สุรชาติ บำรุงสุข : บัตรเลือกตั้ง vs. กระสุนปืน (จบ) ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นเลือกตั้ง!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เมื่อประชาชนหย่อนบัตรลงในหีบเลือกตั้ง ก็เปรียบเสมือนกับการฉีดวัคซีนป้องกันความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นของพวกเขา”

John Kenneth Galbraith

The Age of Uncertainty (1977)

ย้อนอ่านตอนที่แล้ว คลิก

ความน่าสนใจประการหนึ่งของการเมืองในประเทศด้อยพัฒนาก็คือ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทหารฝ่ายขวาหรือนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายล้วนมีชุดความคิดทางการเมืองเดียวกันก็คือ พวกเขาเชื่อในพลังอำนาจของ “ปืน”

ดังได้กล่าวแล้วว่าวาทะที่มีชื่อเสียงของประธานเหมาว่า “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” นั้น ใช้ได้ทั้งกับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของฝ่ายซ้าย และเช่นเดียวกับรัฐประหารของฝ่ายขวาก็ไม่ได้แตกต่างกันในเชิงวาทกรรม

เป็นแต่เพียงรัฐประหารคือเครื่องมือของกลุ่มอนุรักษนิยมในการปกป้องผลประโยชน์ทางชนชั้นของพวกเขา แต่การปฏิวัติเป็นการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชน

ดังนั้น ในยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นถึงการกำเนิดและการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารในประเทศโลกที่สามทั้งในเอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา

จนอาจกล่าวได้ว่าในช่วงทศวรรษ 1950 ต่อเนื่องเข้าทศวรรษ 1960 การเมืองโลกได้เห็นถึงการกำเนิดและการสร้างความเข้มแข็งของรัฐบาลทหารในหลายประเทศ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำรงอยู่ของรัฐบาลเช่นนี้ยังรองรับต่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่สำคัญในการต่อต้านการขยายตัวของสงครามปฏิวัติ

ฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่าการเลือกตั้งในสถานการณ์เช่นนี้ถูกสร้างภาพลักษณ์ให้กลายเป็นระบบการเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาและข้อโต้แย้ง…

เป็นระบบการเมืองที่ไม่รับใช้วัตถุประสงค์ในการป้องกันประเทศ…

เป็นระบบการเมืองที่ไม่ตอบสนองต่อการสร้างชาติ เพราะระบบการเมืองเช่นนี้ถูกควบคุมโดยนักการเมืองที่ไม่รักชาติ

วาทกรรมต่อต้านการเลือกตั้งเห็นได้อย่างชัดเจนในทุกรัฐบาลทหาร

และสำหรับในภูมิภาคละตินอเมริกาแล้ว ชุดความคิดทางการเมืองเช่นนี้ถูกเรียกว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Anti-politics Ideology)

และว่าที่จริงแล้ว อุดมการณ์ชุดนี้เห็นได้ในทุกรัฐบาลทหาร

เพราะหากรัฐบาลทหารจะดำรงอยู่ให้ได้อย่างชอบธรรมโดยปราศจากรากฐานของ “อำนาจทางศีลธรรม” แล้ว การสร้างชุดความคิดทางการเมืองรองรับต่อสถานะของรัฐบาลนี้จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

ไม่เช่นนั้น ปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายอำนาจของกองทัพในการเมือง

เพราะการกำเนิดของรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีความชอบธรรมในตัวเองตั้งแต่ต้น

ในสภาวะเช่นนี้ ชนชั้นนำและบรรดาผู้นำอนุรักษนิยมที่สนับสนุนการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำทหารจึงต้องหาทางทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้งให้ได้

และการทำลายเช่นนี้เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะนักการเมืองในประเทศด้อยพัฒนาเองก็มีปัญหาในตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่โปร่งใส การคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจแบบฉ้อฉล เป็นต้น

อุดมคติของการเลือกตั้งจึงถูกป้ายสีได้โดยใช้พฤติกรรมด้านลบของนักการเมืองเป็นเครื่องมือ

อีกทั้งชนชั้นนำยังมองด้วยความหวาดกลัวว่า การเลือกตั้งคือการเปิดโอกาสให้ชนชั้นล่างเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

การเมืองในระบบนี้จึงเป็นทั้งปัญหาและภัยคุกคามควบคู่กันไป จนไม่อาจจะยอมรับให้ระบบเช่นนี้ได้ทำหน้าที่ในทางการเมือง

นอกจากนี้ อาจจะต้องยอมรับความจริงของการเมืองในประเทศด้อยพัฒนาว่า อำนาจรัฐยังกระจุกตัวอยู่กับสถาบันการเมืองที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนของการพัฒนาและปรับตัวรองรับกับการกำเนิดของรัฐประชาธิปไตยและระบบรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่รัฐในโลกตะวันตกหรือในประเทศพัฒนาแล้ว กลับผ่านขั้นตอนของการต่อสู้ทางการเมืองอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ จนระบบการเมืองเกิดความชัดเจนถึงกระบวนการของการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ การจัดสรรอำนาจเกิดขึ้นในระดับสถาบันทางการเมืองและตัวแสดงทางการเมืองเพื่อเป็น “กติกาหลัก” อันจะเป็นหลักประกันว่าการได้มาซึ่งอำนาจจะไม่ทำให้ผู้นำกลายเป็น “เผด็จการ”

และขณะเดียวกันก็ประกันว่าจะไม่มีการต่อสู้ในการแข่งขันทางการเมืองจนนำไปสู่ความขัดแย้งและขยายไปสู่ความรุนแรงจนอยู่ในระดับที่ไม่อาจควบคุมได้

กล่าวคือ อย่างน้อยกติกาของการได้มาซึ่งอำนาจรัฐด้วยกระบวนการทางรัฐสภาจะเป็นหนทางแก้ปัญหาการปฏิวัติ และการล้มล้างระบบการเมือง

ดังเช่นตัวแบบของฝรั่งเศสในปี 1789 หรือรัสเซียในปี 1917 หรือจีนในปี 1949

อีกทั้งในยุคสงครามเย็นก็ได้เห็นถึงการพังทลายของระบบการเมืองเก่าที่ถูกล้มล้างจากสงครามปฏิวัติ

ไม่ว่าจะเป็นในคิวบาในปี 1959 หรือเวียดนามในปี 1975

ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของชนชั้นนำที่ปิดกั้นบทบาทในการมีส่วนร่วมของประชาชน

การปิดประตูระบอบรัฐสภาจึงกลายเป็นปัจจัยโดยตรงที่ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองหันไปสู่ทิศทางของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งอาจเป็นเพราะชนชั้นนำและกลุ่มผู้นำอนุรักษนิยมมองการเลือกตั้งด้วยทัศนะของอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองแบบสุดโต่ง

สภาวะเช่นนี้ทำให้โอกาสที่ใช้การเลือกตั้งเป็นการ “เปิดวาล์ว” ระบายแรงกดดันในสังคม กลับเห็นถึงความพยายาม “ปิดวาล์ว” และไม่มีช่องทางของการระบายทางการเมือง

อันทำให้ช่องทางของการต่อสู้ทางการเมืองเหลืออยู่เพียงเงื่อนไขเดียวคือการต่อสู้ด้วยกองกำลังอาวุธ

ตัวแบบของ “สงครามภายใน” ที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สามในยุคสงครามเย็นเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ และแม้ฝ่ายตรงข้ามรัฐอาจจะไม่ชนะ แต่ก็กลายเป็น “สงครามยืดเยื้อ” ที่บั่นทอนสถานะของรัฐลงอย่างมาก

บางความยืดเยื้อที่เกิดขึ้นมายาวนาน ดังเช่น กรณีของสงครามกลางเมืองในโคลอมเบียที่เริ่มในปี 1964 เพิ่งจะมีการยุติศึกในช่วงกลางปี 2016 และการบั่นทอนรัฐภายใต้เงื่อนไข “ความขัดแย้งยืดเยื้อ” ไม่อาจเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพของรัฐทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมได้เลย

รัฐที่ติดกับดักอยู่กับปัญหาความขัดแย้งอย่างยืดเยื้อจึงมีอาการไม่ต่างกับการเป็น “คนป่วย” ในประชาคมโลก แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ก็อาจกลายเป็น “รัฐล้มเหลว” ได้ไม่ยาก เช่น กรณีของรัฐในแอฟริกา เป็นต้น

นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐทหารด้วยการยึดอำนาจจากระบบการเลือกตั้งก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้จริง

การพังทลายของ “ระบบทหาร” ในละตินอเมริกาเป็นบทเรียนที่น่าสนใจเสมอ

เพราะกองทัพในภูมิภาคดังกล่าวไม่เพียงแต่จะมีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้กับการเมืองแบบพลเรือนมายาวนานในการเมืองของแต่ละประเทศ และนายทหารหลายๆ คนในกองทัพยังมีสภาพเป็น “นักคิด” ที่จะประกอบสร้างชุดความคิดเพื่อรองรับต่อการมีบทบาททางการเมืองของทหารในแบบของ “การสร้างสถาบัน” (institutionalization)

กล่าวคือ การดำรงอยู่ของกองทัพในเวทีการเมืองถูกออกแบบในเชิงสถาบัน และทั้งยังจัดทำระบบกฎหมายรองรับ เพื่อให้อำนาจเช่นนี้ดำรงอยู่ได้อย่างชอบธรรม

ดังนั้น นับจากการรัฐประหารครั้งสำคัญของภูมิภาคที่เริ่มต้นด้วยการยึดอำนาจในบราซิลในปี 1964

และตามมาด้วยการรัฐประหารในเปรูในปี 1968

นับจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา การเมืองในภูมิภาคทั้งหมดก็ตกอยู่ภายใต้ระบบการปกครองของทหาร

พวกเขาอยู่ในอำนาจอย่างเข้มแข็ง ดังจะพบว่าในปี 1979 นั้น 2 ใน 3 ของประชาชนในละตินอเมริกาใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบบการปกครองของทหาร และระบบนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยการจับกุม การทรมาน การลักพาตัว และการสังหาร

แม้มาตรการทางทหารจะช่วยลดภัยคุกคามของ “ฝ่ายซ้าย” เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเดินไปสู่ตัวแบบของการปฏิวัติคิวบา

แต่ราคาที่สังคมต้องจ่ายเพื่อใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับลัทธิสังคมนิยมก็สูงอย่างมาก

ในสภาวะเช่นนี้ การเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งที่ถูก “ทอดทิ้ง” ในทางการเมือง

แต่ในที่สุดเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐอเมริกา การลดระดับของภัยคุกคามของลัทธิสังคมนิยม ประกอบกับการเติบใหญ่ของภาคพลเรือนและประชาสังคม

และที่สำคัญก็คือความล้มเหลวของรัฐบาลทหารทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่สุดแล้ว รัฐบาลทหารก็คอร์รัปชั่นไม่ต่างจากรัฐบาลพลเรือนที่ถูกกองทัพยึดอำนาจ

นายทหารระดับสูงใช้ชีวิตด้วยความหรูหราและมั่งคั่ง ในขณะที่นายทหารส่วนใหญ่ถูกทิ้งให้ร่วมชะตากรรมกับประชาชนที่ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ดังนั้น ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 ความชอบธรรมของกองทัพที่จะอยู่ในการเมืองก็ค่อยๆ ถึงจุดจบ

วาทกรรมเรื่อง “ภารกิจทางประวัติศาสตร์” ของกองทัพกลายเป็น “คำโฆษณา” ที่ไม่มีเสียงตอบรับ และทั้ง “อำนาจทางศีลธรรม” ที่กองทัพพยายามใช้ภารกิจของการต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นปัจจัยทดแทนก็กลายเป็นเพียง “สินค้าล้าสมัย” ที่ขายไม่ออกในทางการเมือง

และในที่สุด ระบบการปกครองของทหารในละตินอเมริกาก็ถึงจุดจบ

ดังจะเห็นว่าในปี 1994 ภูมิภาคนี้ไม่ว่าจะเป็นอเมริกากลางและอเมริกาใต้ไม่มีรัฐบาลทหารหลงเหลืออยู่อีกเลย

การปิดฉากของทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา และตามมาด้วยการกลับคืนมาของพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง การละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกตรวจสอบและลงโทษ

การเซ็นเซอร์สื่อก็ค่อยๆ หมดไป

หรือหากกล่าวในภาพรวมก็คือ กระบวนการสร้างประชาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือหลักได้เข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรอำนาจทางการเมืองแทนการควบคุมของรัฐบาลทหาร

พร้อมกันนี้กองทัพก็ถูกสร้างให้มีความเป็น “ทหารอาชีพ” มากกว่าจะเป็น “ทหารการเมือง” และบทบาทของ “นักการเมืองในเครื่องแบบ” ก็กลายเป็นบรรทัดฐานเก่าที่ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป กระบวนการสร้างทหารอาชีพจึงเกิดคู่ขนานกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตย

แน่นอนว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สาม มิได้หมายความว่า ชนชั้นนำและผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมจะสิ้นสภาพไป

หากแต่พวกเขาถูกบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ที่ถือเอา “ประชาธิปไตยเป็นเกมการต่อสู้เดียวในเมือง” (Democracy is the only game in town) บีบให้ยอมรับว่ากระบวนการการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาเป็นหนทางของการได้อำนาจทางการเมือง

หรือกล่าวเปรียบเทียบได้ว่า อำนาจรัฐได้มาด้วย “รถหาเสียง” มิใช่ด้วย “รถถัง” อีกต่อไป

ภายใต้กระบวนการสร้างประชาธิปไตยในโลกที่สาม จากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมลงสนามแข่งขันทางการเมืองในการเลือกตั้ง ไม่แตกต่างจากการเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีกติกาที่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งคือกลไกหลักของการได้อำนาจรัฐ อำนาจไม่ได้มาจากการรัฐประหารอีกต่อไป

พร้อมกันนี้ก็เกิดปรากฏการณ์ของการ “ถอนตัวของกองทัพออกจากการเมือง” ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มสำคัญในการเมืองโลก… ผู้นำทหารพากองทัพกลับเข้าสู่กรมกอง

การก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ประเทศโลกที่สามมีส่วนโดยตรงในการขับเคลื่อนให้การเลือกตั้งเป็นกลไกหลักของการตัดสินการแข่งขันทางการเมือง

กระบวนการเช่นนี้เกิดในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานะทางชนชั้นหรือมีอุดมการณ์อย่างไร พวกเขาจะต้องต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง

ชัยชนะจึงไม่ใช่การ “เกาะรถถัง” เข้าสภาอีกต่อไป

แม้ในอดีตการเลือกตั้งในประเทศเหล่านี้จะมีปัญหา แต่คงต้องยอมรับว่าพัฒนาการทางการเมืองที่ผ่านมาทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกมีส่วนอย่างมากต่อการทำให้การเลือกตั้งมีลักษณะ “เสรีและเป็นธรรม” (free and fair election)

และเห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งไม่ได้ถูกออกแบบให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตัวแทนของพวกเขาเข้าสู่สภา

และการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นจากเสียงของประชาชน

ดังนั้น ถ้าฝ่ายขวาจะได้อำนาจ ก็ต้องกระทำผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ด้วยการนำเสนอนโยบายใหม่ให้ประชาชนตัดสินใจเลือก

พล.อ.​ประยุทธ์ จันทร์​โอชา ผบ.ทบ.​ลง​คะแนนเสียง​เลือกตั้ง​ผู้​ว่าฯ​กทม. เมื่อ​วัน​ที่ 3 มีนาคม 2556

ดังเช่น การกำเนิดของ “ประชานิยมปีกขวา” (Rightwing Populism) ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะของกลุ่ม “เบร็กซิท” (BREXIT) ในอังกฤษ ชัยชนะในการเลือกตั้งอเมริกันของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016 หรือการขับเคลื่อนของปีกขวาในยุโรปปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคแนวร่วมแห่งชาติในฝรั่งเศส พรรคทางเลือกในเยอรมนี พรรคเสรีภาพในเนเธอร์แลนด์ พรรคเสรีภาพในออสเตรีย เป็นต้น

กลุ่มขวาเหล่านี้ไม่ได้มายึดอำนาจ แต่มาขายนโยบายให้แก่ประชาชน

น่าสนใจว่ากลุ่มขวาในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่กลัวและไม่รังเกียจการเลือกตั้ง แม้พวกเขาจะมีข้อวิจารณ์อย่างไร แต่พวกเขาก็ตระหนักดีว่าอำนาจรัฐได้มาด้วยการเลือกตั้ง…

ชัยชนะของฝ่ายขวาเกิดในสนามเลือกตั้ง การเมืองในยุคเก่าที่ “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” ผ่านเลยไปแล้ว

รัฐประหารจึงเป็น “สินค้าตกยุค” ที่ขายไม่ได้ในเวทีโลก

หากแต่การเมืองในปัจจุบันเป็นดังคำของลินคอล์นที่ว่า “บัตรเลือกตั้งแข็งแรงกว่ากระสุนปืน”!