
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ก่อสร้างและที่ดิน |
เผยแพร่ |
ก่อสร้างที่ดิน/นาย ต.
ชะตากรรมไซต์งานก่อสร้าง
ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดมาปีครึ่ง ธุรกิจที่ได้รับความเสียหายมากสุด คือธุรกิจท่องเที่ยว และที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มา คนเดินทางไม่ได้ การท่องเที่ยวก็จบ
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบถัดมา และได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการควบคุมต่างๆ ของรัฐ ได้แก่ ธุรกิจภาคกลางคืน, ร้านอาหาร และบริการที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการอะไรออกมาก็โดนหมด ถูกล็อกกระดิกไม่ได้มาเป็นปีเช่นกัน
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาโดนเข้าเต็มๆ เป็นลำดับต่อมา เมื่อไม่นานนี่เอง คือถูกสั่งปิดไซต์งานก่อสร้าง
เมื่อโควิด-19 แรกมา ก็เริ่มจากคลัสเตอร์ “สนามมวย” ก่อน ถัดมาก็เป็นคลัสเตอร์ “ตลาดกลางกุ้ง” และต่อมาก็เกิดคลัสเตอร์ “ผับเลานจ์หรูทองหล่อ” ที่เรียกกันว่าเป็นการแพร่ระบาดระลอกที่ 3
จากนั้นโควิด-19 ก็เหหัวเรือลงตลาดล่าง เกิดเป็นการแพร่ระบาดที่คลัสเตอร์ “ชุมชนแออัดคลองเตย” อีกไม่นานก็ถึง “ไซต์งานก่อสร้าง” ที่แออัดไม่น้อย เริ่มที่ไซต์ก่อสร้างหลักสี่ แล้วก็ไซต์อื่นๆ อีกหลายสิบแห่ง
คราวนี้ไม่เพียงเป็นการระบาดขยายวงอย่างเดียว ยังปรากฏไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย ไปกับการแพร่ระบาดระลอกนี้ด้วย
ในที่สุดนักวิชาการด้านระบาดวิทยาก็บอกว่า ระบาดระลอกนี้ เรียกเป็น “ระลอกที่ 4” ได้แล้ว
เพราะการปิดไซต์งานก่อสร้างใหญ่ๆ ที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ทำให้ผู้รับเหมาช่วง แรงงานรายวัน กลับบ้าน กลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด บางกลุ่มรับเหมาช่วงก็แวะรับงานตามไซต์งานจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีการก่อสร้างไปด้วย ทำให้การแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้างไปแทบทุกจังหวัดของประเทศ
ชะตากรรมของไซต์งานก่อสร้างที่ถูกสั่งปิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ยังมีคนงานตกค้างอยู่ที่ไซต์จำนวนหนึ่ง ที่เห็นจากข่าวจากเฟซบุ๊กแชร์ของคนที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีผู้รับเหมาก่อสร้างจัดหาอาหาร น้ำ ไปแจกคนงานในไซต์ หลายโครงการก็มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ผู้ว่าจ้างผู้รับเหมามาร่วมบริจาคอาหาร ของกินของใช้ช่วยสมทบผู้รับเหมา นอกจากนี้ ยังมีผู้ใจบุญทำอาหารมาแจกจ่ายบ้างเป็นครั้งคราว
ส่วนด้านไซต์งาน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาคอยดูแลควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้คนงานออกจากไซต์
เมื่อปริมาณการแพร่ระบาดยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อไป มีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 9 พันรายติดต่อกัน รัฐบาลโดย ศบค.ก็ประกาศล็อกดาวน์ กทม.และจังหวัดแดงเข้ม “เคอร์ฟิว” ช่วงกลางคืน และตั้งจุดสกัดด่านตรวจคนยามวิกาลหรือข้ามจังหวัด จำนวนมาก
การควบคุมโรคผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามดูกัน
แต่ที่แน่ๆ ทำให้รู้ว่า จริงๆ งานถนัดของรัฐคือการควบคุมคนไม่ใช่ควบคุมโรค ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาตามไซต์งานก่อสร้าง ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือกันเองก่อน