จะเปลี่ยนนายกฯ และรัฐบาลได้อย่างไร? ถ้าไม่เปลี่ยนนายกฯ และรัฐบาล เราจะจน เจ็บ เจ๊ง และตาย… แต่ทำยากมาก/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

จะเปลี่ยนนายกฯ และรัฐบาลได้อย่างไร?

ถ้าไม่เปลี่ยนนายกฯ และรัฐบาล

เราจะจน เจ็บ เจ๊ง และตาย…

แต่ทำยากมาก

 

7 ปีกว่านับตั้งแต่คณะ คสช.รัฐประหารปี 2557 สืบทอดอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และผ่านการเลือกตั้ง 2562 ผลจากการครองอำนาจแต่บริหารไม่เป็นและไม่สนับสนุนหลักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ก่อให้เกิดผลเสียต่อทั้งระบบรัฐสภา กระบวนการยุติธรรม และการบริหารประเทศ เกิดความล้มเหลวในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอด 7 ปี

จึงมีเสียงเรียกร้องให้ตัวนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกไป หรือทำอย่างไรก็ได้ให้มีการเปลี่ยนรัฐบาล

ประชาชนหวังว่าถ้ามีผู้นำที่มีความสามารถจะมีโอกาสพาประเทศชาติและประชาชนรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาด covid ไปได้

แต่เนื่องจากรัฐบาลนี้ตั้งขึ้นมาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ได้ดึง ส.ส.ฝ่ายค้านมาอยู่ฝ่ายตัวเองเพิ่มขึ้นจนมีเสียงเกินครึ่งไปมากพอสมควร ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้

การแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ยากเพราะ ส.ว.ต้องให้ความร่วมมือด้วย แต่ ส.ว.นั้น คสช.ก็แต่งตั้งมากับมือจึงไม่มีทางแก้ยอมรัฐธรรมนูญที่ตนเองได้เปรียบ

ปัจจุบันสถานการณ์โควิดที่มีคนติดเชื้อวันละเกือบหมื่นมีคนตายร่วมร้อยคนกลายเป็นแรงกดดันและทำให้ประชาชนที่เคยสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็หันมาคัดค้านและเรียกร้องให้ลาออก

แรงกดดันทางการเมืองแบบนี้จึงเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้แต่ถ้าไม่ใช่การทำรัฐประหารจะมีหนทางใดบ้าง

 

เปลี่ยนนายกฯ โดยเดินตามรัฐธรรมนูญ 2560

แนวทางที่ 1 ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ต้องมี พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวทำให้เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนฯ ไม่ถึง 250 ถ้าเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแพ้เสียง ซึ่งกรณีนี้ นายกฯ คงประกาศยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิมยังไม่มีการแก้ไขใดๆ

แต่ขณะนี้ยังไม่มีวีแววว่าพรรคไหนจะถอนตัว เพราะยังรอใช้งบประมาณกันอยู่

ความเป็นไปได้นี้จึงมีน้อย ต้องดูแรงกดดันทางการเมืองจากนอกสภา ทุก 10 วัน

แต่ผลการเลือกตั้งครั้งใหม่ยังไม่แน่ว่าใครจะชนะ

 

เปลี่ยนเฉพาะหัว ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ความเป็นไปได้ของการลาออกเองและตั้งรัฐบาลใหม่เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะมีความด้าน หนามาก

ยกเว้นจะมีแรงกดดันจากอำนาจพิเศษ ซึ่งกลุ่ม คสช.ต้านไม่ไหวก็ต้องยอมโดยการเปลี่ยนหัว แต่จะต้องมีข้อตกลงกันว่าใครจะมาเป็นนายกฯ คนใหม่ และนายกฯ คนใหม่จะปฏิบัติต่อกลุ่ม คสช. และนายกฯ คนเก่าอย่างไร จะมีการแบ่งปันอำนาจกันอย่างไร

ถ้าการเปลี่ยนแบบนี้เกิดขึ้น ประชาชนจะได้ประโยชน์น้อยมากเพราะโครงสร้างต่างๆ จะยังเหมือนเดิม เช่น ส.ว. 250 คนก็ยังอยู่ รัฐธรรมนูญทั้งหมดก็ยังไม่ได้แก้ไข แต่อาจมีการปรับเปลี่ยน ครม.

กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นสมัยนายกฯ เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่มีการแต่งตั้ง ส.ว. 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. แต่ก็ถูกหักหลังจากวิกฤตปัญหาเรื่องน้ำมันแพง นายกฯ เกรียงศักดิ์ต้องลาออกมาแข่งขันใหม่ในรัฐสภา แต่ ส.ว. และ ส.ส.ก็ไปเลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายกฯ เกรียงศักดิ์ก็ตกกระป๋องไปแต่ไม่ถึงขนาดต้องลี้ภัย เพียงแต่บทบาททางการเมืองก็ค่อยๆ เลือนหายไป

นี่คือตัวอย่างการเปลี่ยนเฉพาะหัว

นายกฯ เปรมจึงเข้าบริหารโดยมีทุกองค์กรตั้งรอไว้แล้ว ทั้ง ส.ว.ซึ่งแต่งตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นผู้สนับสนุน และยังมี ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ มาสนับสนุนอีกหลายพรรค จึงไม่จำเป็นต้องมีพรรคของตัวเอง แต่มีโควต้ารัฐมนตรีสำหรับตนเองเลือกไว้จำนวนหนึ่ง สามารถบริหารประมาณ 8 ปี แต่ก็ต้องปรับ ครม.หลายครั้ง

ความแตกต่างคือนายกฯ เปรมพูดน้อยกว่า ด่าไม่ได้ รู้จักอาย แต่ยุคนี้ใครจะด่าอย่างไรไม่สนใจ เลยวิเคราะห์ว่าไม่มีทางลาออกเอง นอกจากถูกบังคับ แต่ลาออกแล้วใช่ว่าจะหานายกฯ ใหม่ได้ตามใจชอบ

 

แนวทางการลาออกและตั้งนายกฯ ใหม่

ตามรัฐธรรมนูญ 2560

นายกฯ คนใน

รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องมาจากผู้ที่มีการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ เมื่อครั้งมีการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งก็มีคุณอนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย ในพรรคเพื่อไทยก็มี 3 คนคือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ ส่วนพรรคอนาคตใหม่เคยเสนอชื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเสนอชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พรรคการเมืองที่จะมีสิทธิ์เข้าไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องมี ส.ส.อย่างน้อยร้อยละ 5 ของ ส.ส.ทั้งหมด

คือ 25 คนลงเสียงรับรอง หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกสองสภา คือ 50 คน

นายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดสองสภา (ส.ว. 250 + ส.ส. 500) คือ 376 เสียงขึ้นไป

ตอนนี้ความเป็นไปได้สูงสุดมีอยู่คนเดียว คือคุณอนุทินจากภูมิใจไทยเพราะเป็นฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล และผู้มีอำนาจอาจสนับสนุนเพื่อมาขัดตาทัพ พรรคร่วมมีเสียง ส.ส.เกิน 250 คนแน่นอน เมื่อรวมกับเสียง ส.ว.ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ไม่น้อยกว่า 200 จะทำให้มีเสียงเกินครึ่งของรัฐสภาคือ 375 เสียง สามารถเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อแต่งหน้าทาแป้งแต่งตัว ปรับ ครม.ใหม่ทำการบริหารต่อไป

แต่ถ้าเป็นแบบนี้ก็เท่ากับว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกฎหมายใดๆ เลย การบริหารต่อไปก็คงจะพบกับอุปสรรคและความไม่ยอมเชื่อถือของประชาชนเหมือนเดิมและแก้ปัญหาไม่ได้ คนก็จะออกมาไล่เหมือนเดิม

ความสามารถของคุณอนุทินในการเป็น รมว สาธารณสุข ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ผ่านมาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอันใด

นายกฯ คนนอก เกิดขึ้นได้จริงหรือ

 

หมายถึงเอาคนนอกบัญชีพรรคการเมืองมาเป็นนายกฯ ในกรณีที่ประชุมสภาเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาไม่ได้สักคน มีเสียงไม่ถึง 376 เพราะ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างมีเสียงแค่ 200 กว่า

ถ้า ส.ว.ไม่ยกมือให้มากพอ ยังไงก็ไม่ถึง 376

แต่การสรรหานายกฯ คนนอกมีหลายขั้นตอน

ให้สมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (750 คน) หรือ 376 คนขึ้นไป เข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของทั้งสองสภาจาก 750 เสียง คือ 501 เสียงขึ้นไปมีมติให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

ส.ส. หรือ ส.ว.ใช้เสียงรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกสองสภา หรือ 50 คนเสนอชื่อนายกฯ

คนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของสองสภา

คือ 376 เสียงขึ้นไป

ความเป็นไปได้จริงคือ นายกฯ คนนอกจะต้องถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อนายกฯ ที่เป็นแคนดิเดตทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเสนอเข้ามา ส.ว.จะไม่ร่วมสนับสนุน จึงไม่ได้เสียงถึง 376 นายกฯ คนในจึงไม่มีใครสามารถรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้

จะต้องมีการเรียกประชุมและขออนุมัติที่จะให้มีการเลือกนายกฯ คนนอกที่ประชุมทั้งรัฐสภาจะต้องมีเสียงเห็นชอบถึง 500 เสียง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการแอบตกลงกันไว้แล้ว ให้มี ส.ส.เกิน 250 เมื่อรวมกับเสียง ส.ว.อีกประมาณ 250 ก็จะได้เกิน 500 (ถ้ามี ส.ส.ไม่ยอม ก็ต้องแจกกล้วย)

จากนั้นจึงจะเสนอชื่อนายกฯ คนนอกเข้ามาในรัฐสภาได้ เมื่อลงคะแนนกันอีกครั้งหนึ่ง คนนั้นจะเป็นนายกฯ ที่ได้เสียงเกิน 375 แน่นอน เพราะเสียงที่ตกลงกันไว้มีถึง 500

แม้มีคนคิดว่ายอมตกลงกันให้มีนายกฯ จากพรรคการเมืองดีกว่า โดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลร่วมมือกัน เสียง ส.ว.จะไม่มีความหมาย นายกฯ คนนอกไม่มีทางตั้งได้ เพราะพรรคการเมืองก็สามารถรวมเสียงได้เกิน 375 และตั้งเป็นรัฐบาลผสมได้ ซึ่งกรณีนี้ก็เกิดได้ยากเช่นกัน

และก็มีคนที่คิดว่ายอมให้พวกนั้นสืบทอดอำนาจไปแล้วเปิดเกมสู้ให้แรงขึ้น

ถ้าเปลี่ยนแค่หัว โครงสร้างไม่เปลี่ยน บ้านเมืองจะแย่เหมือนเดิม ดังนั้น สถานการณ์จะเป็นดังนี้

-xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

(ขออภัยต้องเลียนที่แบบสัญญาวัคซีน เพราะถ้าเผยแพร่ความจริงแล้วคนตกใจจะมีความผิด)

ในกรณีที่รัฐบาลนี้ไม่ยอมออกไม่ถอย ไม่แก้รัฐธรรมนูญ เกมการต่อสู้จะอยู่นอกสภาเป็นหลัก

ทิศทางการเมืองจะไปทางไหน น่าจะปรากฏในวิกฤตที่พุ่งสูงไม่เกิน 2 เดือนนี้