เจาะใจ ‘ณัฐวุฒิ-ลูกนัท’ ‘เสื้อแดง-อดีตนกหวีด’ ผู้ร่วม ‘คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เจาะใจ ‘ณัฐวุฒิ-ลูกนัท’

‘เสื้อแดง-อดีตนกหวีด’

ผู้ร่วม ‘คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์’

 

“คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ผ่านพ้นไปท่ามกลางสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด

ด้านหนึ่ง แม้รัฐบาลจะดูไม่สะทกสะท้านกับการเคลื่อนไหวของมวลชน และยังเลือกหวด “ไม้แข็ง” แถมท้ายใส่ผู้ชุมนุมบางส่วนเช่นเคย

แต่อีกด้าน ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าแนวร่วมของม็อบกำลังขยับขยายกว้างขวางขึ้นตามลำดับ

โดยเฉพาะการออกมาเปิดตัวร่วมชุมนุมของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำ นปช.-คนเสื้อแดง และ “ไฮโซลูกนัท ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย” อดีตแนวร่วมนกหวีด-กปปส.-ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งออกมาประกาศขอโทษอดีตคู่ขัดแย้งทางการเมืองหลายราย

ก่อนหน้านั้น มติชนทีวีมีโอกาสสัมภาษณ์ณัฐวุฒิและไฮโซลูกนัท นี่คือความคิดเห็นบางส่วนของทั้งคู่ ที่อาจใช้อธิบายสังคมการเมืองไทยซึ่งกำลังก้าวถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกคำรบ ได้ไม่มากก็น้อย

‘ณัฐวุฒิ’ กับ ‘เครือข่ายไล่ประยุทธ์’ (อหต.)

ให้เข้าใจตรงกันนะครับว่า ที่ออกมา ผมไม่ได้ประกาศตัวเป็นผู้นำ ไม่ได้ประกาศตัวเป็นแกนนำ แต่ผมประกาศตัวเป็นคนทำงาน ถามว่าเป็นคนทำงานขององค์กรอะไร ก็ไม่ต้องตั้งองค์กรอะไรให้ซับซ้อน ผมใช้ชื่อ “เครือข่ายไล่ประยุทธ์” นี่แหละ เอาตรงๆ ซื่อๆ ดังนั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะประสานกับแต่ละส่วน ในฐานะคนทำงานของเครือข่ายไล่ประยุทธ์

เครือข่ายไล่ประยุทธ์นี่ชื่อย่อผมก็ตั้งว่า “อหต.” บ้านเมืองวันนี้มันไม่มีหลักเกณฑ์อะไรอยู่แล้ว บ้านเมืองเวลานี้ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ เขาอยากจะคิดอยากจะทำอะไรก็ตามอำเภอใจ เขาอยากจะยัดคนไร้ความสามารถแบบนี้ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี 7-8 ปี เขาก็ทำกันหน้าตาเฉย

เมื่อบ้านเมืองมันไม่มีหลักเกณฑ์อะไร ตัวย่อมันก็ไม่ต้องมีหลักเกณฑ์อะไรไปบังคับล่ะครับ เครือข่ายไล่ประยุทธ์ผมจะย่อว่า อหต. ผมก็เอาของผมแบบนี้

ที่เขา (คนหนุ่ม-สาว) ประกาศว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” เวลาผมมองไปรอบๆ โดยเฉพาะมองรอบตัวเอง แล้วก็มองพี่น้องผมเป็นคนเสื้อแดงที่ออกไปเดินกับหนุ่ม-สาว ผมว่าเวลาพูดความหมายมันต่างกัน

คำว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ของรุ้ง กับ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ของป้าเป้า ไม่น่าจะเท่ากัน ดังนั้น ในวัยแบบพวกผม ผมจะไปบอกว่าพี่น้องทั้งหลายให้มันจบที่รุ่นเรา คนหนุ่มคนสาวเขาแหงนหน้ามามอง เขาก็ชักลังเลเหมือนกันนะครับว่ารุ่นไหนจะจบก่อน

ดังนั้น ก็เลยบอกว่า “ให้มันจบที่รุ่นมัน” มันในที่นี้ก็คืออำนาจเผด็จการทั้งหลาย ให้มันจบที่รุ่นนี้แหละครับ อย่าให้มีรุ่นต่อๆ ไป

คือไม่ใช่เฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยที่เติบโตมารุ่นต่อรุ่น ฝ่ายเผด็จการก็เหมือนกัน โรงเรียนนายร้อยทหารบก ด้วยความเคารพสถาบันเขานะครับ ไม่ได้ไปว่าก้าวล่วงอะไรสถานศึกษา แต่ว่าผู้นำเผด็จการที่เป็นผลผลิตมาจากสถาบันดังกล่าวหลายคนแล้ว เขานับรุ่นกันนี่ครับ ใครรุ่น 1 ใครรุ่น 6 อย่าง พล.อ.ประยุทธ์เขาบอกเป็นเตรียมทหารรุ่น 12 อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้น สำหรับผม “ให้มันจบที่รุ่นมัน” นี่แหละครับ และจะต้องไม่มีรุ่นต่อๆ ไป ให้รุ่นน้องรุ่นหลังจากคนพวกนี้เคารพในประชาชน เจ็บจำความรู้สึกที่ประชาชนเขาขับไล่ เข็ดหลาบกับการเดินมาด้วยอำนาจนอกระบบ แล้วบ้านเมืองย่อยยับเสียหาย

และจะพูดต่อไปเลยนะครับว่า บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลาย ท่านมองดูความจริงของประเทศ ท่านมองดูความเจ็บปวด ความสูญเสียของประชาชนบ้าง ท่านยังจะอุ้ม พล.อ.ประยุทธ์กันไว้แบบนี้ โดยประชาชนตายโชว์หน้าจอทีวีกันทุกวันทุกคืน ท่านทำได้จริงเหรอครับ?

แล้วถ้าหากว่าวันหนึ่งประชาชนเขาไม่ยอมรับ เกิดเป็นพลังสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์จะแน่แค่ไหน ต้านทานพลังประชาชนไม่ได้ต้องออกไป โดยที่ท่านอุ้ม หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ตายคามือพวกท่านด้วยนะครับ ไม่ใช่เสียชีวิต แต่ว่าตายทางอำนาจ

สิ่งที่มันจะเกิดก็คือว่าสถานภาพของท่าน องค์กรของท่าน เครื่องแบบของท่าน จิตวิญญาณที่ท่านบอกว่าท่านมีท่านเป็น มันจะย่อยยับในความรู้สึกประชาชนไปด้วย คุ้มเหรอครับที่ว่าจะฝืน จะดื้อจะดึง จะไปอุ้มกันขนาดนี้?

ผมไม่ได้ว่า (ตัวเอง) แน่ เก่งกาจอะไรนะครับ ออกมาก็รู้ตัวอยู่ ว่าเสียงไล่น่ะ พล.อ.ประยุทธ์แกไม่ฟังหรอก และผมไล่ยังไงแกก็ไม่ไป แต่ผมก็จะไล่ และผมเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากก็เห็นด้วยกับสิ่งนี้

ดังนั้น เดินเต็มตัวครับ เครือข่ายไล่ประยุทธ์ ชื่อย่อ อหต. จะทำเต็มที่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นทางรอดให้กับประชาชนคนไทย

คำขอโทษของ ‘ไฮโซลูกนัท’

จริงๆ แนวความคิดไม่ได้เปลี่ยน แต่เราว่ากันไปตามเหตุและผล ข้อมูลที่ได้รับ แล้วก็ความถูกต้อง ก็อย่างที่ผมเขียนไป ตอนนั้น ด้วยวัยวุฒิหรือด้วยข้อมูลที่เรามี มันเป็นข้อมูลข้างเดียว

แล้ววันนี้ ผลลัพธ์ที่ระบอบนี้ ผลของการกระทำของสิ่งสิ่งนั้นที่ได้มา ผลลัพธ์มันชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายมากต่อระบอบประชาธิปไตย ต่อการพัฒนาของประเทศ และสถานการณ์โดยรวม

เพราะฉะนั้น คือมันไม่มีประโยชน์ที่จะกลับไปคิดว่ามันมีเหตุผลดีมากน้อยแค่ไหนที่จะออกมาทำอะไร แต่ในเมื่อผลลัพธ์มันออกมาแบบนี้แล้ว มันมีผู้คนที่เดือดร้อนจากสิ่งที่เราทำ ก็ไม่ขอแก้ตัวใดๆ และต้องยอมรับผิดไปตามสภาพเลยจริงๆ ว่าสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าตอนนั้นเจตนาของเราจะดีขนาดไหนก็ตาม มันไม่สำคัญ ก็คือเราทำผิด วันนี้สิ่งสำคัญคือต้อง “ขอโทษ”

มันมีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจ พอหลังเลือกตั้งเสร็จผมเงียบไปนานเป็นปีกว่าที่จะออกมาพูด ในแง่หนึ่งก็คือยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไรกันแน่? แล้วก็ยังไม่มีโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งนั้น

บังเอิญมีเพื่อนที่เป็นสื่ออิสระ เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และ (เขา) ได้แนะนำมาว่าถ้าเกิดผมเดินแบบ (ปัจจุบัน) นี้ มันจะสวยมาก และมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง

เพื่อนคนนี้ได้มาแนะนำ คือผมชอบมุมมองของเขา เขามองในฐานะสื่ออิสระ เขาพูดว่าสิ่งที่เขาอยากเห็นในสื่อคืออะไร แล้วพอผมได้ฟังคำแนะนำของเขาก็เรียกได้ว่า “เบิกเนตร” เลย แบบว่าโอ้โห! มันจะดีมากๆ เลย ถ้าเราทำสิ่งนี้สำเร็จ

ดีต่อทั้งตัวเอง ดีต่อทั้งความรู้สึกของคนที่เราได้ทำร้ายเขา ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม กับคนที่เราได้ล่วงเกินเขา ก็เลยตัดสินใจว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากจะทำ และเราจำเป็นที่จะต้องทำ

(ไฮโซ-ชนชั้นนำ) หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับการที่มีม็อบออกมาเรียกร้อง เพราะว่าสังคมไทยเราทุกครั้งที่มีม็อบมันไม่เคยจบสวยเลย แล้วก็ความวุ่นวายจากการมีม็อบเองมันก็เป็นปัญหาของตัวมันเองด้วย แต่ถ้าถามว่าทุกครั้งที่มีม็อบมันมีความจำเป็นที่จะต้องมีไหม? มันก็มีจริงๆ

คือจริงๆ รัฐบาลสามารถที่จะประนีประนอมแล้วก็หาจุดตรงกลางร่วมกัน แล้วก็ความทุกข์ร้อนของผู้ที่เดือดร้อนและผู้ที่ออกมาชุมนุม รัฐบาลสามารถทำ (แก้ไข) ได้ง่ายมาก แต่รัฐบาลไม่ทำ รัฐบาลเลือกที่จะมองประชาชนเป็นศัตรู

เรามีนายกฯ ที่คุ้นชินอยู่กับบริบทของคำว่ารบๆๆ สู้ๆๆๆๆๆ สู้กับใครก็ไม่รู้ คุณเอาอาวุธมาสู้กับโควิดก็ไม่ได้ โควิดเขาก็ไม่ได้สู้กับคุณด้วย ประชาชนก็ไม่ได้อยากสู้กับคุณ แต่คุณก็พูดว่าสู้อยู่นั่น

เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่นายกฯ สามารถคิดได้ว่าคุณต้องไม่สู้กับประชาชน คุณต้องดูแลประชาชน ดูแลสารทุกข์สุกดิบของประชาชน มันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีม็อบ แต่ถ้าเกิดคุณคิดไม่ได้ ความจำเป็นที่จะต้องมีม็อบ มันก็มีอยู่

ทุกคนที่ผมรู้จักตอนนี้ เรียกได้ว่า 100 เปอร์เซ็นต์ จะ 120 เปอร์เซ็นต์เลยก็ได้ ไม่มีใครเลยครับที่มีความไว้วางใจให้นายกฯ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ อาจจะยกเว้นเพียงแต่ความเห็นของคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือเปล่าไม่รู้?

ส่วนวิธีการที่จะเปลี่ยนผู้นำ หรือจะเปลี่ยนรัฐบาล หรืออะไรที่ลงลึกไปกว่านั้น ไม่ว่าเรื่องของรัฐธรรมนูญหรือระบบการเลือกตั้ง อันนั้นก็มีหลายความคิดเห็น ก็สามารถคุยถกเถียงกันได้ว่าวิธีไหนดีที่สุด

ทุกวันนี้ ในทุกแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย ก็คือทุกคนก็พยายามทำสิ่งสิ่งนั้นอยู่ เราจะเดินหน้าแบบไหนดี เรียกร้องแบบไหนให้มันสร้างสรรค์ที่สุด และได้ผลลัพธ์ออกมาที่ดีที่สุด ทุกวันนี้หลายๆ คนก็ยังรอคำตอบอยู่ อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ทุกคนก็พยายามลองหลายๆ วิธีการ

การออกมาเรียกร้องทำคาร์ม็อบก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่เราคิดว่าอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ ทางคุณไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) กับอาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล) เอง ก็ได้ทำกลุ่ม Re-Solution เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ดีมากๆ จริงๆ ก็แนะนำให้ไปหารายละเอียดดู

มีหลายคนที่พยายามทำหลายๆ อย่าง เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของประเทศไทยอยู่ครับ