อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (5)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (5)

 

อย่างไรก็ตาม รัสเซียและจีนมีความสงสัยอย่างลึกซึ้งในการเล่นเกมของสหรัฐในภูมิภาค พวกเขาหวาดหวั่นว่านักต่อสู้อย่างอุยกูร์ (Uyghur) ซึ่งในเวลานี้เข้ามาสังกัดอยู่กับกลุ่มอัล-กออิดะฮ์จะถูกนำเอามาใช้เพื่อทำให้ในภูมิภาคสั่นคลอน

ระเบียงเศรษฐกิจจีน ปากีสถาน (CPEC) ในเวลานี้ตกอยู่ภายใต้การโจมตีโดยนักรบอุยกูร์อยู่ระยะหนึ่ง สหรัฐไม่ค่อยจะพอใจในความใกล้ชิดของปากีสถานที่มีกับจีนและความสัมพันธ์ของปากีสถานที่มีมากขึ้นกับรัสเซีย ในเวลานี้จีนต้องเผชิญกับการคุกคานที่มาจากซินเจียง ซึ่งมีชายแดน 90 กิโลเมตรร่วมกับอัฟกานิสถาน

เดือนสุดท้ายของการเป็นประธานาธิบดีของ Trump สหรัฐได้ถอนพรรคอิสลามแห่งตุรกีสถานตะวันออก (East Turkistan Islamic Party) หรือ ETIP ออกจากรายชื่อกลุ่มก่อการร้ายของกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ โดยอ้างว่ากลุ่มดังกล่าวไม่ได้สนับสนุนการก่อการร้ายอีกต่อไป

สองปีที่ผ่านมาสหรัฐมีความกระตือรือร้นที่จะทำสงครามกับกลุ่ม ETIP จุดหมายของขบวนการ ETIP คือการสร้างขบวนการรัฐอิสลามมูลฐาน (Fundamentalist Islamic Movement) ขึ้นในซินเจียง

โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวว่า ปฏิบัติการของสหรัฐแสดงถึงการมีลิ้นสองแฉกในการเผชิญหน้ากับการก่อการร้าย และมีปฏิบัติการน่ารังเกียจในการให้อภัยกิจการของการก่อการร้ายที่ตัวเองเห็นว่าเป็นประโยชน์กับตนเอง

รัฐบาลอินเดียมีความกังวลกับพัฒนการที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานซึ่งจะทำให้ปากีสถานมีบทบาทมากขึ้นกับอัฟกานิสถาน

และหวาดหวั่นว่าการกลับมามีอำนาจของฏอลิบานจะเติมพลังให้กับนักต่อสู้แคชเมียร์

ที่ผ่านมาจะพบว่าการเข้าสู่อำนาจของฏอลิบานในอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นช่วงที่ทำให้การต่อสู้ในหุบเขาแคชเมียร์พุ่งถึงขีดสุด

ท่าทีของจีน

 

สําหรับจีนชัยชนะของฏอลิบานในอัฟกานิสถานเป็นทั้งโอกาสและการคุกคาม ช่วงต้นเดือนสิงหาคม (2021) หวังยี่ (Wang Yi) ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับฏอลิบานที่นำโดยมุลลอฮ์ อับดุลฆอนี บาราดัร (Mullah Abdul Ghani Bararlar) ที่เมืองเทียนจิน (Tianjin)

การพบปะดังกล่าวได้มีการเน้นไปที่ปฏิกิริยาที่สมดุลของจีน เนื่องจากจีนเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานในปัจจุบัน เป็นทั้งโอกาสและการคุกคามที่มีอัฟกานิสถานเป็นฉากหลัง สำหรับการถอนทหารของสหรัฐ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการออกไปจากประเทศนี้

นี่ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่จีนได้ขยายความสัมพันธ์มายังฏอลิบาน ทั้งนี้ นักรบฏอลิบานได้เคยเยือนจีนมาก่อนหน้านี้แล้ว และจีนก็เปิดช่องให้ฏอลิบานสื่อสารติดต่อกันได้ผ่านสำนักงานของฏอลิบานที่กรุงโดฮา (Doha) ประเทศกาตาร์

อย่างไรก็ตาม การเยือนจีนล่าสุดของฏอลิบานเป็นการพบปะกับผู้บริหารจีนเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

นับตั้งแต่ปี 2018-2019 จีนต้องการพูดคุยทำความตกลงกับฏอลิบานโดยผ่านกรุงโดฮาของกาตาร์เท่านั้น แต่ในเวลานี้สมการได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วหลังจากผู้ก่อการร้ายในปากีสถานได้สังหารแรงงานจีนไปถึง 9 คน ในดินแดนปากีสถานที่เรียกว่าดูซา (Dusa)

สื่อสิ่งพิมพ์ที่สนับสนุนจีน กล่าวอ้างว่า ตารีกี ฏอลิบาน ปากีสถาน (Tehrik-i-Taliban Pakistan) หรือ TTP และขบวนการอิสลามตุรกีสถานตะวันออก (East Turkistan Islamic Movement) หรือ ETIM คือกลุ่มก้อนที่มีการติดต่อโดยตรงกับชาวมุสลิมอุยกูร์ (Uyghur) ในจังหวัดซิงเจียงของจีน อันเป็นดินแดนที่ชาวอุยกูร์มากกว่าหนึ่งล้านคนถูกกักขังเอาไว้ในค่ายที่จีนเรียกว่าค่ายการให้การศึกษาใหม่

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ปากีสถานได้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศและหัวหน้าข่าวกรองไปที่ปักกิ่งเพื่อลดความกังวลของผู้นำจีน ภายในอีกไม่กี่วันต่อมาฏอลิบานก็ติดตามปากีสถานไปจีนด้วย ซึ่งถือกันว่าน่าจะไม่ใช่ความบังเอิญ

จีนนั้นมีความหวาดหวั่นต่อกลุ่มที่เรียกว่าขบวนการอิสลามแห่งตุรกีสถานตะวันออก ซึ่งมีความเข้มแข็งขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีความแน่นอนในอัฟกานิสถานจากความจริงที่ว่าจีนไม่ต้องการให้ซินเจียงกลายเป็นดินแดนแห่งสงคราม โดยกลุ่มอิสลามใดๆ ในพื้นที่

สิ่งที่จีนต้องการในเวลานี้ก็คือให้การสนับสนุนทางการเมืองกับฏอลิบาน แต่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของอัฟกานิสถาน

แต่ในทางกลับกันจีนจะเข้ามาข้องเกี่ยวหากอัฟกานิสถานถูกใช้เป็นพื้นที่ของการก่อการร้ายโดยมีจีนเป็นเป้า

 

ที่น่าสนใจก็คือกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในอัฟกานิสถานไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State) หรือไอเอส (IS) เมื่อกล่าวถึงจีนและซินเจียงกลุ่มเหล่านี้ก็มักจะปิดปากเงียบเฉย

นักวิชาการอย่าง Elliot Stewart กล่าวเอาไว้ในงานเขียนของเขาว่าโลกอิสลามส่วนใหญ่มักจะเงียบเฉยกับชะตากรรมของพวกอุยกูร์ทำให้อัฟกานิสถานต้องกลายมาเป็นเวทีที่สุกงอมให้กับกลุ่มต่างๆ อย่างไอเอสเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการระดมกำลังช่วยเหลือชาวอุยกูร์ แต่ก็อาจไม่ใช่ในกรณีนี้ก็ได้

ในขณะที่ ETIM ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเคาะลีฟะฮ์ (Coliphate) แบบไอเอสเคยมีการโฆษณามาก่อนในซีเรีย เมื่อปี 2017 ว่าจีนจะตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีแต่กระนั้นก็ไม่เคยเห็นกิจการใดๆ ของพวกเขาตามที่พวกเขาอ้างถึงเลย ไม่ว่าจะเป็นไอเอสหรืออัล-กออิดะฮ์ก็ตาม

หนึ่งในเหตุผลที่เป็นไปได้ในเรื่องนี้ก็คือกลุ่มนักรบนิยมอิสลาม (Islamist) กลุ่มต่างๆ เหล่านี้อาจมองเห็นว่าจีนคือประเทศที่สามารถถ่วงน้ำหนักสหรัฐได้นั่นเอง

สำหรับนักต่อสู้เหล่านี้การถอนตัวออกไปของกองกำลังต่างชาติจากดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคย่อมเป็นข้อเลือกแรกของพวกเขา และจีนก็อาจนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นประเด็นต่อรองด้วย

ด้วยเหตุนี้สมการของจีนกับฏอลิบานจึงมีความสำคัญในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์

 

อย่างไรก็ตาม จีนก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ คือมีความระมัดระวังการขยายตัวใดๆ ที่มีศักยภาพในอัฟกานิสถาน ในขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนมากนำเสนอว่าช่องว่างที่สหรัฐทำไว้นั้นมีความสุขงอมเพียงพอที่จีนจะเข้าไปแทนที่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดได้ง่ายแต่ปฏิบัติได้ยาก

คาดหมายกันว่าในด้านความมั่นคง จีนจะทำงานในประเด็นเหล่านี้ผ่านพันธมิตรของตนอย่างปากีสถานมากกว่า ซึ่งในทางกลับกันจะทำให้ปากีสถานควบคุมฏอลิบานได้มากขึ้น

ปากีสถานต้องใช้ความพยายามในเรื่องนี้ในขณะที่ต่อสู้อยู่กับกลุ่ม TTP ซึ่งมีควาเข้มแข็งขึ้นโดยการสนับสนุนของฏอลิบาน

ในท้ายที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับจีน อาจกล่าวได้ว่าจีนมีแผนการสำคัญสำหรับอัฟกานิสถาน นั่นคือจีนยังไม่ได้แผ่ไพ่ของตนออกมาบนโต๊ะ สำหรับประเทศที่ยังขาดอดีตที่เชื่อมโยงกับอัฟกานิสถาน จีนจะต้องพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ทางดินแดนกับมหาอำนาจที่ผ่านดินแดนอัฟกานิสถานมาเสียก่อนให้ถ่องแท้