จัตวา กลิ่นสุนทร : ถึงเวลาดอกไม้ก็โรยราร่วงหล่น และ “พระโบราณพิทักษ์” วัดลุ่ม (พระอารามหลวง)

ช่วงหนึ่งของชีวิตบังเอิญได้ไปอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน มีความรักความผูกพันเหมือนดังญาติสนิท ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวดองแต่ประการใด มาจากคนละแห่งแหล่งที่ทีเดียว แต่เมื่อต้องมาจากไปอย่างไม่มีวันได้พบเจอกันอีกย่อมเศร้าใจเป็นธรรมดา

ถ้าบอกว่า “เลื่อมประภัสสร นันทขว้าง” (หนูแดง) คนสูงวัยรุ่นลุง และน้าอา อาจนึกไม่ออกนอกจากเพื่อนพ้องร่วมสมัยของพวกเขา แต่ถ้าบอกว่าเป็น “ลูกสาว” (คนที่ 3) ของ อาจารย์สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (สุคนธา) ผู้คนย่อมรู้จักกว้างขวางมากขึ้น

อาจารย์สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (พี่แต๋ว) สมรสกับ อาจารย์ทวี นันทขว้าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ.2533 ทั้ง 2 ท่านเสียชีวิตหมดแล้ว

ทั้ง 2 แยกทางกันหลังจากพี่แต๋วให้กำเนิดทายาท 4 คน เป็นผู้หญิง 3 คน และผู้ชาย 1 คน

ซึ่งทุกคนล้วนมีประวัติและชื่อเสียงเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในสังคม

คนโตเป็นผู้หญิงนาม “ดวงตา นันทขว้าง” (กบ) เจ้าของผู้ก่อตั้งสร้างแบรนด์แฟชั่นโด่งดังเป็นที่รู้จักเรียกกันว่า “โชดา” (SODA) และ ฯลฯ ทุกวันนี้กบเปลี่ยนชื่อเป็น “เมนาท นันทขว้าง”

คนรองลงมาโด่งดังมากกว่าใครในยุคหนึ่ง เป็นผู้ชายคนเดียวชื่อ “วงศ์เมือง นันทขว้าง” (น้ำพุ) ซึ่งแทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อ นามสกุลจริงเท่ากับ “น้ำพุ” หลังจากที่ชื่อของเขาได้กลายไปเป็นตัวละครของแม่อันเกี่ยวพันกับเรื่องยาเสพติดก่อนได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์โด่งดัง

“น้ำพุ” เสียชีวิตในปี พ.ศ.2517 ยังอยู่ในวัยเยาว์ รีบเดินทางจากครอบครัวไปก่อนใครๆ ก่อนแม่ถึง 10 ปี เนื่องจากพี่แต๋วเสียชีวิตปี พ.ศ.2527 คือเมื่อกว่า 30 ปีผ่านเลย

 

หลังจากแยกทางกับอาจารย์ทวี นันทขว้าง อาจารย์สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (พี่แต๋ว) ได้พบรักใหม่กับนักศึกษาหนุ่มรุ่นน้อง คือ “ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต” (น้าแพ็ท) ร่วมกันสร้างครอบครัวด้วยการทำงานหนัก พี่แต๋วเขียนหนังสือแบบไม่มีวันหยุด สร้างนิตยสาร “ลลนา” จนเป็นที่รู้จักของนักอ่านทั่วไปโดยมีน้าแพ็ทเป็นกำลังหลักเคียงคู่กันมา

ทั้ง 2 คนก็ยังไม่ทันได้รับผลพวงที่พยายามร่วมสร้างกันมา ไม่ได้เห็นความสำเร็จอย่างมากมายของลูกหลาน พี่แต๋วก็มีอันต้องเสียชีวิต

จากนั้นน้าแพ็ทก็เหมือนไร้หลักยึดเหนี่ยวและจุดมุ่งหมาย ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ.2558 คือเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ได้เคยศึกษาเล่าเรียนกับอาจารย์ทวี นันทขว้าง และอาจารย์สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (พี่แต๋ว) ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่ง ศิริสัวสดิ์ พันธุมสุต (น้าแพ็ท) เป็นนักศึกษารุ่นพี่อยู่ และเขาเป็นตัวเชื่อมโยงให้ได้เข้ามาพำนักพักพิงในชายคาเดียวกันทั้งหมด เพื่อเป็นเพื่อนลูกๆ เมื่อน้าแพ็ทต้องเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอิตาลี (Rome-Italy) จากนั้นพี่แต๋วก็ตามไปสร้างตำนาน และเอาตัวกลับเมืองไทย

สนิทสนมรักใคร่นับถือมีบุญคุณติดต่อสืบเนื่องกันมามากมายไม่เคยลืมเลือนแม้จะแยกตัวออกมาก่อร่างสร้างครอบครัวของตัวเองเป็นเวลานานแล้ว ก็ยังเป็น “น้า” ของลูกๆ ของพี่แต๋วตลอดมา

 

“หนูแดง” เสียชีวิตลงด้วยโรคร้ายเมื่อคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2560 ด้วยวัย 58 ปี ท่ามกลางความเสียใจอย่างสุดซึ้งของพี่น้องครอบครัว เพื่อนพ้องญาติมิตรทั้งๆ ที่ก็พอจะทำใจกันได้อยู่บ้างว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งในเวลาอันใกล้ เนื่องจากโรคร้ายที่เกาะกินอยู่นั้นมันบ่งบอกในขณะที่หนูแดงก็ไม่เคยจะยี่หระตามนิสัยที่ห้าวหาญไม่เคยเกรงกลัวอะไรทั้งนั้น

ถึงวันนี้หนูแดงก็คงสุขสบายในสถานที่แห่งใหม่ ซึ่งในที่สุดก็จะต้องตามไปด้วยกันทุกคนไม่รู้ว่าช้าหรือเร็ว โดยติดตามพ่อ แม่ พี่ และน้าแพ็ทไปแบบไม่ห่างไกลมากนัก

ทายาทของพี่แต๋ว (สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง ที่ยังดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมประเทศนี้ต่อไป ก็เหลือเพียงพี่ใหญ่ “เมนาท นันทขว้าง” (กบ) และน้องเล็ก “เบญญา นันทขว้าง” (น้องหนู) เจ้าของ White Cafe เท่านั้น

ได้เวลาดอกไม้ก็ต้องเหี่ยวเฉาหล่นร่วงลงตามธรรมชาติ ขอให้ดวงวิญญาณของ “เลื่อมประภัสสร นันทขว้าง” (หนูแดง) จงไปสู่ภพที่ดีเถิด

 

มีโอกาสเดินทางไปร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเพื่อนร่วมรุ่น สมัยเรียนอยู่โรงเรียนมัธยม รวมทั้งครู อาจารย์ ที่เคยสอนสั่ง ซึ่งแทบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว เนื่องจากความสูงวัยของท่าน

สำหรับเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งลองนับคร่าวๆ ได้ประมาณ 70 กว่าคน เมื่อได้ไปพลิกดูรายชื่อคนที่เสียชีวิตก็รู้สึกใจหายทีเดียว เนื่องจากเขาเหล่านั้นได้เดินทางล่วงหน้าไปในระยะเวลาแตกต่างกันสัก 30 คนเข้าแล้ว

ขณะเดียวกันก็ร่วมแสดงความยินดีกับพระอาจารย์ไทย ซึ่ง “มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี” จังหวัดจันทบุรี ถวาย “ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” ด้วย

ท่าน “หัตไทย อะโสต” เป็นชื่อเดิมของท่าน พวกเราเรียกอาจารย์ไทย เคยเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกัน ทุกวันนี้ท่านมีสมณศักดิ์เป็น “พระครูวิสุทธิสารโสภิต” เป็นเจ้าอาวาสวัดลุ่ม (พระอารามหลวง) เป็นเจ้าคณะอำเภอ จังหวัดระยอง ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนาม “พระโบราณพิทักษ์”

เคยกล่าวแล้วว่าท่านเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่ง พัฒนาวัดลุ่ม (พระอารามหลวง) ซึ่งไม่เพียงแก่การศึกษาของพระสงฆ์ และสามเณรเท่านั้น ท่านพยายามช่วยเหลือสังคมด้วยนโยบายพึ่งพิงพึ่งพากันอย่างไม่ขาดสายระหว่างบ้านกับวัด ปฏิบัติกิจเพื่อพัฒนาบ้านเมืองทุกด้าน ทั้งด้านสังคม การศึกษา ทางโลก ทางธรรม ให้ทุนการศึกษา ให้รางวัลนักเรียนในการแข่งขันกีฬา ทอดผ้าป่าการศึกษาโรงเรียนต่างๆ มอบเงินช่วยเหลือชมรมผู้สูงอายุ บริจาคให้โรงพยาบาล ช่วยเหลืองานศพที่ไม่มีทุนทรัพย์ ทอดกฐินการกุศลต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดระยองเท่านั้น ยังจัดเลี้ยงอาหารคนชราในจังหวัดชลบุรี

มอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณรที่สอบได้นักธรรมโท-เอก ทุนการศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี และนักศึกษาชาวกัมพูชา ที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย

สำหรับวัดลุ่ม (พระอารามหลวง) มีโครงการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก คนยากจนเมื่อเสียชีวิตจะจัดงานศพให้ตามสภาพ ใครมีฐานะดีก็ว่ากันไป มีน้อยจ่ายน้อย หรือเมื่อเสร็จงานแล้วค่อยทำบุญให้วัด

แต่ถ้าไม่มีเงิน วัดจะจัดการให้พร้อมทั้งมีเงินทำบุญด้วย

 

เคยบอกกล่าวไปครั้งหนึ่งเช่นเดียวกันว่าจังหวัดระยองในสมัย “นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต” เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีการริเริ่มสร้าง “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง” ขึ้น ซึ่งที่มาของเงินทุนสำหรับการก่อสร้างส่วนใหญ่ขอรับบริจาคจากประชาชนชาวจังหวัดระยอง รวมทั้งหน่วยงาน บริษัทต่างๆ ในพื้นที่

เคยแสดงความวิตกกังวลไปครั้งหนึ่งเนื่องจากในระยะเวลาไล่เลี่ยใกล้เคียงกัน จังหวัดระยองมีการระดมหาทุนจำนวนมากเพื่อก่อสร้าง “วิทยาลัยสงฆ์ จังหวัดระยอง” ด้วย

เป็นห่วงว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และ “หลวงปู่ทิม” จะต้องทำงานหนักเพราะมีการหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (จำลอง) และเหรียญหลวงปู่ทิมวัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นวัตถุมงคลเพื่อหาทุนในการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ใช้เงินเป็น 100 ล้านบาทถึง 2 โครงการ

สำหรับ “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ไม่ต้องก่อสร้างอาคารใหม่ แต่ไปขอใช้ “อาคารโรงเรียนปริยัติธรรม” ที่ “พระโบราณพิทักษ์” เจ้าอาวาสวัดลุ่ม (พระอารามหลวง) ได้ก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้ว ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ กันกับสถานที่ตั้ง “ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช” เดิม

โครงการนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างสักเท่าไร ผู้ว่าฯ ระยองคนใหม่ชื่อ “นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชค” ได้เข้ามารับช่วงต่อ ปรากฏว่ามีโยธาจังหวัดยกโขยงเข้าไปตรวจสอบอาคารโรงเรียนปริยัติธรรมกันอีท่าไหนไม่ทราบ จนสุดท้ายพระโบราณพิทักษ์ ท่านสุดจะทนจึงต้องหยุดก่อสร้างอาคารเอาไว้ก่อน อุทยานการเรียนรู้ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง” เป็นอันต้องหยุดชะงัก หรืออาจไม่มีการดำเนินงานอีกต่อไป

บริษัทห้างร้าน ประชาชนคนระยอง ต่างฝากมาสอบถามว่าเงินทุนจำนวนมากที่ระดมมาแล้วนั้น ยังอยู่ดีหรือไม่? วัตถุมงคล “เหรียญหลวงปู่ทิมวัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง”

ขณะนี้ไปอยู่เสียที่ไหน?