เปิดประตูสู่ยุโรปกลางและบอลข่าน/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

พนม ทองประยูร

นักการทูตชำนาญการพิเศษ

กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

 

เปิดประตูสู่ยุโรปกลางและบอลข่าน

 

การแสวงหาพันธมิตรหรือตลาดใหม่เป็นนโยบายต่างประเทศของไทยมานานแล้ว ประเทศทั้งหลายในโลกนี้ย่อมมีกลุ่มประเทศที่คุ้นเคยเป็นพิเศษด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง หรือเศรษฐกิจ ดังเช่นที่อาเซียนเป็นเพื่อนใกล้ชิดของไทย แต่เมื่อเราต้องการขยายผลประโยชน์ให้กว้างไกลออกไป การผูกมิตรใหม่ในภูมิภาคที่ห่างไกลจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นการปูทางสู่โอกาสและความร่วมมือที่หลากหลายกว่าเดิม

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ เป็นตัวแทนในการส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในฮังการีและบางประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งเป็นดินแดนที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2516 และไทยเพิ่งเปิดสถานเอกอัครราชทูตในฮังการีเมื่อปี 2532 หลังจากปิดสถานทูตที่ยูโกสลาเวียหลังสงครามเย็นเมื่อที่นั่นเกิดความไม่สงบภายในจนแตกออกเป็น 6 ประเทศ และรัฐบาลตัดสินใจย้ายไปเปิดสถานทูตในฮังการี ซึ่งมีพรมแดนติดกัน ครุภัณฑ์หลายชิ้นของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบลเกรด ถูกโอนมาที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ และยังใช้งานจนถึงปัจจุบัน

อาคารสถานทูตที่นี่มีวิวสวยมากเพราะอยู่บนเนินเขา มองเห็นแม่น้ำดานูบและอาคารรัฐสภาได้อย่างชัดเจน แต่วันใดหิมะลงหนัก ถนนจะลื่นและขับรถขึ้นไม่ได้ จนถึงกับต้องปิดบริการเลยทีเดียว ทราบว่าขณะนี้มีแผนที่จะย้ายสถานทูตลงมาข้างล่าง ซึ่งจะทำให้เดินทางสะดวกขึ้นมาก

ฮังการีเป็นแหล่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความภูมิใจของฮังการีคือมีชาวฮังการีได้รับรางวัลโนเบลครบทุกสาขายกเว้นสาขาสันติภาพ และเป็นผู้ประดิษฐ์ปากกาลูกลื่น โทรทัศน์สี เทคโนโลยีภาพโฮโลแกรม และโปรแกรม Word และ Excel เวอร์ชั่นแรก ลูกรูบิกที่เป็นของเล่นยอดฮิตทั่วโลกก็คิดค้นโดยนายเอร์โน รูบิก สถาปนิกชาวฮังการี ซึ่งบัดนี้ร่ำรวยมหาศาลจากการขายลูกรูบิก ตอนที่สถานทูตต้องไปสำรวจอาคารใหม่เพื่อย้ายที่ทำการ เคยไปดูบ้านหลังหนึ่งของคุณรูบิกเช่นกัน โดยเจ้าของบ้านนำชมด้วยตัวเอง แต่ในที่สุดเราตัดสินใจเลือกอาคารอื่นในละแวกเดียวกัน

หน่วยงานของฮังการีที่เป็นแหล่งรวมกูรูผู้ทรงภูมิในสาขาต่าง ๆ คือ Academy of Sciences ซึ่งทำหน้าที่คล้ายราชบัณฑิตยสภาของไทย สถานทูตมักจะไปพบหารือเป็นประจำเพื่อขอคำแนะนำเรื่องต่างๆ สาขาที่ฮังการีโดดเด่นคือ การแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์

ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าในระยะหลังเริ่มมีนักศึกษาไทยไปเรียนที่ฮังการีมากขึ้น โดยฮังการีได้จัดสรรทุน Stipendium Hungaricum ให้นักเรียนไทยทุกปี

นอกจากนี้ สถานทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมีอยู่ 5 ประเทศ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จะรวมตัวกันจัดกิจกรรมเป็นประจำ เพื่อไปศึกษาดูงานสถานที่น่าสนใจและอาจนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตน เช่น ไปดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมือง Paks และไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย Szeged ซึ่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเคยได้รางวัลโนเบลจากผลงานการสังเคราะห์วิตามินซีจากพริกหยวก

ภารกิจหนึ่งของสถานทูตคือการเป็นหูเป็นตา คอยมองหาองค์ความรู้หรือแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ และจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

เช่น ฮังการีมีความเชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะมีหลายพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม สถานทูตจึงช่วยประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศได้พบหารือและพิจารณาแนวทางความร่วมมือกันต่อไป

หากสถานทูตเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ คงเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยในการจัดทำรายงานผลประกอบการ เพราะงานหลายอย่างเป็นการผลิตงานเชิงคุณค่ามากกว่าเป็นมูลค่าที่วัดได้ เช่น การสร้างความเชื่อมั่น และการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ แม้เราจะรู้ว่าการทำให้เกิดกระแสนิยมไทยอาจช่วยให้ขายสินค้าและสื่อบันเทิงของไทยได้มากขึ้น หรือทำให้มีนักท่องเที่ยวไปเยือนไทยมากขึ้น

แต่เราไม่อาจชี้ชัดได้เลยว่าการตัดสินใจเหล่านั้นเกิดจากผลงานของเราในระดับใด หรือมีปัจจัยอื่นมาเสริม ถึงกระนั้นงานในลักษณะนี้ก็ยังสำคัญ เพราะช่วยให้ไทยมี soft power ที่แข็งแกร่งขึ้น

ทุกปีสถานทูตไทยที่ฮังการีจะจัดงานเทศกาลไทยบริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์การเกษตร ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเคยเสด็จฯ ทอดพระเนตรเมื่อปี พ.ศ.2440 งานนี้ช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับของดีของไทย ชาวฮังการีจำนวนมากต่อแถวอย่างอดทนเพื่อชิมอาหารไทย และชมการแสดงที่บางปีได้นำไปจากไทย บางครั้งก็ใช้บริการชุมชนไทยในฮังการีหรือในยุโรปที่มีความสามารถทางดนตรีและนาฏศิลป์

มีอยู่ปีหนึ่งที่สถานทูตเชิญค่ายมวยไทยในฮังการีมาสาธิตมวยไทย เป็นการประหยัดค่าเดินทางและสามารถเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ของไทยให้เข้าถึงคนท้องถิ่นได้อย่างแยบยล

การจัดงานใหญ่แบบนี้ในต่างประเทศโดยควบคุมไม่ให้งบประมาณบานปลายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของทีมประเทศไทย ซึ่งหมายถึงทุกหน่วยงานที่มีสำนักงานในต่างประเทศ สำหรับฮังการีนั้น มีแต่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนหน่วยงานอื่นตั้งสำนักงานในประเทศอื่น เช่น ททท. อยู่ที่กรุงปราก บีโอไออยู่ที่แฟรงก์เฟิร์ต และสำนักงานเกษตรอยู่ที่บรัสเซลส์

การทำงานของทีมประเทศไทยในต่างแดนจึงเป็นภาพสะท้อนของการทำงานในไทยที่ทุกหน่วยงานต้องขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกันเช่นกัน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

 

นอกจากฮังการีแล้ว สถานทูตยังมีเขตอาณาครอบคลุมโครเอเชีย มอนเตเนโกร บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และโคโซโว ซึ่งทั้งหมดล้วนเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย เขตอาณาหมายถึงประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานทูตซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศอื่น แต่จะเดินทางไปเขตอาณาเป็นครั้งคราว เช่น สถานทูตไทยที่ฮังการีจะจัดกงสุลสัญจรที่โครเอเชียทุกปี บูดาเปสต์กับซาเกร็บ เมืองหลวงของโครเอเชีย อยู่ห่างกันประมาณ 350 กิโลเมตรเท่านั้น พอๆ กับขับรถจากกรุงเทพฯ ไปกำแพงเพชร การเดินทางจึงสะดวกสบาย

ความที่โครเอเชียเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยในระยะหลัง งานกงสุลจึงเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนมากจะเป็นกรณีถูกลักทรัพย์และหนังสือเดินทางสูญหาย ซึ่งสถานทูตดูแลทุกกรณี โชคดีที่เรามีสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่กรุงซาเกร็บช่วยดูแลเบื้องต้นได้ แต่ออกเอกสารให้ไม่ได้

เมื่อเกิดกรณีเร่งด่วน จึงอาจต้องพบกันครึ่งทาง

โดยสถานทูตนำหนังสือเดินทางชั่วคราวไปส่งให้ที่ชายแดนฮังการี-โครเอเชีย

เมื่อปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวไทยท่านหนึ่งตกค้างที่มอนเตเนโกรซึ่งปิดน่านฟ้าอย่างกระชั้นชิดเพราะสถานการณ์โควิด สถานทูตต้องประสานรอบทิศเพื่อขออนุญาตให้สามารถเดินทางทางบกจากมอนเตเนโกรไปบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และโครเอเชีย เพื่อมาเจอกับเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ฮังการี แล้วนั่งรถไปเวียนนา บินไปแฟรงก์เฟิร์ตเพื่อต่อเที่ยวบินกลับบ้าน

งานแบบนี้แม้เป็นการช่วยเหลือคนไทยเพียงคนเดียว แต่เป็นความภูมิใจของสถานทูตที่ประเมินค่าไม่ได้เลย