ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
ยุทธบทความ
สุรชาติ บำรุงสุข
โดมิโนล้มในอัฟกานิสถาน!
บทเรียนการสงคราม
“หากแม้ทหารสหรัฐจะอยู่ [ในอัฟกานิสถาน] นานกว่านี้อีกหลายปีก็ไม่อาจเปลี่ยนทิศทางของเหตุการณ์ได้ อาจทำได้แค่เพียงเลื่อนระยะเวลา [ชัยชนะของทาลิบัน] ออกไปเท่านั้น… สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าไม่ใช่ภาพของความสุข [แน่นอน]”
Vanda Felbab-Brown (Brooking Institute)
วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นเหมือน “วันช็อกโลก”… หลังจากการต่อสู้อย่างยาวนานถึง 20 ปีในสงครามอัฟกานิสถาน กองกำลังของกลุ่มทาลิบันกลับเข้ามายึดคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานอีกครั้ง
แม้รัฐบาลทาลิบันซึ่งถูกโค่นล้มด้วยกำลังทหารของสหรัฐหลังเหตุการณ์การโจมตีอาคารเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 แล้ว นักรบกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการเดินทัพเข้าสู่คาบูลได้อีกอย่างไม่น่าเชื่อ
และผลของชัยชนะในครั้งนี้กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการเมืองในเอเชียกลาง
ภาพชัยชนะของทาลิบันปรากฏในอีกด้านที่สนามบินคาบูล คือภาพของ “การหนีตาย” ของฝูงชนที่ต้องการเดินทางออกจากอัฟกานิสถาน
ภาพของความสับสนอลหม่านของผู้คนเป็นจำนวนมากเช่นนี้บ่งบอกถึงภาวะของประเทศที่แพ้สงคราม
และภาพเช่นนี้อาจทำให้เราต้องหวนรำลึกถึงภาพวันสุดท้ายของสงครามเวียดนามระหว่างการออกจากไซ่ง่อน กับการออกจากคาบูล
วันสุดท้ายที่ไซ่ง่อน
หลังจากการส่งสัญญาณผ่านสถานีวิทยุของทหารอเมริกันในไซ่ง่อนในวันที่ 29 เมษายน 1975 (พ.ศ.2518) แล้ว คนที่เกี่ยวข้องรับรู้อย่างดีว่าการอพยพออกจากเวียดนามใต้กำลังเริ่มขึ้น…
สัญญาณการแตกของไซ่ง่อนปรากฏเป็นระยะมาก่อน แต่ในวันที่ 29 นี้ กองกำลังเวียดนามเหนืออยู่ในระยะที่สามารถยิงปืนใหญ่ถล่มฐานทัพอากาศของสหรัฐในไซ่ง่อนได้ จนทำให้ในที่สุดการอพยพเหลือทางเดียวคือการใช้เฮลิคอปเตอร์
ดังนั้น ภาพของคนจำนวนมากที่พยายามหนีออกจากไซ่ง่อนด้วยเฮลิคอปเตอร์จากดาดฟ้าของสถานทูตอเมริกัน จึงเป็นภาพแทนที่ชัดเจนของการพ่ายแพ้สงครามเวียดนาม
วันนี้ภาพที่ไม่แตกต่างกันเกิดขึ้นที่คาบูล คนจำนวนมากพยายามหนีออกจากการแพ้สงคราม จนเกิดการเปรียบเทียบว่า สหรัฐหลังสงครามเวียดนามแพ้สงครามอีกครั้งที่อัฟกานิสถาน
จนไม่น่าเชื่อว่าหลังเหตุการณ์การโจมตีเวิลด์เทรด อันนำไปสู่สงครามอัฟกานิสถาน และตามมาด้วยการโค่นล้มรัฐบาลทาลิบันในปี 2001 แล้ว กลุ่มทาลิบันสามารถกลับเข้ายึดอำนาจรัฐได้อีก
แต่สงครามจบด้วยการถอนตัวของสหรัฐในปี 2021 แม้จะมีการประเมินก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐไม่อาจเอาชนะสงครามครั้งนี้ได้ แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าจุดสุดท้ายจะรวดเร็วเช่นนี้
20 ปีของสงครามอัฟกานิสถานปิดฉากลงแล้ว… หนึ่งในฉากสงครามที่สหรัฐต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างยาวนานสิ้นสุดลง และสหรัฐไม่เป็นผู้ชนะ!
สงครามอัฟกานิสถานที่เริ่มต้นด้วยชัยชนะอย่างง่ายดายในทางทหารสำหรับรัฐบาลอเมริกัน และรัฐบาลทาลิบันถูกโค่นลงอย่างรวดเร็วในปี 2001 แต่ผลสุดท้ายกลับกลายเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง คือในวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์การโจมตีเวิลด์เทรดและสงครามอัฟกานิสถาน กลุ่มทาลิบันสามารถพลิกกลับสถานการณ์ จน “รัฐมหาอำนาจใหญ่” อย่างสหรัฐต้องถอนตัวออก…
ในมุมมองทางทหาร สนามรบในอัฟกานิสถานเป็นดัง “สุสานของรัฐมหาอำนาจ” เพราะในยุคอาณานิคม กองทัพอังกฤษก็ไม่สามารถเข้าควบคุมพื้นที่นี้ได้อย่างแท้จริง อันทำให้อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศเอกราชในยุคอาณานิคม (ไม่แตกต่างจากสยาม)
ต่อมาในช่วงปลายยุคสงครามเย็น กองทัพของสหภาพโซเวียตไม่สามารถยึดครองและเอาชนะนักรบกองโจรในอัฟกานิสถานได้ จนต้องถอนตัวออกในปี 1989
และต่อมาในยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้าย กองทัพสหรัฐอาจโค่นรัฐบาลทาลิบันลงได้ แต่สุดท้ายสหรัฐกลับไม่สามารถเอาชนะสงคราม จนต้องถอนทหารออก
ไม่น่าเชื่อว่าการอพยพในวันที่ 29 เมษายน 1975 หวนกลับมาเป็นภาพที่ “เขย่า” การเมืองโลกอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคม 2021
ซึ่งน่าสนใจอย่างมากในอนาคตว่า ผลของของสงครามที่จบลงที่เป็นความพ่ายแพ้อีกครั้งของสหรัฐเช่นนี้ จะกระทบอย่างไรกับการเมืองระหว่างประเทศในอนาคต
โดยเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นกับการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเอเชียกลาง
บทเรียนการสงคราม!
ผลลัพธ์ของสงครามที่เกิดเช่นนี้อาจมีข้อถกเถียงมากมายว่า อะไรคือปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถาน
และอาจไม่ต่างกับการถกแถลงเรื่องของสงครามเวียดนามที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
สงครามทุกสงครามมีบทเรียน และการพ่ายแพ้สงครามมีบทเรียนให้คนรุ่นหลังต้องเรียนรู้เสมอ
อีกทั้งการเรียนรู้จากความพ่ายแพ้อาจจะทำให้เราเห็นปัญหาชัดเจนมากกว่าการเรียนจากชัยชนะ แม้ความพ่ายแพ้จะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและความขมขื่นสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องก็ตาม
ความพ่ายแพ้มาจากปัญหา 3 ประการหลัก คือ
– การประเมินขีดความสามารถของฝ่ายข้าศึก
ในช่วงต้นสงครามอัฟกานิสถานจะเห็นได้ว่ากลุ่มทาลิบันพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการประเมินของฝ่ายตะวันตกว่ากลุ่มดังกล่าวได้แพ้อย่างย่อยยับไปแล้ว และโอกาสฟื้นตัวในทางทหารมีอยู่น้อยมาก
แต่ในความเป็นจริงหลังจากความพ่ายแพ้ดังกล่าว กลุ่มสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้ว่ากลุ่มขยายปฏิบัติการทหารอย่างต่อเนื่อง และขยายพื้นที่การควบคุมเพิ่มขึ้นในแต่ละปีมาโดยตลอด อีกทั้งกลุ่มยังสามารถต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลและกำลังของฝ่ายพันธมิตรได้ แม้จะมีกำลังน้อยกว่า
หากเปรียบเทียบกำลังรบ มีประมาณการว่ากำลังติดอาวุธของกลุ่มทาลิบันมีราว 75,000 นาย และไม่ได้มียุทโธปกรณ์ทันสมัยที่สามารถเปรียบเทียบได้กับกองทัพของตะวันตก
แต่ไม่ต่างจากยุคสงครามเย็น นักรบของทาลิบันมีความเชื่อว่าพวกเขาต่อสู้บนอุดมการณ์ของโลกมุสลิม ในขณะที่ทหารและตำรวจของรัฐบาล ต่อสู้ในสงครามครั้งนี้เพื่อผลตอบแทนด้านเงินตรา
อีกทั้งฝ่ายตะวันตกอาจจะละเลยประเด็นสำคัญว่า กลุ่มทาลิบันนอกจากมีสถานะเป็นองค์กรก่อการร้ายแล้ว กลุ่มมีความเป็นขบวนการทางการเมืองอีกด้วย
ฉะนั้น กลุ่มจึงขยายฐานสนับสนุนทางการเมืองในหมู่ประชาชนได้อย่างมาก
ดังจะเห็นได้ว่าแม้รัฐบาลทาลิบันอาจจะถูกโค่นล้มลง แต่กลุ่มยังดำรงความเป็นขบวนการทางการเมืองและเปิดการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ
– การประเมินขีดความสามารถทางทหารของฝ่ายรัฐบาล
กองกำลังความมั่นคงของอัฟกานิสถานมีขีดความสามารถทางทหารในการรับมือกับการรุกของฝ่ายทาลิบันต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประเมิน
หากเปรียบเทียบแล้ว กองทัพอัฟกานิสถานมีขนาดใหญ่กว่า และมีอำนาจทางยุทโธปกรณ์สูงกว่าฝ่ายต่อต้านอย่างมาก
ตัวเลขกำลังพลของกองทัพอัฟกานิสถานมีประมาณ 300,000 นาย (ตัวเลขในรายงาน และตัวเลขจริงน้อยกว่านี้)
นอกจากนี้ หน่วยรบพิเศษของอัฟกานิสถานที่ได้รับการฝึกและการติดอาวุธอย่างดีจากกองทัพสหรัฐ จนสามารถเทียบเคียงได้กับกำลังรบพิเศษในภูมิภาค ซึ่งน่าจะต้านทานข้าศึกได้ในระยะเวลาหนึ่ง เพราะข้าศึกไม่ได้มีขีดความสามารถทางทหารเหนือกว่ากำลังรบของรัฐบาล
การแตกของคาบูลอย่างง่ายดายจึงเป็นการ “ช็อก” ในทางการเมืองและการทหาร
แต่ในอีกด้านก็พบว่าเสียงของประชาชนชาวอัฟกานิสถานที่เคยสนับสนุนการคงทหารอเมริกันไว้ในประเทศลดลงจากร้อยละ 90 ในช่วงทศวรรษที่แล้ว เหลือเพียงร้อยละ 55 ในปีปัจจุบัน
ดังนั้น หากมองในมิติของกำลังรบแล้ว กองทัพอัฟกานิสถานน่าจะรับมือกับการรุกทางทหารของกลุ่มทาลิบันได้ และน่าจะมีเวลาอย่างน้อยอีก 2-3 ปี ซึ่งก็จะเป็นช่วงเวลาเหลือให้ทำเนียบขาวและรัฐบาลอัฟกานิสถานมีโอกาสพอที่จะเตรียมรับมือกับการโจมตีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่ขีดความสามารถในความเป็นจริงกลับพบว่า กองทัพอัฟกานิสถานมีกำลังพลน้อยกว่าตัวเลขในรายงาน มีปัญหาคอร์รัปชั่นภายในกองทัพอย่างมาก
และผู้นำทหารและรวมถึงผู้นำรัฐบาลอีกส่วนแสวงหาผลประโยชน์และความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง
– ปัญหาประสิทธิภาพของรัฐบาล
ปัญหาสำคัญเกิดจากความล้มเหลวของรัฐบาลอัฟกานิสถานเอง แม้จะมีความพยายามอย่างมากที่จะสร้างประชาธิปไตยโดยการผลักดันของรัฐบาลตะวันตก ดังจะเห็นได้ว่ามีการร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง เป็นต้น
แต่ความเป็นจริงของรัฐบาลกลับพบความขัดแย้ง และการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ ในการแย่งชิงอำนาจ
จนคำว่า “รัฐบาลเอกภาพ” ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ กลับมีสภาพเป็น “รัฐบาลไร้เอกภาพ” และไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้
รัฐบาลไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน และไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนอีกด้วย
ดังจะเห็นจากการเลือกตั้งในปี 2019 ว่า คนออกมาเลือกตั้งเพียง 1.8 ล้านคน ทั้งที่ประเทศมีประชาชน 39 ล้านคน
แม้ทำเนียบขาวมีความหวังในอีกด้านว่า รัฐบาลเอกภาพของอัฟกานิสถานน่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับภัยคุกคามร่วมกันจากการรุกของกลุ่มทาลิบัน
แต่สิ่งนี้ก็เป็นเพียงความหวัง และความจริงทางการเมืองคือ รัฐบาลคาบูลมีความอ่อนแออย่างมาก ไร้เอกภาพในการต่อสู้กับภัยคุกคาม และไร้ความเป็นผู้นำทางการเมืองเพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้าน
ความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แม้สหรัฐจะทุ่มงบประมาณมากมายเพื่อสนับสนุนรัฐบาลคาบูล ซึ่งประมาณว่าในช่วง 20 ปีของสงครามนั้น สหรัฐทุ่มงบประมาณถึง 2 ล้านล้านเหรียญอเมริกัน แต่ก็ไม่ช่วยให้รัฐบาลคาบูลชนะ
และงบฯ ช่วยเหลือจำนวนมหาศาลจากสหรัฐกลับเป็นแหล่งของการคอร์รัปชั่น
การแข่งขันในเอเชียกลาง
ผลจากสภาพเช่นนี้ในที่สุดแล้ว ทำให้เกิดการพลิกผันของสถานการณ์ในอัฟกานิสถานอย่างคาดไม่ถึง… 20 ปี หลังเหตุการณ์เวิลด์เทรดและสงครามอัฟกานิสถาน กลุ่มทาลิบันกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จนสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในความท้าทายของการเมืองโลกปัจจุบัน
โดยเฉพาะคำถามว่าอัฟกานิสถานจะกลับไปเป็น “สวรรค์ของผู้ก่อการร้าย” หรือไม่… สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง โดยเฉพาะในส่วนของสตรีและเด็ก จะยังคงมีอยู่ต่อไปหรือไม่…
รัฐบาลทาลิบันจะคงความเป็นจารีตนิยมอย่างสุดขั้วในอนาคตหรือไม่ เป็นต้น
ในอีกด้านการจับมือระหว่างผู้นำทาลิบันและผู้นำรัฐบาลจีนส่งสัญญาณว่า อัฟกานิสถานใหม่เป็นพันธมิตรกับจีนในการต่อสู้กับสหรัฐในเวทีการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ
จนต้องกล่าวว่า อัฟกานิสถานกลับสู่ประวัติศาสตร์ของการแข่งขันของชาติมหาอำนาจใหญ่อีกครั้งในศตวรรษที่ 21!