จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (14)

ที่มาภาพ : http://www.kukrit-pramoj.org

เกิดมาทั้งชีวิตเติบโต เริ่มหันมาสนใจการเมืองด้วยบังเอิญไปหลงใหลเสน่ห์ของสื่อหนังสือพิมพ์จนถอนตัวไม่ขึ้นถึงกับทอดทิ้งศาสตร์และศิลป์ที่ได้เล่าเรียนมาด้วยความรักไปเสียจนเกือบหมดเวลา

ช่วงเวลาที่สนใจการเมือง ทำงานหนัก ศึกษาเพื่อเรียนรู้อยู่กับปรมาจารย์ระดับปราชญ์ของประเทศ อดีต “นายกรัฐมนตรี (คนที่ 13)” ซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งครู ศิลปิน นักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เป็น “บุคคลระดับโลก” แต่กลับได้รับสมญานามเมื่อเข้าสู่การเมืองในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ว่า “เฒ่าสารพัดพิษ” บ้างก็ว่าเป็นคน “ร้อยลิ้นกะลาวน” บ้าง?

ยังไม่เคยเห็นว่า “นายกรัฐมนตรี” ที่ล่องลอยเหาะเหินมาจากไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้มาจากการ “เลือกตั้ง” ของประชาชน จะอยู่ในการเมืองได้อย่างยั่งยืนสง่างาม และเมื่อถึงเวลาที่ก้าวลงส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วย “ความบอบช้ำ” และ “บาดแผล”

มีแต่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ท่าน “ประธานองคมนตรี” ในปัจจุบันเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและทุกฝ่าย จนสามารถบริหารบ้านเมืองอยู่ได้ถึง 8 ปีเศษ

เพราะท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ใจซื่อมือสะอาด เกลียดชังการคอร์รัปชั่นเป็นที่สุด คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลจึงต้องเดินตามแนวทาง และท่านก็ยังเกลียดการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร

จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจสักครั้งเดียว

แต่เบื้องลึกเบื้องหลังปรากฏว่า “ลูกป๋า” ทั้งหลาย ตั้งแต่ทีมงานที่ปรึกษา นายทหารฝ่ายเสนาธิการ กระทั่งนายทหารระดับหัวขบวนของกองทัพนั้นต้องทำงานหนักทุกครั้งทุกหนเมื่อมีการยื่นญัตติ “เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

ทำให้เศรษฐกิจในแวดวงของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติเฟื่องฟู การเงินแพร่สะพัดจนฐานะดีขึ้นผิดหูผิดตาไปตามๆ กันทีเดียว

 

นายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากกองทัพ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นับแต่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นต้นมา แม้จะพยายามจะย้อนกลับไปเดินตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยลงสมัครรับเลือกตั้ง (ซ่อม) ในจังหวัดร้อยเอ็ดจนสร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ในการต่อสู้กันด้วยการโปรยเงิน และทำสงครามการหาเสียงจนเป็นประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยที่การเลือกตั้ง (ซ่อม) ที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดต้องลุกขึ้น “ลาออกกลางสภา” ถึงแม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากนายทหารของกองทัพ

อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นฝ่ายค้านได้ร่วมกันเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี พ.ศ.2522 แต่รัฐบาลก็สอบผ่านไปได้ เพราะมีเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาให้การสนับสนุน

แต่สถานภาพของรัฐบาลส่อให้เห็นว่าไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป

สภาพภาวการณ์ของบ้านเมืองขณะนั้นทรุดลงทุกๆ ทางรวมทั้งข่าวลือเรื่อง “รัฐประหาร” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อหนังสือพิมพ์ไปสัมภาษณ์อาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านกล่าวตอบว่า “ที่บ้านเมืองพังลงทุกวันนี้เพราะนายกรัฐมนตรีไม่มีความรู้ ความชำนาญ ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำ”

ปลายปี พ.ศ.2522 รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ถูกกดดันอย่างหนักแทบทุกทาง ประกอบกับปัญหาเรื่องเศรษฐกิจย่ำแย่ ปัญหาน้ำมันราคาแพง รัฐบาลถูกสภาคว่ำกฎหมาย แม้จะพยายามดิ้นรนหาทางออกอื่นๆ เช่น การก่อตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งคิดกันว่ารัฐบาลจะต้อง “ยุบสภา” แต่นายกรัฐมนตรีเลือกลุกขึ้นลาออกกลางสภาดังกล่าว

ไม่ถึงกับโดนขับไล่ ถูก “ปฏิวัติ รัฐประหาร” แต่ก็ถูกกดดันจนต้องลาออกกลางสภาเป็นการรูดม่านปิดฉากนายกรัฐมนตรี นายทหารของกองทัพบกที่มาจากการปฏิวัติ

ถึงจะไม่บาดเจ็บมาก แต่ก็ไม่สง่างาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้เป็นการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศนี้แม้แต่น้อยนิด

 

จนถึง “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” (ป๋าเปรม) นายทหารจากกองทัพบกเช่นเดียวกัน ซึ่งถึงแม้จะค่อนข้างประสบความสำเร็จในการบริหารบ้านเมือง กระทั่งเศรษฐกิจเริ่มโงหัวขึ้น ก่อนเข้าสู่รัฐบาลประชาธิปไตย แต่ไม่วายจะถูกกลุ่ม “ยังเติร์ก” ทำการ “ปฏิวัติ” หากแต่ไม่สำเร็จ

ประชาชนคนไทยรู้สึกว่าทำมาหากินได้คล่องตัวขึ้น และเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการ “เลือกตั้ง” มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา

แต่ว่าประชาธิปไตยในประเทศของเราไม่ได้พัฒนาไปเท่าที่ควร รัฐบาลจบลงด้วยการถูกปฏิวัติโค่นล้ม ขณะจะทำการแต่งตั้งนายทหารใหญ่ให้เป็นรัฐมนตรี

เนื่องจากผู้นำเหล่าทัพได้ส่งตัวแทนไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีจนเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ว่าอย่าตั้งนายทหารนอกราชการคนนั้น ท่านรับปากแต่กลับไม่ทำตามคำพูดจึงถูก “ยึดอำนาจ”

ขณะนี้ทั้งนายทหารรุ่นพี่ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2534 คนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น “รัฐมนตรี” ท่านที่เป็นตัวกลางในการเจรจาประสานงาน และ (อดีต) นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสียชีวิตทั้งหมดแล้ว

เหลือเพียงนายทหารระดับผู้นำเหล่าทัพซึ่งเป็นกลุ่มทำการ “ยึดอำนาจ” ครั้งนั้น ไม่กี่คน ซึ่งก็แก่เฒ่ากันมากมาย ตัวเลขอายุก็เดินทางจนเข้าใกล้จะขึ้นสะพานพระราม 9 กันทั้งนั้น เอ่ยชื่อก็รู้จักกันเป็นอย่างดีทั่วไปเพราะมีคำว่า “บิ๊ก” นำหน้ากันทุกคน

ซึ่งก็คงไม่จำเป็นไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ หาอะไรต่อมิอะไรกันต่อไปอีก

 

การ “ยึดอำนาจ” เป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในความคิดของกลุ่มนายทหารทุกเหล่าทัพที่เรียกว่ารุ่น 0143 มันเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดมาก่อน บางทีอาจมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นก็ไม่อาจรู้ได้

เมื่อ “ยึดอำนาจ” สำเร็จแล้วจะทำอย่างไรกันต่อไปเมื่อหัวขบวนคือ พลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งได้ถูกวางตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรี กลับไม่ต้องการ แต่ไปเชิญท่าน “อานันท์ ปันยารชุน” ให้มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทนเสีย 1 ปี

นับว่าเป็นที่ผิดหวังสำหรับทีมงานผู้เสี่ยงตายยึดอำนาจพอสมควร

“พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล (บิ๊กเต้)” (อดีต) ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการวางแผนจับตัวนายกรัฐมนตรี ในปี 2534 และต่อมาได้เป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมอดีตผู้แทนราษฎรมาอยู่ในพรรคเดียวกันชื่อพรรค “สามัคคีธรรม” ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งได้ผู้แทนฯ เข้ามามากกว่าพรรคอื่นๆ และสนับสนุนให้ “พลเอกสุจินดา คราประยูร” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

การก่อตั้งพรรค “สามัคคีธรรม” ในครั้งนั้นสร้างความร่ำรวยให้กับลูกน้องคนใกล้ชิด ผู้แสวงหาประโยชน์ที่กล้าหาญไม่น้อย แต่ในที่สุดทุกวันนี้ผู้เบียดบังเหล่านั้นก็เสียชีวิตกันไปแล้วเกือบทั้งหมด

พลเอกสุจินดา คราประยูร (บิ๊กสุ) ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมความตั้งใจทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพียงลาออกจากตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” มารับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เกิดการปะทะคารมกันกลางสภากับนายเก่าระดับ “บิ๊ก” ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเช่นเดียวกันระหว่างแถลงนโยบาย

ที่สุดลุกลามจนเกิดม็อบปะทะกันมีการใช้กำลังปราบปรามรุนแรงกลางถนนราชดำเนิน จากการนำของนายทหารจากกองทัพบกรุ่นพี่ รุ่นน้องด้วยกัน

เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” (2535) เสียเลือดเสียเนื้อไปพอสมควร เป็นความล้มเหลวของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกท่านหนึ่ง ที่ลงจากเก้าอี้ในขณะที่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากทำให้การเมืองในแนวทางประชาธิปไตยเว้นวรรค หรือสะดุดหยุดลงอีก ท่านเองก็แค่ได้ชื่อว่าเป็นเพียง (อดีต) นายกรัฐมนตรีเท่านั้น

อาจารย์คึกฤทธิ์ ในปี พ.ศ.2534 สุขภาพไม่เอื้ออำนวยในการจะยุ่งเกี่ยว แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเสียแล้ว ก่อนที่ท่านจะลาจากในปี พ.ศ.2538

 

มาถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายทหารจากกองทัพบก ซึ่งได้ “ยึดอำนาจ” เมื่อ พ.ศ.2557 มานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกว่า 3 ปีแล้ว ผลงานบริหารบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร? ไม่อยากจะวิจารณ์ ได้แต่จำขี้ปากคนอื่นเขามาว่า “เศรษฐกิจ” ไม่ดี ไม่ราบรื่นเดินหน้า แถมมาตรา 44 แก้ไขโน่นนี่ปลิวว่อนทั่วไปหมด เส้นทางการเมืองก็ไม่ชัดเจนว่าจะอยากอยู่ต่อหรือไม่ อย่างไร? เพียงแต่หลายสิ่งหลายอย่างที่รอบตัวปูแนวทางไว้บ่งชี้ว่าจะแอบๆ จองเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ต่อไป แต่ไม่ตั้ง “พรรคการเมือง” ไม่ลงสมัครรับ “เลือกตั้ง”

คิดถึงอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นอย่างยิ่ง ระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2518 ถูกเหยียบย่ำด่าว่าสารพัดมากมายต่างๆ นานา ท่านกลับอดทนทั้งๆ ที่เป็นลูกเจ้า ลูกนาย ได้รับการเลี้ยงดู ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี ก็เพียงเพราะต้องการรักษา “ประชาธิปไตย” คงอยู่ไว้ให้ได้ ทั้งที่เข้าใจ “โครงสร้างอำนาจ” และ “ประชาธิปไตย” ของประเทศนี้เป็นอย่างดีกว่าใคร

วันเวลาผ่านเลยมากว่า 40 ปี ไม่มีการพัฒนา “ประชาธิปไตย” อะไร? แต่อย่างใดทั้งสิ้น ยังคงใช้วิธีแบบเดิมๆ คือใช้กำลังเข้า “ยึดอำนาจ” กันอย่างสบายๆ

ประชาชนจะหวังกันได้อย่างไรว่า เมื่อไร? จะได้ปกครองตัวเอง และจะได้อยู่ดี มีกิน มีใช้!