#กระเเสไม่รับผู้ว่าฯ ปัตตานีคนใหม่ : ปัญหาและทางออก/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ / อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

#กระเเสไม่รับผู้ว่าฯ ปัตตานีคนใหม่

: ปัญหาและทางออก

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

8 สิงหาคม 2564 – ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง สังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 28 ราย ตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เสนอที่ผ่านมานั้น

ในส่วนจังหวัดปัตตานี ปัจจุบันนายราชิต สุดพุ่ม ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งรับตำแหน่งเพียงแค่ 1 ปีและเตรียมจะปลดเกษียณ เหมือนก่อนหน้านี้ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ปัตตานีที่ผ่านมา ถูกย้ายแค่มารอปลดเกษียณหลายราย

สำหรับครั้งนี้ก็เช่นกัน นายนิพันธ์ บุญหลวง จากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีโดยเหลือเวลาแค่ปีเดียวเช่นกัน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดบรรยากาศความไม่พอใจของประชาชน (ส่วนหนึ่ง) ในพื้นที่กล้าแสดงออกต่อต้านโดยการติดป้ายหน้าบ้าน หน้าร้าน หน้าที่สาธารณะ จนมีโซเชียลแพร่กระจายออกไปอย่างแพร่หลาย และมีการแชร์ออกไปต่อกัน พร้อมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นไม่พอใจกันเป็นจำนวนมาก ผ่านเพจต่างๆ เช่น เพจ PATTANI THAI NEWS โดยมีการระบุว่า save ปัตตานี คนปัตตานีไม่เอาผู้ว่าที่มาเกษียณ 1 ปี หากไม่ทำงานไม่ต้องมา อย่าดูถูกคนปัตตานี มีการขยายต่อในบทสัมภาษณ์ รายงานทางสถานีโทรทัศน์บางแห่ง

ดังนั้น หากรัฐบาลโดยเฉพาะเจ้ากระทรวงมหาดไทยนิ่งเฉยต่อกระแสครั้งนี้บอกได้เลยว่าระวังอาฟเตอร์ช็อกทางการเมืองนี้ให้ดี

ดังนั้น ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้

1.ป้ายแสดงคัดค้านรัฐมิใช่ครั้งแรก

ความเป็นจริงหากเราติดตามประวัติศาสตร์การเมือง การปกครอง ความขัดแย้งที่ปัตตานีและชายแดนภาคใต้ ป้ายแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐในครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก แม้เรื่องต่อต้านการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นครั้งแรกและในครั้งที่ผ่านมาคนในพื้นที่ (บางคน) กล้าแสดงออกที่ต่อต้านอำนาจรัฐใหญ่กว่านี้ เช่น มีการแขวนป้ายผ้าในที่สาธารณะ ฉีดสเปรย์บนถนน ป้ายทางหลวง โดยใช้คำว่า Patani Merdeka เป็นป้ายที่สะท้อนปาตานีต้องการเอกราชจากรัฐไทย

2. เป็นช่วงเดียวกับ Car Mob ที่ปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันที่ 7 สิงหาคม เวลา 16.30 น. ที่ลานวัฒนธรรมปัตตานี นักศึกษาร่วมกับประชาชน ได้จัดกิจกรรมขบวนรถแห่ “CAR MOB TANI สตาร์ตเครื่องลงถนนไปไล่ประยุทธ์กันค่ะ” ท่ามกลางกองกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมสังเกตการณ์ กว่า 50 นาย ในขณะที่จังหวัดนราธิวาสและยะลาก็มีกิจกรรมนี้กลางเมือง (ดูข่าวย้อนหลังใน https://fb.watch/7glL9SCKYr/)

ที่ดราม่ามากกว่านั้นคือมีการยึดรถเด็กวัยรุ่นขึ้นโรงพัก สภ.ยะรัง แล้วเครือข่ายเยาวชนบุกโรงพักให้เจ้าหน้าที่ตอบให้ได้ว่ายึดรถพวกเขาทำไม? พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก

ในขณะที่เหตุผลการเชิญชวนการออกมา Car Mob ครั้งนี้ตัวแทนเยาวชนที่จัดกิจกรรม ระบุว่า “เป็นการเชิญชวนชาวปาตานีออกไปแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยม โดยแสดงออกผ่านการชุมนุมทางการเมืองโดยแนวทางสันติวิธี เพราะเราเชื่อว่าประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะไปสู่สันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของได้”

ในเพจยะลาปลดแอก อธิบายเพิ่มเติมทำไมต้องไล่ประยุทธ์เพราะประชุมเป็นผู้นำรัฐและ กอ.รมน. “การคุกคามประชาชนจากเจ้าหน้าที่รัฐยังคงดำเนินอย่างเนื่องตลอด 17 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเป็นพิเศษในการตรวจค้น จับกุม คุมขัง สอบสวน และตรวจสอบหาหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ทั้งนี้ เพื่อแก้ไข ควบคุม หรือยุติปัญหาหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ จะอย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน”

3. จริงอยู่ในเชิงทฤษฎีไม่ควรโทษผู้ว่าราชการจังหวัด ดั่งเพจหนึ่งที่พยายามปกป้อง “อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขแต่เรามามองที่ผลงานดีกว่า ผลงานจะเป็นที่ประจักษ์ไม่ว่าผู้ว่าฯ จะปีเดียวหรือกี่ปี ผลงานต่างหากที่จะอยู่ยืนหยัดยั่งยืนอยู่ในใจประชาชนชาวปัตตานีสืบไป…”

“การสั่งสมประสบการณ์ แต่ละท่านนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่ง จะบอกว่ามีระยะเวลา 1 ปี รอเกษียณ นี่ไม่เป็นธรรมกับใครทั้งสิ้น ผมมองประเด็นนี้เพิ่มเติมออกไปสักเล็กน้อย ความเห็นของผมในประเด็นการแต่งตั้งผู้ที่มีอายุราชการเหลือน้อยมาบริหารจังหวัดนั้น อันที่จริงได้เกิดขึ้นกับทุกตำแหน่งบริหารระดับสูง ทุกกระทรวง ทบวง กรม และผมก็เห็นดังเช่นได้กล่าวข้างต้นมาแล้ว”

 

ข้อเสนอแนะ

หากเป็นไปได้ก็ควรกล้าเปลี่ยนคนที่เหมาะสม จะขยับรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเดิมมาสานต่อก็ได้ (ตามข้อเสนอแนะของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี)

แต่ในทางปฏิบัติคงเป็นไปไม่ได้ดั่งอาจารย์รอมฎอน ปันจอร์ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ให้ทัศนะว่า

#ผู้ว่าปีเดียว ของปัตตานี…ราชิต สุดพุ่ม ที่เพิ่งโยกมาตุลาคมที่แล้วและกำลังจะเกษียณปีนี้ ส่วนนายนิพันธ์ บุญหลวง ว่าที่ผู้ว่าฯ ซึ่งกำลังจะมาดำรงตำแหน่งตุลานี้ ปัจจุบันเป็นผู้ว่าฯ อยู่น่าน และคงจะเกษียณคาตำแหน่งที่ชายแดนใต้แห่งนี้…คนในจังหวัดก็ได้แต่นั่งตาปริบๆ ทำอะไรไม่ได้ เขาจะโยกมาย้ายไปก็เป็นเรื่องปกติ เป็นกลไกใต้โครงสร้างอันเข้มแข็งของระบบราชการที่เป็นแบบนี้มาร่วมร้อยปี ตั้งแต่ยุคข้าหลวงเทศาภิบาล พูดในแง่ระบบผู้ครองอำนาจเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในเขตปกครองอยู่แล้ว ดูเหมือนปัตตานีจะไม่มีปัญหาการปกครองใดๆ ให้น่าปวดหัวอีกแล้ว”

ทางออกสำหรับนายนิพันธ์ บุญหลวง ว่าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ก็ควรประกาศ Road Map เป็นวาระปัตตานีผ่านสื่อและกล้าตั้งองค์กรประเมินผลงานภาคประชาชนเพื่อพิสูจน์ข้อกังขา

สำหรับรัฐบาล ในครั้งหน้าให้ทุกภาคส่วนเสนอคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และร่วมตัดสินใจในการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด (ทุกจังหวัดก็ควรเป็นแบบนี้)

ในระยะยาวกระจายอำนาจเป็นจังหวัดจัดการตนเองเลือกตั้งผู้ราชการจังหวัดโดยตรง

ท้ายนี้ หวังว่าเสียงสะท้อนคนปัตตานีจะไม่สูญเปล่าและเป็นอานิสงส์กับคนทุกจังหวัด