คนของโลก : ซิโมน เวย์ เหยื่อเอาชวิตส์สู่นักการเมืองหญิงฝรั่งเศส

“ซิโมน เวย์” นักการเมืองหญิงที่ได้รับความเคารพมากที่สุดคนหนึ่งในวงการการเมืองฝรั่งเศส เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยวัย 89 ปี

“ให้ตัวอย่างของเธอเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวฝรั่งเศส ในฐานะสิ่งที่ดีที่สุดที่ฝรั่งเศสสามารถทำได้สำเร็จ” เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวแสดงความอาลัย

ความอาลัยถูกส่งจากกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของสหภาพยุโรปด้วย โดย ฌอง-โคล้ด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวถึงเวย์ว่าเธอคือผู้ที่

“ช่วยสร้างสันติภาพอันยั่งยืนในภูมิภาคยุโรป”

 

“ซิโมน เวย์” เดิมมีชื่อว่า “ซิโมน จาคอบ” เกิดในเมืองนีซ ในปี 1927 ถูกทหารลัทธินาซีจับตัวในเดือนมีนาคม 1944 ก่อนถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน “เอาชวิตส์” ในประเทศโปแลนด์ พร้อมกับแม่และน้องสาวอีก 1 คน

ทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน “เบอร์เกน เบลเซน” ตอนเหนือของเยอรมนีในเวลาต่อมา ที่ซึ่งแม่ของเวย์เสียชีวิตลงด้วยโรคไทฟอยด์ ก่อนหน้านักโทษทั้งหมดจะได้รับอิสรภาพในปี 1945 เพียงไม่นาน

เวย์เล่าว่าเธอเจอกับพ่อและพี่ชายครั้งสุดท้ายขณะที่ทั้งคู่นั่งรถไฟของผู้ถูกเนรเทศไปยังประเทศลิทัวเนีย ขณะที่ความทรงจำอันเลวร้ายครั้งนั้นยังคงแจ่มชัดเสมอ

“หกสิบปีผ่านไป ภาพ กลิ่น เสียงร้องไห้ ความอัปยศอดสู เสียงระเบิด ควันดำจากตะกอนเผาศพ ยังคงตามมาหลอกหลอน” เวย์ระบุ

 

หลังสงคราม เวย์เข้าศึกษาด้านกฎหมายใน “มหาวิทยาลัยไซน์โป” มหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงปารีส สถานที่ซึ่งเธอพบกับสามีอย่าง “อองตวน เวย์” ก่อนที่ทั้งคู่จะมีลูกด้วยกัน 3 คน

อองตวนเสียชีวิตลงในปี 2013 ขณะที่ โคล้ด นิโกลาส์ ลูกชาย 1 ใน 3 คน เสียชีวิตในปี 2002

หลังจบการศึกษา เวย์ก้าวไปถึงตำแหน่งผู้พิพากษาตั้งแต่อายุยังน้อย เริ่มต้นเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของเรือนจำ และกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้นั่งตำแหน่งเลขาธิการ “คณะกรรมการตุลาการ” ของฝรั่งเศสในปี 1970

ในปี 1971 กลุ่มเฟมินิสต์ ได้เริ่มต้นเคลื่อนไหวเพื่อคว่ำ “กฎหมายห้ามการทำแท้ง” ในประเทศ เพื่อลบความอัปยศของการยุติการตั้งครรภ์ รวมถึงแก้ปัญหาการเสียชีวิตของผู้หญิงที่ต้องหันไปทำแท้งเถื่อนข้างถนน

เวย์เข้าร่วมการต่อสู้ดังกล่าวด้วยการตั้งองค์กรขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องถูกลงโทษจากกฎหมายห้ามการทำแท้ง

 

หลังเข้าเป็นสมาชิกพรรคสหภาพเพื่อประชาธิปไตยฝรั่งเศส (ยูเอฟดี) เวย์ได้รับการแต่งตั้งเป็น “รัฐมนตรีสาธารณสุข” ในยุครัฐบาลของประธานาธิบดี “วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง” ต่อสู้เพื่อกฎหมายที่เปิดทางให้มีการทำแท้งได้สำเร็จ

เส้นทางการผลักดันกฎหมายดังกล่าว “เวย์” ต้องเผชิญกับการดูหมิ่นสารพัด ในจำนวนนั้นวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบ “การทำแท้ง” ว่าราวกับเป็นพฤติกรรมของ “นาซีที่กำจัดชาวยิว”

ความยากลำบากในการผลักดันกฎหมายของ “เวย์” บอกได้ผ่านจำนวนผู้หญิงในรัฐสภาเวลานั้นที่มีเพียง 9 คน ขณะที่ผู้ชายมีจำนวนถึง 481 คน

“เวย์” ต้องเผชิญกับการอภิปรายที่ยาวนานถึง 25 ชั่วโมง ท่ามกลางผู้คัดค้านที่กล่าวหาเธอว่าความพยายามของเธอเป็นการ “สังหารหมู่” ขณะที่บางรายระบุว่าเป็นการ “โยนตัวอ่อนเข้าเตาเผาศพ”

“ฉันไม่นึกว่าฉันจะสร้างความเกลียดชังได้ขนาดนั้น” เวย์ระบุในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2004

และว่า “มันเป็นเหมือนเล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง รัฐสภาเต็มไปด้วยผู้ชาย และในจำนวนนั้นบางคนกำลังหาทางติดต่อสถานที่รับทำแท้งเถื่อนให้กับสมาชิกครอบครัวที่กำลังหมดที่พึ่ง”

ในที่สุดกฎหมายดังกล่าวก็ผ่านและถูกนำออกบังคับใช้ภายใต้ชื่อ “ลัวเวย์” หรือ “กฎหมายเวย์” ตั้งขึ้นตามชื่อของเวย์ ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันกฎหมายที่กลายเป็นหลักไมล์สำคัญให้กับสิทธิของผู้หญิงในฝรั่งเศสในที่สุด

 

นอกจากมรดกที่เวย์ทิ้งไว้ให้กับประเทศบ้านเกิดแล้ว เธอยังสร้างผลงานไว้ในฐานะประธานสภายุโรปที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรก เมื่อปี 1979 ตำแหน่งที่เวย์นั่งอยู่เป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสระหว่างปี 1998-2007 เป็นตำแหน่งสุดท้าย

เวย์มีหนังสืออัตชีวประวัติที่มีชื่อว่า “A Life” หนังสือขึ้นทำเนียบขายดี ที่ส่งถึงมือผู้อ่านได้กว่า 5 แสนเล่ม

หลังจากนั้นเวย์มีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายครั้ง ประสบการณ์ทำให้เธอยืนอยู่ตรงข้ามกับพรรคขวาจัดอย่าง “พรรคแนวหน้าแห่งชาติ” ถึงขั้นประณามนักการเมืองสายอนุรักษนิยมที่เตรียมร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคซึ่งมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพอย่างรุนแรง

ในปี 2010 เวย์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “ฟรานซ์อคาเดมี” องค์กรที่เปรียบได้กับราชบัณฑิตด้านภาษาฝรั่งเศส กลายเป็นผู้หญิงคนที่ 6 ที่ได้อยู่ในกลุ่มนักวิชาการอันทรงเกียรติที่ปัจจุบันมีเพียง 40 คนเท่านั้น

ประสบการณ์และคุณงามความดีของ “เวย์” ไม่ได้สะท้อนผ่านตำหน่งหน้าที่การงาน ทว่า ถูกจารึกไว้ด้วย 3 สิ่ง นั่นคือ

หนึ่ง “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” คำขวัญของฝรั่งเศส

สอง คือคำขวัญของสหภาพยุโรปอย่าง “รวมตัวกันท่ามกลางความหลากหลาย”

และสุดท้ายคือ หมายเลข “78651” หมายเลขนักโทษในค่ายกักกันเอาชวิตส์ที่สักอยู่บนแขนของเธอ