ไม่สร้างกำลังแนวร่วม ไม่มียุทธศาสตร์…ไม่มีทางชนะ (1)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ไม่สร้างกำลังแนวร่วม

ไม่มียุทธศาสตร์…ไม่มีทางชนะ (1)

 

สถานการณ์ภาพรวมการเมืองตลอด 15 ปี

เสียเปรียบ และไม่มียุทธศาสตร์

อีกไม่ถึงเดือนก็จะครบ 15 ปีของการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถ้าวิเคราะห์จากภาพรวมของโครงสร้างทางการเมือง ที่ประกอบขึ้นมาเป็นอำนาจปกครองจริงในประเทศไทยขณะนี้ จะพบว่าฝ่ายประชาธิปไตยเสียเปรียบและต้องตั้งรับมาโดยตลอด

ทั้งช่วงที่ได้เป็นรัฐบาลและไม่ได้เป็นรัฐบาล

จากยุบพรรคไทยรักไทย มาถึงยุบพรรคอนาคตใหม่

ฝ่ายรัฐประหารมียุทธศาสตร์ที่ดีกว่า

คสช.เก่งกว่า เดินตามแผนจนสามารถสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย ภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตยได้สำเร็จ แม้คนรู้ทันก็อยู่อย่างด้านๆ ไปได้ บางคนไปดูถูกคนพวกนี้ว่าเป็นพวกโบราณ ที่จริงพวกเขาเป็นคนฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยม แต่มีความคิดเป็นแบบอนุรักษนิยม เคยชินกับระบบอุปถัมภ์และเป็นชนชั้นที่มีอำนาจมานาน จึงเรียนรู้เรื่องการชิงอำนาจและสืบทอดอำนาจ

ระยะ 15 ปีที่ผ่านมาพวกเขายังกุมยุทธศาสตร์มั่น และเป็นฝ่ายได้เปรียบ คือ

1. คุมปืน คุมกำลังทหาร การคุมปืนถือเป็นเป้าหมายอันดับแรก แม้ฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลก็ยังไม่สามารถเข้าไปยุ่งในกองทัพได้

2. เรื่องรัฐธรรมนูญจนถึงบัดนี้ คสช.ยังได้เปรียบ

หลังรัฐประหาร 2549 คมช.ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ ยกเลิกฉบับ 2540 ฉบับ 2550 การเลือก ส.ว.ทั้งหมด ก็เปลี่ยนเป็นแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เลือกครึ่งหนึ่ง เมื่อแพ้การเลือกตั้ง 2554 ก็ฉีกรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่าง แล้วร่างใหม่เพื่อให้ได้เปรียบมากขึ้นเป็นฉบับ 2560

ที่สำคัญคือมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งให้ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง… เช่น สามในสี่ของจำนวน ส.ส.เหมือนสมัยหลังรัฐประหาร 2520 โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หรือสองในสามของจํานวน ส.ส.เหมือนสมัยรัฐประหารของคณะ รสช.ของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และหรือล่าสุดรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้มี ส.ว.ครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. 500 คน

และพยายามให้ ส.ว.มีอำนาจมากที่สุด คล้ายกับ ส.ส. โดยเฉพาะการเลือกนายกฯ

3. ทำทุกวิธีเพื่อแย่งชิงอํานาจนิติบัญญัติ

เริ่มจากมี ส.ว.ที่ประชาชนไม่ได้เลือกถึง 250 คนและมีอำนาจหลายอย่าง เช่น เลือกนายกฯ และการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ ส.ส.ทั้งสภาเห็นด้วย แต่ ส.ว.ไม่เห็นด้วยบางส่วน ก็ไม่สามารถแก้ได้

ร่างกฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง มีช่องให้เกิดการซื้อเสียงตั้งแต่มีการเลือกตั้ง จนถึงการซื้อ ส.ส.ในสภา กฎหมายพรรคการเมืองเปิดช่องให้มีการย้ายพรรคได้ไม่ยาก

ตัวอย่างที่น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงมาก คือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่เป็นโควต้าของพรรคการเมืองต่างๆ มาจากการที่ประชาชนเลือกพรรคที่เขาชอบ และพรรคก็จัดสรรคนมาลงเป็น ส.ส. เมื่อมีความขัดแย้งกับพรรค คนนั้นก็ควรจะต้องออกไป และพรรคควรจะจัดคนใหม่เข้ามา แต่กลับกลายเป็นว่า สามารถย้ายไปอยู่อีกพรรคหนึ่งที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้าม ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการเลือกของประชาชนเลย

ใช้กฎหมายลิดรอนกำลัง และยุบพรคการเมืองได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องทำให้พรรคการเมืองน้อยลงเท่านั้น การให้มีพรรคการเมืองมากมายก็ทำให้เกิดความเสื่อมได้

ใช้วิธีแจกกล้วยกับ ส.ส.ลิง และงูเห่า เพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส. เพราะถ้ามีพรรคการเมืองที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน มีนักการเมืองที่ขายตัว ที่ไม่ดีเข้าไปอยู่ในพรรคแบบนี้ก็จะทำให้คนเสื่อมศรัทธาต่อพรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตย

4. สามารถตั้งรัฐบาลมาบริหาร โดยไม่ต้องสนใจประชาชน

การขยายกำลังอำนาจในรัฐสภา ทำให้อำนาจตกอยู่ในมือ คสช. เมื่อ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ ก็จะมีโอกาสชนะและได้เป็นฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายตรงข้ามถึงอย่างไรก็ไม่มีทางหา ส.ส.ได้ครึ่งของรัฐสภา คือ 375 เสียง (ส.ส. 500+ส.ว. 250) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล และสามารถทำให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ได้อีก 5 ปี สามารถเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อย 2 ครั้ง จึงสืบทอดอำนาจได้ถึง 8 ปี

5. อำนาจฝ่ายตุลาการไม่เป็นอิสระ

โดยเฉพาะอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการเมืองสามารถชี้ถูกชี้ผิด เช่น ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต. ป.ป.ช. เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้การคัดเลือกกรรมการเหล่านั้น ต้องได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา ดังนั้น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็จะสามารถมีอิทธิพลในการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ

การแต่งตั้งคนที่มาจากพวกเดียวกันเป็นกรรมการต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ป้องกันยากมากและทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม เล่นพรรคเล่นพวก เมื่อมีปัญหาขัดแย้งเป็นคดีเกิดขึ้น ฝ่ายที่มีอำนาจไม่เคยผิด อีกฝ่ายผิดตลอด

 

ระวัง! การยุบพรรค ยุทธวิธี ทางลัดของเผด็จการ

การทำลายพรรคการเมืองเป็นการทำลายองค์กรพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย จะทำให้ทั้งขบวนอ่อนแอ นี่จึงเป็นยุทธวิธีที่ใช้มาตลอด เพราะได้ผลคล้ายการรัฐประหาร แต่ใช้กฎหมายไม่ได้ใช้ปืน การยุบพรรคทางการเมือง ตัดสิทธิกรรมการพรรค จึงเป็นเรื่องไม่ยาก ง่ายกว่ารัฐประหาร ทำแล้วไม่มีโทษทางอาญา

จึงต้องมีการร่างกฎหมายให้ยุบพรรคได้โดยไม่สนใจว่าแต่ละพรรคจะมีสมาชิกกี่หมื่นกี่แสนหรือมีคนเลือกกี่ล้าน ใช้วิธีการร่างกฎหมายที่กำหนดความผิดของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นกรรมการไว้อย่างมากมายหลายช่องทาง เหมือนกางตาข่าย จะเห็นว่ามีกฎหมายเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อ มีกฎหมายเกี่ยวกับด้านการเงิน มีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

ดังนั้น จึงมีพรรคการเมืองที่ถูกยุบ กรรมการพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลายสิบหรือเป็นร้อยคน เพราะไปโดนข้อหาต้องห้ามแม้จะทำโดยกรรมการเพียงคนเดียว และโทษก็ไม่ควรถึงยุบพรรค

ในองค์กรอื่นๆ ถ้ามีคนทำผิด เราไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้ยุบองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจ กระทรวง กรม เพราะองค์กรเหล่านี้เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก คนทำงานก็มีมาก อย่างหนักก็ลงโทษผู้บริหารในบางระดับ หรือผู้บริหารสูงสุดก็ต้องลาออกและต้องรับผิดชอบ การวางโทษถึงยุบพรรคจึงชี้เจตนาของผู้ร่างว่าต้องการทำลายฐานทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย

สำหรับคนที่เลือกพรรคถ้ามีหลายล้านคนถามว่าถ้ายุบพรรคนั้นไปแล้ว เสียงที่เลือกจะลอยหายไปไหน ในเมื่อยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะเสียงของประชาชนเหล่านั้นมีที่มาที่ไป เป็นเสียงที่สนับสนุนนโยบายที่เขาเห็นด้วย หรือบุคคลที่เขาเห็นด้วย การยุบพรรคจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองนอกสภา

ดูตัวอย่างการยุบพรรคไทยรักไทยพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยในอดีต และล่าสุดคือการยุบพรรคอนาคตใหม่ รัฐบาลได้ ส.ส.งูเห่า ส.ส.ลิงกินกล้วย มาเสริม สามารถจะทำประโยชน์ได้หลายทอด คือตัดกำลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลดจำนวน ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เพิ่มฝ่ายรัฐบาล แต่ความขัดแย้งนอกสภาแรงขึ้น

 

ฝ่ายประชาธิปไตยต้องปรับยุทธศาสตร์

จะมีแค่การเลือกตั้งไม่ได้

การหลง วนเวียน ต่อสู้อยู่ในกรอบการเลือกตั้ง ที่ฝ่ายตรงข้ามกำหนดให้ ทะเลาะกันเอง แย่งเสียงกัน หวังจะได้ ส.ส.เยอะ ทำให้ไม่มีโอกาสชนะ เพราะเขาให้ทุกคนทำตามกฎหมายที่พวกเขาสร้างขึ้นมาไม่ว่าจะยุติธรรมหรือไม่ แต่ถ้าคุณเล่นตามนั้นและยังจะชนะเขาอีก เขาก็อาจจะให้กรรมการจับแพ้ฟาวล์ หาว่าทำผิดกติกาโน่นนี่นั่น

และ…แรงสุด…ถ้าเห็นว่าเอาชนะคุณไม่ได้เขาก็ล้มเกม โดยการรัฐประหารคุณอยู่ดี ลองมองย้อนไป 15 ปีก็เห็นชัดแล้ว

คสช.เป็นแค่ส่วนหลังของการใช้ม็อบ ตุลาการภิวัฒน์ และรัฐประหาร นี่คือเป็นขบวนการต่อเนื่องหลายปี อย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย ภายใต้ชื่อประชาธิปไตย

ถ้าไม่ปรับยุทธศาสตร์นอกจากไม่มีวันชนะ ตัวเก่ง นักกีฬาคนเก่งๆ ของฝ่ายประชาธิปไตยก็จะถูกทำร้ายทำลายไปทีละคนสองคน ถ้าไม่หนี ก็ต้องติดคุก พวกที่ตัวอ่อนก็ยอมแพ้ ย้ายค่าย

ต้องถามตัวเองอีกครั้งว่า ถ้าเลือกตั้งชนะแล้วได้เป็นรัฐบาลจะอยู่บริหารประเทศได้กี่วัน ที่ผ่านมาตลอด 15 ปี การชนะเลือกตั้งแล้วมีอำนาจจริงหรือ ต้องทำอย่างไรจึงจะมีอำนาจจริง