ความเบาหวิวเหลือทนของสลิ่ม | คำ ผกา

คำ ผกา

ช่วงนี้มีคำศัพท์ที่น่าสนใจ 2 คำ คือ call out และ cancel culture

การ call out คือการออกมาประณามการกระทำที่ไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วน cancel culture คือการแบน หรือบอยคอต คน (ดัง) ที่สนับสนุนการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

ในสังคมที่หลักการประชาธิปไตยเข้มแข็ง การ call out และ cancel culture มักถูกใช้ในประเด็นความเสมอทางเพศ การเหยียดสีผิว สิ่งแวดล้อม การค้ามนุษย์

เช่น ถ้ามีดาราระดับเอลิสต์สักคนหนึ่งไปสนับสนุนหรือบริโภคสินค้ายี่ห้อที่กำลังมีคดีความเรื่องการใช้แรงงานทาส ดารานักแสดงคนนั้นอาจจะเจอ cancel culture หรือถูกบอยคอต

หรือลองจินตนาการว่า ถ้าดาราฮอลลีวู้ดระดับเอลิสต์ออกมาสนับสนุนการทำรัฐประหารในเมียนมา ดาราคนนั้นต้องเจอ cancel culture จนไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอย่างแน่นอน

 

ทั้ง call out และ cancel culture เป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่ทรงพลังในโลกโซเชียลมีเดีย

และในหลายกรณีก็เป็นที่ถกเถียงหรือมีประเด็นว่ามันลามปามไปสู่การ bully อย่างเลยเถิดในโลกออนไลน์หรือไม่

พูดภาษาชาวบ้านคือ มันเป็นการประณาม หรือเรียกร้องความรับผิดชอบจากตัวบุคคลจนเกินเบอร์ เกินกว่าเหตุ จนไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเขาหรือไม่

เช่น กลุ่มนักพิทักษ์สิทธิสัตว์ที่ไปรุมประณาม ดารา นักแสดง คนดัง ที่สวมเสื้อผ้าทำจากขนสัตว์จนเกินกว่าเหตุ

และท้ายที่สุด มันนำไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่งที่เราไม่ต้องการคือ self censored หรือการเซ็นเซอร์ตัวเอง ที่เราก็ไม่อยากให้มันเกิดด้วยเช่นกัน

เช่น ถ้าฉันเป็นคนดัง ฉันรู้ว่า การใส้เสื้อขนสุนัขจิ้งจอก จะทำให้ฉันโดนแบน โดยประณามจากกระแสสังคม

ทางออกของฉันคือ ไม่ใส่เสื้อขนสุนัขจิ้งจอกออกสื่อ และเลือกใส่บางวาระ โอกาสที่ไม่มีใครเห็น หรือแม้กระทั่งทำเป็นร่วมรณรงค์ไม่ใช้เสื้อผ้าขนสัตว์ แต่แอบมีเสื้อผ้าเหล่านี้อยู่เต็มตู้ที่บ้าน และทำมาเป็นร่วมแคมเปญ เพื่อเรียกคะแนนนิยม หรือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูดี

สำหรับสังคมไทย ฉันคิดว่าทั้ง call out และ cancel culture มีประเด็นและบริบทต่างจากประเทศอื่นที่หลักการประชาธิปไตยลงหลักปักฐาน ตั้งมั่นไม่คลอนแคลน เป็น norm เป็นบรรทัดฐานที่ไม่ต้องมาเถียงกันว่าจะเอาหรือไม่เอา จะเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย

หรือตกลง ไอ้ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันใช่หรือไม่ใช่ประชาธิปไตย

 

มันเพิ่งจะเริ่มเมื่อไม่นานมานี้ที่มีกระแสกดดันให้ดารา นักร้อง คนดังออกมา “ส่งเสียง” เพื่อความถูกต้องในสังคม

เช่น ประณามรัฐบาลที่ต่อยอดอำนจมาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 หรือบอยคอตดาราที่สนับสนุนเผด็จการ

เมื่อกระแสนี้เริ่มเข้มข้น เช่น มีการไป “ขุด” ว่าดาราคนไหนไปเป่านกหวีด ดาราคนไหนเคยไปถ่ายรูปออเซาะกับผู้นำเผด็จการหน้าระรื่น หรือมีกระแสไปกดดัน “คนดัง” หรือผู้มีอิทธิพลในวงการต่างๆ ว่า “เฮ้ย ใจคอจะไม่พูดเรื่องการเมืองเลยเหรอ?” หรือ “เฮ้ย สถานการณ์มันเลวร้ายขนาดนี้ ยังลอยหน้าลอยตาโฆษณาสินค้า เล่นละคร ทำงานสื่อไปเหมือนบ้านเมืองไม่มีปัญหา อะไรคนมันจะอยู่เป็นขนาดนั้น”

พอมีกระแสกดดันเช่นนี้หนักขึ้นก็เริ่มมีคำถาม โดยเฉพาะคำถามจากคนฝั่งประชาธิปไตยด้วยกันว่า การกระทำแบบนี้คือเผด็จการทางความคิดหรือไม่?

ทำไมเราต้องไปบังคับคนอื่นให้คิดเหมือนเราด้วย ถ้าหลักการหรือความเชื่อของเรามันดี เราใช้เหตุผลไปเรื่อยๆ วันหนึ่งคนเขาก็มาฟังเราเอง จะไปบีบบังคับให้คนเปลี่ยนใจวันนี้ พรุ่งนี้ได้อย่างไร ทำไมถึงเอาแต่ใจจัง?

สนับสนุนประชาธิปไตยแต่ทำไมใช้วิธีเหมือนเผด็จการ ฯลฯ

อ่านแล้วก็งงว่า เอ๊า การด่า หรือการบอยคอตคนสนับสนุนเผด็จการนี่ถือว่าเป็น “เผด็จการทางความคิดไปอี๊ก” – โง่แล้วอวดฉลาดให้มันได้จั๋งซี่ สมควรแล้วที่มีชีวิตอยู่ในเผด็จการเอาขี่ยีหัวเล่นตลอดไป

ฉันจะเริ่มต้นอย่างนี้ว่า แนวคิดประชาธิปไตยในสังคมไทยนั้นมีสถานะที่กำกวมมาตลอดประวัติศาสตร์ของมัน

นั่นคือ สังคมไทยมี relationship กับหลักการประชาธิปไตยแบบที่เป็นประชาธิปไตยทิพย์ๆ มาโดยตลอด นั่นคือ ในขณะที่เราก็รู้ โลกก็รู้ว่า ตามหลักสากลนั้น มีแต่ความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะถูกนับว่าเป็น “อารยะ”

สังคมไทยนั้นด้านหนึ่งก็อยากให้ “ฝรั่ง” หรือ “ตะวันตก” นับญาติกับเราในฐานะที่เป็นอารยชนเหมือนกัน ไม่อยากถูกดูถูกว่าเป็นพวกบ้านป่าเมืองเถื่อนยังปกครองกันด้วยระบบรัฐชนเผ่า

ดังนั้น ขาข้างหนึ่งก็ไปยืนในจุดที่บอกว่า เออๆ ประชาธิปไตยมันดีแหละ เรายอมรับและเราก็พยายามจะเป็น

แต่ขาอีกข้างหนึ่งก็รู้ว่า ถ้ายอมเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ชนชั้นนำของรัฐชนเผ่าโบราณของเราจะสูญเสียทั้งอำนาจ ความชอบธรรม ความมั่งคั่ง อำนาจนำทางวัฒนธรรม เช่น บุญที่ติดตัวมาตั้งแต่ชาติที่แล้วคือเหตุผลว่าทำไมชาตินี้ฉันต้องเกิดเป็น “นาย” ของเธอ หรือทำให้ฉันร่ำรวยมั่งคั่งกว่าคนอื่นอย่างช่วยไม่ได้

สังคมไทยจึงอยู่กับประชาธิปไตยแบบใส่สูทผูกเน็กไทเอาไว้บอกฝรั่งว่า ฉันเป็นอารยะแล้ว

แต่ซ่อนผ้าขาวม้า พระเครื่อง ตะกรุด ยันต์ต่างๆ ไว้ข้างในอีกที

การปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองไทยจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวาทกรรมว่า เผด็จการโดยธรรมย่อมดีกว่าประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยมีจุดอ่อน

คือ ถ้าคนชั่วมีอำนาจจะเกิดทรราชในระบบรัฐสภาหรือเผด็จการรัฐสภา ไม่ต่างจากให้โจรห้าร้อยได้มีอำนาจรัฐเพียงเพราะมี “เสียงข้างมาก”

ทั้งหมดเพื่อกล่อมเกลาให้คน “ไทย” เชื่อว่า ประชาธิปไตยมันก็ดีแหละ แต่มันไม่เหมาะกับคนไทยและสังคมไทย เหตุที่ไม่เหมาะเพราะคนไทยยังไม่พร้อม คนไทยยังโง่อยู่

อุดมการณ์เช่นนี้ถูกปลูกฝังไว้ในสมอง จิตสำนึก ความคิดของคนไทยมาตลอดระยะเวลาที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยถูกนำเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เข้มข้น

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางไทยที่ได้รับการศึกษาค่อนข้างดี ก็จะถูก accommodate เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย “ชนชั้นนำ” ซึ่งฉันจะเรียกว่าเป็นกลุ่ม “ชนชั้นนำปลายแถว” ได้รับเศษผลประโยชน์ เป็นครูบาอาจารย์ ศาสตราจารย์ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้มีไลฟ์สไตล์ ชีวิต ความเป็นอยู่ รสนิยมที่จำลองแบบมาจาก “ชนชั้นนำ”

มีกลิ่นอายของอารยชนแบบสังคมตะวันตกเบาๆ เป็นวิถีขี้ข้าปลายแถว เช่น ถ้าหัวแถวกินล็อบสเตอร์ คนเหล่านี้ก็กินกุ้งกุลาดำเลี้ยงในฟาร์ม

แต่เมื่อเทียบกับวิถีชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ที่ได้กินแค่กุ้งฝอย คนเหล่านี้ก็ลำพองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาแหรก “คนชั้นสูง”

ดังนั้น สิ่งที่เป็น mainstream ในกระแสธารทาง “ปัญญา” ของสังคมไทยมันจึงเป็นการยอมรับ “ประชาธิปไตย” แบบปากว่าตาขยิบ

นั่นคือปากว่าประชาธิปไตยแต่จิตใจฝักใฝ่สังคมที่ “คนไม่เท่ากัน” และใช้ข้ออ้างว่า คนไทยส่วนใหญ่โง่ โลภ และขี้เกียจ ขาดวินัย และนักการเมืองมีสันดานเลว ขี้โกง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองของไทย ทั้ง 14 ตุลา, 6 ตุลา และพฤษภา 35 เหมือนจะเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงๆ เป็นเรื่องของการ “กำจัดคนชั่ว” และ “การโกงกิน” ในทัศนะของชนชั้นกลางเวลานั้น มากกว่าจะ “อิน” กับหลักการประชาธิปไตยในความหมาย

หนึ่ง ชาติเท่ากับประชาชน

สอง ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจทางการเมือง

เพราะถ้าอินกับหลักการประชาธิปไตยจริงๆ สังคมไทยจะยกย่องคนที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ แบบอานันท์ ปันยารชุน หรือเปรม ติณสูลานนท์ ได้อย่างไร?

ขบวนการภาคประชาสังคมที่ทรงพลังที่สุดขบวนการหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยคือ ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

และฉันท้าเลยว่า ปัญญาชนไทยร่วมสมัยของไทยคนไทยไม่เคยเป็นเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนี้และไม่สังคายนากับ “บ้านพระอาทิตย์” ของสนธิ ลิ้มทองกุล บ้าง?

การรัฐประการ 2549 และการเกิดขึ้นของ นปช. และคนเสื้อแดงคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุด และสำหรับฉัน นี่คือจุดเริ่มต้นของขบวนการ “ปลดปล่อย” ตัวเองจากระบบการเมืองเก่า เพื่อความเป็นเอกราชและอธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง

แต่ย้อนไปในปี 2550 ณ วันนั้น กระแสสังคม ปัญญาชน ดารา นักแสดง นักเขียน ศิลปิน บุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในทุกวงการในประเทศไทย ทุกคนอยู่ฝั่งเสื้อเหลือง

พูดง่ายๆ คือ ทุกคนเป็นฝ่าย anti democracy ทั้งหมด

มีคนแหกคอกมาสนับสนุนประชาธิปไตย ประกาศตัวเองเป็นเสื้อแดงแบบนับนิ้วมือได้

และเมื่อประกาศแล้วก็โดนทั้งล่าแม่มด บอยคอต ปลดออกจากงาน เลิกจ้าง กลายเป็นจัณฑาลของสังคม กลายเป็นตัวประหลาด เพี้ยน เพื่อนเลิกคบ

และพูดอย่างปราศจากอคติ เราทุกคนต้องรู้แล้วว่า การรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ได้ก่อกรรมทำเข็ญอะไรกับสังคมไทยไว้บ้าง การรัฐประหารคืออาชญากรรม

ลองเรียงรายชื่อของคนที่ถูกฆ่าตาย ถูกกระสุน ถูกสไนเปอร์ ถูกอุ้มหาย ถูกใส่ร้าย ขังคุกฟรี บ้านแตกสาแหรกขาด สูญเสียอิสรภาพ ลี้ภัย

นี่ยังไม่นับความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสทางเศรษฐกิจ อนาคตของเด็กหลายสิบล้านคนที่โอกาสในชีวิตของพวกเขาถูกช่วงชิงไปจากการหายไปของ “ประชาธิปไตย”

อนาคตของคนหลายคนที่ถูกปล้นไปเพียงเพราะต้องมีชีวิตภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่มี accountability ต่อประชาชน

ขอบคุณภาพจาก : เส้นด้าย

สําหรับฉันการทักเรียกให้คนเหล่านี้ออกมา call out หรือการบอยคอต และแบนคนเหล่านี้ยังน้อยไป พวกเขาควรถูกฟ้องร้องขึ้นศาลโลกที่เฮกในข้อหามีส่วนในการสนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเสียด้วยซ้ำ

พวกเขามีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนร่วมชาติ สมควรถูกดำเนินคดี และสมควรถูกเรียกร้องให้มารับผิดชอบต่อความเสียหายเสียด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะแค่โดนทักหรือแบน

การกดดันให้คนจำนนต่อข้อเท็จจริงที่ว่าการสนับสนุนรัฐประหารเป็น “ความผิด” ไม่ใช่เผด็จการทางความคิด และสำหรับฉัน คนเหล่านี้สมควรมีความผิดพอๆ กับคนที่สนับสนุนการใช้แรงงานทาส หรือสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ หรือโรฮิงญานั่นแหละ เพราะมัน violate หลักการสทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามหลักสากลอย่างพื้นฐานที่สุด

การยอมรับความเห็นต่างนั้นเป็นความเห็นต่างของทุกคนที่เห็นร่วมกันว่าเรายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยก่อนเป็นเบื้องต้น

ส่วนการปล่อยให้คนเชียร์รัฐประหารส่งเสียงดังในสังคม ไม่ใช่การยอมรับความเห็นต่าง แต่เป็นการปล่อยให้อาชญากรและการสนับสนุนอาชญากรรมลอยนวลโดยปราศจากความรับผิดชอบต่างหาก

ถ้าถามฉัน call out กับ cancel culture นั้นยังน้อยไปและไม่ตรงประเด็นเสียด้วยซ้ำ

ส่วนอีพวกลูกชุบ กับพวกที่พยายามอ้อมแอ้ม คร่ำครวญ สังคมสิ้นหวัง หดหู่ แต่ไม่พูดว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากอะไร บลา บลา มันก็แค่คนอยู่เป็น ฉวยโอกาส

และมีความสามารถในการกลายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆ ก็เท่านั้น