เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เขมรลออองค์

ไปเขียนแผ่นดินเมืองขะแมร์หรือเขมรมาเมื่อระหว่างวันที่ 22-25 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นครั้งที่สอง

คราวนี้ไปที่พนมเปญกับที่เมืองตาแก้ว พร้อมด้วยคณะทำงานเดิม บริการเดินทางสะดวกสบายของสายการบินแอร์เอเชีย ใช้เวลาราวชั่วโมงเศษๆ จากดอนเมืองถึงพนมเปญเช้าตรู่

ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญให้เกียรติเลี้ยงอาหารกลางวันที่สถานทูตไทยพร้อมเจ้าหน้าที่ ท่านเอกอัครราชทูตคือท่านณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร และศรีภรรยาคือ คุณวราลักษณ์

โครงการของคณะเราคือเขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิ ซึ่งได้รับอุปถัมภ์โครงการโดยสองกระทรวงคือ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

เป็นโครงการที่ดำเนินต่อเนื่องมาก่อนจะมีประชาคมอาเซียน เริ่มแต่เขียนแผ่นดินไทย แผ่นดินลาว แผ่นดินเวียดนาม แผ่นดินมาเลเซีย แผ่นดินเมียนมา และขณะนี้คือแผ่นดินกัมพูชาหรือขะแมร์หรือเขมรวันนี้

ตั้งใจจะเขียนแผ่นดินอาเซียนหรืออุษาคเนย์ทั้งสิบประเทศตามวาระและโอกาสอำนวย

 

ขอแทรกชื่อกลุ่มประชาคมอาเซียนเพื่อจำง่ายๆ ดังนี้คือ มาเลย์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ไทย

ฟิลิปปินส์ อินโด สิงคโปร์ บรูไน

หกประเทศแรก เป็นแผ่นดินใหญ่ คือ สุวรรณภูมิ

สี่ประเทศหลัง เป็นเกาะ คือ สุวรรณทวีป

ที่ว่าตั้งใจจะเขียนแผ่นดินทั้งสิบประเทศตามวาระโอกาสก็เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้

เช่น บางประเทศเอื้อให้เขียนได้หมดจากเหนือจรดใต้ เช่น ไทย ลาว เวียดนาม

บางประเทศ เช่น เมียนมาหรือพม่านั้นบางช่วงสถานการณ์ไม่อำนวยให้สามารถไปได้ทั่ว จึงไปได้แค่ครึ่งประเทศ ที่เหลือคงต้องรอโอกาส ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีกหลายประการ

เงื่อนไขสำคัญคือความร่วมมือจากผู้อุปถัมภ์โครงการทั้งภาครัฐและเอกชน

ที่จริงประชาคมอาเซียนควรมีโครงการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมให้หลากหลายเพื่อความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างประชาคมกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะงานศิลปะที่สร้างสรรค์ผ่านศิลปินของแต่ละประเทศ

ด้วยมีแต่งานศิลปะเท่านั้นที่เข้าถึงจิตใจของคนได้ดีที่สุด

 

หลักการสำคัญของประชาคมอาเซียน หนึ่งนั้นคือ ความมั่นคงทางสังคม คือด้านศิลปวัฒนธรรมซึ่งดูจะมีอยู่น้อยนัก

นี่ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่โครงการเขียนแผ่นดินยังต้องดำเนินไปแบบ “เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง”

แล้วเราก็ “เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง” อยู่ที่เมืองขะแมร์ช่วงฝนกระหน่ำฉ่ำฟ้าตลอดสี่วันนี้

พนมเพ็ญก็คือภูเขาที่ชื่อเพ็ญ พนมคือภูเขา ตั้งอยู่กลางเมือง ตำนานว่า นางเพ็ญเป็นผู้มาสร้างวัดอยู่บนภูเขานี้ จึงชื่อว่าวัดนางเพ็ญ หรือวัดพนมเพ็ญ มีรูปปั้นเป็นอนุสาวรีย์อยู่หน้าวัดและหลังโบสถ์บนยอดดอยนั้นเอง

สิ้นยุคเมืองพระนครก็ย้ายเมืองหลวงจากเสียมเรียบมาที่พนมเพ็ญแห่งนี้โดยใช้ชื่อวัดพนมเพ็ญเป็นชื่อเมือง ดั่งเป็นภูมินามมงคล

ครั้นสะกดด้วยภาษาอังกฤษ พนมเพ็ญ เป็น PHANOMPEN จึงกลายเป็นพนมเปญไปด้วยประการฉะนี้

พนมเปญปัจจุบันน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง การคมนาคมก็คือกรุงเทพฯ น้อยๆ นี่เอง รถหรูหรา รถเร่อร่าสามล้อสองล้อขวักไขว่กันอย่างเป็นระเบียบแม้แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟและไร้ตำรวจจราจร ตรงนี้น่าจะต่างจากกรุงเทพฯ เรา

ตื่นตายิ่งคือย่านเมืองใหม่ที่เรียกเกาะเพชร ซึ่งขยายที่ไปริมน้ำโดยถมพื้นจนเป็นทำเลกว้างใหญ่มีแม่น้ำชื่อ “มาซัก” ลิ้นไทยก็คือ “ป่าสัก” แม่น้ำนี้ไหลล้อมอ้อมเกาะเพชร มีสะพานข้าม และสะพานนี้เองที่เป็นข่าวเกิดอุบัติเหตุในงานเดือนสิบสอง คนตายนับร้อยเมื่อสักสองปีที่แล้ว

พนมเพ็ญวันนี้เริ่มมีตึกระฟ้า อาคารเก่ากำลังถูกทุบเพื่อถอดรูปเป็นทรงใหม่ กำลังจำแลงบางทำเลเป็นอย่างย่านชองเอลิเซ่แบบปารีส เป็นยุโรปน้อย เป็นอะไรแบบว่า…สากลแหละนะ

ทุนใหญ่ที่กำลังโถมเข้ามามีทั้งจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ต่างล้วนกำลังตบแต่งแปลงโฉมใหม่ให้พนมเปญได้เป็น “เขมรลออองค์” ดังชื่อเพลงไทยไพเราะนั้น

แต่ดูเหมือนจะยังแต่งตัวไม่เสร็จดี พนมเปญวันนี้จึงรุงรังอยู่กับความหรูหราและเลิศหรูอย่างรุ่งริ่งชอบกล…เอ๊ะยังไง

 

ต้นทุนมหาศาลของพนมเปญคือมหานทีที่ชาวขะแมร์เรียก “จตุมุข” คือการบรรจบกันของแม่น้ำสี่สาย ซึ่งที่จริงแค่สามสาย คือ น้ำโขง น้ำโตนเลสาบ และน้ำป่าสัก หากน้ำโขงมีสองส่วนคือตอนบนกับตอนล่าง จึงกลายเป็นสี่แพร่ง ดังชื่อจตุมุขนั้น

สามน้ำที่บรรจบกันนี้เป็นน่านน้ำกว้างใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์นัก น้ำโขงนั้นเหมือนไหลมาจากฟากฟ้าป่าหิมพานต์ ต้นน้ำกำเนิดที่จีนและถิ่นหิมาลัย เปรียบเป็นมังกรไหลผ่านลาว ไทยและกัมพูชา เปรียบเป็นนาคล่วงเข้าเวียดนามออกมหาสมุทร แยกเป็นแม่น้ำอีกเก้าสาย เรียกมังกรเก้าหัว ตอนผ่านพนมเปญนี่แหละพิเศษตรงที่มาสบกับสายน้ำใหญ่ที่ไหลมาจากแหล่งน้ำใหญ่ชื่อโตนเลสาบ ซึ่งกว้างราวสี่สิบกิโลเมตร ยาวถึงราวหนึ่งร้อยเจ็ดสิบห้ากิโลเมตร เปรียบดัง “พระทอง” แห่งแผ่นดินได้พบพ้องกับ “นางนาค” คือน้ำโขง อันเป็นตำนานกำเนิดแห่งกัมพูชาดึกดำบรรพ์

คำ “โตนเลสาบ” แปลว่า “บึงน้ำจืด” โตนเลแปลว่าบึงน้ำ สาบ หรือ ซ้าบ แปลว่าจืด

เราหลงเข้าใจว่า โตนเล คือทะเล พลอยเรียกเป็นชื่อ “ทะเลสาบ” ว่าหมายถึงชื่อเฉพาะของทะเลน้ำจืดนั้น

ที่แท้โตนเลไม่ใช่ทะเล แต่เป็นบึงน้ำ เขมรเรียกทะเลว่าสมุทร

อ้อ อย่างนี้เอง

 

พนมเพ็ญ

๐ ภูพนม ปฐมภูมิ พนมเพ็ญ

เจดีย์ดอยลอยเด่น ดำเนินหาว

ช่อฟ้าช้อยชี้ฟ้าประภาพราว

ระการาวร่ายคชเอราวัณ

สิงห์ยืน สิงห์หยัด ขนัดขนาบ

ผนังภาพพระเวสวิเศษสวรรค์

พระทององค์ทรงเครื่องแต่เบื้องบรรพ์

ถวายภิวันท์ ภูมิบ้านตำนานเมือง

ว่านางเพ็ญเป็นผู้สถาปนา

สืบสายธารศรัทธามาต่อเนื่อง

ปฏิมาจำลองรังรองเรือง

เป็นเรื่องราวเล่าเรื่องเบื้องบุรม

แรกตั้งเมืองตั้งบ้านสถานสถิต

มิ่งนิมิต หมายภูมิ ภิเศกสม

ปฐมภูมิ ภูมินาม ณ ภูพนม

ภูมิพระธรรมพระธม พนมเพ็ญ ฯ