ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | มิตรสหายเล่มหนึ่ง |
เผยแพร่ |
คอลัมน์มิตรสหายเล่มหนึ่ง / นิ้วกลม [email protected]
เชื้อชาติมีผลต่อความฉลาดจริงหรือ
ถ้าโลกนี้มีเส้นขีดแบ่งมนุษย์ออกจากกัน ‘เชื้อชาติ’ น่าจะเป็นหนึ่งในเส้นที่ชัดเจนและหนามากเส้นหนึ่ง บางทีเราเกลียดชัง ดูถูกดูแคลน หรือหวาดกลัวกันเพียงเพราะเป็นคนละเชื้อชาติ
ในปี ค.ศ.2007 เจมส์ วัตสัน นักอณูชีววิทยา ผู้ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอร่วมกับฟรานซิส คริก และมอริส วิลคินส์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ เคยให้สัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์ทำนองว่า นโยบายการพัฒนาต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดว่าชาวแอฟริกันฉลาดเท่ากับชาวตะวันตกนั้นน่าเป็นกังวล เพราะแม้ตัวเขาจะหวังว่าทุกคนฉลาดเท่าเทียมกัน แต่ผลการทดสอบระบุว่าไม่ใช่ และผู้ที่ข้องเกี่ยวกับลูกจ้างผิวดำพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น
เขาได้รับผลกระทบมากมายจากการแสดงความคิดเห็นครั้งนั้น นักวิทยาศาสตร์เรียงหน้ามาโจมตี ถูกพักงานทางวิชาการ การบรรยายถูกยกเลิก ฯลฯ เพราะสิ่งที่พูดนั้นนับว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ
แต่วัตสันไม่ใช่คนแรกที่พูดว่า เชื้อชาติมีผลต่อความฉลาดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เขียนไว้ตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ใน The Descent of Man ว่าลักษณะสติปัญญาของชนชาติต่างๆ แตกต่างกันมาก ที่เห็นได้ชัดคืออารมณ์ และบางส่วนในเรื่องความฉลาด
ถัดจากนั้นในทศวรรษ 1960 และ 1970 การทดสอบไอคิวในสหรัฐอเมริกาแสดงผลให้เห็นว่า ชาวแอฟริกัน-อเมริกันทำคะแนนได้ต่ำกว่าชาวผิวขาวอยู่เสมอ
ขณะที่เชื้อสายเอเชียตะวันออกและชาวยิวเชื้อสายอัชเคนาซีทำได้ดีกว่าทั้งสองกลุ่ม
หนังสือ 50 Genetics Ideas You Really Need to Know โดยมาร์ก เฮนเดอร์สัน อธิบายหัวข้อนี้ไว้โดยละเอียด โดยมีข้อสรุปว่าความแตกต่างในคะแนนไอคิวของแต่ละเชื้อชาตินั้นมีจริง
แต่ก็อธิบายได้โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม
คนไม่ได้เกิดมาฉลาดกว่ากัน แต่เกิดมาในสภาพแวดล้อมต่างกัน
ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ช่องว่างระหว่างไอคิวของชาวแอฟริกัน-อเมริกันนั้นหายไปเพราะคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แปลว่าความแตกต่างก่อนหน้านี้เป็นเพราะโอกาสในชีวิตที่ไม่เท่ากัน ตั้งแต่วัยเด็ก เกิดในสภาพแวดล้อมแบบไหน กินอาหารมีคุณภาพหรือไม่ เข้าเรียนในสถานศึกษาที่ดีต่างกันอย่างไร ฯลฯ ล้วนมีผลต่อสติปัญญา
ขณะที่ความแตกต่างของเชื้อชาติไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน
จากการทำแผนที่จีโนมมนุษย์แสดงให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับความต่างด้านเชื้อชาติที่มีผลต่อความฉลาดนั้นไม่น่าจะถูกต้อง เพราะมนุษย์ทุกคนมีดีเอ็นเอเหมือนกับคนอื่นบนโลกถึงร้อยละ 99.7-99.9
ความแตกต่างกระจิ๋วหลิวนั้นทำให้แต่ละคนแตกต่างกันไปภายในกลุ่มเชื้อชาติตนเองมากกว่าจะต่างกันระหว่างกลุ่ม
พูดง่ายๆ คือ คุณกับผมมีดีเอ็นเอเหมือนกันเกือบทั้งหมด ส่วนที่ต่างระหว่างเราทำให้รูปร่างหน้าตาและบางคุณสมบัติต่างกัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้ต่างจากชาวแอฟริกัน ชาวตะวันออกกลาง ชาวตะวันตก ชาวจีน อย่างมีนัยสำคัญ
คือยีนส่วนใหญ่ของคนไทยก็เหมือนคนแอฟริกัน ตะวันออกกลาง ตะวันตก หรือจีน นั่นแล-เราจึงเป็น ‘มนุษย์’ เหมือนกัน
ตั้งแต่ในปี ค.ศ.1972 ริชาร์ด ลีวันติน นักชีววิทยาชาวอเมริกัน เสนอว่าวิทยาศาสตร์ไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดกลุ่มผิดๆ เรื่องเชื้อชาติเช่นนี้ เพราะจะนำมาซึ่งการแบ่งแยกเป็นกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
กระนั้น เชื้อชาติก็มีความหมายทางชีววิทยาอยู่
เพราะถ้าแบ่งกลุ่มตามสีผิว เช่น ผิวดำ ผิวขาว หรือผิวชาวเอเชีย ก็อาจช่วยให้ทำนายบรรพบุรุษได้ ซึ่งความเข้าใจเรื่องนี้มีความสำคัญในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ กลุ่มเชื้อชาติบางกลุ่มอาจมีโอกาสเป็นโรคบางอย่างมากกว่าเชื้อชาติอื่น เช่น โรคโลหิตจางซิกเคิลเซลส์ที่พบมากในผู้มีพื้นเพเป็นคนแอฟริกันและเมดิเตอร์เรเนียน โรคมัลติเพิลสเคลอโรซิสพบมากในชาวผิวขาว และโรคเตย์-แซกส์พบมากในชาวยิวเชื้อสายอัชเคนาซี
เชื้อชาติยังมีประโยชน์ต่อการทำนายการตอบสนองต่อยาบางตัวอีกด้วย เช่น ยาระงับประสาทโคลซาปีนมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นผลข้างเคียงที่รุนแรงในกลุ่มที่มีเชื้อสายแอโฟร-แคริบเบียน และยารักษาโรคหัวใจ BiDil อนุญาตให้ใช้ได้กับกลุ่มอเมริกันผิวสีเท่านั้น
มีการศึกษายีนที่เป็นสาเหตุของโรคโดยแยกกลุ่มเป็น 4 สายพันธุ์ คือ ชาวยุโรป ชาวไนจีเรียโยรูบะ ชาวจีนฮั่น และชาวญี่ปุ่น เพื่อวิจัยพันธุศาสตร์ของประชากรที่หลากหลายอันนำมาซึ่งโรคที่แตกต่างกัน
ฉะนั้น ในแง่หนึ่งการทำความเข้าใจความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรโลกก็นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาล
ทุกวันนี้หากใครสักคนบอกว่าเชื้อชาติตัวเองฉลาดกว่าเชื้อชาติอื่นก็เตรียมลานจอดรถกว้างๆ ให้คณะทัวร์ไปลงได้เลย
แต่ถ้าย้อนกลับไปในยุคชาร์ลส์ ดาร์วิน ซึ่งประชาชนผิวขาวเป็นผู้ทรงอิทธิพล ปัญญาชนมากมายในยุคนั้นเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้มีสายพันธุ์เดียวและสรุปว่าคนผิวดำอยู่ในกลุ่มของมนุษย์ที่พัฒนาช้ากว่า
จากนั้นจึงมีการค้นพบฟอสซิลที่บ่งชี้ว่ามนุษย์มีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกา ตามมาด้วยการยืนยันจากการวิจัยพันธุกรรมมากมาย ดีเอ็นเอแสดงให้เห็นว่าผู้คนในโลกมีลักษณะสัมพันธ์กันอยู่มาก มีความเหมือนมากกว่าแตกต่าง โดยฟอสซิลทั้งหมดที่อายุมากกว่าสองล้านปีถูกค้นพบในแอฟริกา
ส่วนคำถามว่าแหล่งกำเนิดมนุษย์ดั้งเดิมอยู่ที่ไหน มีคำตอบสองทฤษฎีด้วยกัน
ทฤษฎี ‘มาจากแอฟริกา’ อธิบายว่าเรามีวิวัฒนาการมาจากที่เดียวกัน จากนั้นก็โยกย้ายถิ่นฐาน ขับไล่ลิงยักษ์ญาติๆ เราจนครองโลกอย่างทุกวันนี้
กับอีกทฤษฎีที่เสนอว่ามนุษย์มีจุดเริ่มต้นจากหลายแหล่ง วิวัฒนาการแยกกัน แล้วผสมกันข้ามกลุ่มนักเดินทางชาวโฮโมเซเปียนส์จนกลายมาเป็นสายพันธุ์ปัจจุบัน
ฟอลซิลที่ค้นพบนั้นสนับสนุนทฤษฎี ‘มาจากแอฟริกา’
ทฤษฎีบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกันนี้เสนอว่า เมื่อเจ็ดหมื่นปีที่แล้วมีคนหลายพันคนอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยมีกลุ่มเล็กๆ เดินทางข้ามทะเลแดงมา ลูก-หลานของคนกลุ่มนี้ย้ายถิ่นกระจายตัวไปตามส่วนต่างๆ ของโลก กลายมาเป็นผู้คนเชื้อชาติต่างๆ ที่ไม่ใช่แอฟริกัน
กลุ่มเหล่านี้จึงควรจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยกว่าชาวแอฟริกัน เพราะชาวแอฟริกันมีประชากรมากกว่าในตอนต้น ทำให้หลากหลายกว่า
ซึ่งดีเอ็นเอก็เผยให้เห็นว่า ความหลากหลายทางพันธุกรรมของคนในกลุ่มแอฟริกันมีมากกว่าความหลากหลายระหว่างกลุ่มแอฟริกันกับกลุ่มเชื้อชาติอื่น พูดอีกอย่างคือ คนแอฟริกันพันคนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่ถ้าไปวางเทียบกับเชื้อชาติอื่นก็อาจเจอผลที่คล้ายกันมาก อาทิ ชาวฟินแลนด์อาจมีดีเอ็นเอคล้ายกับชาวแอฟริกันบางคนมากกว่าที่จะเหมือนชาวสวีเดน!
ทั้งที่ถ้ามองภายนอกอาจเห็นความต่างมโหฬารที่สีผิว
ยิ่งห่างไปจากแผ่นดินแม่ (แอฟริกา) ความเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอของมนุษย์ก็ลดรูปแบบลงตามระยะห่าง
ยิ่งไกลก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงน้อย หลากหลายน้อย เช่น ชาวอะบอริจิ้นในออสเตรเลียหรือคนอเมริกันพื้นเมือง
มีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์รุ่นแรกน่าจะเป็นคนผิวดำ ส่วนเชื้อชาติผิวสีอ่อนนั้นมาจากการปรับตัวให้อาศัยอยู่ได้ในละติจูดที่สูงขึ้น ระดับสีของเมลานินที่มาก (ผิวเข้ม) จะป้องกันผิวจากการถูกแสงอัลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็ง
คนที่อยู่ในเขตหนาว (แดดน้อย) จึงมีเมลานินน้อย (ผิวขาว) เพราะเมลานินเป็นตัวยับยั้งการสร้างวิตามินดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ คนยุโรปจึงมีสีผิวที่อ่อนกว่า แม้เสี่ยงต่อมะเร็งมากขึ้น แต่มะเร็วผิวหนังมีอันตรายน้อยกว่าการขาดวิตามินดี ซึ่งถ้าขาดไปจะทำให้เป็นโรคกระดูกอ่อน
สีผิวที่ต่างกันของเราจึงมีที่มาจากเหตุผลของถิ่นอาศัย ไม่ควรเป็นสิ่งที่จะนำมาเหยียดหยามกันแต่อย่างใด
แล้วอะไรทำให้เราเป็นมนุษย์?
หากเทียบจีโนมของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น มียีนจำนวนน้อยมากที่เป็นลักษณะเฉพาะที่มีแต่ในมนุษย์เท่านั้น ส่วนใหญ่ก็มีในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นด้วย อย่างที่ทราบกันดีว่าร้อยละ 99 ของยีนมนุษย์เรานั้นคล้ายกับลิงชิมแปนซี ร้อยละ 97.8 เหมือนของหนู
มียีนที่ชื่อ FOXP2 ซึ่งมีอยู่ทั้งในตัวมนุษย์ ชิมแปนซี และหนู แต่ที่อยู่ในตัวมนุษย์กลับแตกต่างจากที่อยู่ในชิมแปนซีสองแห่ง แตกต่างจากในหนูสามแห่ง
ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ นี้อาจส่งผลต่อวิวัฒนาการในการพูด เพราะคนที่มีความผิดปกติของ FOXP2 จะมีปัญหาเรื่องภาษา
หนูกับชิมแปนซีซึ่งมีบรรพบุรุษร่วมกันมาจนถึง 75 ล้านปีที่แล้ว มีโปรตีน FOXP2 ซึ่งมีกรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบต่างกันแค่ตัวเดียว มนุษย์กับชิมแปนซีเพิ่งแยกจากกันเมื่อ 7 ล้านปีที่แล้ว โปรตีน FOXP2 ของมนุษย์ต่างจากชิมแปนซีด้วยกรดอะมิโนเพียงสองตัว
อีกปัจจัยที่เป็นไปได้คือส่วนของดีเอ็นเอที่เรียกว่า HAR1 ซึ่งของมนุษย์ต่างจากชิมแปนซีไม่น้อยกว่า 18 แห่ง ส่วนนี้อาจมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในวิวัฒนาการทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นที่ขนาดสมองและความฉลาด (ในนิยามมนุษย์)
สิ่งนี้เองอาจเป็นข้อแตกต่างที่โดดเด่น-ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์
คราวนี้มาเทียบมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง ร้อยละ 99.9 ของจีโนมของทุกคนบนโลกนี้มีความคล้ายคลึงกัน เรามียีนชนิดเดียวกัน
กระนั้น ร้อยละ 0.1 ของดีเอ็นเอที่ไม่เหมือนกันนั้นก็สร้างความแตกต่างอยู่ไม่น้อย
เพราะในจีโนมมีถึง 3,000 ล้านคู่เบสซึ่งยังมีที่ว่างมากพอถึง 3 ล้านที่สำหรับสร้างความแตกต่างในดีเอ็นเอของมนุษย์ได้
ความแตกต่างนี้เกิดจากการสุ่มแทนที่เบสหนึ่งตัวบนดีเอ็นเอ ตรงบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า Single Nucleotide Polymorphism หรือ SPNs ชื่อฟังดูน่าเวียนหัว
แต่เอาเป็นว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้การแสดงออกของยีนเปลี่ยนไปทำให้พันธุกรรมในแต่ละบุคคลต่างกันออกไป ซึ่งเราเห็นได้จากสีผม สีตา หรืออาจก่อให้เกิดโรคที่แตกต่างกัน ฯลฯ อีกมากมาย
คนจึงเหมือนกัน และไม่เหมือนกัน
คำถามคือ ในความเหมือนและไม่เหมือนนี้ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและเข้าใจในความต่าง หรือใช้ความต่างร้อยละ 0.1 ของดีเอ็นเอ…
มาเป็นต้นเหตุของอคติ