วัคซีน vs อาวุธ สงครามและความตาย!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

วัคซีน vs อาวุธ

สงครามและความตาย!

“ความผิดพลาดที่สำคัญที่สุดคือ การไม่ยอมรับว่า คนเราก็มีแนวโน้มที่จะทำความผิดพลาดได้”

ลิดเดล ฮาร์ต (นักยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษ)

 

สังคมไทยจากปี 2563 ถึง 2564 เป็นเสมือนอยู่ในภาวะสงคราม ในแต่ละวันมีจำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิตอย่างคาดไม่ถึง

เสมือนว่าสังคมในแนวหลังรอฟังข่าวจากแนวหน้า วันนี้จะมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเท่าใด

สังคมไทยอาจเคยมีประสบการณ์เช่นนี้ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ที่มีจำนวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตในแต่ละวันปรากฏในรายงานข่าว แต่ครั้งนั้นผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นทหาร ตำรวจ และเป็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่การรบจริงๆ

สงครามจบลงนานมากแล้ว… สงครามเย็นในสังคมไทยสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 2526 นานจนเราแทบไม่มีจินตนาการถึงการสูญเสียของผู้คนจำนวนมากในสังคม แม้มีการสูญเสียเกิดในช่วงสงกรานต์ แต่เป็นเพียงระยะเวลาไม่กี่วันในช่วงเทศกาลเท่านั้น

แต่สงครามที่เรากำลังเผชิญร่วมกันในวันนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ และยังมองไม่เห็นว่าจบลงเมื่อใด หากยังคงมีการสูญเสียเกิดขึ้น แต่ครั้งนี้ผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือนที่เป็นคนทั่วไป และสาเหตุของการสูญเสียไม่ใช่การรบ กระนั้นระดับของการสูญเสียที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นเหมือนสงครามในตัวเอง เพราะมีระดับของการสูญเสียมาก

หากกล่าวในเชิงเปรียบเทียบแล้ว เราอาจจะอยู่ในภาวะสงครามจริง

แต่ไม่ใช่สงครามการทหารที่บรรดานักการทหารคุ้นเคย

ครั้งนี้ไม่ใช่ “สงครามนอกแบบ” เช่นที่เกิดในชนบทไทย

หรือไม่ใช่ “สงครามตามแบบ” ที่สอนตามหลักสูตรในโรงเรียนทหาร

หากสังคมไทยวันนี้กำลังเผชิญกับ “สงครามโรคระบาด” เช่นที่สังคมอื่นๆ ทั่วโลกต้องเผชิญไม่แตกต่างกัน

เป็นสงครามที่ท้าทายต่อการดำรงอยู่ทั้งของชีวิตและของสังคมเป็นอย่างยิ่ง

การบริหารจัดการของรัฐในวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นสงครามการทหารหรือสงครามโรคระบาดเป็นประเด็นสำคัญ

และผู้นำรัฐในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องรู้ในเบื้องหลังว่า อะไรคือความเร่งด่วน… อะไรที่ควรมาก่อน

 

อาวุธ vs โรคระบาด!

แล้วข้าศึกก็เปิดการโจมตีสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง จนเห็นถึงการสูญเสียอย่างไม่คาดคิด โดยในวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นถึง 9,692 คน และมีผู้เสียชีวิต 67 คน และต่อมาในวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม เป็นครั้งแรกที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยานขึ้นหลักหมื่นถึง 10,082 คน และมีผู้เสียชีวิต 141 คน เสาร์ที่ผ่านมาจึงเป็นวันแรกในเชิงสถิติที่ตัวเลขคนติดเชื้อเกินหลักหมื่น และผู้เสียชีวิตเกินหลักร้อย และในวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม ผู้ติดเชื้อขยับขึ้นเป็น 11,397 คน และมีผู้เสียชีวิต 101 คน ไม่มีใครกล้าคาดเดาว่า ตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะลดจำนวนลงจนอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้เมื่อใด

ในขณะที่สงครามโรคระบาดยังคงมีความรุนแรงและขยายวงกว้าง สังคมมีความกังวลอย่างมากกับการขยายจำนวนของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตนั้น กลับมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอีกแบบคือ รัฐบาลโดยกองทัพเรือมีความพยายามอย่างมากที่จะผลักดันการเสนอขอจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งมูลค่าของการจัดซื้อครั้งนี้สูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท

คาดเดาไม่ยากเลยว่า การผลักดันของกองทัพเรือครั้งนี้จะต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงแน่นอน ซึ่งกองทัพเรือเองก็เคยเผชิญกับกระแสต่อต้านเรือดำน้ำลำแรกมาแล้ว

แต่ผู้นำทหารไทยดูจะเชื่อมั่นในอำนาจทางการเมืองที่มี และอาจเชื่อง่ายๆ ว่า “ทหารจะทำอะไรก็ได้ในสังคมไทย!” เพราะผู้นำกองทัพมีมวลชนขวาจัดส่วนหนึ่งเป็นฐานเสียงหลักที่พร้อมจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่านับจากการรัฐประหารที่เกิดทั้งในปี 2549 และปี 2557 นั้น สังคมไทยอ่อนแอและไม่สามารถต้านทานการใช้อำนาจทางการเมืองของทหารได้ ทหารใช้อำนาจในการเป็น “ผู้ควบคุมสังคม” และยังใช้อำนาจจัดการกับผู้เห็นต่างมาแล้วในหลายกรณี จนกลายเป็นการใช้อำนาจเพื่อ “สร้างความกลัว”

เพราะไม่ใช่เพียงการใช้อำนาจของทหารเท่านั้น หากยังมี “กลไกลอำนาจรัฐขวาจัด” ที่คอยสนับสนุน เช่น กลไกทางกฎหมายและกระบวนการตุลาการ

ผู้นำทหารเชื่อว่า ผู้นำทหารไทยไม่จำเป็นต้อง “ฟังเสียงค้าน” ของสังคม และสร้างความเชื่ออีกส่วนว่า คนที่ค้านทหารเป็นพวก “ไม่รักชาติ”…

ผู้นำทหารไทยสถาปนาตัวเองเป็นชาติ และสร้างความเชื่อให้สังคมต้องคล้อยตาม

เงื่อนไขเช่นนี้จึงเอื้อให้เกิดกระบวนการสร้างอำนาจของทหารในทางการเมือง โดยเฉพาะเอื้อให้ผู้นำทหารสร้างอำนาจผ่านกระบวนการยุทธศาสตร์ของประเทศ

ดังตัวอย่างของ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ซึ่งไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นกลไกเชิงอำนาจของทหาร และเป็นข้อกำหนดที่ไม่รองรับต่อความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์

 

นิยามความมั่นคง

ในการประกอบสร้างชุดความคิดทางการเมืองว่า ผู้นำทหารเป็นตัวแทนของ “ความเป็นชาติ” นั้น ผู้นำทหารจึงสร้างความเชื่อและวาทกรรมให้สังคมต้องยอมรับอีกว่า “ผลประโยชน์ของผู้นำทหารคือผลประโยชน์ของชาติ”…

แน่นอนว่าวาทกรรมทหารชุดนี้เป็นเพียง “ภาพลวงตา” เพราะหลายครั้งที่พบว่า ผลประโยชน์ของผู้นำทหารเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่ผลประโยชน์ของชาติ

ยิ่งเป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์แล้ว สังคมดูจะมีความคลางแคลงใจอย่างมากว่า อาวุธถูกจัดซื้อเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติจริงหรือไม่?

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำทหารอาศัยอำนาจทางการเมืองของกองทัพสร้างให้ตัวเองเป็นผู้กำหนดสิ่งที่เรียกว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติ”… ผลประโยชน์แห่งชาติจึงถูกนิยามโดยผู้นำทหาร และอาวุธที่ถูกจัดซื้อก็อยู่ในกระบวนการนิยามของผู้นำทหาร และผู้คัดค้านจะถูกนิยามว่าเป็น “พวกชังชาติ” จนกลายเป็นวาทกรรมของนักชาตินิยมขวาจัดไทยว่า รักชาติ คือ “รักผู้นำทหาร-รักรัฐประหาร-ชังประชาธิปไตย-ชังนักการเมือง”

ซึ่งปัจจัยทั้งสี่ประการเช่นนี้คือ รากฐานสำคัญของ “วาทกรรมสลิ่ม” ในการเมืองไทยปัจจุบันนั่นเอง

ดังนั้น สำหรับผู้นำทหารการเมืองไทยแล้ว ผู้รักชาติจะต้องเป็น “ผู้สนับสนุน” ทหารในทุกเรื่องทุกประเด็น

ขณะเดียวกันความเป็นผู้รักชาติเช่นนี้ก็จะต้องทำตัวให้เป็น “คนว่านอนสอนง่าย” ที่จะไม่คัดค้านการตัดสินใจของผู้นำทหาร

และไม่ว่าการตัดสินใจที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็น “ผลประโยชน์แห่งชาติ” อย่างแท้จริงหรือไม่ก็ตาม ทั้งจะต้องไม่ตั้งคำถามกับผู้นำทหารด้วย

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้นำทหารมักเชื่อมั่นในความสำเร็จของการประกอบสร้างชุดความคิดแบบขวาจัดที่ผ่าน “การโฆษณาชวนเชื่อ” และเชื่อว่าพวกเขามีมวลชนเป็นฐานรองรับทางการเมือง โดยเฉพาะมวลชนขวาจัดทำหน้าที่เป็นฐานสนับสนุนหลักในการมีบทบาททางการเมืองของผู้นำกองทัพ

ดังนั้น เมื่อผู้นำทหารตัดสินใจซื้ออาวุธในยามที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคคิด-19 พวกเขาจึงต้องพยายามสร้างวาทกรรมในเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ

แต่มาวันนี้ สังคมเริ่มตั้งคำถามอย่างมากว่า การจัดซื้ออาวุธเกิดเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาตินั้น เป็นจริงเพียงใด

เพราะผลประโยชน์หลักของประเทศไทยมีประการเดียวคือ การปกป้องสังคมจากโรคระบาด…

จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อที่เกิดตั้งแต่วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็น “สัญญาณภัยด้านความมั่นคง” ที่ผู้นำทหารควรต้องใส่ใจ ทั้งยังอาจจะต้องทำความเข้าใจกับประเด็นปัญหาความมั่นคงใหม่ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัญหา “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข” เป็นภัยคุกคามมากกว่าปัญหา “ความมั่นคงทางทหาร”

และยังต้องตระหนักอย่างมากด้วยว่า โรคระบาดเป็นปัญหาที่มีความเร่งด่วนที่ต้องการการแก้ไข การขาดการจัดลำดับความเร่งด่วนของผู้นำทหารที่เป็นรัฐบาลกำลังเป็นวิกฤตในตัวเอง

สถานะด้านความมั่นคงไทยวันนี้คือ ประเทศเผชิญกับ “สงครามโรคระบาด” ไม่ใช่ “สงครามการทหาร” ในแบบที่ผู้นำทหารไทยชอบโฆษณาชวนเชื่อ

อาวุธที่สังคมต้องการมากที่สุดในยามนี้คือ “วัคซีน” ไม่ใช่เรือดำน้ำ รถถัง หรืออาวุธอื่นๆ

และปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงคือ การสร้าง “ภูมิคุ้มกันโรค” ให้คนในสังคม แต่ผู้นำทหารก็ยังยืนที่จะซื้ออาวุธ โดยไม่มีความชัดเจนว่าใครคือข้าศึก… ภัยคุกคามทางทหารของไทยคืออะไร?

ที่ต้องถามเช่นนี้เพราะสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป จนชุดความคิดเก่าที่ยึดอยู่กับทัศนะความมั่นคงแบบเก่าไม่รองรับความเป็นจริงในทางการเมืองและความมั่นคง

คำถามที่สำคัญในส่วนของกองทัพเรือคือ ใครคือข้าศึกทางทะเลของไทย… ความมั่นคงทางทะเลของไทยคืออะไร?

ชุดความคิดเก่าที่เชื่อว่ากองทัพไทยจะต้องรบกับข้าศึกที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นเพียงการสร้าง “วาทกรรมทหาร” เพื่อสร้างความชอบธรรมในการซื้ออาวุธ ทั้งที่ในบริบทของการเมืองในภูมิภาค เพื่อนบ้านอาจเป็นคู่แข่งขันในทางเศรษฐกิจของไทย แต่เพื่อนบ้านไม่ใช่ข้าศึกในทางทหาร

และทหารไทยอาจต้องเลิกคิดที่จะรบกับเพื่อนบ้าน

แต่รัฐบาล/ทหารจะต้องคิดแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยนโยบายทางการเมือง

 

ยุทธศาสตร์กำหนดอาวุธ

คําถามทางยุทธศาสตร์ไม่เคยถูกตอบอย่างจริงจังในกระบวนการทำนโยบายว่า รัฐบาลไทยจะมองว่าใครคือข้าศึกในยุทธศาสตร์ชาติ ในทำนองเดียวกันอะไรคือภัยคุกคามทางทะเลในยุทธศาสตร์ชาติ

การไม่มีคำตอบอย่างเป็นจริง จึงเปิดโอกาสให้ผู้นำทหารเป็น “ผู้นิยาม” ทุกอย่าง บางครั้งการกำหนดที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างเลื่อนลอย และไม่ต้องการความชัดเจนในทางความคิด เพื่อทำให้การซื้ออาวุธเป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์

การจัดซื้อเรือดำน้ำจึงเป็นเสมือนการออกแบบยุทธศาสตร์ทางทะเล โดยมีอาวุธเป็นตัวกำหนด เพราะหากพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ทหารไทยเอาความต้องการอาวุธเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร

อันเป็นกระบวนการคิด “กลับหัวกลับหาง” ที่เชื่อว่า อาวุธกำหนดยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์กำหนดอาวุธ เพราะในสถานการณ์ความมั่นคงปัจจุบันที่ภัยคุกคามทางทหารที่ประเทศเผชิญอยู่ในระดับต่ำ

แต่ข้าศึกที่น่ากลัวและเปิดการเข้าตีอย่างต่อเนื่องคือ “เชื้อโควิด-19″…

ข้าศึกที่เป็นเชื้อโรคเปิดการโจมตีสังคมไทยอย่างรุนแรง มีผู้คนเสียชีวิตและติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จนสังคมไทยอาจ “ล่มสลาย” ได้ไม่ยาก

แต่ผู้นำทหารไทยยังต้องการซื้ออาวุธโดยขาดข้อพิจารณาทางยุทธศาสตร์ที่เป็นจริง

การจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้นำทหารไทยไม่มีชุดความคิดทางยุทธศาสตร์อื่นใด นอกจากซื้ออาวุธ

การซื้ออาวุธในท่ามกลางการเสียชีวิต ติดเชื้อ และความยากจนของคนในสังคม จึงเป็นคำถามที่ทำให้สังคมกังขากับกองทัพอย่างมาก…

เรืออาจจะดำน้ำได้ แต่กองทัพเรือจมน้ำไปแล้วในความรู้สึกของคนไทย!