สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร/สุดที่ชาวบ้าน

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

———————

สุดที่ชาวบ้าน

——————–

แม้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะระดมผู้บริหารออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องบุคลากรสาธารณสุข

คือ การให้สนับสนุน “ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019″นั่นแหละ

แต่ดูท่าทีของ นายวิษณุ เครืองาม ที่อ้างคำชี้แจง ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ต่อคณะรัฐมนตรี ยืนยันว่า

1)เป็นเพียงการหารือของคณะแพทย์

2)ไม่ถึงขั้นการยกร่างของกระทรวงสาธารณสุข

3)ยังไม่มีการเสนอมายัง ครม.

นายวิษณุ ยังย้ำว่า

“ให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปคิดให้ดี อาจไม่เข้าข่ายที่จะสามารถออกเป็น พ.ร.ก.ได้”

แค่นี้ ก็น่าจะรู้ชะตากรรม พ.ร.ก.นี้ คือ “ไม่สุดไซริงค์”

ซึ่งก็ดีแล้ว เพราะทั้งเหตุผล และทั้งความรู้สึก “ร่างพ.ร.ก.”นี้มีปัญหาแน่

ในเชิงเหตุผล ก็เช่น การออกพ.ร.ก.นี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172

นอกจากนี้ มีกฏหมายให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว เช่นพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นต้น

ส่วนในทางความรู้สึกนั้น

ไม่ใช่ข้าราชการประจำเท่านั้นที่ชาวบ้านรู้สึกว่าเอาตัวรอด

ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะนายกฯที่ถูกยื่นฟ้องการบริหารวิกฤตโควิด-19ล้มเหลวไปแล้วน่าจะถูกมองว่าเอาหมอ พยาบาล ข้าราชการบังหน้าเอาตัวรอดด้วย

ยิ่งกว่านั้นหากคิดถึงหัวอกชาวบ้าน ซึ่งอยู่ใน “โซนแดงเข้ม”ทุกเรื่อง การเห็นฝ่ายมีอำนาจ หาข้อยกเว้น หาข้อกฎหมาย พากันเข้า”เซฟโซน”ได้ตลอด

ไม่คิดว่าชาวบ้านจะไม่เจ็บช้ำน้ำใจหรือ

อย่างลืมว่ามีหลายๆครอบครัวล่มสลายจากความล้มเหลวในการบริหารโรคระบาดอย่างไม่จำเป็น จำนวนมาก

คนเหล่านี้มีสิทธิที่จะเรียกร้อง ความเป็นธรรม หรือการเยียวยาบ้างได้หรือไม่

พูดถึง เรื่องการเยียวยา แล้ว ข้อเสนอของนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.)ก็น่าสนใจ

นั่นคือ แทนที่ฝ่ายรัฐจะคิด “เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว”

แต่เปลี่ยนไปเอาชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง

โดยรัฐควรจะตั้งกองทุนเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อใช้ในการเยียวยาผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19

ให้ญาติของผู้เสียชีวิตก็ได้รับการชดเชยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการสูญเสียได้ระดับหนึ่ง

เมื่อชาวบ้านรู้สึกได้รับการเยียวยา ความคิดจะฟ้องร้องใครก็จะลดน้อยลงหรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้

แพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เองก็คงมีความสบายใจในการที่จะดูแลรักษาผู้ป่วย ไม่ต้องกังวลจะถูกเช็กบิล

ทำกันอย่างนี้ เราก็น่าจะประคับประคองกันไปได้

ไม่มีใครหาว่าใครใจดำเอาตัวรอดเพียงฝ่ายเดียว

และหากอยากได้ใจชาวบ้านไปกว่านี้

ลองพิจารณา ข้อเสนอ น.พ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ที่เตือน100 วันข้างหน้าจะเป็น 100 วันอันตราย เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ งดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ให้ประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว

อัน จะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีน 30-45 ล้านโดสในช่วง 3 เดือนข้างหน้า

ทำให้เรามีโอกาสที่จะลดความสูญเสียลงได้มาก

ที่เสนอเรื่องนี้ ทั้งที่เห็นนักกฎหมายชั้นนำของประเทศ พากันคัดค้านกลัวว่าจะเสียมากกว่าได้ ก็เพราะอยากให้แอ็คชั่นกันมั่ง

กฏหมายก็มีแล้ว

ไม่ใช่ออกใหม่เพื่อมาเล่นงานใคร

การถกแถลงเรื่องนี้ ว่าไปแล้วด้านหนึ่ง มันก็คือการกดดันไปยังผู้ผลิตวัคซีน”ในประเทศ”ให้”รู้สึกรู้สม”บ้าง

มิใช่อยู่สบายๆ จะผลิตพอหรือไม่พอ รัฐบาลไม่กล้าแตะ

ทั้งที่หากเอา”ชาวบ้านเป็นที่สุด”จะอยู่เฉย หรือ คิดแต่ด้านเอาตัวรอดอย่างเดียว ไม่ได้!

———————