สงครามแท็กซี่ : มนัส สัตยารักษ์

บ้านเมืองของเรากำลังทำท่าว่าจะเกิดศึกใหญ่ระหว่างแท็กซี่กับรถอูเบอร์ ผมออกจะแปลกใจว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? คนไทยเรากำลังทะเลาะกันเพราะ “ขยัน” ทำมาหากิน ขยันทำงานอาชีพที่แต่ละคนน่าจะมีสิทธิทำได้โดยเสรี

อูเบอร์น่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรราคาแพงให้คุ้มค่า และช่วยแบ่งเบาภาระของแท็กซี่ที่จำเป็นต้องปฏิเสธผู้โดยสาร

ผู้ขับแท็กซี่บางรายกล่าวอย่างอารมณ์เสียว่า กว่าเขาจะมีสิทธิ์ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ได้ ต้องทำอะไรต่อมิอะไรสารพัดอย่างมากกว่ารถอูเบอร์

ต้องเป็นรถ 1,500 ซีซีขึ้นไป เป็นรถที่ใช้งานมาแล้วไม่เกิน 20,000 ก.ม. ต้องมีมิเตอร์บอกค่าโดยสาร ในรถต้องติดประกาศชื่อคนขับพร้อมรูปถ่าย หมายเลขประจำตัว หมายเลขทะเบียนรถ บัญชีอัตราค่าโดยสาร ฯลฯ ในขณะที่อูเบอร์ไม่ต้องปิดประกาศอะไรเพิ่มเติมเลย

ผมพยายามอธิบายให้เขารับรู้ว่า การติดต่อระหว่างลูกค้ากับศูนย์สื่อสารของอูเบอร์จะทำให้มีข้อมูลเชิงลึกและมากกว่า และสามารถตรวจสอบได้แม่นยำและเร็วกว่าโดยไม่ต้องใช้ความจำหรือจดบันทึก

ผมคิดง่ายๆ ว่า ถ้าแท็กซี่เห็นว่าขับรถรับจ้างแบบอูเบอร์ดีกว่าและได้เปรียบกว่าขับแท็กซี่ ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นสมาชิกของอูเบอร์หรือรวมตัวกันทำแบบอูเบอร์ได้ทันที และถ้าคนสายอูเบอร์เห็นว่าขับแท็กซี่ดีกว่า ก็น่าที่จะไปขับแท็กซี่ก็สามารถทำได้

คนขับแท็กซี่ไม่จำเป็นต้องโพสต์ข้อความแสดงความเห็นแก่ตัวว่า แท็กซี่ลงทุนเป็นล้าน อูเบอร์ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

และไม่ต้องด่าว่ารองโฆษก สตร. ที่ออกมาเตือนว่า หากแท็กซี่ออกมาล้อมรถที่เข้าใจว่าเป็นรถอูเบอร์ อย่างที่แท็กซี่พัทยาทำอีกจะมีโทษถึงจำคุก

เคยคุยกับคนขับแท็กซี่บางคนที่พอจะคุยได้ถึงความคิดที่ว่า ถ้าเห็นว่าขับอูเบอร์ดีกว่าก็ไปขับอูเบอร์สิ ถามเขาว่าทำไมไม่ไปเป็นสมาชิกอูเบอร์กับเขาด้วย เป็นการเสริมอาชีพโดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ขาดทุนหรือไม่เสียเปรียบมากขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ว่ามี “คนอื่น” มาได้ส่วนหนึ่งของค่าโดยสารไปด้วยเท่านั้น และที่เขาได้ไปส่วนหนึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีกับค่าจัดการบริการศูนย์สื่อสารออนไลน์

แท็กซี่ตอบว่า “ไม่รู้สิ ผมไม่ชอบมัน มันเหมือนกับเป็นศัตรูต่างชาติที่กำลังทำสงครามกับเราอยู่ นี่ก็ได้ข่าวดีมาว่านายอูเบอร์เพิ่งตายไปเมื่อไม่กี่วันนี้เอง”

คำตอบนี้ทำให้ผมอ่านออกว่าเขาเริ่มมีอารมณ์ขุ่นมัว และอาจจะหงุดหงิดจนสามารถไล่ผมลงจากรถก็ได้ จึงหยุดถาม

อยากจะคุยเรื่อง “ผูกขาด” กับเรื่อง “เสรีภาพ” ก็ต้องหยุดคุย

เมื่อแรกที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมแท็กซี่ออกมาบังคับใช้นั้น ผมคงจะยังเด็กเกินไปที่จะ “ฟันธง” ว่ามันเป็นกฎหมายผูกขาดใช่หรือไม่ใช่ และยังนึกไม่ออก (หรือจำไม่ได้) ว่าตอนที่กระทรวงมหาดไทย (ยุค จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นรัฐมนตรี) ประกาศใช้ข้อบังคับนั้น รัฐมีเจตนารมณ์และนโยบายอย่างไร และอะไรคือผลประโยชน์ของประชาชน

และขณะที่กระทรวงมหาดไทยร่างกฎกระทรวงออกมานั้น ผู้ร่างได้อ้างใน “อารัมภบท” ว่ามีความจำเป็นและดีอย่างไรถึงต้องควบคุม และจำกัดโควต้า

เดาว่ารัฐคงต้องการควบคุมจำนวนรถแท็กซี่ไม่ให้มีมากเกินไปจนไม่มีถนนวิ่ง หรือต้องการให้ประชาชนใช้การขนส่งมวลชนในการเดินทางตามแบบอารยประเทศ (ทั้งที่ขนส่งมวลชนล้มเหลว) หรืออาจจะต้องการให้ประชาชนหักใจยอมเป็นหนี้ ทุ่มเงินซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาใช้เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือต้องการรักษาความสงบเรียนร้อยของบ้านเมือง เพราะแท็กซี่ในสมัยไหนๆ ก็มักมีปัญหากับผู้โดยสารเป็นธรรมดา

ผมเองครั้งที่ยังเป็นนักเรียนวัยรุ่นก็เคยถูกแท็กซี่วัยกลางคนไล่ลงจากรถ

สมัยนั้นยังไม่มีข้อบังคับให้ใช้แท็กซี่มิเตอร์ เราต้องใช้วิธีต่อรองราคากันก่อนเดินทาง ผมบอกเขาว่าจะไป “ซอยอารี” อันหมายถึงซอยอารีสนามเป้า แต่โชเฟอร์ตีความว่าเป็น “ซอยอารีสุขุมวิท”

พอรถเริ่มเคลื่อนออกไปสักพัก ผมก็ทักว่า มาผิดทาง

เท่านั้นแหละ เราก็เถียงกันในเรื่องตำบลปลายทาง-สนามเป้าหรือสุขุมวิท โชเฟอร์แท็กซี่ไล่ผมกับเพื่อนลงจากรถด้วยเสียงเข้ม ผมลนลานรีบลงจากรถอย่างเต็มใจ ทั้งๆ ที่เรา 2 คนน่าจะตอบโต้หรือด่าทอ หรืออาจจะ “อัด” ไปสักที-สองทีก็ยังได้ เพราะเรามีกำลังเหนือกว่า แต่เราก็ไม่ทำเพราะยังมีสติดีอยู่

อีกหนหนึ่ง คนขับแท็กซี่หนุ่มวัยเดียวกันกับเรา เขาพยายามชวนเพื่อนผมที่นั่งหน้าคู่กันคุยด้วย เพื่อนอดทนอยู่ได้ไม่นานก็คว้าคอเสื้อคนขับเขย่า

“นายหยุดพูดได้ไหม หือ? พวกกูไม่ใช่เพื่อนมึงนะ” ซึ่งทำให้แท็กซี่หนุ่มเงียบกริบ

มาวันนี้ผมอดคิดไม่ได้ว่าเราโชคดีที่ไม่เจอกับแท็กซี่ “สายโหด” อย่างเช่นในปัจจุบัน

เรามีปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว จะรุนแรงและร้ายแรงแค่ไหนแล้วแต่ชะตากรรม ของใครก็ของมัน

สภาพการณ์ของกิจการแท็กซี่แต่เดิมนั้นตกอยู่ในระบบโควต้าซึ่งเท่ากับ “ผูกขาด” นั่นเอง เพราะกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดสเป๊กให้ผู้ที่จะประกอบการ ต้องทำเป็นรูปบริษัทจำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และต้องมีรถไม่น้อยกว่า 500 คัน หรือถ้าเป็นสหกรณ์จำกัด ก็จะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 1,000 คน มีรถแท็กซี่ไม่ต่ำกว่า 500 คันเช่นกัน

เงิน 10 ล้านบาทในปี พ.ศ.2517 เป็นเงินจำนวนมหาศาลอยู่ ดังนั้น จึงเท่ากับว่ามหาดไทยในยุคนั้น “ล็อกสเป๊ก”ไว้สำหรับนายทุนเงินหนานั่นเอง

กฎหมายที่อ้างว่าเพื่อ “คุ้มครอง” กลายเป็นกฎหมาย “จำกัดสิทธิ์” ไปโดยปริยาย

ระบบผูกขาดทำให้เกิดสภาพการณ์แปลกประหลาดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ราคาป้ายทะเบียนรถแท็กซี่ขยับจาก 20,000 บาท สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2534 ดูเหมือนจะสูงถึง 5-600,000 บาททีเดียว

หายากและราคาแพงกว่า “หัวหนังสือพิมพ์” เป็นบ้านเมืองที่แปลกประหลาดจริงๆ

เกิดความขัดแย้งกันมากมายหลายประเด็น ระหว่างเจ้าของบริษัทหรือสหกรณ์จำกัด กับคนเช่าขับ ระหว่างคนขับรถกับผู้โดยสาร และแน่นอนว่าในท่ามกลาง “สงครามแท็กซี่” นี้ย่อมมีตำรวจเป็นตัวละครสำคัญอยู่ด้วยเสมอ

ในช่วงวันและเวลาเหล่านั้นผมเป็นตำรวจท้องที่หรือตำรวจโรงพัก มีโอกาสได้จับกุมคนขับแท็กซี่ในข้อหา “ให้สินบนเจ้าพนักงาน” ขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้ช่วยแท็กซี่ที่ถูกคนร้ายปล้นทรัพย์ด้วย

ขณะเดียวกันก็ได้รับนามบัตรจากเจ้าของกิจการแท็กซี่ ซึ่งหลายใบบอกฐานะเป็น “ที่ปรึกษา สมาชิกสภาผู้แทนฯ” หรือ “ที่ปรึกษารัฐมนตรี” มีอยู่ใบหนึ่งเป็นถึง “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”!

รู้สึกเหมือนถูกตะคอกถามว่า “รู้ไหม กูเป็นใคร?!”

จนในปี 2535 สมัย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ก็ถึงเวลาของ “แท็กซี่เสรี”

เป็นสมัยของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งออกกฎหมายอย่างกล้าหาญแต่รอบคอบระมัดระวัง มากกว่ารัฐบาลทหารที่มาจากรัฐประหาร