ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (18)

ย้อนอ่านตอนที่   17   16   15

หลังจากตรากฎหมายประกาศยกเลิกระบบอภิสิทธิ์และระบบฟิวดัลในวันที่ 4 สิงหาคม 1789 แล้ว

ในวันเดียวกันนั้น สภาแห่งชาติได้ลงมติว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเริ่มต้นจากการตราคำประกาศสิทธิเสียก่อน

โดยนอกจากจะสนองตอบต่อความคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่ชี้นำการปฏิวัติแล้ว ยังมุ่งหมายให้คำประกาศสิทธินี้เป็นกรอบเบื้องต้นของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอีกด้วย

ในการยกร่างคำประกาศสิทธิ สมาชิกสภาแห่งชาติได้แรงบันดาลใจมาจากทั้งปรัชญาและประสบการณ์

ในส่วนของปรัชญานั้น สภาแห่งชาติไม่ต้องการอ้างถึงพระเจ้าหรือหลักการในทางศาสนามาแปลงรูปลงในระเบียบทางการเมืองใหม่

มิฉะนั้น คำประกาศสิทธิก็ไม่ต่างอะไรกับ “บัญญัติ 10 ประการ” ในศาสนาคริสต์และยิว

พวกเขาจึงจำเป็นต้องหาปรัชญาแบบอื่นๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คำประกาศสิทธิ ได้แก่ สำนักกฎหมายธรรมชาติ และความคิดของ John Locke, Jean-Jacques Rousseau, Montesquieu

นอกจากงานทางปรัชญาแล้ว สภาแห่งชาติยังได้นำประสบการณ์ของ “ผู้มาก่อน” อย่างสหรัฐอเมริกามาพิจารณาด้วย

การปฏิวัติอเมริกาและคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา 1776 เป็นภาพที่อยู่ในความคิดของสมาชิกสภาแห่งชาติจำนวนมาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ก็เช่น ร่างคำประกาศสิทธิที่ Lafayette ยกร่างขึ้นนั้น แทบจะนำความคิดมาจากคำประกาศอิสรภาพของอเมริกามาทั้งหมด

เนื่องมาจาก Lafayette เป็นนายทหารของฝรั่งเศสที่ไปช่วยสหรัฐอเมริกาในการรบกับอังกฤษ

นอกจากนี้ ในเวลานั้น Thomas Jefferson ผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่างคำประกาศอิสรภาพ ยังดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีสด้วย ทำให้เขามีโอกาสให้คำแนะนำสมาชิกสภาแห่งชาติ

มีสมาชิกสภาแห่งชาติ 13 คน เคยเป็นขุนนางที่กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ส่งไปประจำการที่อเมริกา เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของอเมริกาจากอังกฤษ

สมาชิกทั้ง 13 คนนี้ต่างประทับใจในการปฏิวัติอเมริกา จึงได้รวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการในชื่อ “Americains” (พวกอเมริกัน) เพื่อนำความคิดต่างๆ ที่ปรากฏในช่วงปฏิวัติอเมริกามาใช้ในฝรั่งเศส

สมาชิกกลุ่มนี้ก็เช่น La Fayette, le vicomte de Noailles (ผู้ริเริ่มเสนอให้ตรากฎหมายยกเลิกระบบอภิสิทธิ์), สองพี่น้อง Lameth, le marquis de Segur, le comte Mathieu de Montmorency, le duc de la Rochefoucauld d”Enville (ผู้แปลรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาฝรั่งเศส)

เนื้อหาของคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา มีลักษณะย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในทางประวัติศาสตร์และกล่าวเฉพาะเจาะจงกรณีดินแดนอเมริกาที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ความเลวร้ายของรัฐบาลและกษัตริย์อังกฤษ มูลเหตุของการประกาศอิสรภาพ

เหตุเหล่านี้เองได้ทำให้อาณานิคมทั้ง 13 ในอเมริกามีสิทธิในการปฏิวัติ ล้มล้างการปกครองของรัฐบาลอังกฤษ

และประกาศอิสรภาพแยกตัวจากอังกฤษได้

สมาชิกสภาแห่งชาติบางส่วน นำโดย Sieyes เห็นว่าไม่ควรนำคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกามาเป็นต้นแบบ แต่ควรยกร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนในรูปแบบของฝรั่งเศสเอง เพราะประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกัน

เขายังเห็นอีกว่าคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกายังคงรักษาภาพแทนของอำนาจแบบเก่าเอาไว้ ไม่ได้ตัดขาดจากอำนาจกษัตริย์ สังเกตได้จากเนื้อหาในหลายตอนที่ยืนยันว่าดินแดนอเมริกาได้อดทน ร้องขอ เรียกร้องต่อกษัตริย์อังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องประกาศอิสรภาพ

ข้อความเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการยอมรับอำนาจกษัตริย์

หากกษัตริย์ตอบสนองข้อเรียกร้อง ก็คงไม่จำเป็นต้องประกาศอิสรภาพ

อาจกล่าวได้ว่า สำหรับ Sieyes แล้ว การเขียนคำประกาศที่เป็นการก่อตั้งระเบียบทางการเมืองใหม่ จำเป็นต้องเขียนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล

มิใช่บรรยายถึงมูลเหตุความจำเป็นที่ต้องปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระเบียบทางการเมือง

การยกร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก

สมาชิกสภาแห่งชาติหลายคนได้เสนอร่างคำประกาศในชื่อแตกต่างกันไป

เช่น Sieyes ให้ชื่อว่า “บทเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญ”

Mounier ให้ชื่อว่า “ร่างมาตราแรกๆ ของรัฐธรรมนูญ”

Bouche ให้ชื่อว่า “กฎบัตรอันประกอบเป็นรัฐธรรมนูญในเรื่องวัตถุประสงค์พื้นฐาน” เป็นต้น

ชื่อเรียกที่แตกต่างกันเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันในเรื่องสถานะและรูปแบบของเอกสารชิ้นนี้

วันที่ 19 สิงหาคม 1789 คณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 6 ประจำสภาแห่งชาติได้เสนอร่างเบื้องต้นเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งชาติ

ร่างนี้มีทั้งหมด 24 มาตรา ยกร่างโดย Jerome Champion de Cice

ซึ่งในการพิจารณาของสภาแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 20-26 สิงหาคม 1789 สมาชิกสภาแห่งชาติได้ถกเถียงกันอย่างหนัก และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิม

Mirabeau และ Mounier ได้ยกร่างคำปรารภขึ้น และเสนอให้คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองนี้ต้องเริ่มต้นด้วยคำปรารภเสียก่อน ซึ่งสภาแห่งชาติเห็นชอบด้วย

ส่วน abbe Gregoire เห็นว่าไม่ควรรับรองสิทธิไว้เท่านั้น แต่ควรกำหนดหน้าที่ไว้ด้วย จึงเสนอให้เติมคำว่า “หน้าที่” เข้าไปในชี่อเป็น “สิทธิและหน้าที่” แต่ข้อเสนอนี้ตกไป

สภาแห่งชาติได้พิจารณาและลงมติทีละมาตรา จนกระทั่งถึงมาตรา 17 ที่รับรองกรรมสิทธิ์

แต่แล้ว ในวันที่ 27 สิงหาคม สภาแห่งชาติกลับมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจำเป็นต้องกลับมายกร่างรัฐธรรมนูญกันต่อ

ส่วนคำประกาศสิทธิที่ร่างกันมาแล้วและที่จะร่างกันต่อไป ก็ให้มาพิจารณากันใหม่หลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ

จากนั้น สภาแห่งชาติได้เริ่มต้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 1789 รวม 19 มาตรา

สถานการณ์การเมืองในเวลานั้น ประชาชนได้เดินขบวนเรียกร้องให้หลุยส์ที่ 16 กลับมาพำนักอาศัยที่กรุงปารีส และลงนามในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองรวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญ 19 มาตรา หลุยส์ที่ 16 ต้านทานแรงกดดันไม่ไหว จึงตัดสินใจลงนามในรูปของพระราชสาส์นพระบรมราชานุญาต (lettres patentes) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1789

ในส่วนของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองนั้น เมื่อหลุยส์ที่ 16 ลงนามแล้ว สภาแห่งชาติก็ไม่ได้นำมาพิจารณายกร่างเพิ่มเติมอีกดังเช่นที่ตั้งใจไว้ตอนแรก ทำให้คำประกาศนี้ยังคงมี 17 มาตราตามเดิม

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ที่โด่งดังไปทั่วโลก เป็นต้นแบบของการยกร่างคำประกาศสิทธิของประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เป็นมรดกโลกตามคำประกาศของ UNESCO และมีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายฝรั่งเศสปัจจุบัน เอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองที่ยังยกร่างไม่แล้วเสร็จ

ในตอนหน้า เราจะมาว่ากันต่อถึงเนื้อหาในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง