เปิดหู | ซาวด์แทรควีดีโอเกม : เสียงเพลงแห่งโอลิมปิก 2020

อัษฎา อาทรไผท

ผมมั่นใจว่าเกมเมอร์เจนเอ็กซ์ เจนวาย จากสองสามทศววรษก่อน ต้องจดจำและประทับใจกับเสียงเพลงเพราะๆ จากเกมแฟมิคอมต่างๆ ที่เล่น ทั้งจากเครื่อง Famicom 8 บิท และ Super Famicom 16 บิท ที่แม้เทคโนโลยีสมัยนั้นจะไม่สามารถทำให้คุณภาพเสียงดนตรีสมจริงนัก แต่ก็ฟังออกได้ว่าเพลงต่างๆ นั้น ถูกประพันธ์ขึ้นมาอย่างละเอียดลึกซึ้ง

เพลงในเกมมีส่วนนำพาอารมณ์ของผู้เล่นเกม ให้เป็นไปตามสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมือนเราเข้าไปอยู่ในเกมเองเลย จนหลายๆ คนเก็บเมโลดี้เอาไว้ในใจ และนำมาฮัมในหัว ใช้เป็นพลังใจในโลกแห่งความจริงนี้ ผมเองก็คนหนึ่งที่เป็นแบบนั้น แต่ถ้าเป็นสมัยก่อน การที่เราจะบ้าเพลงเกม อาจจะดูไม่ค่อยเท่นักในสายตาคนนอกวงการ ถ้าเป็นที่โรงเรียน อาจจะโดนล้อเอาได้ ว่าเป็นเนิร์ด

แต่ใครจะคาดคิดว่า เสียงเพลงแห่งเกมเหล่านั้น จะเดินทางมาจากตลับเกม สู่บทเพลงประกอบพิธีเปิดกีฬาอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติอย่างโอลิมปิก แต่ละเพลงที่ผลัดกันบรรเลงออกมา ล้วนเป็นเพลงจดจำของคนเล่นเกมรุ่นเก๋า และที่สำคัญ การมาครั้งนี้ ไม่ได้มาด้วยดนตรีคุณภาพต่ำ แต่มาในรูปแบบซิมโฟนีทรงเครื่อง สร้างความอลังการณ์ให้งานอันยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างสมเกียรติ

ครั้งนี้ผมเลยอยากแนะนำท่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องเพลงประกอบเกม ให้ได้เปิดใจลองหาเพลงธีมของเกมในตำนานมาฟัง ซึ่งก็หาฟังได้ไม่ยากจากยูทูปหรือสตรีมมิ่ง โดยจะเลือกผลงานของ 3 นักประพันธ์เพลงเกมที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นในใจผม มาแนะนำครับ ส่วนท่านที่สันทัดเพลงเกมอยู่แล้ว บางทีเราอาจจะไม่ทันได้ทราบว่าเพลงที่เราชอบนั้น มาจากมันสมองของใคร ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทราบเกี่ยวกับผู้แต่งครับ

เริ่มจาก Koichi Sugiyama ศิลปินสายคลาสสิครุ่นเก๋าวัย 90 ปี ที่มีผลงานชิ้นเอกเป็นเพลงเกมตระกูล Dragon Quest เพลงทั้งหมดประพันธ์ในแนวคลาสสิค และโบโรค ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่เมื่อครั้งที่เกมนี้ผลิตออกมาในปี 1986 และยังคงแนวดนตรีเดิมต่อเนื่องมาจนล่าสุดถึงภาค 11 (รวมทั้งทุกเกมในตระกูลเดียวกันด้วย)

ท่านผู้นี้เป็นแรงบันดาลใจให้นักแต่งเพลงเกม ได้เริ่มนำดนตรีคลาสสิคมาใช้ในเกมกัน หากอยากฟังผลงานของเขา มีผลงานเพลงเกม ที่บรรเลงโดยวงซิมโฟนีจริงๆ ออกมาหลายชุดให้เลือกฟัง

โดยหนึ่งในเพลงเอก ที่อยู่ในพิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้ด้วยคือเพลงสไตล์ Overture เพลง Roto’s Theme ซึ่งเป็นเพลงที่ให้ความรู้สึกอลังการและฮึกเหิมเป็นอย่างมาก

ท่านที่สองคือเจ้าของผลงานเพลงประกอบเกม Final Fantasy ที่ถือเป็นคู่แข่งตลอดกาลของ Dragon Quest เลยก็ว่าได้ เขาคือ Nobuo Uematsu นักแต่งเพลงเกมรุ่นต่อมาจากท่านแรก ปัจจุบันอายุ 62 ปี ได้ฝากผลงานไว้ในเกมเด่นๆ ของค่ายเกม Square ไว้มากมาย แต่ที่สร้างชื่อที่สุดเห็นจะเป็นเพลงธีมของ Final Fantasy ภาค 1-15 (ข้อมูลแจ้งว่ายกเว้นภาค 13)

เพลงเกมของ Uematsu เป็นแนวเพลงคลาสสิคผสมกับดนตรีสมัยใหม่ ไม่ได้ออกคลาสสิคจ๋าเหมือนรายแรก แต่จะมีเครื่องดนตรีร่วมสมัยผสมด้วย ทำให้ผลงานของเขาไม่ออกมาซ้ำใคร รวมทั้งบางเพลงก็เป็นเพลงร้องด้วย เช่นเพลง Eyes on Me ที่ได้รางวัล “Song of the Year” จาก Japan Gold Disc Awards ในปี 1999 ในโอลิมปิกมีเพลงของเขาหลายเพลง  แต่ขอแนะนำเพลง Final Fantasy “Victory Fanfare”

ในเกมจะเป็นเพลงที่ใช้ตอนได้รับชัยชนะจากศึกต่างๆ เป็นเพลงสั้นๆ ที่นำดนตรีจากสองยุคมาหลอมรวมกันได้อย่างลงตัวและเริงร่า


คนสุดท้าย หลายคนที่บ้าเกมอาจจะไม่ทราบมาก่อนว่า เพลงสุดเพราะในเกม Gradius นั้น จะแต่งโดยนักแต่งเพลงเกมสุภาพสตรีนามว่า Miki Higashino ปัจจุบันอายุ 53 ปี ซึ่งถือว่าอายุน้อยมาก สำหรับคนที่เคยแต่งเพลงเกมมาตั้งแต่ปี 1985 ซึ่งก็ไม่ใช่เกมไหนสุดยอดเกมยิง Gradius นั่นเอง

เธอเริ่มทำเพลงเกมตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ถือเป็นอัจฉริยะทางดนตรี ไม่แปลกใจว่าทำไม่สมัยก่อน ได้ยินเพลงเกมของเธอแล้ว รู้สึกทันสมัย เร้าอารมณ์ ถูกจริตไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นในเกม Gradius ทุกภาค หรือ Salamander เกมสปินออฟของเกมข้างต้น จนแม้กระทั่งเกมต่อสู้ยุคแรก Yie Ar Kung-Fu หรือเกมอาร์พีจี Suikoden เธอก็เป็นคนแต่งเพลงให้

เสียงเพลงประกอบเกมของทั้งสามนักแต่งเพลงเกมอันยิ่งใหญ่ชาวญี่ปุ่น จะยังคงอยู่ต่อไปหลังโอลิมปิกจบ เพราะตอนนี้มันกลายเป็นตำนานไปแล้ว และจะอยู่ต่อไปอีกเนิ่นนานอย่างแน่นอน ว่าแล้วก็เชิญไปหามาฟังกันเลยครับ ไม่แน่คุณอาจได้เอามาเป็น Theme song ใหม่ให้ตัวคุณเองก็ได้