สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (2) ปฏิรูปครู ปฏิรูปโครงสร้าง อะไรคือคำตอบ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีตอนแรกสัปดาห์ที่แล้ว ผมรายงานความเคลื่อนไหวการเปิดประชุมวิชาการนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีครั้งที่ 1 (The First Princess Maha Chakri Award Forum 2017 มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน

โดยเชิญครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นแรก ทั้ง 11 คน จาก 11 ประเทศ มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถอดบทเรียน ประสบการณ์ ถ่ายทอดให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ส่วนใหญ่เป็นครูที่ได้รับรางวัล ระดับรองลงมาได้แก่ รางวัลคุณากร รางวัลครูยิ่งคุณ รางวัลครูขวัญศิษย์ ผู้เกี่ยวข้อง และผู้สนใจความเป็นไปทางการศึกษาของไทยและต่างประเทศ

ครูท่านที่ได้รับรางวัลเหล่านั้นเป็นใคร คุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ ผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ทำไมถึงได้รับการพิจารณาให้ได้รางวัล มูลนิธิได้รวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือสองเล่มได้แก่ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กับ ครูไทยพบครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ อาเซียน

เล่มหลังนี้เป็นการบันทึกการเดินทางไปพบ เยี่ยมเยียน ติดตามดูสภาพการทำงานและชีวิตจริงของครู 10 ท่าน ในอาเซียนและติมอร์-เลสเต โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธินำคณะไปด้วยตนเอง

เขียนเล่าผ่านไลน์อย่างมีสีสัน อ่านสนุก ให้อรรถรส ภาษาง่ายๆ ได้ทั้งเรื่อง ได้ทั้งรส ประชดประเทียดบ้างในบางครั้ง สอดแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม การเมือง โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก

จัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อเผยแพร่ ผู้สนใจอยากอ่านติดต่อไปได้ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กันเองตามสะดวก

 

กลับมาถึงพิธีเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติ คำกล่าวของ นพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น่าฟังและน่าคิดไม่น้อยทีเดียว

“การประชุมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สะท้อนการปฏิรูปการศึกษา จากงานวิจัยของเวิลด์แบงก์และสถาบันต่างๆ ทั่วโลกพบว่า ไม่มีประเทศใดที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาโดยไม่มีครูดี ทุกประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จจะต้องดึงคนเก่งและคนดีมาเป็นครูได้ เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ เป็นผู้นำด้านการศึกษา สามารถนำเด็กเก่งมาเป็นครู ที่เวียดนามก็มีจุดเน้นคือการพัฒนาครูเช่นเดียวกัน เพราะคุณภาพของครูเป็นสิ่งที่บ่งบอกคุณภาพการศึกษาของประเทศนั้นๆ”

นอกจากนี้ ประเทศไทยมาถึงช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 โดยให้ความสำคัญในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา และกำหนดให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ

ซึ่งน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่ให้รายละเอียดในการพัฒนาการศึกษา อาทิ กองทุนการศึกษาปฐมวัย การผลิตครู การคัดเลือกครู และการพัฒนาครู ตลอดจนการตั้งกองทุนที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ สาระสำคัญที่กำหนดไว้ เรื่อง “การคัดเลือก การผลิต และการพัฒนาครู รวมทั้งการตั้งกองทุนด้านการศึกษา” เป็นการให้เกียรติครูและตระหนักถึงความสำคัญของครู

ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงถือว่าเป็นวาระแห่งชาติแล้ว และเป็นความเร่งด่วนของประเทศที่ต้องดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง มิเช่นนั้นการปฏิรูปอาจล้มเหลวได้ ซึ่งขณะนี้มีหลากหลายแนวคิดและความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

แต่ในความเป็นจริงประชาชนไม่ได้สนใจว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานอย่างไร หรือจะมีศึกษาธิการภาค-คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกี่คน เพราะตราบใดที่คุณภาพครูยังไม่ได้รับการปฏิรูป ความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาย่อมไม่เกิดขึ้น

นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา การมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จึงเป็นการให้เกียรติครู เปิดโอกาสให้ครูนานาชาติมาแลกเปลี่ยนความรู้ “ครู” เป็นวิชาชีพที่แตกต่างจากวิชาชีพอื่น เพราะสอนแต่ในห้องเรียน บางโรงเรียนไม่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าสังเกตการณ์ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่ในวันนี้เราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งรัฐบาลพยายามเพิ่มพลังให้ครูด้วยการมอบคูปอง เพื่อให้ครูไปพัฒนาตนเอง เพื่อปรับปรุงวิชาชีพ มีมาตรฐานในการรับสมัครครู

 

คุณหมอรัฐมนตรี พูดถึงคำกล่าวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ว่า ครูมี 3 ประเภท คือ

1. ครูอาชีพ หมายถึงครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู สอนโดยไม่เหน็ดเหนื่อย และคิดถึงประโยชน์ของศิษย์ตลอดเวลา

2. ครูมืออาชีพ หมายถึงครูที่สอนเก่ง ครูที่มีความรู้ความสามารถในการสอน

และ 3. อาชีพครู หมายถึงครูที่สอนตามหน้าที่และรอเวลาเลิกงาน

“ข้อคิดเห็นของประธานองคมนตรีแสดงให้เห็นว่าการฝึกอบรมและพัฒนาครูเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้ครูเป็นครูที่มีคุณภาพได้ โดยเฉพาะในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีครูกว่า 270,000 คนเกษียณอายุราชการ จึงต้องเร่งเตรียมการคัดเลือกและเตรียมครูให้พร้อม เนื่องจากการมีครูที่ดีก็จะทำให้นักเรียนเป็นคนดี นักเรียนที่ดีก็จะเป็นพลเมืองที่ดี และพลเมืองที่ดีก็จะทำให้ประเทศชาติดียิ่งๆ ขึ้นไป”

“รู้สึกชื่นชมการจัดประชุมครั้งนี้ ทำให้ผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลในปีก่อนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน”

นพ.ธีระเกียรติกล่าวทิ้งท้าย

 

บางช่วงบางตอนของคำกล่าว ไม่ว่า “ไม่มีประเทศใดที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาโดยไม่มีครูที่ดี” หรือ “ในความเป็นจริงประชาชนไม่ได้สนใจว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานอย่างไร หรือจะมีศึกษาธิการภาค คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกี่คน เพราะตราบใดที่คุณภาพครูยังไม่ได้รับการปฏิรูป ความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาย่อมไม่เกิดขึ้น” สะท้อนอะไรบางอย่าง น่าคิดต่อ คิดตาม นะครับ

ข้อความที่ผมยกมาฉายซ้ำนี้ จึงเป็นความท้าทาย ทั้งตัวผู้พูดเองในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ผู้ติดตาม กำกับการปฏิบัติ และผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติทุกระดับ จะก้าวเดินต่อไปกันอย่างไร

หลังจากความเชื่อว่าปฏิรูปการศึกษาต้องปรับโครงสร้างการบริหารถึงจะสำเร็จ เป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2559 และ 11/2559 วันที่ 21 มีนาคม 2559 ทำให้เกิดคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กลไก กระบวนการปฏิบัติดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว

ท่ามกลางข้อคิดเห็น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเห็นด้วย และยังไม่มั่นใจ คละเคล้ากันไป

 

ประเด็นหลักก็คือผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารดังกล่าว ยังไม่สะท้อนถึงคุณภาพการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กและการสอนของครู ยังไม่ตกถึงเด็ก ว่างั้นเถอะ

ยังไม่เห็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน เนื้อหาสาระ หลักสูตร ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของการจัดการศึกษาประเภทต่างๆ จนถึงการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด อย่างแข็งขัน นอกจากผลประโยชน์ของผู้บริหารการศึกษาและครู ที่ได้รับแต่งตั้ง โอนย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ๆ ที่สูงขึ้น

จากประเด็นดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง จากรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม ที่ประชุมอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2560 สาระเชื่อมโยงถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารการศึกษาที่ผ่านมาโดยตรง

สปท. พูดกันว่าอย่างไร ผมอดนำมาเทียบเคียงกับแนวทางเพื่อพัฒนาการศึกษาของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แนวคิด มุมมองของครูผู้ได้รางวัล กับสาระในเวทีประชุมนานาชาติที่ผ่านมา ไม่ได้จริงๆ