ทำไมนักกีฬาถึงกัดเหรียญทอง/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

ทำไมนักกีฬาถึงกัดเหรียญทอง

 

กีฬาโอลิมปิกจบลงไปแล้ว แต่ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม ถึง 5 กันยายนนี้ คนไทยจะได้เชียร์นักกีฬาทีมชาติไทยกันอีกในการแข่งขันโตเกียว พาราลิมปิก 2020 AIS Play ถ่ายทอดสดยาวเหยียดให้ดูทุกวัน

นักกีฬาพาราลิมปิกไทยประสบความสำเร็จมากมายในการแข่งขันพาราลิมปิก นับตั้งแต่เข้าร่วมแข่งขันครั้งแรกในปี 1984

จากการแข่งขัน 9 ครั้งที่ผ่านมา นักกีฬาพาราลิมปิกของไทยกวาดเหรียญรางวัลได้ถึง 19 เหรียญทอง 24 เหรียญเงิน 26 เหรียญทองแดง

ครั้งล่าสุด พาราลิมปิก ปี 2016 ที่รีโอ ประเทศบราซิล ทีมนักกีฬาโอลิมปิกไทยคว้ามาได้ 6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน 6 เหรียญทองแดง

สำหรับโตเกียว พาราลิมปิกปีนี้ มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมแข่งขัน 77 คนจากกีฬา 14 ประเภท เป็นพาราลิมปิกที่นักกีฬาไทยได้สิทธิเข้าร่วมแข่งขันมากที่สุดในรอบ 36 ปี

 

พาราลิมปิกเป็นมหกรรมกีฬาสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย แต่มีใจนักสู้เต็มเปี่ยม

กีฬาที่แข่งกันก็มีเหมือนโอลิมปิกของคนร่างกายปกติแทบทุกประเภท

พาราลิมปิกจัดหลังจากการแข่งขันโอลิมปิกปกติสิ้นสุดลงประมาณ 2-3 สัปดาห์

เพื่อใช้เวลาในการปรับสนามแข่งขันให้เหมาะกับนักกีฬาผู้พิการ

หลังจบโอลิมปิก และพาราลิมปิกที่โตเกียว อีก 1 ปีข้างหน้า จะมีมหกรรมกีฬาใหญ่สำหรับชาวเอเชีย คือ เอเชี่ยนเกมส์ ในเดือนกันยายน ปี 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน

ทุกคนภาวนาว่าเมื่อถึงวันนั้นเราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้ปกติ หน้ากากไม่ต้องสวม ไม่ต้องรักษาระยะห่าง แฟนกีฬาสามารถเข้าไปเชียร์การแข่งขันกันเต็มสนาม

ไม่ใช่เป็นสนามว่างๆ ไม่มีแฟนกีฬาเข้าชมการแข่งขัน เหมือนโตเกียว โอลิมปิกที่ผ่านมา

นักกีฬาก็ไม่ต้องสวมหน้ากากตอนขึ้นโพเดี้ยมรับเหรียญรางวัลเหมือนโตเกียว โอลิมปิกที่นักกีฬาได้รับอนุญาตให้ถอดหน้ากากได้เพียง 30 วินาที เพื่อโพสท่าถ่ายรูปกับเหรียญโอลิมปิกหลังฟังเพลงชาติจบ จากนั้นก็ต้องสวมหน้ากากตามเดิม

แม้จะมีเวลาไม่ถึง 1 นาที ที่นักกีฬาเหรียญโตเกียว โอลิมปิกสามารถถอดหน้ากากถ่ายรูปกับเหรียญโอลิมปิก แต่นักกีฬาที่ได้เหรียญทองส่วนใหญ่ก็ไม่พลาดที่จะทำท่ากัดเหรียญทอง ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว

ถามว่าทำไมนักกีฬาถึงต้องกัดเหรียญทอง?

 

คําตอบต้องย้อนกลับไปเมื่อกว่า 100 ปีก่อนโน้น ที่การพิสูจน์ว่าทองคำที่ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนกันเป็นทองคำแท้หรือไม่ เขาใช้ฟันกัดที่ทอง

ทองคำแท้มีความแข็งไม่มาก ใช้ฟันกัดก็จะเกิดรอยฟัน

แต่ถ้าเป็นทองปลอม ทองผสมเหล็กหรือผสมทองแดงหรือทองชุบ จะแข็งมาก กัดไม่เข้า ไม่เกิดรอย นักกีฬาที่ได้เหรียญทองที่ผ่านๆ มาจึงทำท่ากัดเหรียญทอง เป็นการล้อเลียนว่าต้องการพิสูจน์ว่าเหรียญทองโอลิมปิกว่าเป็นทองจริงรึเปล่า

ประกอบกับวินาทีนั้นบรรดาช่างภาพที่ถ่ายรูปจะตะโกนขอให้นักกีฬาทำท่ากัดเหรียญทอง ซึ่งถือเป็นช็อตเด็ดที่ช่างภาพต้องการ

นั่นคือที่มาของการกัดเหรียญทองของนักกีฬา

 

คําถามต่อมาก็คือ เหรียญทองโอลิมปิก เป็นทองคำจริงหรือเปล่า

คำตอบคือ มีทั้งทองจริง และทองไม่จริง

โอลิมปิกสมัยโบราณ ที่ประเทศกรีก เมื่อหลายพันปีก่อน รางวัลที่นักกีฬาได้จากการแข่งขันนั้นไม่ใช่เหรียญรางวัล แต่เป็นใบมะกอกจากเมืองโอลิมเปีย (Olympia) สานเป็นวงกลมหรือทรงเกือกม้า สวมบนศีรษะของผู้ชนะเหมือนเป็นมงกุฎ

ใบมะกอกสานนี้ให้กับนักกีฬาที่ได้ที่ 1 คนเดียวเท่านั้น

สำหรับชาวกรีก มะกอกเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและความหวัง

จนกระทั่งในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ จึงมีการมอบเหรียญรางวัลให้กับนักกีฬาที่ชนะเป็นครั้งแรก โดยมอบเหรียญรางวัลพร้อมกับมงกุฎใบมะกอกและประกาศนียบัตร

ที่น่าสนใจก็คือ นักกีฬาที่ได้ที่ 1 ตอนนั้น ได้เหรียญเงิน ที่ 2 ได้เหรียญทองแดง ที่ 3 ไม่ได้เหรียญรางวัล

 

ในการแข่งขันโอลิมปิก ปี 1904 ที่เมืองเซนต์ ลูอิส (St. Louis) รัฐมิซซูรี (Missouri) ประเทศอเมริกา มีการเริ่มให้เหรียญทอง เงิน และทองแดง ให้กับที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน

ในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1904, 1908 และ 1912 เหรียญทองโอลิมปิก ทำด้วยทองคำแท้ แต่เป็นเหรียญทองขนาดเล็ก มีขนาดประมาณเหรียญ 10 บาทไทย

นับตั้งแต่โอลิมปิกปี 1916 เหรียญทองโอลิมปิกก็ไม่ได้ทำด้วยทองคำแท้อีกต่อไปเพราะต้นทุนสูงมาก

เหรียญทองโอลิมปิกที่เห็นในปัจจุบันมีทองคำผสมอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่มากนัก

โลหะหลักที่ใช้ผลิตเหรียญทองโอลิมปิกคือโลหะเงิน (Silver) ราคาโดยเฉลี่ยเหรียญทองละ 15,000-20,000 บาท

ที่ราคาค่าผลิตค่อนข้างสูงเพราะใช้โลหะเงินเยอะ เหรียญทองโอลิมปิกยุคปัจจุบัน หนักเฉลี่ยครึ่งกิโล นักกีฬาได้รับครั้งแรกจะแสดงอาการตกใจทุกคน