หนังสือ 6 เล่ม วาระ 30 ปี มตะกาล จ่าง แซ่ตั้ง/รายงานพิเศษ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

รายงานพิเศษ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

หนังสือ 6 เล่ม วาระ 30 ปี มตะกาล จ่าง แซ่ตั้ง

 

จ่าง แซ่ตั้ง เรียกบทกวีของเขาว่า “บทกวีนามธรรมและบทกวีรูปธรรม” (“จ่าง” ศึกษา)

“…ฉันเองได้ริเริ่มสร้างสรรค์บทกวีขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2510 โดยใช้ตัวอักษรหนังสือไทย ทั้งถ้อยคำและถ้อยคำประกอบขึ้นให้เป็นรูปภาพจิตรกรรม วรรณกรรม การจัดภาพ ความหมาย สัญญา เนื้อหา แต่ละเรื่อง มีทั้งธรรมชาติ ชีวิต สังคม การเมือง โดยใช้คำซ้ำสื่อความหมาย สื่ออารมณ์ สื่อปัญญา ความคิดของฉัน เพื่อให้เกิดภาพพจน์ ภาพลักษณ์… จนแสดงออกเพื่อให้เกิดมโนภาพขึ้นมาในจิตใจของผู้เขียนและผู้อ่านพร้อมกัน โดยใช้ถ้อยคำน้อยแต่กินความลึก กินความกว้าง สร้างมโนภาพกว้าง มโนภาพลึกงดงามแสดงออกเป็นสำคัญ ทั้งธรรมชาติภายใน และธรรมชาติภายนอก มักจะปรากฏในบทกวี ทั้งบทกวีนามธรรมและบทกวีรูปธรรม (จ่าง แซ่ตั้ง 2553 : 144)-บทกวีการเมืองของจ่าง แซ่ตั้ง รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ หน้า 390

…ผลงานบทกวีของจ่าง แซ่ตั้ง ได้รับความสนใจมาก ขณะเดียวกันก็ได้รับคำวิจารณ์ว่า “กวีติดอ่าง” และ “เจ๊กหัดเขียนหนังสือ” แต่จ่างมิได้ย่อท้อ…(เรื่องเดียวกัน หน้า 391)

ชื่อเรียกขานบทกวีของจ่าง แซ่ตั้ง ยังมีอีกหลายชื่อ อาทิ กวีนิพนธ์รูปธรรม วรรณรูป (วิภา กงกะนันทน์) วรรณลักษณ์ (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) กวีภาพ (สุชาติ สวัสดิ์ศรี) จิตรกรรมกวี (สมพงษ์ ‘ทวี) อักษรรูป (ถนอม ชาภักดี)-เชิงอรรถ เรื่องเดียวกัน หน้า 389

นอกจากเป็นจิตรกรวาดภาพนามธรรม (abstract painting) แล้ว จ่าง แซ่ตั้ง (พ.ศ.2477-2533) ยังเป็นกวีอีกด้วย…แต่ปรากฏว่าบทกวีของจ่างสร้างชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้งานจิตรกรรม เพราะนวัตกรรมใหม่ของกวีนิพนธ์ไทย

จ่าง แซ่ตั้ง เริ่มเขียนบทกวีชิ้นแรกเมื่อ พ.ศ.2510 (ลอย)-หน้า 387…(ซึ่ง)…การที่จ่าง แซ่ตั้ง เป็นจิตรกร กวี คือมีความสามารถทั้งเขียนรูปและเขียนบทกวี น่าจะเป็นมูลเหตุที่ทำให้จ่างประสานคุณลักษณะของงานศิลปะ 2 แขนง มาประดิษฐ์บทกวีนิพนธ์รูปธรรมขึ้น

นับเป็นนวัตกรรมของกวีนิพนธ์ไทย (คือ) กลวิธีสื่อความหมายในบทกวีนิพนธ์รูปธรรมของจ่าง แซ่ตั้ง มีหลายลักษณะ เช่น การใช้คำซ้ำเพื่อเน้นความหมายและปริมาณ การกำหนดตำแหน่งของคำ การเว้นช่องไฟระหว่างคำ การเว้นบรรทัด การเรียงคำในแนวตั้ง หรือแนวนอน หรือวางรูปแบบอิสระ การใช้ลายมือเขียน การใช้ถ้อยคำขัดแย้งให้ตีความ การเน้นสีของตัวอักษรให้เข้มหรือจาง (เรื่องเดียวกัน หน้า 391)

จ่างเป็นปัจเจกชนเช่นเดียวกับหยางจื่อ นักปรัชญาจีนโบราณ (300 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ) เขาค้นพบว่าปัจเจกชนสามารถมีชีวิตเป็นของตนเอง มันเป็นเรื่องยากสำหรับจ่างที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาผ่านถ้อยคำ ข้อวิจารณ์จำนวนมากต่อจ่างถูกทำให้หลงทางโดยภาพตัวแทนของบทกวีของเขา ในความเป็นจริงแล้ว เพื่อให้ยุติธรรม เราต้องตระหนักว่าเขาใช้ชีวิตอยู่บนปรัชญาหยางเชิง (เกียรติของปัจเจกชนหรือเกียรติของชีวิต) ซึ่งเป็นสิ่งแปลกออกไปจากคนจำนวนมาก

จิตรกรรม กวีนิพนธ์ และการเขียนพู่กันจีน ในวัฒนธรรมจีนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน การเขียนพู่กันจีนเป็นทั้งจิตรกรรมและกวีนิพนธ์ในตัวมันเอง จ่างเป็นทั้งจิตรกรผู้สร้างสรรค์และนักปรัชญามาอย่างยาวนาน ก่อนเขาจะเริ่มต้นเขียนบทกวี (แนะนำบทกวีรูปธรรมของจ่าง แซ่ตั้ง-มยูร วิเศษกุล เขียน นวภู แซ่ตั้ง แปล เล่มเดียวกัน หน้า 254)

เนื่องจากจ่างไม่สามารถที่จะอ่านหรือเข้าใจภาษาต่างประเทศอื่นๆ นอกจากภาษาจีนได้ เขาจึงไม่ทราบถึงบริบทร่วมสมัยอื่นๆ นอกประเทศไทย

เขาสร้างผลงานโดยผ่านโลกทัศน์ของตนเองและความรู้สึกภายในของเขา แสดงออกถึงสิ่งที่เขาเห็นและรู้สึก

ตัวอย่างเช่น ในบทกวีชิ้นหนึ่งซึ่งแสดงออกถึงความขุ่นมัวของคนจำนวนมากที่รอรถเมล์อย่างไร้จุดหมายในกรุงเทพมหานคร ในบทกวีชิ้นดังกล่าว เขาใช้การซ้ำคำเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเบื่อหน่ายและโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเขาต้องการที่จะเน้นถึงบางสิ่งบางอย่าง จ่างซ้ำคำแล้วซ้ำเล่า รูปแบบจึงกลายเป็นสิ่งที่โดดเด่นในบทกวีของเขา (เรื่องเดียวกัน หน้า 255)

เพื่อจะเข้าใจบทกวีของจ่างให้มากขึ้น เราอาจต้องรับเอาภาษิตจีนของหวังเว่ย (ค.ศ.761) ว่า “บทกวีคือจิตรกรรม และจิตรกรรมคือบทกวี” (เรื่องเดียวกัน หน้า 255)

 

การได้พบกับจ่างในห้วงหลังปี พ.ศ.2510 ของข้าพเจ้า เมื่อการแต่งกายของเขาเป็นชุดดำทั้งชุด และไม่สวมรองเท้า รวมทั้งงานเขียนภาพของเขาเริ่มเป็นแนวศิลปกรรมด้วยสีดำละเลงบนพื้นขาว ไม่ได้ประกอบอาชีพด้วยการเขียนภาพเหมือน

จ่างเริ่มได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนด้วยลักษณะ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก จ่างมีแนวทางการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากบุคคลอื่น กล่าวคือ เป็นศิลปินที่ไม่ยอมขายผลงานศิลปะของตนเอง ตลอดจนการไว้ผมยาวและหนวดยาว ซึ่งสัมพันธ์กับกระแส “ฮิปปี้” ที่ให้ความสำคัญกับการแสวงหาความจริงที่อยู่นอกเหนือจากสถาบันทางสังคมของรัฐตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางชีวิตตนเอง ประการที่สอง จ่างเป็นศิลปินที่สร้างผลงานในแนวทางที่แตกต่างไปจากศิลปะในกระแสหลักที่ปรากฏอยู่ในสถาบันการศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว…(จ่างที่รู้จัก : ฯ นวภู แซ่ตั้ง “จ่าง” ศึกษา หน้า 103)

หนังสือพิมพ์นิสิตนักศึกษา ฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2512 นำเสนอให้เห็นว่า จ่างได้รับเชิญเข้าร่วมอภิปรายเรื่อง “บุปผาชน” ในปีเดียวกัน โดยกลุ่มกิจกรรมพัฒนาชนบท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ถวัลย์ ดัชนี โดยมีพิชัย วาศนาส่ง เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

บุปผาชนเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่มีชีวิตแบบ “ฮิปปี้” ซึ่งในวงอภิปรายดังกล่าว ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ให้คำจำกัดความว่า ฮิปปี้เป็นผู้ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล แต่ไม่ใช่ประเภทเอาแต่ใจตนเอง เป็นขบวนการที่แยกตัวออกไปจากสังคม เพื่อค้นหาความจริงของชีวิต บุปผาชนจึงไม่ทำอะไรๆ ตามสังคม แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการแสวงหาคำตอบที่ตนต้องการ

ในวงอภิปราย จ่างได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นฮิปปี้ สำหรับเขาแต่งตัวง่ายๆ และไว้ผมยาวเป็นสิ่งที่เป็นสัจธรรมอันไม่ได้เสริมเติมจริตเข้าไป (เรื่องเดียวกัน หน้า 103)

แม้จ่างจะปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้เป็นฮิปปี้ แต่ดูเหมือนว่าภาพจำลองจะสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า “ฮิปปี้” ในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2512 ซึ่งพาดหัวว่า “ปัญญาชนไทยที่ทำตัวเหมือนฮิปปี้ ทำตัวเหมือนคนบ้าๆ บอๆ ในสายตาของสังคมไว้ผมรุงรัง” ปรากฏภาพของจ่างพร้อมพาดหัวรองว่า “บางกอกไทม์เผยทัศนะกลุ่มไม่อาทรสังคม ไว้ผมยาวรุงรัง” (เรื่องเดียวกัน หน้า 104)

ภาพจำของจ่างในฐานะฮิปปี้เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เมื่อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐใช้ภาพการ์ตูนเพื่อนำเสนอ / เสียดสีแฟชั่นในขณะนั้น จ่างปรากฏตัวในรูปแบบตัวการ์ตูนเสียดสีสังคมในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2512 เรื่อง “งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ” เขียนโดยประยูร จรรยาวงษ์ ถึงแม้ผู้เขียนจะมิได้มีการบรรยายว่าบุคคลในภาพเป็นใคร แต่ภาพของผู้ชายร่างใหญ่มีพุง ผมยาวไว้หนวด และแต่งกายด้วยชุดดำ มีลักษณะคล้ายจ่าง…(เรื่องเดียวกัน หน้า 105)

ระหว่าง ปี พ.ศ.2511-2512 เมื่อ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ กลับจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าทำงานเป็นผู้ตั้งชื่อเรื่องภาพยนตร์และแปลบทภาพยนตร์ให้โรงภาพยนตร์วอร์เนอร์ ถนนมเหสักข์ มีโอกาสรู้จักกับจ่าง แซ่ตั้ง ทั้งระหว่างนั้นยังจัดทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กรายเดือนเป็นชื่อเดือนมีนามสกุล ตั้งแต่พฤษภาคม อุไร ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งได้เข้าร่วมงานในกองบรรณาธิการ นำบทกวีของจ่าง แซ่ตั้ง มาลงตีพิมพ์ด้วย ทั้งเป็นขณะที่จ่าง แซ่ตั้ง ได้รับเชิญให้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะและบทกวีหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2503

ปี พ.ศ.2515 ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ใช้พื้นที่บนชั้นสอง ณ โรงภาพยนตร์วอร์เนอร์จัดนิทรรศการร่วมสมัย “จ่าง แซ่ตั้ง ลูกศิษย์และลูกลูก” ทำให้ภาพเขียนรูปธรรมของจ่าง แซ่ตั้ง มีผู้รู้จักและได้รับชมผลงานกว้างขวางเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้นไปอีก

เมื่อ ปี พ.ศ.2520 จ่าง แซ่ตั้ง ได้รับการกล่าวถึงจากนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2520 ใช้นามปากกาว่า “กาสะลอง” ในชื่อ “เขาชื่อ จ่าง แซ่ตั้ง”

ว่า “จ่างคือคนที่ไม่เป็นภัยกับสังคม เขาเป็นคนที่ทำงานทางด้านศิลปะและวรรณกรรมอีกคนหนึ่งของบ้านเราที่น่าสนใจ เรื่องราวของเขาถูกตีพิมพ์เป็นภาษาของชาติอื่นเป็นที่รู้จักกันดีในวงการศิลปะและวรรณกรรมต่างชาติ คนในชาติเราจะไม่เป็นที่รู้จักสักหน่อยหรือ

“หนังสือของจ่างได้รับการต้อนรับจากนักอ่านเป็นอย่างมาก อ่านงานเขียนของเขาแล้วก็เท่ากับได้อ่านนิสัยใจคอตลอดจนความคิดของเขานั่นแหละ”

 

อาจมีผู้สงสัยว่า เมื่อจ่าง แซ่ตั้ง ไม่ได้ขายผลงานทั้งภาพเขียนและบทกวี เขามีรายได้จากไหนมาใช้จ่าย แต่หากใครรู้จักกับจ่าง จะทราบได้ดีว่า เขาสมถะทั้งการใช้ชีวิตและการกินอยู่ รายได้ส่วนหนึ่งมาจากภรรยาซึ่งมีแผงจำหน่ายหนังสือพิมพ์ที่บริเวณท่าน้ำถนนตก

ทั้งบางช่วง ข้าพเจ้าทราบว่า เขาและครอบครัวทำผงดอกเก๊กฮวยขายที่ตลาดนัดสนามหลวง หลายครั้งเขาเคยขายไก่ย่าง…

“บางทีอาจารย์ก็จะพาไปตอนที่ท่านขายเก๊กฮวย ไปปิ้งข้าวเกรียบขายที่สี่แยกบ้านแขกก็มี คือเหมือนท่านสอนเราไปด้วยในตัวว่า ไม่ได้อยู่เฉยๆ นะ คนเราต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว ต้องมีความรับผิดชอบด้วย” (ศักดิ์สิริ มีสมสืบ 2562 : สัมภาษณ์)–บางส่วนเสี้ยวของชีวประวัติ” สิทธิธรรม โรหิตะสุข-เล่มเดียวกัน-หน้า 188

สมพงษ์ ‘ทวี นักเขียนหนุ่มในขณะนั้น เป็นอีกผู้หนึ่งที่แวะเวียนไปบ้านจ่าง แซ่ตั้ง ได้เล่าว่า “ตัวเองเคยอ่านงานของจ่างมาบ้าง ก่อนหน้าที่จะพบตัวจริง กระทั่งได้ไปร่วมอ่านบทกวีงานหนึ่งที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งมีการเชิญกวีมาอ่านบทกวี อาทิ สุจิตต์ วงษ์เทศ อังคาร กัลยาณพงศ์ ประเทือง เอมเจริญ และจ่าง แซ่ตั้ง ทุกคนในงานก็อ่านบทกวีตามปกติ แต่จ่างไม่ได้อ่านเหมือนคนอื่น เอากระดาษมาเขียนแทน จึงสนใจในตัวจ่าง ได้เข้าไปพูดคุย จ่างจึงชวนไปพบกัน ครั้งแรกๆ ไปพบกันที่สนามหลวง ตอนนั้นจ่างยังขายเก๊กฮวยอยู่…” (เรื่องเดียวกัน หน้า 190)

ที่ข้าพเจ้าทราบว่าจ่าง แซ่ตั้ง สมถะมาก ครั้งหนึ่งยามค่ำ ข้าพเจ้าและครอบครัวเสร็จจากกินอาหารค่ำที่แผงขายข้าวต้มริมถนนละแวกสำเหร่ ขณะที่เจ้าของร้านมาคิดค่าอาหารทั้งหมด 35 บาท จ่างเดินผ่านมาทางนั้นจะกลับบ้านในซอยวัฒนาถัดจากนั้นพอดี จ่างได้ยินเจ้าของร้านข้าวต้นคิดราคาว่า 35 บาท ยังปรารภพอได้ยินว่า ทำไมกินแพงจัง เงินขนาดนี้เป็นค่าอาหารของผมสอง-สามมื้อ แล้วเราก็คุยถึงเรื่องอื่นต่อก่อนลาจากกัน

ที่จำได้แม่น เพราะราคาอาหารวันนั้นมิได้แพงมากนัก ทั้งยังกินทั้งครอบครัวรวม 4 คน ข้าพเจ้า ภรรยา กับลูกเล็กอีก 2 คน มีกับข้าวเพียง 3 อย่าง

 

อีกหลายปีหลังจากจ่าง แซ่ตั้ง จากไปด้วยวัย 56 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม 2533 ปี พ.ศ.2537 ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากทิพย์ แซ่ตั้ง ลูกชายจ่าง แซ่ตั้ง ให้เป็นผู้เปิดแสดง “งานสีของจ่าง แซ่ตั้ง” ที่แกลลอรีสุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ ทั้งน่าจะเป็นครั้งแรกที่นำภาพเขียนสีของศิลปินภาพขาว-ดำมาแสดง

ก่อนเสียชีวิต หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2532 ล้อมกรอบหน้า 1 ด้วยรูปจ่าง พร้อมคำบรรยายว่า “กวีดัง-จ่าง แซ่ตั้ง เหลือชีวิตแค่ 4 เดือน” ในขณะที่หน้า 19 ซึ่งเป็นข่าวต่อจากหน้า 1 มีพาดหัวว่า “จ่าง แซ่ตั้ง กวีดังอาการเพียบ รอผู้บริจาคไตต่อชีวิตที่ใกล้ดับ”

หนังสือพิมพ์มติชนเลือกใช้ภาพวัยชราของจ่างที่ยังไว้ผมยาวและมีหนวดเคราอันเป็นภาพจำของจ่าง นอกจากนี้ มติชนยังเลือกที่จะเรียกจ่างว่า “กวีจ่าง” สะท้อนให้เห็นว่าในพื้นที่สาธารณะ จ่างน่าจะเป็นที่รู้จักในฐานะกวีมากกว่าจิตรกร แต่ขณะที่จ่างมีชื่อเสียง อาการป่วยของจ่างกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือมากนัก ยังคงต้อง “รอ” ผู้บริจาคไตต่อชีวิตที่ใกล้ดับ ดูเหมือนว่าท่าทีของสื่อในช่วงสุดท้ายของจ่างจะเต็มไปด้วยน้ำเสียงของการเรียกร้องสาธารณะให้กลับมาสนใจจ่างมากขึ้น (เรื่องเดียวกัน หน้า 116)

ความสำคัญและซับซ้อนของจ่างถูกเน้นย้ำในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ซึ่งปรากฏข่าวว่า “รมช.สาธารณสุข เยี่ยมจ่าง แซ่ตั้ง” โดยตอนหนึ่งของเนื้อข่าวระบุว่า

“เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 10 ตุลาคมนี้ นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรี