประชุมรัฐสภา

แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นในต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2564 กลับเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกแตกต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้งที่ผ่านมา

และถึงแม้ว่ารัฐมนตรีจะได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจ แต่กลับได้สร้างจารีตใหม่และเกิดแรงกระเพื่อมต่อเนื่องที่ต้องจับตาดูมิใช่น้อย

เน้นคนฟังคือประชาชน ไม่ใช่คนในสภา

การถ่ายทอดสดผ่านทีวีรัฐสภาและช่องการสื่อสารในสังคมออนไลน์ต่างๆ การตัดบางส่วนของถ้อยคำอภิปรายที่ดุเด็ดเผ็ดมันไปเผยแพร่ต่อทาง YouTube หรือ Twitter ซึ่งเป็นสื่อสังคมที่เข้าถึงคนจำนวนมากได้ด้วยความรวดเร็ว

ทำให้จุดเน้นเป้าหมายคนฟังของผู้อภิปรายไปอยู่ที่ภายนอกสภา

ยิ่งตลอด 4 วันของการอภิปรายที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีนั่งอยู่ในสภาเพื่อรับฟังการอภิปรายน้อยมาก ยิ่งเป็นสิ่งบ่งบอกว่าในรายการดังกล่าวมีแต่ผู้พูด ไม่มีใครที่ใส่ใจฟัง

เจตนารมณ์ของการให้มีการอภิปรายที่ต้องการให้อีกฝ่ายได้รู้ถึงข้อบกพร่องของตนเพื่ออย่างน้อยไปปรับปรุงให้ดีขึ้นนั้นจึงสาบสูญไป เนื่องจากทุกฝ่ายล้วนปิดหู ปิดตาตนเองกับข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม ยามเมื่อฝ่ายค้านอภิปราย ฝ่ายรัฐบาลไม่รับฟัง ยามฝ่ายรัฐบาลชี้แจงบ้าง ฝ่ายค้านก็หูทวนลม

4 วันของการอภิปรายจึงเหมือนการแสดงที่แต่ละฝ่ายจัดเตรียมมา

ส่วนผลการลงมติเป็นเรื่องการเจรจาและข้อตกลงทางการเมือง

 

บทบาทของข้าราชการประจำที่เปลี่ยนไป

แต่เดิม ทุกครั้งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นภารกิจของข้าราชการประจำและผู้บริหารในแต่ละกระทรวงที่ถูกอภิปราย ต้องตั้งวอร์รูมหรือห้องปฏิบัติการในอาคารรัฐสภา ระดมสรรพกำลังที่จะติดตามคำอภิปรายทุกคำ ทุกเวลา และค้นคว้าหาข้อมูลส่งขึ้นบัลลังก์ที่มีรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายนั่งฟังอยู่ และรัฐมนตรีจะใช้ข้อมูลที่ได้รับไปประกอบการอภิปรายชี้แจงต่อข้อกล่าวหา

แต่จารีตใหม่ที่เกิดขึ้นคือ การให้ผู้บริหารของกระทรวงดาหน้าขึ้นโพเดียมชี้แจงนอกห้องประชุมที่ชั้นหนึ่งของอาคารรัฐสภาโดยการจัดการของทีมงานรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปราย

เราคงไม่สามารถกล่าวหาข้าราชการที่ดำเนินการได้ เพราะเขาถูกคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา

แต่คำถามคือ เขาพูดให้ใครฟัง ในเมื่อหากเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็ควรนำเสนอในห้องประชุมสภา ให้ ส.ส.ได้รับฟังเพื่อความกระจ่าง และรัฐมนตรีที่บริหารกระทรวงควรมีความเข้าใจและมีภูมิปัญญาเพียงพอในการชี้แจงต่อบรรดาสมาชิกด้วยตนเอง

การชี้แจงนอกสภา จึงเป็นประเด็นที่ต้องการแย่งชิงความชอบธรรมจากประชาชนมากกว่าความสนใจจะได้มือที่ยกสนับสนุนในสภา เพราะสิ่งนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

 

มารยาทที่ขาดหายในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แน่นอนว่า คำอภิปรายไม่ไว้วางใจคงไม่ใช่คำชม แต่การนำเสนอก็ควรเป็นเรื่องของหลักฐานและเหตุผล แต่เมื่อจุดเน้นอยู่ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนสนใจ ให้เป็นประเด็นข่าว การใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคายไม่เหมาะสมจึงเกิดขึ้นโดยมาจากฝ่ายค้านเป็นหลัก

และกลายเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจมากกว่าเนื้อหาที่ตระเตรียมมาอย่างน่าเสียดาย

ในฝ่ายของรัฐบาลที่อาจมีการตอบโต้บ้างแต่ก็ไม่มากจนถึงขาดมารยาท แต่ท่าทีของการตั้งใจฟังของฝ่ายรัฐบาลควรเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีที่เดินออกจากห้องประชุมในขณะที่ตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน คือ นายสุทิน คลังแสง กำลังใช้เวลาในการพูดสรุปในช่วงท้ายสุดเพื่อรวมประเด็นให้เห็นว่ามีเรื่องใดที่เป็นปัญหาในการทำงานของรัฐบาลบ้าง

วิญญูชนที่มีมารยาท พึงสมควรนั่งฟังมากกว่าที่จะเดินกลับแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว ยิ่งเป็นตัวนายกรัฐมนตรี ยิ่งต้องฟังเพราะเขากำลังสรุปถึงเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับท่านในการอภิปรายทั้ง 4 วันที่ผ่านมา

แรงกระเพื่อมหลังการลงมติ

ผลของการลงมติล้วนเป็นไปตามคาดไม่มีสิ่งใดผิดไป เนื่องจากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลมีมากและเกาะกลุ่มเพียงพอที่จะผ่านได้รับความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป แต่จำนวนตัวเลขที่แตกต่างกลับเป็นแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าย่อมมีตามมา

ประการแรก เสียงของฝ่ายค้านที่ไปลงมติให้รัฐบาล และเสียงของฝ่ายรัฐบาลที่ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของฝ่ายตนเอง

ในกลุ่มแรกคงไม่แปลกอะไร เพราะปรากฏการณ์ของความอยากเปลี่ยนซีกจากฝ่ายค้านไปอยู่ฝ่ายรัฐบาลที่มีกลไกรัฐสนับสนุนนั้นคงเป็นเรื่องปกติของนักการเมืองที่มองถึงอนาคตของตนเองและอาจมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน

แต่ในกลุ่มที่สองนั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความขัดแย้งส่วนตัวกับรัฐมนตรีบางคน

แต่การที่ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำรัฐบาลเสียเองนั้น มาจากหัวหน้าพรรคเล็ก 1 เสียงที่อยู่ร่วมรัฐบาล ถึง 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคไทยรักธรรม และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย

นั่นอาจเป็นสัญญาณการตีจากที่ชัดเจนว่าอยู่แล้วไม่มีผลดี มีแต่ผลเสีย

ประการที่สอง คงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ ด้วยเหตุที่ตัว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้เป็นเลขาธิการพรรคซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กลับมีข่าวความขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีผู้เป็นผู้บังคับบัญชาเสียเองว่า

การยอมเปลี่ยนกลับมาสนับสนุนในนาทีสุดท้ายเป็นเรื่องสัญญาใหม่ที่ให้ต่อกันหรือการยอมจำนนกับสิ่งที่ไม่มีโอกาสชนะ

หากเป็นกรณีแรก การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นไปในทางบวกเพื่อเสริมฐานะของเลขาธิการพรรคให้เติบใหญ่ทางการเมืองตามคำสัญญา

แต่หากเป็นเรื่องรบแล้วยอมแพ้เพราะสู้ไม่ได้ การเก็บกวาดภายในพรรคอาจเป็นแรงกระเพื่อมที่ตามมาถึงขนาดถอดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งบริหารภายในพรรค

อภิปรายไม่ไว้วางใจจบลงตามเทศกาลแล้ว แต่การเมืองทั้งในสภานอกสภาและภายในแต่ละพรรคการเมืองยังไม่จบ

จะเป็นเพียงคลื่นเล็กๆ ที่กระเพื่อมแล้วจางหาย หรือกลายเป็นคลื่นใหญ่สึนามิ คงต้องจับตาแบบไม่กะพริบ