พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก [เสฐียรพงษ์ วรรณปก] : วิธีสอนแบบต่างๆ

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (15) บทที่ 6 : วิธีสอนแบบต่างๆ

การสอนคนแม้ในเรื่องเดียว ก็ต้องมีรูปแบบแห่งการสอนหลายแบบ จึงจะประสบความสำเร็จตามต้องการ เพราะคนฟังมีหลายประเภทหลากความสนใจ และพื้นภูมิความหลัง

พระพุทธเจ้าเองเมื่อทรงสอนเวไนยสัตว์ ทรงนำเอาแบบการสอนต่างๆ มาสอนตามความเหมาะสม

แบบการสอนเหล่านี้คือ

1.การสอนแบบสนทนา (สากัจฉา หรือธรรมสากัจฉา) เป็นวิธีที่ทรงใช้บ่อยที่สุด อ่านพระไตรปิฎกแล้วจะเห็นว่าพระองค์ชอบใช้วิธีนี้ อาจเป็นด้วยว่าผู้ฟังได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ทำให้การเรียนการสอนสนุก ไม่รู้สึกว่าตนกำลัง “เรียน” หรือกำลัง “ถูกสอน” แต่จะรู้สึกว่าตนกำลังสนทนาปราศรัยกับพระพุทธองค์อย่างสนุกสนาน

ในการสนทนานั้น พระพุทธองค์จะทรงทำหน้าที่นำสนทนา คือ ทำหน้าที่ซักถามโยนปัญหาให้ขบคิด แล้วตะล่อมเข้าจุดสรุปเข้าหาประเด็นที่ต้องการ

บางทีเพียงตรัสเป็นนัยๆ คู่สนทนาก็อาจสรุปได้เอง

ขอยกตัวอย่างสักเรื่อง (เขียนไม่ยกตัวอย่าง มันรู้สึกว่าไม่เข้าใจยังไงไม่รู้สินะ)

ภิกษุหนุ่มลูกชายเศรษฐีชื่อโสณะ บำเพ็ญเพียรขะมักเขม้นในป่าสีตะวัน เดินจงกรมจนเท้าแตกทั้งสองข้างก็ไม่บรรลุมรรคผลที่ต้องการ

วันหนึ่งเธอนั่งครุ่นคิดอยู่ผู้เดียวว่า ในบรรดาผู้ที่ตั้งหน้าทำความเพียร เราก็นับเป็นผู้หนึ่งทำไมพากเพียรจนขนาดนี้แล้วจึงไม่บรรลุมรรคผลอะไร

เราเองก็เป็นบุตรของตระกูลมั่งคั่ง โภคทรัพย์ก็มากมาย อย่ากระนั้นเลย เราลาสิกขาไปทำบุญทำทานรักษาศีลตามวิสัยของอุบาสกผู้ครองเรือนจะดีกว่า

พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของภิกษุหนุ่ม จึงเสด็จมาเทศนาสั่งสอนเธอ พระองค์ทรงเลือกแบบสนทนาดังต่อไปนี้

พระพุทธเจ้า : โสณะ เธอเกิดความคิดเช่นนั้น (ดังข้างต้น) จริงหรือ

โสณะ : ถูกแล้ว พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : เธอคิดอย่างไร เวลาสายพิณเธอตึงเกินไป เสียงพิณของเธอไพเราะกระนั้นหรือ

โสณะ : หามิได้ พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : เวลาสายพิณเธอหย่อนเกินไป เสียงพิณของเธอไพเราะกระนั้นหรือ

โสณะ : หามิได้ พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : แต่คราวใดสายพิณเธอไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ระดับพอดี เสียงพิณของเธอไพเราะเหมาะจะใช้การใช่หรือไม่

โสณะ : ถูกแล้ว พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : ฉันนั้นเหมือนกัน โสณะ ความเพียรที่ระดมมากเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นเพื่อความเกียจคร้าน เพราะฉะนั้น เธอพึงกำหนดความเพียรให้พอดีๆ พอเหมาะ พึงเข้าใจความพอดีแห่งอินทรีย์ (สภาพที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน เช่น ปัญญาเป็นใหญ่ในการใช้เหตุผล วิริยะเป็นใหญ่ในการระดมพลัง)

วิธีการสนทนานี้ พระพุทธองค์ทรงส่งเสริมให้พระสาวกใช้กัน

ดังทรงยกย่องว่า “การสนทนาธรรมตามอุดมกาลเป็นอุดมมงคล”

และปรากฏว่ามี “อุปัฏฐานศาลา” (หอฉัน ที่ใช้เป็นโรงธรรม ทำนองศาลาอเนกประสงค์ อะไรทำนองนั้น) สำหรับให้พระภิกษุสงฆ์มานั่งสนทนาธรรมกันทุกฝ่าย

เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ในบางเรื่องบางประเด็น พระพุทธองค์ก็เสด็จมา ทรงอธิบายให้พวกเธอหายข้องใจ

2.แบบบรรยาย การสอนแบบนี้ก็ทรงใช้เสมอ ส่วนมากจะเป็นโอกาสที่มีผู้ฟังมารวมกันมากๆ ดังที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนาในพระเชตวันมหาวิหารในช่วงบ่ายของทุกวัน

และที่น่าสังเกตคือ ผู้ฟังมักจะมีพื้นความรู้ หรือมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นในขั้นพื้นฐานมาบ้างแล้ว มาฟังการบรรยายเพิ่มเติมเพื่อเกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น

ดังเมื่อทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ครั้งแรกก็ทรงใช้วิธีบรรยาย แบบทรงบรรยายถึงความล้มเหลวของแนวทางปฏิบัติ 2 แนวทางคือ การทรมานกาย กับการหมกมุ่นอยู่ในกามคุณเสร็จแล้วก็ทรงชี้ทางสายกลาง แล้วทรงแสดงอริยสัจ 4 ประการ โดยละเอียดพิสดาร

ถ้าถามว่า ทำไมแสดงธรรมครั้งแรก พระองค์ก็ทรงใช้แบบบรรยาย

คำตอบก็คือ ผู้ฟังคือปัญจวัคคีย์ มิใช่ “คนใหม่” หากเป็นศิษย์เก่าที่เคยรับรู้ว่า พระพุทธองค์แสวงหาทางตรัสรู้พระพุทธองค์ก็ทรงทดลองปฏิบัติด้วยพระองค์เอง โดยมีปัญจวัคคีย์คอยเฝ้าดูแล ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็จะทรงเผื่อแผ่ความรู้นั้นให้พวกตนด้วย

ครั้งพระองค์ทรงค้นพบแนวทางใหม่ที่ไม่ต้องอดอาหารหากแต่ต้องการกินอาหารให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อเกื้อกูลให้สุขภาพสมบูรณ์ จะได้นำไปสู่การตรัสรู้ง่ายเข้า ปัญจวัคคีย์ก็ผิดหวังจึงหนีไปอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

หลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้วจึงเสด็จไปชี้แจงให้พวกเธอหายเข้าใจผิดว่าการทรมานตนมิใช่แนวทาง บรรลุทางสายกลางต่างหากนำไปสู่การรู้แจ้ง

เมื่อมีโอกาสทำความเข้าใจกับอดีตศิษย์ทั้ง 5 ของพระองค์ พระองค์จึงทรงเลือกวิธีการบรรยาย เพราะจะต้องใช้เหตุใช้ผลชี้แจง ยืดยาวให้พวกเธอเห็นดีเห็นชอบด้วย เพราะเหตุนี้ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (พระธรรมเทศนากัณฑ์แรกว่าด้วยอริยสัจ 4) จึงเป็นแบบบรรยายล้วน

3.แบบตอบปัญหา ผู้ถามปัญหาอาจถามด้วยจุดประสงค์หลายอย่าง บางคนถามเพื่อต้องการคำตอบในเรื่องที่สงสัยมานาน

บางคนถามเพื่อลองภูมิว่าคนตอบรู้หรือไม่

บางคนถามเพื่อข่มหรือปราบให้ผู้ตอบอับอาย บางคนถามเพื่อเทียบเคียงกับความเชื่อหรือคำสอนในลัทธิศาสนาของตน

พระพุทธองค์ตรัสรู้ว่าการตอบปัญหาใดๆ ต้องดูลักษณะของปัญหาและเลือกวิธีตอบให้ถูกต้องเหมาะสมด้วย

พระองค์จึงทรงจำแนกประเภทของปัญหาไว้ 4 ประการคือ

1) ปัญหาบางอย่างต้องตอบตรงไปตรงมา ตอบตายตัว ไม่มีเงื่อนไข (เอกังสพยากรณียปัญหา) บางเรื่องมีคำตอบตายตัวแน่นอนแล้ว ใครๆ ก็รู้ต้องตอบตามนั้น ดุจดังถามว่า หนึ่งบวกหนึ่งเป็นเท่าไร คำตอบคือเป็นสอง

คำตอบนี้ตายตัว ใครๆ ก็รู้ ใครๆ ก็ยอมรับ จะไปตอบว่าเป็นสาม เป็นสี่ไม่ได้ (แม้ว่าอาจตอบได้ และอาจอธิบายโดยนัยอื่นว่าเป็นเช่นนั้นได้ก็ตาม)

ตัวอย่างที่ชัดเจนในทางพระพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ คืออะไร มีเท่าไร คำตอบคือ อริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ 4 อย่าง คำตอบอย่างนี้เรียกว่าเอกังสยากรณ์

ในการสอน ครูพึงรู้ว่าปัญหาชนิดใดที่พึงตอบตรงไปตรงมา ตายตัวแล้วพึงใช้ให้เหมาะสม การเรียนการสอนจึงจะเป็นไปด้วยดี

2) ปัญหาบางอย่างต้องย้อนถามก่อนจึงตอบ (ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา) ไม่พึงด่วนตอบทันทีในแง่ใดแง่หนึ่ง เพราะอาจผิดพลาดได้

ในคัมภีร์ท่านยกตัวอย่างว่า ถ้าเขาถามว่าตากับหูเหมือนกันหรือไม่ ผู้ตอบอย่าพึงด่วนตอบ พึงย้อนถามว่าที่ถามนั้นหมายถึงแง่ใด

ถ้าเขาตอบว่าในแง่การทำหน้าที่

พึงตอบว่าไม่เหมือนกัน ตามีหน้าที่ดู ส่วนหูมีหน้าที่ฟัง

แต่ถ้าเขาถามว่าในแง่ความอนิจจังล่ะเหมือนกันไหม พึงตอบว่าเหมือน (เพราะทั้งตาและหูต่างก็ไม่เที่ยงแท้ถาวรเหมือนกัน)

ในชีวิตประจำวัน มีคำถามให้เราตอบมากมาย ถ้าจะลองพิจารณาลักษณะของปัญหาแล้วค่อยตอบจะเป็นการดียิ่ง และจะเป็นการตอบที่ตรงประเด็นอย่างยิ่ง

3) ปัญหาบางอย่างต้องแยกคำตอบ (วิภัชชพยากรณียปัญหา) คำถามที่คลุมๆ อย่าพึงด่วนตอบ ตอบไปก็มีแต่จะผิดพลาด ต้องแยกตอบเป็นเรื่อง เป็นประเด็นๆ ไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าถามว่า คุณประยุทธ์กับคุณทักษิณใครดีกว่ากัน

ถ้าด่วนตอบว่าคุณประยุทธ์ดีกว่า หรือคุณทักษิณดีกว่า ย่อมมีโอกาสผิด เพราะแต่ละคนอาจมีส่วนดีกว่ากันในบางเรื่องบางประเด็น

วิธีตอบที่น่าจะใกล้เคียงความจริงที่สุดก็ต้องแยกประเด็นตอบ เช่น (เช่นอะไรบ้าง ลองแยกเอาเอง ผมเพียงชี้แนะพอเป็นแนวทางเท่านั้น)

ในคัมภีร์ท่านยกตัวอย่างว่า พระพุทธเจ้าทรงติเตียนตบะ (ความเข้มงวด) ทุกอย่างใช่หรือไม่

อย่ารีบตอบว่าใช่ เพราะมีส่วนผิด

ต้องแยกประเด็นตอบคือ แยกตามตบะที่เข้มงวดมาก เช่น การทรมานตนเอง พระพุทธองค์ทรงติเตียน ตบะคือความอดกลั้น (ตีติกขาขันติ) พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็นยอดตบะ

พระพุทธองค์ประทานจีวรของพระองค์เองแก่พระมหากัสสปะเถระ ภาพจาก http://www.sookjai.com

สรุปในที่นี้ก็คือ ตบะในความหมายว่าทรมานตนเอง เช่น ทุกรกิริยา พระพุทธเจ้าตรัสติเตียน แต่ตบะในความหมายว่า ความอดกลั้น เช่น ขันติ หรือความเข้มงวด เช่น ธุดงค์ พระพุทธองค์ไม่ตำหนิกลับสรรเสริญเสียอีก ดังนี้เป็นต้น

4) ปัญหาบางอย่างต้องตัดบทไปเลย ไม่ตอบ (ฐปณียปัญหา หรืออัพยากตปัญหา) มีบางเรื่องบางประเด็นตอบไปก็เท่านั้น สู้ตัดบทเสียดีกว่า เช่น ปัญหาที่ชวนให้ทะเลาะกับคนอื่น หรือปัญหาที่ตอบไปแล้วก็ไม่ทำให้ดีขึ้น

พระพุทธเจ้านั้น เวลามีใครมาถามว่า ศาสดานั้นสอนอย่างนั้น ศาสดาโน้นสอนอย่างโน้น อยากทราบว่าคำสอนของใครถูกต้อง คำสอนของใครผิด ถ้าถามอย่างนี้พระองค์มักจะทรงตัดบทว่า เรื่องนั้นพักไว้ก่อน เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง นี้คือพระจริยาวัตรของพระพุทธองค์ที่ครูพึงเอาแบบอย่าง

คนเราในปัจจุบันนี้ มักตอบปัญหาที่ไม่ควรตอบ และเวลาตอบก็แสดงสีหน้าสะใจว่า ตนรู้มาก รู้ลึก คนอื่นโง่หมด ตนบริสุทธิ์ผุดผ่อง คนอื่นสารเลวสิ้นดี เป็นอย่างนั้นเสียด้วย