แมลงวันในไร่ส้ม/รัฐบาลปรับแผนตีปี๊บ เปิดเกมรุกโซเชียลมีเดีย กลางกระแส “การเมือง” เข้ม

แมลงวันในไร่ส้ม

รัฐบาลปรับแผนตีปี๊บ เปิดเกมรุกโซเชียลมีเดีย

กลางกระแส “การเมือง” เข้ม

ครบปีที่ 3 เข้าสู่ปีที่ 4 ของรัฐบาล อันเป็นช่วงปลายของโรดแม็ป

ข่าวการเมืองดังๆ ยังเป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการออก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ก่อนจะใช้มาตรา 44 สั่งเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราออกไปถึง 31 ธันวาคม 2560

ทำเอาวงการตำรวจ ศาลปั่นป่วน เพราะมีกฎหมายบัญญัติการกระทำเป็นความผิด แต่ลงโทษไม่ได้

มีการออกกฎหมายลูก ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ให้พิจารณาคดีลับหลัง คดีอาญาของนักการเมืองไม่มีอายุความ

และมีผลต่อบางคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ทำให้วิจารณ์กันว่า มีผลย้อนหลัง

วงการศาลเอง ก็มีข่าวใหญ่ เมื่อคณะอนุกรรมการตุลาการ และคณะกรรมการตุลาการ ลงมติไม่เห็นด้วยกับบัญชีรายชื่อที่เสนอให้ นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีอาวุโสอันดับ 1 ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา ด้วยปัญหา “ความไม่เหมาะสม” บางประการ

และลงมติเห็นชอบ ให้ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

ตามมาด้วยการแถลงข่าวลาออกของนายศิริชัย

ที่ประชุม ก.ต. วันที่ 17 กรกฎาคม มีมติเสียงข้างมากตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นต่อกรณีการปฏิบัติราชการของนายศิริชัย ที่อนุ ก.ต.กลั่นกรองคุณสมบัติสรุปรายงานการไม่ผ่านคุณสมบัติ ด้วยปัญหาการโอนสำนวนคดี

โดยตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น แม้นายศิริชัยลาออก ก็ไม่มีผลให้การสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นมีผลยุติลง จะมีเวลา 30 วันในการเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเป็นพยานให้การ รวมทั้งการให้โอกาสนายศิริชัยเข้ามาให้ถ้อยคำพร้อมพยานที่จะโต้แย้งข้อกล่าวหา

หากภายใน 30 วันยังดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่แล้วเสร็จ สามารถขยายระยะเวลาได้

ท้ายที่สุด หากกรรมการสรุปว่ามีมูลและเป็นความผิดทางวินัย ก็จะต้องตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป เพราะหากพบว่ามีความผิดทางวินัยจะมีบทลงโทษ มีผลต่อเรื่องของบำเหน็จบำนาญ แม้จะมีการลาออกจากราชการแล้วก็ตาม

ที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลเน้นหนักการประชาสัมพันธ์อย่างมากเป็นพิเศษ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันที่ 14 กรกฎาคม ว่า รัฐบาลได้สร้างกลไกการประชาสัมพันธ์ อาทิ เครือข่าย ID-IA-IRChat เป็นการเชื่อมโยงสื่อทุกประเภทของกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีทั้งวิทยุ-โทรทัศน์-สื่อออนไลน์ กับโฆษกรัฐบาล-โฆษกกระทรวง, องค์กรมหาชน และรัฐวิสาหกิจ ในการตอบประเด็นปัญหาสังคม ทุกเรื่อง ทุกมิติ ที่เน้นความถูกต้อง-ทันเวลาภายใน 1 วัน หรือเร็วที่สุด โดยมีสํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สนับสนุนในการปฏิบัติ

พร้อมกันนี้ ได้เปิดเฟซบุ๊กชื่อ PAGE IR เพื่อนำคำตอบ-การไขข้อข้องใจ-และรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนโดยตรง เพิ่มเติมจากการสื่อสารผ่านเครือข่ายสื่อมวลชน ทุกแขนง

จะได้เป็นการสื่อสาร 2 ทาง หวังว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลให้สื่อโซเชียล-สื่อกระแสหลัก สามารถนำไปใช้อ้างอิง ขยายผล และลดความเข้าใจผิด ลดความขัดแย้งในสังคมได้ในอนาคต

ส่วนเครือข่ายวิทยุกระจายเสียง-หอกระจายข่าว-วิทยุชุมชน ขอความร่วมมือนะครับ โดยกรมประชาสัมพันธ์, กสทช. และกระทรวงมหาดไทย จะทำงานร่วมกัน นอกจากการนำประเด็นใน IR Chat ดังกล่าวไปขยายผลให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในแต่ละพื้นที่ อย่างปัจจุบันทันด่วนแล้ว ยังเป็นกลไกในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์จึงสั่งให้รองนายกฯ ทั้ง 6 คน ตั้งโฆษกประจำรองนายกฯ มีชื่อเรียกทางการว่า “คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ของรองนายกรัฐมนตรี” นอกเหนือจากทีมโฆษกประจำสำนักนายกฯ และทีมโฆษก คสช.

พร้อมกับตั้ง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หลานชายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มาเป็น “โฆษกฝ่ายเศรษฐกิจ” รับหน้าที่แถลงข่าวเรื่องเศรษฐกิจ หลังประชุม ครม. ทุกวันอังคาร

นายคมสัน พันธุ์วิชาติกุล หรือซินแสโจ้ อดีต ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ ดูแลในเรื่องของสื่อโซเชียลมีเดียร่วมกับทีมโฆษกรัฐบาล

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกทำเนียบและอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในเรื่องเครือข่ายประชาสัมพันธ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่านิวมีเดียหรือสื่อใหม่ ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก ในเมื่อปัจจุบันนี้ คนต้องทำงานมากขึ้น จึงใช้เวลาอยู่กับโทรทัศน์และวิทยุน้อยลง ส่วนใหญ่ต่างก็เสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดียที่ปรากฏบนโทรศัพท์มือถือ

ดังนั้น หน่วยงานราชการ ควรจะนำข้อมูลต่างๆ ที่เห็นสมควรชี้แจงต่อประชาชนมาไว้ในโซเชียลมีเดียนี้ด้วย เพราะปัจจุบันโซเชียลมีเดีย มีข้อมูลที่ค่อนข้างคลาดเคลื่อนอยู่มาก

โฆษกไก่อูยังกล่าวว่า สื่อของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกรมประชาสัมพันธ์หรือสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ยึดหลักความเป็นจริงในการนำเสนอ ไม่นำข้อมูลเท็จที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่มีเรื่องใส่สีตีไข่ ซึ่งจะไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ที่เอ็นบีทีมีรายการโทรทัศน์ที่ชื่นชมรัฐบาลและด่าคนอื่น

นอกจากในส่วนกลางแล้ว ยังมีประชาสัมพันธ์จังหวัด อยู่ทุกจังหวัด ซึ่งทำงานภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มอบหน้าที่ให้เป็นเหมือนโฆษกจังหวัด

เร็วๆ นี้ กรมประชาสัมพันธ์จะเรียกประชาสัมพันธ์จังหวัดมาอบรมในการทำหน้าที่ดังกล่าว

ความเห็นต่อการปรับแผนประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล คสช. หลายเรื่องแม้จะเป็นข้อมูลข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่ประชาชนควรรับรู้

แต่เมื่อมีการนำเสนอควบคู่ไปกับการเชิญหรือมีทหารไปเยี่ยมบ้านนักการเมือง นักคอมเมนต์ข่าวที่พูดพาดพิงหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล ทำให้ประชาชนไม่ได้สนใจสิ่งดีๆ ที่รัฐบาลนำเสนอ แต่กลับเคลือบแคลงสงสัยต่อการกระทำของรัฐบาลแทน

นายสิงห์ชัยเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนท่าที ผ่อนคลายความเข้มงวด นำเสนอความจริง หรือเชิงข้อมูล ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นมิตร เท่านี้ก็จะช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลได้

ส่วน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลฯ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลทำงานดี มีผลงานดี ผลงานนั้นจะแสดงออกมาด้วยตัวเอง เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การส่งออก การแก้ปัญหาต่างๆ คนจะพูดปากต่อปากไปเอง มากกว่าที่รัฐบาลมาบอกเองว่าดี ในขณะที่มันไม่ดี ก็ทำให้ความเชื่อถือในรัฐน้อยลง

เป็นอีกความเคลื่อนไหวในเชิงข่าวสาร และการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ที่คะแนนนิยมของรัฐบาลยังแกว่งอยู่