เรียนรู้วันเสียงปืนแตก/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

เรียนรู้วันเสียงปืนแตก

 

มีนักวิชาการฝ่ายขวา ออกมาวิเคราะห์เชื่อมโยงการนัดชุมนุมของเด็กรุ่นใหม่ที่ระยะนี้กลับมาเคลื่อนไหวอย่างถี่ยิบอีกรอบ โดยโยงไกลไปถึงปารีส ฝรั่งเศส ลากไปถึงวันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม จนโดนโต้ตอบว่ากำลังกระทำตัวไม่ต่างจากดาวสยาม ยานเกราะ ในยุค 6 ตุลาคม 2519

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยงวันเสียงปืนแตกในอดีต เสมือนจะกล่าวหาการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ว่ามุ่งความรุนแรง ต้องการก่อการร้าย ซึ่งเป็นการป้ายสีอย่างไม่ถูกต้อง

อันที่จริงแล้ว การพูดย้อนไปถึงวันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม ควรเป็นการนำมาเพื่อทบทวนว่า ทำไมจึงเกิดการต่อสู้ด้วยอาวุธกับเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นมาในประเทศนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน และทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นเป็นสงครามระหว่างฝ่ายประชาชนกับฝ่ายรัฐขึ้นมาอีก

บ้านเมืองเราไม่ควรเดินซ้ำรอยนั้นอีก เพราะสงครามสู้รบคือการสูญเสียกับทุกฝ่าย

แต่ดูเหมือนฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่เคยเรียนรู้อดีต ไม่เคยทบทวนว่าจะทำความขัดแย้งให้ยิ่งขยายตัวจนลุกลามไปไกลเกินกว่าจะหยุดยั้งได้

นับวันความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่กับกลุ่มอำนาจ มีแต่จะเพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น โดยไม่เคยมีการแสดงท่าทีจะหาทางออก โดยใช้แนวทางการเมืองมาแก้ไขปัญหาการเมือง

แต่ใช้กฎหมายจับกุมคุมขัง ใช้เจ้าหน้าที่ออกมาปะทะกับผู้ชุมนุม จนกลายเป็นการจลาจลย่อมๆ บนท้องถนนกรุงเทพฯ เกือบแทบทุกวัน

ความโกรธแค้นเกลียดชังนับวันจะทับทวีขึ้นไป จนยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร และจะลุกลามไปไกลถึงขั้นไหน!

เมื่อมีการย้อนกล่าวถึงเหตุการณ์ 7 สิงหาคม ในอดีต ก็ควรจะนำมาศึกษาเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ปี 2508 เป็นวันที่ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประกาศเริ่มใช้อาวุธปืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีเสียงปืนดังนัดแรกที่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม

ในอดีตประเทศเราเคยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จัดตั้งเมื่อปี 2485 โดยกลุ่มนักศึกษาปัญญาชน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ภายใต้แนวคิดอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ จนถูกกวาดล้างจับกุมคุมขัง ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ในการจัดการกับคนคิดต่าง

จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศใช้แนวทางจับอาวุธขึ้นสู้ ไปตั้งฐานที่มั่นในป่าเขา ตามทฤษฎีป่าล้อมเมือง ก่อนจะเกิดเสียงปืนแตกในปี 2508 จากนั้นก็สู้รบกับรัฐบาลเรื่อยมา จนฝ่ายป่าขยายขอบเขตไปทั่วประเทศ

กว่าจะยุติลงได้ก็ด้วยแนวคิดของนายทหารยุคใช้มันสมอง ผลักดันแนวทางการเมืองนำการทหาร เชื่อว่าคอมมิวนิสต์คือแนวคิดอุดมการณ์ เมื่อเป็นเรื่องการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง

ด้วยคำสั่งที่ 66/2523 ของรัฐบาล เปิดการพูดคุยเจรจา และยอมให้กลับคืนเมือง มาต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติวิธีได้ โดยไม่มีการเอาผิดทางคดีอาญาใดๆ

ประกอบกับเป็นช่วงที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลกเกิดความแตกแยก กำลังระส่ำ

คนที่เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ จึงยอมวางปืนกลับคืนเมือง ทำให้หยุดสงครามที่สร้างความสูญเสียมากมายและยืดเยื้อเกือบ 20 ปีลงได้!

 

ในอดีตยุคสงครามคอมมิวนิสต์ นอกจากรัฐบาลจะเดินแนวทางผิดพลาด คือใช้การปราบปรามเป็นหลัก เข้าตำรายิ่งปราบคอมมิวนิสต์ก็ยิ่งโต เพราะการปราบปราม บุกค้นหมู่บ้านต่างๆ ของรัฐ ยิ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ยิ่งโกรธแค้น ยิ่งแห่กันเข้าป่า

ไม่เท่านั้น ยังมีการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างภาพคอมมิวนิสต์อย่างผิดๆ เช่น วาดภาพเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นกองกำลังต่างชาติที่จะยึดประเทศไทย การแก้ปัญหาก็ยิ่งเละเทะผิดทางเข้าไปใหญ่

ทั้งที่คอมมิวนิสต์ก็คือคนไทย แต่มีความคิดอุดมการณ์อย่างหนึ่ง จุดประสงค์คือต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ให้มีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ต้องการให้สังคมปราศจากชนชั้น

อีกทั้งต่อมา เมื่อเกิดการลุกขึ้นต่อสู้ของนักศึกษาในเมือง โค่นล้มรัฐบาลทหารเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 แล้วเกิดขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสร้างสังคมเป็นธรรม นำโดยนักศึกษา ช่วงนั้นฝ่ายรัฐและกองทัพ โดยเฉพาะ กอ.รมน. เริ่มใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษาว่า รับแผนจากคอมมิวนิสต์มาสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมือง

จนกระทั่งในปี 2518 ที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะในเวียดนาม ลาว กัมพูชา ยิ่งทำให้รัฐไทยหวาดผวา เลยเกิดแผนฆ่าหมู่เพื่อกวาดล้างขบวนการนักศึกษา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผลก็คือทำให้เกิดความแค้น และเหมือนถูกบีบคั้นให้เข้าป่าไปร่วมกับคอมมิวนิสต์จริงๆ เพื่อจับปืนสู้

ฆ่าหมู่นักศึกษา 6 ตุลาคม เลยยิ่งทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ยกระดับขยายตัว เพราะปัญญาชนแห่กันเข้าไปร่วม ทำให้สื่อมวลชนทั่วโลกให้ความสนใจ เรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ที่เคยมีกรรมกร ชาวนา เป็นฐานกำลังส่วนใหญ่ ได้รับการยกระดับไปอีกขั้นจากการเข้าร่วมของปัญญาชน เป็นข่าวนำเสนอไปทั่วโลก

กว่ากองทัพไทยจะคิดเป็น ยอมรับความผิดพลาด นำมาสู่แนวทาง 66/2523 ก็เกือบจะพ่ายแพ้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพราะสงครามจ่อเข้ามายังกรุงเทพฯ แล้ว เกือบทุกด้าน

เปรียบกันว่าอีกแค่เกือบ 300 กิโลเมตร คอมมิวนิสต์ก็จะมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว!

ดังนั้น การย้อนพูดถึง 7 สิงหาคม วันเสียงปืนแตก ไม่ควรหยิบขึ้นมาเพื่อจะใส่ร้ายการต่อสู้ของนักศึกษาคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

นั่นจะยิ่งเป็นการผลักดันให้ไปสู่การใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ต่างจากยุค 6 ตุลาคม 2519

จนน่าสงสัยว่าอยากให้กลับไปสู่ยุคคนไทยลุกขึ้นมาจับปืนสู้กับอำนาจรัฐอีกหรือไร!?

 

อันที่จริงไม่เพียงเกิดประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีขบวนการประชาชนลุกขึ้นจับปืนสู้กับรัฐ กลายเป็นสงครามที่ขยายสมรภูมิไปทั่วประเทศ ยืดเยื้อยาวนานสูญเสียมากมายเกือบ 20 ปี แต่ความขัดแย้งที่กลายเป็นการก่อการร้ายในชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้ ก็ยืดเยื้อมาหลายสิบปีเช่นเดียวกัน

ขบวนการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดใต้ หรือที่เรียกกันว่าไฟใต้นั้น จุดเริ่มต้นก็มาจากความหวาดระแวงของรัฐบาลไทย เพราะเดิมทีพื้นที่นี้ในอดีตก็คือรัฐปัตตานี มีอารยธรรม มีวัฒนธรรมของตัวเอง จนต่อมากลายเป็นดินแดนของไทย

แต่เมื่อมีผู้นำในพื้นที่ เรียกร้องขอดำรงเอกลักษณ์ด้านเชื้อชาติศาสนา กลับถูกจับกุมคุมขัง กระทั่งอุ้มฆ่า

ไปๆ มาๆ ความขัดแย้งที่รัฐบาลไทยไม่เคยจะหาทางแนวสันติเข้าแก้ไข เน้นแต่ใช้อำนาจกดเอาไว้หวังให้ยินยอม เลยปะทุกลายเป็นการก่อการร้าย ซึ่งเกิดมาหลายสิบปีแล้ว

มารอบหลังที่เริ่มตั้นเมื่อปี 2547 กลายเป็นรอบที่ยืดเยื้อยาวนาน ป่านนี้ยังไม่สิ้นสุด

ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องการลบล้างความผิดพลาดในยุคทักษิณ ด้วยการพยายามหาหนทางพูดคุยเจรจา ตั้งคณะเจรจาสันติภาพขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนได้รับการยกย่องว่า เป็นรัฐบาลที่เชื่อในหลักใช้สันติวิธีแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ใช่เน้นการใช้อำนาจและการปราบปราม

แต่สุดท้ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็โดนรัฐประหาร และการเจรจาสันติภาพใน 3 จังหวัดใต้ก็เงียบหายไป

เสียงปืนเสียงระเบิดก็ยังดังระงมต่อไป พร้อมความสูญเสียของทหารตำรวจชั้นผู้น้อยและชาวบ้านในพื้นที่

ถ้าไม่ยอมรับความจริงว่า การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดใต้ก็คือคนไทยที่ไม่ยอมรับการกดขี่ ยังตีตราว่าเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เมื่อนั้นก็ไม่มีทางจะแก้ไขได้

อีกทั้งก็ซ้ำรอยสงครามคอมมิวนิสต์คือยิ่งปราบก็ยิ่งโต!