นาย ต. : ระมัดระวัง

คอลัมน์ก่อสร้างและที่ดิน

คงไม่จำเป็นต้องถึงขั้นหวาดผวา ว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนกับปี 2540 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และสภาพแวดล้อมต่างกันอยู่มาก

แต่ก็มิใช่เรื่องที่จะประมาทวางใจได้เป็นอันขาด เพราะทิศทางเศรษฐกิจธุรกิจครึ่งปีหลัง ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังคงถดถอยหลังไปเรื่อยๆ และรู้สึกเหมือนว่ายังจะถอยต่อไปอีก ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด

ความเชื่อมั่นผู้บริโภค กำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ภาพรวมทั้งตลาด ยังอ่อนแรงต่อไปสำหรับการจองซื้อใหม่ และส่วนจองซื้อไปแล้ว ผ่อนดาวน์ครบแล้ว ยื่นกู้กับสถาบันการเงินไม่ผ่านก็ยังคงถูกปฏิเสธการปล่อยกู้ในอัตราสูงต่อไป

ไม่มีวี่แววการเปลี่ยนแปลงใดๆ

 

คําอธิบายสาเหตุภาพรวมเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นแบบเดิมๆ คือคนไทยมีอัตราหนี้สินต่อครัวเรือนสูง มีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นเหตุให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ มาตรการหน่วยงานภาครัฐที่ออกมาแก้ไขเรื่องนี้ คือ การควบคุมการทำบัตรเครดิต การรูดบัตรเครดิต และห้ามอื่นๆ อีก

มีคำถามว่า ถ้าคนมีหนี้สินเท่าเดิม แต่รายได้ลดลง ย่อมทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อครัวเรือนก็ต้องเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ในทางกลับกัน ทำไมไม่มีนโยบายหรือมาตรการอะไรที่จะกระตุ้นให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะถ้าคนมีรายได้เพิ่มขึ้น อัตราหนี้ก็จะลดต่ำลง ซึ่งน่าจะได้ผลมากกว่าการนั่งอธิบายแบบเดิมๆ โดยไม่มีแนวทางแก้ไขอะไร

ในภาคธุรกิจเอกชน แม้จะมีตัวเลขปลอบใจว่าปัจจุบันอัตราหนี้สินต่อทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับที่ต่ำประมาณ 1 ต่อ 1 ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงและเรื่องดี เพราะในระยะสั้นๆ คงไม่เกิดวิกฤตปุ๊บปั๊บฉับพลัน แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่เกิดวิกฤตในอนาคตข้างหน้า

ปัญหาตั๋ว B/E หรือตั๋วเงินกู้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี มีปัญหาการชำระหนี้คืนเมื่อครบกำหนด ถึงเวลานี้เป็นที่รับรู้และยอมรับกันแล้วว่า ไม่ใช่ปัญหาของบริษัทเฉพาะราย แต่ได้ขยายวงเป็นเรื่องของภาคธุรกิจขยายวงเป็นปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น

ลองคิดเล่นๆ ดูว่า ตั๋ว B/E ทั้งระบบหลายแสนล้านบาท ปกติจะมีการชำระคืนบ้าง หรือไม่เจ้าหนี้ผู้ปล่อยกู้จะปล่อยกู้ต่อไปอีกปี แต่ถ้าจากนี้ไปเจ้าหนี้ไม่ปล่อยต่อและขอเงินคืน จะเกิดอะไรขึ้น

และในนี้เป็นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์เท่าไหร่

 

ปรากฏการณ์เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จะพบว่า บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่บางรายปรับตัวตั้งรับด้วยการเพิ่มทุน บางบริษัทมีการกู้เงิน (loan) จากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปชำระคืนเจ้าหนี้ตั๋ว B/E แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็กไม่มีเครดิตทางการเงินมากขนาดนี้และที่ยังไม่ปรากฏเป็นข่าวจะปรับตัวอย่างไร

หรือสภาพคล่องจะตึงมือกัน ตั้งแต่ผู้บริโภคคนชั้นกลาง ไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางกันแล้ว?

นี่ยังไม่นับรวมผลที่ พ.ร.ก. ไล่แรงงานต่างด้าวกลับบ้านจำนวนมหาศาล เพราะเขาเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะเป็นกำลังการผลิตที่ผลิตในภาคการก่อสร้าง ประมง สวนยาง และบริการอื่นๆ ซึ่งเมื่อกลับบ้านแล้วจะทำให้การผลิตเหล่านั้นชะงักงันเท่านั้น เขาเหล่านั้นยังเป็นผู้บริโภคที่จับจ่ายใช้สอยจากเงินค่าจ้างเกินกว่าครึ่งของรายได้ทุกวันทุกเดือน เขากลับบ้านไปฉับพลันเงินหมุนเวียนดังกล่าวก็จะหายไปฉับพลันด้วย

เมื่อไปรวมกับปัญหาราคาพืชผลเกษตรที่ปีนี้มีดีอยู่อย่างเดียวคือทุเรียน ที่เหลือร่วงกันระนาวในระดับทำลายสถิติกันเลยทีเดียว อย่างนี้ฟันธงได้ไม่ยากว่า กำลังซื้อจากภาคเกษตรต่างจังหวัดก็ต้องอ่อนแรงลงไปอีก

รวมความว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานรับเงินเดือนหรือคนทำธุรกิจต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

ต้องเตรียมตัวเตรียมใจและเตรียมแผนรับมือ

บนพื้นฐานการพึ่งตนเองเป็นสำคัญ

ส่วนภาครัฐนั้น ถ้า 4.0 ออกเป็นเลขท้ายสองตัว ติดต่อกันสัก 10 งวด

คงพอช่วยได้บ้าง (ฮา)