E-DUANG : ทำไมการซื้ออาวุธ 70,000 ล้าน จึงเป็นปัญหา

ที่มาภาพ: defenseindustrydaily.com

 

ไม่ว่ามติครม.อนุมัติงบประมาณ 8,997 ล้านบาทให้กองทัพอากาศจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่จากเกาหลีใต้

ก็ดำเนินไปตามระบบ ตามระเบียบ

ไม่ว่ามติครม.อนุมัติงบประมาณ 6,985 ล้านบาทให้กองทัพ บกจัดซื้อรถถังจากจีน

ก็ดำเนินไปตามระบบ ตามระเบียบ

ไม่ว่ามติครม.อนุมัติงบประมาณ 2,300 ล้านบาทให้กองทัพ บกจัดซื้อรถเกราะล้อยางจากจีน

ก็ดำเนินไปตามระบบ ตามระเบียบ

ไม่ว่ามติครม.อนุมัติงบประมาณ 36,000 ล้านบาทให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน

ก็ดำเนินไปตามระบบ ตามระเบียบ

 

ถามว่าเมื่อการอนุมัติซื้อเครื่องบินฝึก รถถัง รถเกราะล้อยาง เรือดำน้ำ ล้วนเป็นไปตามระบบ ตามระเบียบ

แล้วเหตุใดจึงกลายเป็นประเด็น เป็นปัญหา

เป็นที่มาแห่งการตั้งข้อสังเกตในความเหมาะสม ชอบด้วยเหตุผลของการจัดซื้อ “อาวุธ”

ถึงกับนำคำว่า “ช้อป” มาใช้เรียกขาน

ถึงกับมีการประมวลมติครม.ในรอบ 3 ปีนับแต่รัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า มีการอนุมัติเงินงบประมาณอาวุธ ยุทโธปกรณ์ไปแล้วรวม 70,000 ล้านบาท

เหมือนกับว่าไม่เหมาะสม ไม่ชอบธรรม

 

ไม่ว่าจะมองจากมุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองจากมุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ล้วนไม่เข้าใจในอารมณ์และความรู้สึก

ถึงขนาดที่เสียงสะท้อนผ่าน “สวนดุสิตโพล” มองเห็นเป็นเรื่องไม่สอดรับกับสถานการณ์ กลายเป็นผลงานยอดแย่ของรัฐบาลและของคสช.

ถึงขนาด “นักการเมือง” นำประเด็นการซื้อ “อาวุธ” ไปโยงกับกระบวนการช่วยเหลือ “เกษตรกร”

บางคนถึงกับเสนอให้เอาสินค้า “เกษตร” ไป “แลก”

นั่นก็คือ เอา “ข้าว” ไปแลกกับ “เครื่องบิน” นั่นก็คือ เอา “ยาง” ไปแลกกับ “เรือดำน้ำ”

ทั้งหมดนี้สะท้อน “จุดต่าง” จากมุมการมอง “ต่าง”