เมืองใหม่ เมืองเก่า : มนัส สัตยารักษ์

จากหาดใหญ่เดินทางไปรอบตัวอำเภอโดยขับรถยนต์เรื่อยเปี่อยแบบไม่มีจุดหมาย แล่นไปตามความทรงจำของวัยเด็กสมัยที่ยังใช้จักรยานสองล้อเป็นพาหนะ

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงพบว่าไม่มีภาพเก่าให้เห็นอีกแล้ว ราวกับเป็นสถานที่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หรือที่อาจจะเคยเห็นก็เมื่อนานมาแล้ว แต่ในวันนี้มันได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย

จากทุ่งหญ้าหรือป่าละเมาะกลายเป็นถนนลาดยางมะตอยคดเคี้ยวและสูงต่ำไปตามภูมิประเทศ อย่างไรก็ตาม รถยนต์ก็ยังสามารถแล่นสวนทางกันได้โดยไม่ต้องชะลอความเร็วมากนัก

สร้างความแปลกตาและตื่นใจอย่างยิ่ง

หาดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมได้ชื่อว่า “ชุมทาง” ยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าและธุรกิจ แม้ประเทศจะอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยซบเซา กลางเมืองหาดใหญ่ก็ยังมีการก่อสร้างโรงแรมและอาคารที่พักขนาดใหญ่คึกคัก

หรือเรากำลังอยู่ในยุคที่คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง ช่องว่างถ่างห่างออกไปอีก ผมเป็นอดีตข้าราชการ ไม่ค่อยเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจและไม่รู้จะเชื่อใครดี

แต่เมื่อออกไปนอกเมือง ผ่านป่าและสวนยางอ้อมไปอีกด้านหนึ่งของภูเขา เราคิดว่าพื้นที่ส่วนนี้น่าจะถูกกำหนดไว้ในผังเมืองว่าเป็นที่อยู่อาศัย ผมไม่พบโรงงานและไม่เห็นควัน ไม่มีฝุ่น บ้านเรือนในละแวกนี้ล้วนแข็งแรงมั่นคง น้ำไฟบริบูรณ์

ค่อยๆ เลียบเคียงสอบถามก็ได้ความว่า เหมือนเป็นตำบลหรือหมู่บ้านสร้างใหม่ บ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบ้านของผู้มีอันจะกิน ข้าราชการทั้งที่ยังทำงานอยู่หรือเกษียณอายุกินบำเหน็จบำนาญแล้ว

นอกจากนั้น ตลอดสองข้างทางยังมีวัดและสุเหร่าอยู่เรียงเคียงกัน ทั้งสองสำนักสงบและสะอาดเหมือนกัน

แอบถามชาวบ้านและพระภิกษุแถบนั้นได้ความว่า เวลามีงานมีการ ไม่ว่าจะเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีของศาสนาไหน ชาวบ้านต่างร่วมมือกันโดยไม่มีอุปสรรคหรือปัญหาข้อขัดข้องแต่อย่างใด

ขับรถวนชมธรรมชาติจนเกือบมืดมองไม่เห็นข้อความบนป้ายบอกทางก็โทรศัพท์เรียกน้องเขยให้ขับรถมานำทางกลับบ้าน

แล้วผมก็ได้นั่งตากฟ้าคุยกับน้องจนเกือบห้าทุ่ม

อีกสองวันถัดมาผมไปอำเภอเมืองสงขลา แต่คราวนี้ขอแรงนายตำรวจเก่าท่านหนึ่งพาไป เพราะได้ข่าวว่าทางการกำลังตัดถนนใหม่และขยายถนนเก่า ผมซึ่งเป็นโรค “หลงทิศ” หรือ “หลงฟ้า” อาจจะมีปัญหาในการเดินทางได้

เมืองสงขลาตรงกันข้ามกับเมืองหาดใหญ่อย่างชนิดสวนทางกัน กล่าวคือ ในขณะที่หาดใหญ่พยายามเดินหน้าไปสู่ความทันสมัยทั้งในเมืองและนอกเมือง แต่สงขลากำลังพยายามหาทางกลับไปสู่อดีต

ผมแวะเข้าไปคุยกับคนสงขลาที่อาคารเก่า “โรงสีแดง” ริมทะเลสาบ ถนนนครนอก ถึงเรื่องที่พวกเขากำลังมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้ยูเนสโกประกาศรับเมืองสงขลาเป็นเมืองมรดกโลก

เช่นเดียวกับเมืองยอร์จ ทาวน์ และมะละกา ของมาเลเซีย ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลกมากว่าสิบปีแล้ว

“ชาวบ้านเราต้องออกแรงช่วยกันเองครับ ทางราชการเขายังไม่บอกว่าจะเอายังไง เรากำลังทำตรงนี้ให้กลับเป็นเมืองเก่าอย่างเดิม”

ถัดไปที่บ้านถนนนครใน ของนายกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งแรกซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถ้วยชามเครื่องเคลือบอย่างจีนโบราณพร้อมของใช้เก่าแก่หลายอย่างได้รับการจัดวางอย่างสวยงาม เป็นสิ่งของที่ประเมินค่ามิได้ และเมื่อมองไปยังอีกฟากหนึ่งก็เป็นทิวทัศน์ของทะเลกับเกาะและภูเขา

อาคารทั้งริมถนนนครนอกและนครใน หลายหลังเป็นอาคารแบบชิโนยูโรเปี้ยน หลายหลังเริ่มทำกิจกรรมสตรีตอาร์ต ส่วนที่ติดทะเลเป็นมุมกาแฟน่านั่ง

นึกถึงเมืองริมทะเลเมืองหนึ่งของญี่ปุ่นที่ผมเคยไปเดินย่ำมา…ถ้าชาวถนนนครนอกและนครในร่วมใจกันจริงจัง และโครงการ “สายไฟฟ้าลงดิน” สำเร็จ เราจะสู้เขาได้ คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อการท่องเที่ยว

ถัดจากโรงสีแดงไปตรงหัวมุมทางเลี้ยวไปสู่ถนนใหญ่ คนงานกลุ่มหนึ่งกำลังขุดสำรวจกำแพงภายใต้การควบคุมของนักโบราณคดีหนุ่มแห่งสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา กรมศิลปากร

ปลายทางของกำแพงไปยันบ้านที่กำลังถูกรื้อทิ้ง ถัดไปอีกก็จะเป็นอาคารของราชการตำรวจหลายอาคาร (ซึ่งอาจจะถูกปฏิรูปไปในคราวนี้ด้วย) ได้รับคำชี้แจงว่าที่ดินตรงบริเวณนี้ทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุ จึงไม่ต้องเวนคืน พวกเขาจะขุดและสำรวจภายใต้งบประมาณ 3 แสนบาท ตรงที่กำลังขุดอยู่นี้เป็นกำแพงเมืองซึ่งคาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ป้อมปากน้ำแหลมทราย” ซึ่งปัจจุบันบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9

เวลานั่งรถผ่านป้อมนี้ จะเห็นอาคารสีขาวเว่อร์เหมือนกองอะไรสักอย่างอยู่หลังป้อม ทำให้มุมมองด้านนี้กลายเป็น “ทัศนอุจาด” ไปในทันที ความสง่างามและความเข้มขลังของเมืองโบราณปลาสนาการไปสิ้น

ผมรักองค์กรตำรวจก็จริง แต่ย่อมรักบ้านเมืองมากกว่า จึงรู้สึกผะอืดผะอมอย่างยิ่ง เกิดความคิดเวทนาขึ้นมาว่า เราใช้เงินสร้างสิ่งอุจาดเป็นหลายพันล้าน แต่ใช้เงินขุดค้นเอาของดีคืนมาแค่เป็นแสนเท่านั้น!