สุนิสา ลี (Sunisa Lee) สาวม้ง อเมริกัน ผู้พิชิตเหรียญทอง, เงิน, ทองแดง ยิมนาสติกหญิงโอลิมปิกโตเกียว 2021 ให้อเมริกา/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

มงคล วัชรางค์กุล

 

สุนิสา ลี (Sunisa Lee) สาวม้ง อเมริกัน

ผู้พิชิตเหรียญทอง, เงิน, ทองแดง

ยิมนาสติกหญิงโอลิมปิกโตเกียว 2020 ให้อเมริกา

 

ชื่อเต็มของเธอคือ สุนิสา ลี (Sunisa Lee) เป็นชื่อที่แม่ม้งเธอตั้งให้ โดยจำมาจากชื่อดาราไทยที่โด่งดังสมัยที่แม่เธออยู่ในค่ายอพยพในประเทศไทย ส่วนชื่อที่ใช้ในการแข่งขันคือ Suni Lee

ผมจับตา Suni Lee ตั้งแต่การแข่งขันประเภททีม เห็นผลงานของเธอโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะบาร์เดี่ยวต่างระดับ เธอแสดงได้ดีมาก

แต่เดิมดารานำของทีมยิมนาสติกหญิงอเมริกา คือ Simone Biles สาวอเมริกันสีผิว เจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิก รีโอเกมส์ 2016

Simone ปรากฏในโฆษณาหลายรายการ เช่น บัตรวีซ่า บริษัทประกันภัยรถยนต์ ถ่ายแบบขึ้นปก Vogue, นิตยสารกีฬาและนิตยสารสุขภาพ ฯลฯ ทำเงินทำทองมหาศาล

Simone Biles และ Suni Lee ร่วมในทีมแชมป์โลกยิมนาสติกหญิงของอเมริกาปี 2019

แต่ในโอลิมปิกโตเกียว 2020 คราวนี้ ในประเภททีม Simone Biles เล่นผิดพลาดหลายรายการจนต้องตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขัน เพื่อนร่วมทีม 3 คนต้องเข้าไปช่วยกันเล่นในประเภทอุปกรณ์ที่กำหนดให้ Simone Biles เล่นแต่เดิม

ความเป็นซูเปอร์สตาร์สร้างแรงกดดันให้ Simone Biles จนเกิดความผิดพลาดในการแข่งขัน นำมายังเส้นเปราะบางด้านจิตใจที่กั้นสู่การ Break down แต่ยังโชคดีที่เธอยืนหยัดอยู่ได้

ทีมอเมริกาได้เหรียญเงินประเภททีม

ROC (Russia Olympic Committee) ได้เหรียญทอง

หลังแข่งขัน Simone Biles โพสต์ขอบคุณเพื่อนร่วมทีมที่ช่วยกัน “ดึง” เธอกลับคืน

เธอกลับคืนมาได้เหรียญทองแดงประเภทคานทรงตัว

Simone Biles อายุ 22 ปี เป็น Super star ระดับ All time great การถอนตัวจากทีมยิมนาสติกหญิงอเมริกาจึงเป็นข่าว “ช็อก” คนอเมริกัน ดังนั้น The Wall Street Journal จึงทำสกู๊ปเรื่องราวของเธอหลายฉบับต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ภาพของ Suni Lee กลับมาโดดเด่นขึ้นยิ่งนัก จนได้เหรียญทองหญิงเดี่ยวประเภทบุคคลอุปกรณ์รวม

 

ในการแข่งยิมนาสติกหญิงเดี่ยวประเภทบุคคลอุปกรณ์รวม Suni Lee ทำได้ยอดเยี่ยมทุกอุปกรณ์ กล้องของ NBC ถ่ายทอดสดระหว่างที่ Suni Lee กำลังแข่งขัน ตัดกลับมาให้เห็นกองเชียร์หนาแน่นในหอประชุมของหมู่บ้านม้งแห่งเมือง St. Paul รัฐ Minnesota ที่เมืองนี้มีม้งอยู่ 80,000 คน

ตอนนั้นเป็นเวลาตีสามในอเมริกา

พ่อ-แม่ของ Sunil Lee ร่วมกับเพื่อนบ้านเชียร์อยู่ที่นั่น พ่อเธอพิการต้องนั่งรถเข็นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เนื่องจากตกต้นไม้เพราะขึ้นไปตัดกิ่งไม้เพื่อทำซุ้มในงานแต่งงานของลูกสาวเพื่อนบ้าน

Suni Lee อายุ 18 ปี เป็นนักยิมนาสติกหญิงที่อายุน้อยที่สุดในทีมอเมริกัน เธอเกิดที่เมือง St. Paul, Minnesota ต่อมาแม่หย่ากับพ่อ แล้วมาแต่งงานใหม่กับพ่อคนปัจจุบันที่มีลูกติด 2 คน ลูกสาวคนโตอายุใกล้เคียงกับเธอ หน้าตาคล้ายกันจนบางคนนึกว่าเป็นฝาแฝด

เหรียญทองโอลิมปิกยิมนาสติกหญิงเดี่ยว ประเภทบุคคลอุปกรณ์รวมจะต้องแข่งขัน 4 รายการ คือ

1. ม้ากระโดด (Vaulting horse)

2. บาร์ต่างระดับ (Uneven bars)

3. คานทรงตัว (Balance bars)

4. ฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ (Floor exercise)

ทั้ง 4 รายการ Suni Lee ทำได้ยอดเยี่ยม เฆี่ยนคู่แข่งจากบราซิล Rebecka Andrade ไปได้อย่างงดงาม

เป็นเหรียญทองยิมนาสติกหญิงแห่งความภาคภูมิใจของอเมริกา

ส่วนการแข่งขันหญิงเดี่ยวประเภทบาร์ต่างระดับที่ Suni Lee ถนัด ปรากฏว่าเธอมีความผิดพลาดในการแข่งขันเล็กน้อย ทำให้ได้แค่เหรียญทองแดง

ถึงกระนั้น Sunil Lee ก็เกริกไกรด้วย 3 เหรียญยิมนาสติกหญิงจากโอลิมปิกโตเกียว 2000 คือ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ในปีเดียวกัน

 

The Wall Street Journal ฉบับเสาร์/อาทิตย์ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2021 รายงานว่า Suni Lee ตัดสินใจจะเข้าเรียน College ที่ Auburn University ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ชั้นเรียนจะเริ่มต้นวันที่ 11 สิงหาคม มหาวิทยาลัยนี้อยู่ในรัฐ Alabama ตอนนี้เธอรู้ชื่อ Roommate เพื่อนร่วมห้องแล้ว

Suni Lee บอก WSJ ว่า “การฉลองชัยชนะ คือการเข้าเรียนใน College ‘That my way of cerebrating – – going to college'”

ฉลาด หลักแหลม ลึกซึ้งยิ่งนัก

เธอบอกว่า การเข้าเรียนใน College คืออีกหนึ่งความฝันของเธอ

Suni Lee เลือกเรียนที่ Auburn U เพราะหัวหน้า Coach ทีมยิมนาสติกของมหาวิทยาลัยนี้ Jeff Graba เป็นพี่น้องฝาแฝดกับโค้ชของเธอ Jess Graba ที่เมือง Little Canada, Minnesota

ขณะเดียวกัน the National Collegiate Athletic Association – NCAA สมาพันธ์นักยิมนาสติกมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ก็มีโปรแกรมโชว์ตัวใน 35 เมืองในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้

หาก Sunil Lee เข้าร่วมด้วย ก็จะได้รับเงินเฉพาะแค่ค่าอาหารและค่าที่พักที่จ่ายให้เป็นระยะ เพราะเธอยังเป็นนักกีฬาสมัครเล่น ยังไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ จึงยังรับเงินรางวัลไม่ได้

เธอจะต้องหารือกับโค้ชของมหาวิทยาลัยก่อนว่า เวลาจะลงตัวไหม

อีกเรื่องที่ต้องคำนึงคือ การเตรียมตัวแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลกที่ญี่ปุ่นเดือนตุลาคมที่จะมาถึงนี้

อีกทั้ง Olympic Paris 2024 ก็กำลังจะมาถึงอีก 3 ปีข้างหน้า

 

The Wall Street Journal ฉบับ 3 สิงหาคม 2021 ทำสกู๊ปเรื่อง “ชัยชนะที่ปลายเล็บของ Sunisa Lee ไม่ใช่เพื่อตัวเธอเองเท่านั้น” “Sunisa Lee Nailed a Win -And Not Only for Herself”

WSJ เล่าว่า Sunisa Lee คือผู้หญิงที่ได้รับการบันทึกประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้หญิง Asian-American คนแรกที่เป็นแชมเปียนยิมนาสติกอุปกรณ์รวม

รูปภาพของเธอที่ชูเหรียญทองโอลิมปิกกลายเป็นไวรัล (viral) ในโซเชียลมีเดียเพียงชั่วข้ามคืน เพราะผู้คนต่างพากันคอมเมนต์ที่ปลายเล็บของเธอที่ทา acrylic สีขาวมีรูปห่วงโอลิมปิกหลากสี สวยงามนัก

รูปที่ปลายเล็บของ Sunisa Lee แต่งและดีไซน์โดยศิลปินแต่งเล็บชาวม้งประจำร้านม้งซาลูนใน Minneapolis

เจ้าของร้านชาวม้งแต่งเล็บให้ Sunisa Lee ในฐานะแฟนยิมนาสติกเมื่อเดือนมิถุนายนก่อนโอลิมปิก และตอนนี้กำลัง “ช็อก” กับกระแสตอบรับในโลกออนไลน์

เป็น “ซูเปอร์สตาร์” อะไรก็ดูดีไปหมด แม้แต่ปลายเล็บ

Amy Yang เจ้าของร้านแต่งเล็บ Luxuries ชาวม้งบอกกับ WSJ ว่า

“สิ่งเดียวที่พ่อ-แม่เราชาวม้งรู้ ก็คือผลักดันให้ลูกไปโรงเรียน เรียนหนังสือ เข้า College พวกพ่อ-แม่ไม่รู้หรอกว่า พวกเราชาวเอเชียนทำอะไรได้มากกว่านั้นโดยไม่ต้องให้ใครมากำหนด”

 

หยาง เธา (Yang Thao) แม่ของสุนิสา ลี ให้สัมภาษณ์ VOA ภาคภาษาลาวว่า ในฐานะผู้ปกครอง เธอได้สอนให้สุนิสามีวินัย เป็นเด็กดี โดยสุนิสาชอบทำกิจกรรมหลายอย่าง เธอยังบอกว่า สุนิสามีพรสวรรค์ตั้งแต่เด็กในกีฬายิมนาสติกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อได้แรงกระตุ้นด้านวินัย จึงทำให้เก่งขึ้นในกีฬานี้ และมีความพร้อมด้านอื่นๆ เมื่อโตขึ้นมา

สุนิสาได้ถ้วยรางวัล (Trophy) แรกด้านยิมนาสติกตั้งแต่อายุ 7 ขวบ

แม่ของ Suni Lee เล่าว่า ตอนเด็กๆ Suni ชอบเล่นตีลังกากลับหลัง พ่อและแม่จึงสนับสนุนให้ Suni เล่นยิมนาสติก

เป็นคำบอกเล่าแบบซื่อๆ ธรรมดา

แต่ถ้าคุณเข้าใจวิถีชีวิตอเมริกัน จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างเด็กหญิงคนหนึ่งให้ขึ้นมาเป็นนักยิมนาสติกได้สำเร็จ

โดยเฉพาะเมื่อเด็กคนนั้นเป็นลูกชาวม้งจากเทือกเขาสูงแดนลาว

เพราะการจะสร้างให้เด็กได้เรียนยิมนาสติกจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อจ้างครูฝึก พ่อ-แม่บางคนต้องทำงานวันละ 2-3 จ๊อบเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าครูฝึกให้ลูก

แถมเด็กจะต้องจากอกพ่อ-แม่แต่เล็กไปอยู่กับครูฝึกที่ต่างเมือง เพื่อฝึกฝนเคี่ยวกรำแต่เยาว์วัย

ถึงตรงนี้ ต้องยอมรับว่า พ่อ-แม่ของ Suni Lee ต้องเสียสละและอดทนขนาดไหน จึงจะสร้างลูกให้เป็นนักยิมนาสติกชื่อก้องโลกได้

ถือเป็นสุดยอดพ่อ-แม่ชาวม้งอเมริกัน

นี่คือ American Dream ที่ประเทศนี้ให้การศึกษา และสร้างโอกาสให้ทุกคน เดินไปสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ

โดยเฉพาะเมื่อเป็นความฝันของม้งอพยพ

NBC ฉายภาพวันที่ Suni Lee กลับถึงบ้าน เธอนำเหรียญทองโอลิมปิกคล้องคอให้พ่อที่นั่งน้ำตาคลอ แล้วนำเหรียญเงินโอลิมปิกคล้องให้แม่ที่ปาดน้ำตา

เป็นภาพประทับใจคนทั้งประเทศ

วันนี้ Suni Lee ไม่ใช่แค่นักยิมนาสติกดาวเด่นของอเมริกา แต่เป็นนักยิมนาสติกดาวเด่นของโลก

คนอเมริกันให้สมญานาม Sunisa Lee ว่าเธอคือ

NEW QUEEN