ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
เมนูข้อมูล
นายดาต้า
เขี่ย ‘หายนะ’ ซ่อนใต้พรม
ถึงวันนี้เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า วิกฤตของประเทศเคลื่อนสู่หนทางที่ไร้ทางออก
ไม่ใช่โควิด-19 ไร้หนทางที่ประชาชนจะรักษาชีวิตของตัวเองไว้ได้ ไม่ใช่ความป่วยไข้ไม่มีทางรักษา แม้จะมีเพื่อนร่วมชาติจำนวนไม่น้อยต้องสูญเสียชีวิต และเกิดความเศร้าสลดแก่หมู่ญาติ หมู่มิตร ต้องหวาดกลัว และสูญเสียเมื่อเจ็บป่วย และมีชีวิตอยู่อย่างระแวงระวัง
แต่ถึงที่สุดแล้วลึกลงไปทุกคนต่างรู้ว่ามีทางออก ถ้าวัคซีนมีให้ฉีดอย่างทั่วถึง ให้คนมั่นใจว่ามีภูมิคุ้มกัน ถ้าสามารถตรวจและแยกคนติดเชื้อออกจากคนปกติ และมียา และสถานพยาบาลเพียงพอกับกับการรองรับคนป่วย
ความรู้สึกต่อวิกฤตจะเป็นไปอย่างมีความหวัง
เช่นเดียวกับชีวิตความเป็นอยู่ ดูแลปากท้อง และเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด หากมีการวางแผนจัดการที่ดี มีคำตอบให้ประชาชนว่าจะอยู่กันอย่างไร มีอะไรให้เป็นที่พึ่งพาได้บ้าง
คนส่วนใหญ่น่าจะพร้อมรับสถานการณ์ไปด้วยกัน
สรุปแล้วหากมีการบริหารจัดการประเทศที่ดี หมายถึงเข้าใจสถานการณ์ รู้จักหาความรู้ และเลือกใช้สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และโปร่งใสกับประชาชน ผู้คนจะร่วมมือในการอดทนและสู้เพื่อผ่านทุกวิกฤตไปด้วยกัน
นั่นหมายถึงต้องเชื่อว่าประชาชนในยุคสมัยเช่นนี้ ไม่ได้โง่งั่งจนไม่รู้อะไรเลย และไม่ได้งี่เง่าจนไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร
“สวนดุสิตโพล” สำรวจล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้เรื่อง “‘คนไทย’ กับ ‘ตัวเลข/สถิติ’ เกี่ยวกับโควิด-19”
จะพบว่าประชาชนติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโควิดอย่างใกล้ชิด และด้วยช่องทางหลากหลาย ร้อยละ 71.84 จากทีวี, ร้อยละ 70.49 จากโซเชียลมีเดีย, ร้อยละ 56.49 จากเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นข่าว, ร้อยละ 45.17 จาการพูดคุย, ร้อยละ 37.74 จากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.)
เวลาที่ใช้ติดตามต่อวัน น้อยกว่า 30 นาที ร้อยละ 40.95, 1-2 ชั่วโมง ร้อยละ 31.98, 2-5 ชั่วโมง ร้อยละ 13.73, 5 ชั่วโมงขึ้นไปร้อยละ 13.34
นั่นหมายถึงประชาชนใส่ใจเรื่องข้อมูล สถิติไม่น้อย
สถิติที่ประชาชนสนใจติดตาม ร้อยละ 92.33 ยอดผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตรายวัน, ร้อยละ 65.69 จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีน, ร้อยละ 60.87 เปรียบเทียบผู้ติดใหม่กับผู้ที่รักษาหาย, ร้อยละ 50.75 สถานการณ์ผู้ป่วยอาการหนัก, ร้อยละ 48.14 จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย
นั่นเป็นการสะท้อนถึงการวางความสนใจไว้อย่างมีเป้าหมายเพื่อประเมินสถานการณ์
แม้ร้อยละ 45.87 จะบอกว่าเป็นตัวเลขสถิติที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ และร้อยละ 6.11 บอกว่าน่าเชื่อถือมาก ซึ่งรวมแล้วผู้ให้ความเชื่อถือมีมากถึงร้อยละ 51.98 แต่ร้อยละ 33.89 บอกว่าเชื่อถือน้อย ขณะที่ร้อยละ 14.13 ไม่เชื่อถือเลย หมายถึงที่อยู่ฝั่งไม่น่าเชื่อมีถึงร้อยละ 48.02
คนเชื่อกับคนไม่เชื่อไม่ต่างกันมากนัก
และเมื่อถามว่าอยากได้สถิติตัวเลขแบบไหน ร้อยละ 92.01 ตอบว่าชัดเจน ไม่ปกปิด บอกแหล่งอ้างอิงที่มาของข้อมูล, ร้อยละ 66.77 มีหน่วยงานที่ารับผิดชอบตรวจสอบก่อนเผยแพร่, ร้อยละ 43.83 ผู้รายงานหลักสื่อสารได้ดี สร้างความเข้าใจ, ร้อยละ 41.06 ข้อมูลและกราฟิกดูเข้าใจง่าย, ร้อยละ 40.35 นำเสนอต่อเนื่องเป็นประจำ
สะท้อนถึงความสามารถในการเลือกรับข้อมูลของประชาชน ว่ามีอยู่ในระดับที่ไม่ใช่ใครจะมาชี้นำด้วยข้อมูลที่ไม่จริงได้ง่ายๆ
ประชาชนส่วนใหญ่มีคตวามฉลาดพอที่จะวิเคราะห์ข้อมูล
ดังนั้น ความเห็นที่ว่า “รัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาโควิด 19” จึงไม่น่าจะใช่เรื่องของกระแสประชาชนที่เกิดจากการปล่อยข้อมูลลวง หรือ “เฟกนิวส์” มาทำลาย
น่าจะเป็นการประเมินที่ผิดพลาดของฝ่ายรัฐเองที่เห็นว่าประชาชนไม่มีสติปัญญาที่จะเลือกเชื่อข้อมูลข่าวสารหลอกลวง เบี่ยงเบนใส่ จนทำให้เกิกกระแสต่อต้านรัฐ จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการควบคุมข้อมูล จนศาลต้องสั่งคุ้มครองประชาชน ซึ่งทำให้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะกลายเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ปัญหาของโควิด-19 คือความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากการบริหารจัดการของรัฐบาล
แต่แทนที่จะทุ่มเทแก้ที่ด้วยการหาคำตอบมาให้
กลับแก้ด้วยความพยายามปิดปากประชาชนไม่ให้พูดเรื่อง และสาเหตุที่ทำให้เดือดร้อน