ตำราการเมืองเล่มแรก : ‘หลักวิชาการเมือง’ ประตูสู่การเมืองของพลเมืองหลัง 2475/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ตำราการเมืองเล่มแรก

: ‘หลักวิชาการเมือง’

ประตูสู่การเมืองของพลเมืองหลัง 2475

“ระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบที่เข้มแข็งที่สุด แต่เป็นระบอบที่เจตจำนงส่วนตัวนั้น มีลักษณะแรงกล้าที่สุด ทั้งยังสามารถที่จะครอบงำเจตจำนงส่วนอื่นๆ ได้ง่ายที่สุดด้วย จริงอยู่ที่ระบอบนี้ดำเนินมุ่งตรงไปสู่จุดหมายเดียว แต่จุดหมายนั้นหาใช่ความผาสุกของประชาชน”

(ฌองฌัก รุสโซ, สัญญาประชาคม)

ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

“ฝูงอาณาประชาราษฎร์” ในระบอบเก่า

การปกครองในระบอบเก่า มีการจัดระเบียบสังคมโดยใช้แนวคิดที่มีศูนย์กลางที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นทั้งเจ้าที่ดินและเจ้าชีวิต ดังนั้น ไพร่จึงมีฐานะเป็นแรงงาน ผู้ส่งส่วยสิ่ง และเป็นไพร่พลทำสงครามที่บาดเจ็บล้มตายให้กับมูลนาย หรือเป็นเพียงศัสตราวุธที่ต้องถูกควบคุมสั่งการ ดังปรากฏคติในงานพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ว่า

“…อันพระนครทั้งหลายก็เหมือนกับกายสังขาร กระษัตราคือจิตวิญญาณเป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์ มือเบื้องซ้ายขวาคือสามนต์ บาทาคือพลทั้งสี่ อาการพร้อมสามสิบสองมี ดั่งนี้จึงเรียกว่ารูปกาย ฝ่ายฝูงอาณาประชาราษฎร์ คือศัสตราวุธทั้งหลาย ถึงผู้นั้นประเสริฐเลิศชาย แม้นจิตจากกายก็บรรลัย อาวุธไม่มีผู้ถือ ควรฤๅจะวิ่งเข้ารบได้…” (อรรถจักร สัตยานุรักษ์, 2541)

ในขณะที่การปฏิวัติ 2475 สร้างสังคมใหม่ที่อำนาจสูงสุดการปกครองเป็นของพลเมือง เป็นหลักการจากราชาธิปไตย ส่งผลให้กลุ่มอภิชนต่อต้านที่เรียกว่ากบฏบวรเดช (2476) แต่การคุกคามครั้งนั้นถูกต่อต้านจากพลเมืองหลากหลายอาชีพร่วมกันพิทักษ์ระบอบของพวกเขา

ภายหลังเหตุการณ์ รัฐบาลตระหนักในการสร้างความผูกพันต่อระบอบให้แก่พลเมืองว่า “การปกครองตามลัทธิประชาธิปไตยนั้น ย่อมกำหนดให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิดหรือถูกของปวงชนย่อมเป็นผลโดยตรงแก่นโยบายของรัฐบาล… ดังนั้น หัวใจของการโฆษณาจึ่งมีว่า เมื่อใดโฆษณาของรัฐบาลปราศจากความสำเร็จ เมื่อนั้นรัฐบาลย่อมตกอยู่ในความลำบาก เพราะเหตุว่าการใช้อำนาจบังคับใจคนนั้น ย่อมไม่ดีเท่าวิธีให้ความรู้และเหตุผลแก่ประชาชน” (หลวงรณสิทธิพิชัย, 2477)

จากนั้น กรมโฆษณาการรับภารกิจพร้อมแจกจ่ายคู่มือพลเมือง ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้พลเมืองร่วมกันพิทักษ์ประชาธิปไตยจากการคุกคามของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงว่า

“การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นการปกครองของใหม่ ยังมีผู้ไม่นิยม ทำการขัดขวางมิให้ดำเนินไปโดยสะดวกอยู่เสมอ ต่อเมื่อใดพลเมืองได้รับการอบรมจนเคยชินกับรูปการปกครองแล้ว เมื่อนั้น ศัตรูของรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถขัดขวางได้…ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน สนับสนุนระบอบรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิและยกฐานะของพวกเราให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ให้มั่นคงถาวรตลอดไป”

อำพัน ตัณฑวรรธนะ กับตำราการเมืองสำหรับพลเมือง

อำพัน ตัณฑวรรธนะ

กับตำราการเมืองสำหรับพลเมือง

อําพัน (2455-2529) เป็นคนโคราช ศึกษาที่สวนกุหลาบฯ (2472) โรงเรียนกฎหมาย (2474) เคยเป็นทนายความที่สำนักงานทนายความตีลลิกีและกิบบินส์ ต่อมาลาออกเพราะไม่ชอบอาชีพนี้

รับราชการที่กองโฆษณาการ (2476) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกหนังสือพิมพ์ หัวหน้ากองเผยแพร่ความรู้ หัวหน้ากองกระจายเสียง หัวหน้ากองหนังสือพิมพ์ตามลำดับ ต่อมาลาออกจากราชการ (2497)

ในคำนำ หลักวิชาการเมือง (2479) อันเป็นตำราการเมืองของระบอบประชาธิปไตยเล่มแรกนี้ ผู้เขียนปรารภว่า “การเมืองไม่ใช่ของใหม่ เพราะเกิดมีมาพร้อมกับสังคมมนุษย์ และการเมืองไม่ใช่ของเก่า เพราะเกิดงอกงามเจริญตามความต้องการของมนุษย์อยู่เสมอ” (อำพัน ตัณฑวรรธนะ, 2479) เขาแสดงความเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิวัติ 2475 ว่า “การปกครองเดิมอาศัยมติของคนเดียวหรือคณะเดียว แต่การปกครองใหม่อาศัยมติพลเมืองเป็นใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับราษฎร”

เขาเขียนคำอุทิศว่า “แด่คณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นแบบปรมิตตาญาสิทธิราชย์ อันเป็นการเลิกเสรีภาพให้แก่พลเมืองที่จะได้ศึกษาหลักวิชาการเมืองได้โดยเต็มภาคภูมิ” เพราะ “การเมืองคือกิจการและปัญหาเกี่ยวกับประเทศและการปกครอง” เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลเมืองทุกคน

ในตำรานี้มีความก้าวหน้าทางเป็นวิชาการมาก ด้วยนำเสนอการแบ่งวิชาการเมืองออกเป็นแบบปรัชญาการเมือง กับวิทยาศาสตร์การเมือง มีการอธิบายวิธีการสร้างความรู้โดยอาศัยทดลอง การเปรียบเทียบ การเทียบเคียง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างวิชาวิทยาศาสตร์การเมืองกับวิชาอื่น เช่น สังคมศาสตร์ (สังคมวิทยา) ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง จริยธรรมศาสตร์ (มานุษยวิทยา)

หนังสือเล่มนี้มี 18 บท เช่น ความหมายและวิธีการศึกษาการเมือง ความหมายของรัฐและชาติ กำเนิดรัฐ และความหมายของอำนาจอธิปไตย หลักการใช้อำนาจอธิปไตย การแบ่งแยกอำนาจ ความสูงสุดของอำนาจนิติบัญญัติ การใช้สิทธิเลือกตั้ง เขตและหลักวิธีเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนฯ กับพลเมือง

อำนาจบริหาร วิธีการตั้งรัฐบาล อายุของข้ารัฐการ อำนาจตุลาการ วิธีการตั้งผู้พิพากษา ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจตุลาการกับอำนาจอื่น ความหมายของกฎหมาย ความหมายของรัฐธรรมนูญ กำเนิดและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความแตกต่างของรัฐธรรมนูญกับกฎหมายอื่น

ความหมายของเสรีภาพ เสรีภาพชนิดต่างๆ หลักการเป็นพลเมือง สิทธิและหน้าที่ของพลเมือง

ระบอบการปกครองต่างๆ เช่น ราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย ประชาธิปไตย เผด็จการ กำเนิดพรรคการเมือง การปกครองแบบเทศบาล ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับเทศบาล การปกครองแบบสหรัฐ

ความต้องการของรัฐ หรืออาจเรียกภาษาปัจจุบันว่านโยบายของรัฐ แบ่งออกเป็นเอกนิยม (ปัจเจกเชนนิยม) สังคมนิยม และการผสมของสองแนวคิด

ดร.หยุด แสงอุทัย เขียนถึงหนังสือเล่มดังกล่าวไว้ในวารสารนิติสาส์น 2490 ว่า “1.หลักวิชาการเมือง โดยอำพัน ตัณฑวรรธนะ เป็นตำราวิชาการเมืองเล่มแรก ที่เขียนอย่างเป็นระบบ ใช้ถ้อยคำชัดเจนดี” ดังนั้น หนังสือหลักวิชาการเมืองนี้ น่าจะเป็นตำราหลักรัฐศาสตร์เล่มแรกสำหรับพลเมือง

ไพโรจน์ ชัยนาม อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เล่าว่า อำพันและเขาเป็นนักเรียนกฎหมายรุ่นเดียวกัน และมาทำงานร่วมกันที่กองโฆษณาการรุ่นแรกที่สุด (2476) ในช่วงก่อร่างสร้างระบอบประชาธิปไตย พวกเขาออก “ปาฐกถาเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ให้ความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยทั่วประเทศ ในดินแดนทุรกันดาร ต้องรอนแรม ขี่ม้า ขึ้นเกวียน หรือรถยนต์บรรทุกไปยังดินแดนต่างๆ ในชนบท (ไพโรจน์, 2529)

อำพันมีบทบาทสำคัญในการทำหนังสือฉลองวันชาติที่มีชื่อเสียงหลายเล่ม เช่น สมุดภาพที่ระลึกงานวันชาติ (2482, 2483, 2484) วารสารโฆษณาการ วารสาร SIAM Today ข้อมูลในวารสารเหล่านี้ได้รับการอ้างอิงในหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ อินโดจีน เขาทำข่าวเผยแพร่รวดเร็ว จนได้คำชมจากจอมพล ป.เสมอ วารสารมีมาตรฐานใช้ค้นคว้าเหตุการณ์ร่วมสมัยได้ดี

การหาเสียงเลือกตั้ง

วิถีสู่อำนาจตามระบอบประชาชนเป็นใหญ่

นอกจากเขาเขียนหลักวิชาการเมืองแล้วยังบุกเบิกเขียนหนังสือแนวจิตวิทยาหลายเล่ม เช่น วาทศิลป (2478) โฆษณาศิลป (2478) รวมทั้งงานเขียนแนวการพัฒนาตนเอง ให้กำลังใจผู้คนอีกหลายเล่มในช่วงนั้น เช่น หลักจิตวิทยา (2481) สำคัญที่จิตต์ใจและจิตต์ใจที่สำคัญ (2484) ความเจริญของบุคคล (2478) เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของมติมหาชนในระบอบประชาธิปไตยหาใช่เอกาธิปไตยไม่

ทั้งนี้ เขาเขียนโฆษณาศิลป ด้วยเห็นว่า ภายหลังการปฏิวัติแล้ว การพูด การเป็นนักพูดมีความจำเป็นต่อยุคสมัยทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อสื่อสารกับประชาชน แต่กลับไม่มีที่ฝึกฝน โรงเรียนก็ไม่สอน ดังนั้น เขาจึงเขียนตำราขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนฝึกฝนเอง เนื้อหาประกอบด้วย การโน้มน้าวใจคน สอนเทคนิคการพูดในที่สาธารณะ การพูดให้จับใจผู้ฟัง การพูดให้น่าเชื่อถือ

ส่วนในวาทศิลป เขาเขียนคำอุทิศถึงความสำคัญของการสื่อสารกับประชาชนว่า “หนังสืออุทิศให้กับท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย ผู้ใช้ปรีชาญาณและวาทศิลปในสภาเพื่อจรรโลงสยามรัฐธรรมนูญประเทศ สู่ความเจริญสถาพรอันสมบูรณ์”

เนื้อหาประกอบด้วย เนื้อหาเป็นการสอนการพูดในที่สาธารณะให้คล่องแคล่ว ไพเราะจับใจ และเทคนิคการพูดด้วยการยกสุภาษิตของไทยและชาวตะวันตก การฝึกด้วยการอ่านออกเสียงดังๆ การหาคำที่คล้ายกันมาแทนกัน การใช้โวหาร การเตรียมพูด การเตรียมประเด็นเฉพาะ การฝึกความจำ การเริ่มพูดและการปิดท้ายการพูด

นอกจากนี้ ในช่วงเวลานั้นยังปรากฏ โฆษณาศาสตร์ (2478) ของ จ.ปาละวิเชียร ในท้องตลาดอันสะท้อนถึงความสำคัญของการสื่อสารกับมวลชนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ อำพันทิ้งท้ายในคำนำถึงการร่วมปกป้องประชาธิปไตยว่า “ระบอบการปกครองประชาธิปไตยนี้ พลเมืองจำต้องกระฉับกระเฉงว่องไวอย่างยิ่งยวดเช่นกัน จะมัวอึดอาดอยู่มิได้ สมัยก่อนอำนาจการปกครองมิได้มาจากปวงชน ฉะนั้น พลเมืองก็จะอืดอาดขาดปัญญาได้ แต่สมัยนี้ พลเมืองต้องเป็นเครื่องจักรหัวใจของการปกครอง พลเมืองจึงจำต้องศึกษาหาความรู้ในวิชาการเมือง…

“ดุจเดียวกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม กล่าวถึงการพิทักษ์ประชาธิปไตยว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ใช่ว่าจะเปลี่ยนแต่ระบอบแล้วย่อมเป็นการเพียงพอ …ยังต้องคอยควบคุมดูแลมิให้ถอยหลังกลับเข้าสู่ที่เดิมอีก”