ปิยบุตร แสงกนกกุล : ปวศ.ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส “รัฐธรรมนูญ-ความเสมอภาค”

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (17)

การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของสภาแห่งชาติ เริ่มต้นจากการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อกำหนดตารางการทำงานและกระจายงานออกไปให้คณะอนุกรรมาธิการรวม 30 คณะ โดยแต่ละคณะจะเลือกผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อสภาแห่งชาติ

คณะอนุกรรมาธิการที่ 8 ซึ่งมี Mounier เป็นผู้รับผิดชอบทำรายงาน (เขาได้รับเลือกโดยชนะ Siey?s) ได้เสนอรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับประเด็นปัญหาอันสำคัญของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ขอบเขตอำนาจของสถาบันกษัตริย์ รูปแบบของความเป็นผู้แทน และคำประกาศสิทธิของพลเมือง

ต่อมา ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ด้านนอกสภา ประชาชนได้บุกทลายคุก Bastille

ส่วนเหตุการณ์ภายในสภาแห่งชาตินั้น มีการลงมติให้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องประกอบด้วยบทบัญญัติรับรองสิทธิมนุษยชนและพลเมืองด้วย

นอกจากนั้น สภาแห่งชาติยังมีมติให้การกำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญต้องกระทำกันในที่ประชุมสภาแห่งชาติด้วย

มติดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเสนอของ Mounier ที่ต้องการให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณายกร่างเนื้อหาสำคัญของรัฐธรรมนูญและคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองเสียก่อน เพื่อให้อนุกรรมาธิการได้อภิปรายถกเถียงในรายละเอียดกันได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากแรงกดดันจากสมาชิกสภาแห่งชาติ

สภาแห่งชาติจึงมีมติตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เรียกกันว่า “คณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญชุดที่หนึ่ง” ประกอบไปด้วย Mounier, Siey?s, Le Chapelier, Bergasse ซึ่งเป็นพวกฐานันดรที่สาม Clermont-Tonnerre, Lally-Tollendal ซึ่งเป็นพวกขุนนาง และ Talleyrand, Champion de Cic? ซึ่งเป็นพวกพระ

หากพิจารณาถึงพื้นฐานทางฐานันดรของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าฝ่ายที่มาจากฐานันดรที่สามมีมากกว่าฝ่ายที่มาจากฐานันดรพระและขุนนางในอัตราส่วน 4 ต่อ 2 ต่อ 2

ทั้งนี้เนื่องจากฐานันดรที่สามประสบชัยชนะในการเปลี่ยนสภาฐานันดรที่สามเป็นสภาแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนผู้แทนจากฐานันดรพระและขุนนางที่เข้าร่วม คือ พวกที่ยินยอมตามความคิดของฐานันดรที่สามแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงความคิดทางการเมืองและแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว พบว่าสถานะหรือฐานันดรไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความคิด กรรมาธิการส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่สนับสนุนกษัตริย์ สนับสนุนรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาแบบระบบการเมืองการปกครองของอังกฤษ และสนับสนุนระบบสองสภา

มีเพียง Siey?s, Talleyrand, Le Chapelier เท่านั้นที่ต่อต้านระบบสองสภา และยืนยันว่าระบบสภาเดียวเท่านั้นที่สอดคล้องกับหลักการอำนาจอธิปไตยของชาติ

แม้สมาชิกสภาแห่งชาติต่างเห็นพ้องร่วมกันว่าประเทศฝรั่งเศสจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญกำหนดกฎเกณฑ์ในการปกครองประเทศให้แน่นอนชัดเจน เพื่อให้พ้นไปจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจและการกดขี่ของรัฐบาล

และเป็นภารกิจของพวกเขาที่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามคำสาบานที่ให้ไว้ ณ สนามเทนนิส

แต่ “รัฐธรรมนูญ” คือเป้าหมายร่วมกันเท่านั้น ส่วนเนื้อหาของ “รัฐธรรมนูญ” จะเป็นเช่นใด ก็ต้องถกเถียงกันอย่างหนัก และเป็นประเด็นชิงไหวชิงพริบ ช่วงชิงเอาชนะกัน

จนนำมาซึ่งการแบ่งสมาชิกสภาออกเป็นฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษนิยม

การจัดทำรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไม่อาจหลีกหนีแรงกดดันจากสภาพการเมืองในช่วงเวลานั้นได้

การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 และเหตุการณ์ทางการเมืองต่อเนื่องจากนั้นมีผลชี้นำทิศทางการจัดทำรัฐธรรมนูญ

ในช่วงฤดูร้อน 1789 การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา ทั้งในเมืองและในชนบท มีส่วนสำคัญในการกดดันให้สภาแห่งชาติต้องยกเลิกระบบอภิสิทธิ์และตราคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง

ภายหลังเหตุการณ์ทลายคุก Bastille เกิดกระแสข่าวลือลามไปทั่ว โดยเฉพาะในชนบท ทำให้ชาวนาจำนวนมากตระหนกตกใจลุกขึ้นก่อขบถในหลายพื้นที่

เกิดกระแสรวมหมู่ชักชวนกันให้ไปบุกยึดทรัพย์สินและที่ดินของพระและขุนนาง

นอกจากนี้ ยังเข้าไปยึดหอจดหมายเหตุที่ดินเพื่อทำลายหนังสือแสดงอภิสิทธิ์เหนือที่ดินของพวกเจ้าที่ดิน

เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “La Grande Peur” หรือ “ความกลัวรวมหมู่ขนานใหญ่”

เหตุการณ์ La Grande Peur กดดันให้สภาแห่งชาติต้องพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับระบบอภิสิทธิ์ที่ให้แก่พระและขุนนาง

ในเวลานั้นสภาแห่งชาติกำลังจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากสถานการณ์ทางการเมืองภายนอกสภาสับสนอลหม่านแบบนี้ ก็อาจทำให้การเมืองในสภาดำเนินต่อไปไม่ได้

และขบวนการปฏิวัติที่ชนชั้นกระฎุมพีเป็นผู้ถางทางเริ่มต้นอาจหลุดมือไปจากพวกเขาได้

ดังนั้น สภาแห่งชาติจึงจำเป็นต้องหาหนทางให้เหตุการณ์ความวุ่นวายภายนอกอันเกิดจากข่าวลือต่างๆ นานายุติลงให้จงได้

สภาแห่งชาติมีสองทางเลือก

ทางเลือกแรก คือ การยืนยันหลักกรรมสิทธิ์ หากเลือกวิธีการนี้ ก็หมายความว่าจำเป็นต้องควบคุมและปราบปรามการก่อขบถในพื้นที่ต่างๆ อันอาจทำให้ชาวนาตั้งตนเป็นศัตรูกับระบบฟิวดัลมากขึ้นและอาจไม่พอใจสภาแห่งชาติไปด้วยก็ได้

ทางเลือกที่สอง คือ สร้างระบบการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและคนจน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นดอกผลความสำเร็จ ด้วยสถานการณ์ที่ข่าวลือทำงานไปทั่วเช่นนี้ ทางเลือกนี้ก็ไม่อาจเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา

เมื่อทั้งสองทางเลือกถูกปฏิเสธ สมาชิกสภาแห่งชาติกลุ่มเบรอตง (Club breton) จึงได้เสนอวิธีการใหม่ คือ การประกาศยกเลิกระบบอภิสิทธิ์

เริ่มต้นจาก Vicomte de Noailles เสนอให้ยกเลิกอภิสิทธิ์ทั้งหมดเพื่อการลุกฮือในต่างจังหวัดสงบลง

ต่อมา Duc d”Aiguillon เสนอให้รับรองหลักความเสมอภาคในการจ่ายภาษี และให้รัฐซื้ออภิสิทธิ์ต่างๆ คืนได้

ในท้ายที่สุดสภาแห่งชาติลงมติในวันที่ 4 สิงหาคม 1789 ให้ยกเลิกระบบฟิวดัลทั้งหมด

มักกล่าวกันว่า วันที่ 4 สิงหาคม 1789 คือวันยกเลิกระบบอภิสิทธิ์และสิ้นสุดระบบฟิวดัล และเป็นวันสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดแล้ว พบว่าระบบอภิสิทธิ์และระบบฟิวดัลนั้นไม่ได้สิ้นสุดลงทันที

กฎหมายลงวันที่ 4, 6, 7, 8 และ 11 สิงหาคม 1789 ประกาศรับรองไว้อย่างกว้างๆ เท่านั้น โดยในมาตราแรก ยืนยันว่าสภาแห่งชาติทำลายระบบฟิวดัลทั่วทั้งหมด ส่วนมาตราถัดๆ ไป เป็นการยกเลิกอภิสิทธิ์ต่างๆ ในหลายเรื่อง เช่น ภาษี ที่ดิน ทรัพย์สิน ระบบศาล แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดเงื่อนไข กระบวนการ และวิธีการในการยกเลิกอภิสิทธิ์เหล่านี้

จึงเกิดปัญหาตามมาว่าจะใช้เกณฑ์อะไรในการจำแนกทรัพย์สินที่ถือครองตามระบบอภิสิทธิ์?

รัฐสามารถยึดคืนได้ทันทีหรือต้องจ่ายค่าทดแทน?

กระบวนการในการทยอยยกเลิกอภิสิทธิ์ต้องทำอย่างไร?

ดังนั้น สภาแห่งชาติต้องทยอยออกกฎหมายเพื่อขยายรายละเอียดตามมาตั้งแต่ 1790 จนถึงปี 1793

โดยสภา Convention ในสมัยสาธารณรัฐ ออกกฎหมายลงวันที่ 17 มิถุนายน 1793 ประกาศยกเลิกอภิสิทธิ์ทั้งหมดตามระบบฟิวดัลโดยรัฐไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนคืน

แม้ระบบอภิสิทธิ์และระบบฟิวดัลไม่ได้หายไปในชั่วข้ามคืน ถึงกระนั้น เหตุการณ์ในวันที่ 4 สิงหาคม 1789 ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนได้สำนึกถึงความเป็นปัจเจกบุคคล มีอิสระในการตัดสินใจ เสมอภาคเท่าเทียมกัน

ความคิดเช่นนี้ได้แพร่หลายออกไปยังภาคสังคมมากขึ้น

ไม่ใช่จำกัดเฉพาะในหมู่นักปฏิวัติเท่านั้น