Technical Time-Out : ซีโมน ไบล์ส กับบทเรียนเรื่อง ‘ใจ’

ไทม์เอาต์

SearchSri

 

ซีโมน ไบล์ส

กับบทเรียนเรื่อง ‘ใจ’

 

ก่อนหน้า *โอลิมปิกเกมส์ 2020* ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเปิดฉาก หนึ่งในนักกีฬาที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดไม่พ้น *ซีโมน ไบล์ส* นักยิมนาสติกสาวทีมชาติสหรัฐ เจ้าของ 4 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง จากโอลิมปิกหนก่อน

ไบล์สได้รับการยกย่องจากสื่อหลายสำนักรวมถึงแฟนๆ กีฬาว่าเป็นนักยิมนาสติกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของโลก ขนาดที่ *ทวิตเตอร์* แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยม ออกแบบ “อีโมจิ” หรือสัญลักษณ์ภาพการ์ตูนแทนตัวเฉพาะตัวของเธอขึ้นมาโดยเฉพาะ

เป็นนักกีฬาคนแรกของโลกที่ได้รับเกียรติดังกล่าว

อีโมจิของไบล์สเป็นรูปแพะใส่ชุดยิมนาสติกคล้องเหรียญทอง ซึ่งคำว่า “แพะ” หรือ “GOAT” ในภาษาอังกฤษ เป็นสแลงหรือคำย่อของ “Greatest of All Time” หรือ “ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” มักใช้ในการยกย่องนักกีฬาหรือบุคคลวงการใดๆ ที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการนั้นๆ

ไบล์สเข้าร่วมโตเกียวเกมส์ด้วยความคาดหวังจากรอบข้างว่าจะกวาดเหรียญทองหรือเหรียญรางวัลจากทั้ง 6 ประเภทที่เธอเข้าร่วมแข่งขัน ได้แก่ ทีมหญิง บุคคลรวมอุปกรณ์หญิง และบุคคลแยกอุปกรณ์ (โต๊ะกระโดด บาร์ต่างระดับ ฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ และคานทรงตัว)

สื่อและแฟนๆ คาดหวังว่า ไบล์สจะทาบหรือทำลายสถิตินักยิมนาสติกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งลาริซ่า ลาตินิน่า ทำไว้ 9 เหรียญทอง หมายความว่าเธอต้องทำให้ได้อย่างน้อย 5 จาก 6 เหรียญทอง เพื่อทาบสถิติดังกล่าว หรือกวาดทุกเหรียญถ้าหวังจะทำลายสถิติ

 

สําหรับนักยิมทั่วไป แค่คิดเรื่องนี้ก็ถือว่าหนักหนาสาหัสแล้ว แต่เพราะเป็นซีโมน ไบล์ส ที่ใครๆ ก็ยกย่องชื่นชม ใครต่อใครต่างก็คาดหวังว่ามันจะเป็นจริง จนบางครั้งลืมนึกถึงแรงกดดันอันหนักอึ้งที่เจ้าตัวต้องแบกรับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสารและโซเชียลมีเดียที่คนทั่วไปสามารถ “สื่อสาร” กับคนดังได้โดยตรงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทวิตเตอร์” ที่เปิดช่องให้สื่อสารอย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และมักจะมีความคิดเห็นสุดโต่ง ไม่ว่าจะด้านดีหรือร้าย

เมื่อถึงการแข่งขันจริง ทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่ไบล์สและหลายคนคาดหวัง และมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในการแข่งขันโต๊ะกระโดด อุปกรณ์แรกของรอบชิงชนะเลิศประเภททีมหญิง

ไบล์สกระโดดครั้งแรก ลงสู่พื้นพลาด จากนั้นเธอปรึกษาโค้ช หายเข้าไปในห้องแต่งตัวพักหนึ่ง ก่อนกลับมาโดยตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันทีมหญิง ให้เพื่อนร่วมทีมลงแข่งแทน

ต่อมาไบล์สประกาศถอนตัวจากการแข่งขันบุคคลหญิงรวมอุปกรณ์ และรอบชิงแยกอุปกรณ์ทั้งโต๊ะกระโดด บาร์ต่างระดับ และฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ โดยยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ปัญหาไม่ใช่อาการบาดเจ็บ เป็นเรื่องของ “ใจ” ล้วนๆ

เธอจำเป็นต้องถอนตัวเพื่อรักษาสภาพจิตใจของตัวเองเอาไว้

 

ไบล์สใช้คำว่า เธอกำลังเจออาการ “twisties” ซึ่งในภาษายิมนาสติกหมายถึงอาการ “หัวโล่ง” เมื่ออยู่กลางอากาศ ใจ สมอง กับร่างกายไม่ไปด้วยกัน ไม่สามารถเข้าท่าตีลังกาใส่เกลียวรูปแบบต่างๆ อย่างที่ต้องการได้ โดยปกติต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์จะหายไป หรืออาจจะนานกว่านั้น ซึ่งถ้าฝืนเล่นทั้งที่ยังมีอาการนี้อยู่ อาจจะเสี่ยงได้รับบาดเจ็บได้ เพราะควบคุมร่างกายไม่เป็นอย่างใจคิด

ซูเปอร์สตาร์ยิมนาสติกสาวยอมรับว่า ตอนก่อนเดินทางจากสหรัฐ ไม่รู้สึกอย่างนี้เลย เธอเต็มเปี่ยมด้วยความมั่นใจ และถ้าเป็นเธอคนเก่า คงไม่มีวันถอนตัวจากการแข่งขันแน่นอน

แต่เมื่อโตขึ้น ได้เรียนรู้โลกมากขึ้น ก็เข้าใจว่า บางครั้งคนเราก็ต้องยอมถอยออกมาเช่นกัน

แน่นอนว่า การถอนตัวครั้งนี้ย่อมได้รับปฏิกิริยาทั้งบวกและลบ แม้เสียงส่วนใหญ่จะเข้าใจและเห็นใจในภาวะกดดันที่เธอต้องเผชิญ

แต่ก็มีเสียงสะท้อนบางส่วนเป็นเชิงตั้งคำถาม เช่น *เพียร์ส มอร์แกน* พิธีกรฝีปากกล้าที่ตำหนิว่า ไบล์สได้รับความคาดหวังไม่ใช่แค่จากแฟนยิมนาสติก แต่เป็นแฟนกีฬาโดยรวม ประหนึ่งหัวหน้าทัพนักกีฬาสหรัฐทั้งทีม ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี

ไม่ใช่ “หนี” แบบนี้

 

จะอย่างไรก็แล้วแต่ ไบล์สกลับมาแข่งขันในอุปกรณ์สุดท้าย คานทรงตัว และคว้าเหรียญทองแดงไปครอง ปิดฉากโอลิมปิกแบบเหงาๆ ด้วยผลงาน 1 เหรียญเงิน ทีมหญิง และ 1 เหรียญทองแดง คานทรงตัว

ไบล์สบอกว่า เธอไม่ได้คาดหวังเหรียญรางวัลจากอุปกรณ์สุดท้าย แค่อยากกลับมาเพื่อตัวเอง และภูมิใจกับผลงานที่ออกมา หลังจากต้องเผชิญกับอะไรมากมาย

ก่อนหน้านั้นเธอก็ตอบโต้มอร์แกนและคนที่โจมตีตัวเองว่า เธอไม่ได้คิดหนีแต่อย่างใด แค่รู้จักถอยเพื่อไม่ให้เสี่ยงปัญหาบาดเจ็บถ้าฝืนแข่งขัน

เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหน สุดท้ายคนที่ต้องอยู่กับทางเลือกนั้นไปตลอด ก็มีแต่ตัวเองเท่านั้น