การเมืองอำนาจนิยม : หอกข้างแคร่/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

การเมืองอำนาจนิยม

: หอกข้างแคร่

“หอกข้างแคร่”

เป็นสำนวน หมายความว่าศัตรูอยู่ข้างตัว ‘หอกข้างแคร่’ หมายถึงหอกที่ปักติดไว้กับแคร่สำหรับ ผู้นั่งแคร่หยิบได้สะดวก การที่หอกปักติดอยู่กับแคร่เพื่อประโยชน์ผู้นั่งแคร่นี้อาจจะเป็นโทษก็ได้ เช่นบริวาร ที่ไม่มีอาวุธเมื่อคิดทรยศก็เป็นโอกาสที่จะฉวยหอกนั้นมาเป็นอาวุธใช้แทงผู้นั่งแคร่ได้ง่ายทันที ดังนี้จึงเกิดสำนวน ‘หอกข้างแคร่’ หมายถึงศัตรูอยู่ข้างตัวหรือผู้ที่ตามปกติวิสัยไม่ถูกกันมาอยู่ด้วยกัน เช่น พ่อเลี้ยง ลูกเลี้ยง วันใดวันหนึ่งศัตรูหรือลูกเลี้ยงก็อาจจะทำร้ายเอาได้”

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์), สำนวนไทย, 2538, น.620

ผู้นำและชนชั้นนำในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมล้วนแต่ต้องการอำนาจและอิทธิพล ไม่ต่างจากผู้นำ และชนชั้นนำในระบอบการเมืองอื่นๆ

พวกเขาจึงดิ้นรนต่อสู้แย่งชิงอำนาจอิทธิพลกันอยู่เสมอ ไม่เพียงชนชั้นนำจะแข่งขันแก่งแย่งกับผู้นำเท่านั้น หากยังแข่งขันแก่งแย่งกันเองในหมู่ชนชั้นนำด้วย (ดังที่เกิดขึ้นในแกนนำบริหารพรรคพลังประชารัฐเมื่อเร็วๆ นี้ ดู https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/149678)

แน่นอนว่าขณะเดียวกันมวลชนก็สำคัญในระบอบอำนาจนิยม อย่างน้อยผู้นำและชนชั้นนำอำนาจนิยม ก็ต้องทำให้มั่นใจว่าได้การสนับสนุนจากมวลชนในภาคส่วนยุทธศาสตร์สำคัญ (ที่เหลือช่างมันปะไร) ขณะเดียวกันก็ประกันว่ามวลชนที่คัดค้านตน ซึ่งจะให้ไม่มีเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จะมีบ้างก็ไม่เป็นไรนั้น จักต้องไม่มากถึงขนาดคับขันอันตราย

แรงจูงใจหลักของผู้นำในระบอบอำนาจนิยมคือดำรงตนอยู่ในตำแหน่งอำนาจ เพื่อบรรลุเป้านี้ ผู้นำจะใช้ยุทธวิธีต่างๆ นานา เช่น ยกเลิกหรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไป (คสช.ในไทยและมินอ่องหล่ายในพม่า), ขยายอายุราชการ/ครองตำแหน่ง (จอมพลถนอม กิตติขจร, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น), ปัดแข้งปัดขา ผู้ท้าทายหลัก (โทนี่ วู้ดซัม, แกนนำพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น)

และเนื่องจากระบอบอำนาจนิยมไม่ได้ยึดกฎกติกาแบบแผนทางการเป็นสรณะเหมือนระบอบประชาธิปไตย ผู้นำอำนาจนิยมจึงเสียวสันหลังอยู่ตลอดเวลาว่าจะถูกชนชั้นนำหรือมวลชนโค่นด้วยวิธีการนอกระบบ/นอกกติกา

โดยเฉพาะภัยคุกคามประชิดตัวที่สุดในลักษณะหอกข้างแคร่ของผู้นำอำนาจนิยม ย่อมได้แก่ชนชั้นนำ กากี่นั้งด้วยกันเองนั่นแหละ หาใช่มวลชนห่างไกลตัวเองไม่

ทั้งนี้เพราะผู้นำต้องพึ่งพาอาศัยชนชั้นนำให้สนับสนุนจึงจะครองตำแหน่งต่อไปได้ยาวนาน และคนที่คุณต้องพึ่งก็คือคนที่คุณหวาดกลัวและระแวงที่สุดนั่นเอง

“Et tu, Brute?” (เจ้าด้วยหรือบรูตุส?) อุทานก่อนสิ้นใจของจูเลียส ซีซาร์ จอมเผด็จการแห่งจักรวรรดิโรมันเมื่อถูกบรูตุสผู้เป็นเพื่อนกับพรรคพวกลอบสังหาร

วาระการครองตำแหน่งของผู้นำจึงเผชิญภัยคุกคามร้ายแรงจากกลุ่มชนชั้นนำด้วยกัน ดังที่ปรากฏว่า จอมเผด็จการส่วนใหญ่ในโลกถูกโค่นด้วยรัฐประหารภายใน หากไม่ใช่ด้วยการลุกฮือของมวลชน ซึ่งเกิดน้อยกว่ามากในประวัติศาสตร์

ชนชั้นนำจึงเหมือน “หอกข้างแคร่” คือเป็นคู่แข่งหลักทางการเมืองของผู้นำเผด็จการและแหล่งที่มาสำคัญของความไม่มั่นคงของผู้นำ ดังที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เผชิญ “หอกข้างแคร่” ในกรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร เผชิญ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา, พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เผชิญ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เผชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เผชิญกลุ่มทหารยังเติร์กและ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นต้น (ดูใน อาสา คำภา, “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่าย ชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495-2535” ดุษฎีนิพนธ์ที่กำลังปรับปรุงตีพิมพ์, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พ.ศ.2562)

ข่าวเฟกนิวส์เรื่องรัฐประหารจึงต้องถูกปฏิเสธจากกองทัพบกอย่างรีบด่วนด้วยประการฉะนี้ (https://www.matichon.co.th/politics/news_2858981)

แผนภูมิ 8.1 ระบอบอัตตาธิปไตยจบเห่ลงอย่างไร จากหนังสือ Barbara Geddes, Joseph Wright, and Erica Frantz, How Dictatorships Work : Power, Personalization, and Collapse, 2018, p.179

มองเปรียบเทียบกว้างออกไปในภาพรวมระดับโลก ปรากฏว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สองจากปี ค.ศ.1946-2010 ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมส่วนใหญ่ที่สุดจบเห่ลงด้วยฝีมือคนใน/กากี่นั้งใกล้ตัวผู้นำแบบ “หอกข้างแคร่” (insider-led อันประกอบไปด้วย Coup หรือรัฐประหาร + Insider rule change หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคนในระบอบด้วยกัน) ถึง 0.35+0.08 = 0.43 หรือ 43% มากที่สุด กว่าการจบเห่ลงแบบอื่นๆ

ส่วนระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่จบเห่ลงโดยฝีมือประชาสามัญชนนอกแวดวงชนชั้นนำ ผ่านการที่มวลชนลุกฮือ (Popular uprising) + การก่อการกำเริบ (Insurgency) รวมกันแล้วเป็นเพียง 0.17+0.08 = 0.25 หรือ 25% น้อยกว่าแบบ “หอกข้างแคร่” ของผู้นำเองเกือบเท่าตัว

ส่วนที่เหลือคือการที่ระบอบอำนาจนิยมจบเห่ลงโดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) = 26% โดยต่างชาติเข้ายึดครองโค่นระบอบเก่าแล้วยัดเยียดระบอบใหม่ให้อย่างที่เวียดนามทำกับเขมรแดง หรือสหรัฐอเมริกาทำกับปานามาและอิรัก (Foreign imposed) = 4%,

และท้ายที่สุดโดยการที่รัฐเผด็จการแห่งระบอบอำนาจนิยมเดิมล่มสลายไปเอง เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี หรือเยอรมนีตะวันออก และสหภาพโซเวียต (State dissolution) = 2%