หลังเลนส์ในดงลึก : ‘รอยเท้า’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างป่า - หน้าที่หลักของช้างป่า คือการบุกเบิกเส้นทาง และพวกมันทำงานนี้ได้ดีในการเดินทางไปยังแหล่งอาหาร ช้างจะเป็นหัวขบวน สัตว์อื่นๆ จะตามมา

 

‘รอยเท้า’

 

ทํางานในป่า มีหลายครั้งที่ผมเดินไปยังจุดหมายที่ไม่เคยไป รู้ตำแหน่ง มีพิกัด รู้สภาพเส้นทาง มีเครื่องมือ อุปกรณ์สื่อสาร

เมื่อยกเป้ขึ้นหลัง เริ่มต้นเดินไปจุดหมายที่ไม่เคยไป ยังต้องรู้ว่า เส้นทางยาวไกล สูงชัน น้ำหนักเป้ ความเมื่อยล้า ทาก เห็บ หนามแหลม รวมทั้งความรกทึบ คือสิ่งที่กำลังจะเผชิญ

เหล่านี้มันทำให้รู้ว่า บนหนทางนี้ การไปให้ถึงจุดหมาย ไม่มีใครช่วยได้ นอกจากตัวเราเอง

อีกสิ่งสำคัญที่รู้คือ ยังไม่เคยไป ไม่ได้หมายความว่า ไม่เคยมีใครเดินไปล่วงหน้า…

 

เดินล่องไปตามลำห้วยนี่ 2 กิโล แล้วตัดขึ้นสันเขา ผ่านป่าเต็งรัง ลงป่าดิบ แถวนี้น่าจะพอค้างแรมได้ รุ่งขึ้น เดินขึ้นสันและลงหุบ ในป่าดิบนี่แหละจุดหมายเรา เป็นข้อมูลที่เราตรวจสอบกับแผนที่

ก่อนถึงห้วย ต้องเดินราวๆ 15 กิโลเมตร สภาพเส้นทางไม่ขึ้น-ลงชันนัก

15 กิโลเมตร ในแผนที่กับความเป็นจริงนั้นห่างกันไม่น้อย เพราะเส้นทางที่เราเลือกใช้ คือด่านสัตว์ป่า ที่จะวกวน ไม่ได้ตัดเป็นเส้นตรง

 

ด่านพาเราลงจากสันเขา มีรอยกระทิงย่ำนำหน้า ผ่านป่าดิบครึ่งชั่วโมง ด่านพาถึงลำห้วย

ระดับน้ำปลายฤดูฝนค่อนข้างสูง ไหลแรง หินใต้น้ำค่อนข้างลื่น ผมพยายามวางเท้าอย่างระวัง รองเท้าอุ้มน้ำ แต่การถอดรองเท้าเดินข้ามลำน้ำ เป็นสิ่งที่ผมหลีกเลี่ยง บาดแผลอาจเกิดง่ายๆ จากหนามใต้น้ำหรือแนวหินคมๆ มีอยู่ทั่วไป มีแผลบาดเจ็บที่เท้า แม้เพียงเล็กน้อยขณะต้องเดินหนักๆ ไม่ใช่เรื่องสนุก

สัตว์ผู้ล่าหมายเลขหนึ่งอย่างเสือโคร่ง สอนเราเช่นนี้ พวกมันหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บของร่างกาย บาดแผลเล็กๆ ขยายใหญ่โต กระทั่งเป็นปัญหาได้ง่าย เมื่อชีวิตต้องอยู่อย่างพึ่งพาอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ความบาดเจ็บย่อมเป็นอุปสรรคของการดำรงอยู่

โดยเฉพาะนักล่า หากการล่าไม่ประสบผล

ชีวิตก็ไปต่อไปได้

 

ครั้งนั้น จุดหมายที่ผมร่วมไปกับผู้ช่วยนักวิจัย คือตำแหน่งที่เสือโคร่งตัวผู้โตเต็มวัยตัวหนึ่ง บริเวณนั้นเป็นอาณาเขตของมัน สัญญาณจากเครื่องส่งวิทยุในระบบผ่านดาวเทียมที่อยู่กับปลอกคอมัน อยู่กับที่มากว่าหนึ่งสัปดาห์

นักวิจัยคาดว่า มันคงล่าเหยื่อได้ ควรเข้าไปตรวจสอบ

ตำแหน่งอยู่กับที่หลายวัน เหยื่ออาจเป็นกระทิงที่มันใช้เวลากินนานเป็นปกติ กระทิงหรือวัวแดงโตเต็มวัย เสือจะใช้เวลากินประมาณหนึ่งสัปดาห์ ในช่วงเวลานั้น มันจะวนเวียนอยู่แถวๆ นั้น ห่างไม่เกินหนึ่งกิโลเมตรจากซาก และจะเข้ามากินซากตอนเช้ามืดและพลบค่ำ

เมื่อต้องเข้าไปดู เราไม่รู้หรอกว่าจะใช้เวลากี่วัน เสบียงนั้น เราเตรียมไว้ใช้ได้สัก 10 วัน

เส้นทางในแผนที่คล้ายจะไม่ไกล แต่เมื่ออยู่บนเส้นทางที่ล้อมรอบด้วยป่ากว้าง ความใหญ่โตของป่า ข่มให้ตัวเล็กลงจนเส้นทางเหมือนจะยาวไกลเกินกว่าจะไปได้ถึง…

 

ฤดูฝน หลายครั้งเราพบกับสายฝนโปรยตลอดวัน รองเท้าเปียกแฉะ ข้ามลำห้วยไป-มาหลายครั้ง

บางครั้งเส้นทางอ้อม เปลี่ยนทิศ ต้องตรวจสอบทิศทางกับจีพีเอส ด่านอ้อมไป-มา ช้างผู้บุกเบิกทำเส้นทาง หลีกเลี่ยงการตัดขึ้นสันเขาชันๆ นอกจากสภาพพื้นที่บีบบังคับให้เลี่ยงไม่ได้ บนทางชันๆ ร่องรอยการลื่นของกระทิงและช้างปรากฏให้เห็น

ความพลาดพลั้งของสี่ตีน ทำให้คนเดินตามที่มีสองตีน ใจชื้น

 

วันที่สอง เราถึงลำห้วยที่จะพักแรมตอนดวงอาทิตย์ลับสันเขาไปแล้ว

สายฝนโปรยหนักตั้งแต่ก่อนเที่ยง และเบาลงในตอนเย็น เรากางผ้ายางกันฝนที่เปล และตรงจุดที่จะก่อกองไฟ

ไฟติดไล่ความชื้นไปบ้าง ผมนั่งข้างกองไฟ ถอดรองเท้าอันเปียกชื้น หยิบรองเท้าแตะในเป้ขึ้นมาใส่

ดูจากแผนที่ พิกัดที่เสืออยู่มีระยะทางไม่ไกล

แต่ช่างมันเถอะ จุดหมายจะอยู่ไกลหรือใกล้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก

ตอนนี้ ได้อยู่ข้างกองไฟ รับไออุ่น ย่างเสื้อ กางเกง และรองเท้าให้แห้ง เท้าสีซีดเพราะเปียกชื้นทั้งวัน โล่งสบายอยู่กับรองเท้าแตะ

นี่เป็นปัจจุบันที่สบายที่สุดแล้ว

 

เดินตามด่านสัตว์ป่า ไปยังจุดหมายที่ไม่เคยไป ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางนี้ไม่เคยมีคนเดินมาล่วงหน้า

ทุกเส้นทางมีคนเดินมาล่วงหน้า การได้รับรู้ ไม่เพียงจะเคารพนับถือผู้พบเจอกับความยุ่งยากของเส้นทางมาก่อน

แต่จะรู้ด้วยว่า เรากำลังทำเช่นเดียวกับพวกเขา เราไม่ได้ทำอะไรใหม่

บนด่านสัตว์ป่า จะมีร่องรอย โดยเฉพาะรอยตีนสัตว์ป่าย่ำทับไว้อย่างสับสน ด่านสัตว์ป่า คือเส้นทางเชื่อมแหล่งอาหาร พวกมันใช้เป็นประจำ

รอยเท้าคนจะถูกรอยตีนสัตว์ย่ำทับจนมองไม่เห็น

รอยเท้าของคนที่เดินไปล่วงหน้า เรามักจะมองไม่เห็น

คล้ายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะ “รอยเท้า” ที่เดินไปล่วงหน้า จะมองไม่เห็น มองไม่เห็นหรอก หากใช้เพียงสายตามอง