จับคู่วัคซีนคนละฝา/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ 

ป๋วย อุ่นใจ 

  

จับคู่วัคซีนคนละฝา 

  

“ฉันติดแล้ว!” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้ามภูมิคุ้มกันวิทยาแนวหน้าท่านหนึ่งของประเทศ ได้โพสต์ใน Facebook ของเธอ อาจารย์ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบโดสสองเข็มเรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าใส่หน้ากาก N-95 ตลอดเวลาในระหว่างที่ปฏิบัติงานอยู่ 

กรณีนี้น่ากังวลมากครับ เพราะนี่หมายความว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่เปรียบเสมือนนักรบแถวหน้าที่ช่วยสู้รบกับโรคร้าย และรักษาผู้ประสบภัยจากเชื้อไวรัส กำลังอยู่ในความเสี่ยง 

จินตนาการว่าถ้าแพทย์หนึ่งคนติดเชื้อ แพทย์ทั้งแผนกที่ทำงานร่วมกับแพทย์ท่านนี้ก็จะกลายเป็นผู้เสี่ยงสูงไปด้วย และนั่นคือการสูญเสียกองทัพนักรบเสื้อกาวน์ไปทั้งกองอย่างน้อยครึ่งเดือน ซึ่งอาจจะส่งผลถึงชีวิตของผู้ป่วยหลายคนที่รอคอยการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่การระบาดกำลังเข้าขั้นวิกฤต 

คุณหมอเปิดเผยว่าในช่วงหลังฉีดวัคซีน เธอได้ทำการตรวจพบภูมิคุ้มกันของเธอแล้วว่า แอนติบอดี้ต้านไวรัส (Neutralizing antibody) นั้นได้ถูกสร้างขึ้นมาในระดับที่ค่อนข้างดี (92.9%) หลังจากที่ฉีดวัคซีนไปแล้วราวๆ สองสัปดาห์ 

แต่เพียงแค่สองเดือน ภูมิของเธอก็ตกลงมาอยู่ในระดับที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อีกครั้ง 

และโชคร้ายเธอติดโควิด-19 

 

สริมเกราะแล้วด้วยวัคซีนครบโดส หลายคนคงคิดว่าแม้ว่าจะติด แต่ไวรัสคงจะทำอะไรไม่ได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่อาการยังไม่หนัก เพราะอย่างน้อยก็มีภูมิคุ้มกันที่น่าจะพอต่อกรกับไวรัสได้อยู่บ้าง 

ทว่าการตรวจวัดปริมาณเชื้อไวรัสด้วยวิธี RT-PCR กลับให้ผลตรงกันข้ามกับที่คาด ปริมาณไวรัสที่พบในตัวของอาจารย์นั้น ไม่ได้น้อยไปกว่าผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย 

นั่นหมายความว่า แม้ว่าอาจารย์จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ถ้าติดเชื้อ ก็อาจจะแพร่เชื้อได้ไม่ต่างไปจากผู้ติดเชื้อที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน 

ซึ่งทำให้แนวคิดเรื่องการออกพาสปอร์ตวัคซีนให้กับผู้ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนที่กันติดไม่ได้ดีนัก อาจจะเป็นเรื่องที่น่าต้องกลับมาคิดไตร่ตรองอย่างระมัดระวัง 

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา และถ้าเจอตัวที่เจาะทะลุภูมิจากวัคซีนได้หลุดเข้ามาในประเทศ งานจะเข้า 

และด้วยข้อเท็จจริง ที่ฉีดแล้ว โอกาสติดก็ยังมี แถมยังป่วยได้อีก ทำให้หลายคนที่ฉีดวัคซีนรัฐจัดให้แบบครบโดสไปแล้ว เริ่มกังวลและคิดถึงโอกาสที่จะหาวัคซีนมาฉีดเพิ่มเติม เป็นเข็มสาม เข็มสี่ เผื่อจะกันโรคได้มากขึ้น 

จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าฉีดใหม่จะเปลี่ยนค่ายไปฉีดยี่ห้ออื่นที่ดูจะให้ผลในการสร้างภูมิดีกว่านั้นจะทำได้หรือไม่ แล้วผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไร 

  

ริงๆ แนวคิดในการฉีดวัคซีนคนละฝา สองเข็มต่างชนิด ต่างยี่ห้อ หรือที่เรียกว่า Heterologous prime-boost นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ทำกันอยู่แล้วในวงการวัคซีน เพราะถ้าว่ากันตามทฤษฎี การฉีดแบบนี้น่าจะให้ผลดีกว่าการฉีดด้วยวัคซีนแบบชนิดเดียวสองเข็มด้วยซ้ำไป แต่ก็มีความเสี่ยงอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์มากขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น ในกรณีของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งพัฒนาไป ฉีดไป ศึกษาไป จึงไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญคนไหนที่รู้จริง พอที่จะออกมาฟันธงทำนายได้ว่าผลของการกระตุ้นภูมิของการฉีดแบบต่างๆ จะเป็นเช่นไร จะดีจริงหรือไม่ จนกว่าจะมีการทดลองจริงๆ มาแบ๊กอัพ 

แต่ด้วยความจำเป็นในหลายประการ เช่น ภาวะขาดแคลนวัคซีน เพราะในช่วงวิกฤต ทุกประเทศต่างก็ต้องการวัคซีนเหมือนกันหมด ไม่ว่าโรงงานจะเร่งการผลิตให้มากเพียงไรก็ยังผลิตส่งขายไม่ทันอยู่ดี หรือบางวัคซีนแม้จะดูดีไม่มีผลข้างเคียงอะไรในตอนทดลอง แต่พอเอาไปใช้จริง อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์กับคนในบางกลุ่ม จึงอาจต้องมีการเปลี่ยนยี่ห้อหรือแม้แต่ชนิดของวัคซีนไปกลางคันหลังจากฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 

นักวิจัยและแพทย์จากหลายประเทศจึงเริ่มที่จะพิจารณาแนวคิดการฉีดวัคซีนคนละฝา เอาวัคซีนต่างยี่ห้อต่างชนิดมาฉีดให้ผู้รับ ซึ่งถ้าค่ายไหนขาดตลาด อาจจะมีพอฉีดแค่เข็มเดียว ก็อาจจะเร่งระดมฉีดคนให้มากที่สุดไปก่อนเลยหนึ่งเข็ม แล้วค่อยวางแผนสั่งอีกวัคซีนอีกแบบจากอีกค่ายหนึ่งมาฉีดเติมเสริมภูมิเป็นเข็มสองอีกที 

ซึ่งในเวลานี้ ทีมวิจัยจากสถาบันอาหารและยาแห่งชาติ ประเทศจีน (National Institutes for Food and Drug Control, Beijing, PRC) ก็ได้เริ่มทำทดลองฉีดข้ามโดสกันแล้วในหนูทดลอง 

และแน่นอนว่าเมื่อทีมวิจัยมาจากจีน วัคซีนที่เลือกมาจับคู่ตุนาหงันก็คงจะเป็นวัคซีนชาติใดไปไม่ได้นอกจากวัคซีนจงกั๊ว ซึ่งประกอบไปด้วย วัคซีนเชื้อตาย BBIBP-CorV จากซิโนฟาร์ม (Sinopharm) วัคซีนไวรัสเว็กเตอร์ Ad5-nCoV ของแคนซิโน (Cansino) วัคซีนโปรตีนซับยูนิต ZF2001 ของอันฮุย จื้อเฟย หลงเคอ (Anhui Zhifei Longcom) และวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอสัญชาติจีนน้องใหม่จากยูนนานอย่าง ARCoVax 

งานวิจัยนี้เก็บผลการทดลองอย่างละเอียดและได้ทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภูมิคุ้มกันอย่างถี่ถ้วน ทั้งระดับของแอนติบอดี้ต้านไวรัส แลระดับของภูมิที่มาจากการตอบสนองแบบพึ่งเซลล์ (Cell mediated immune response) ซึ่งผลการทดลองที่ได้นั้นน่าตื่นเต้นมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นลำดับในการฉีด หรือแม้แต่ชนิดของวัคซีนที่ฉีด ก็ล้วนมีผลกับระดับของภูมิที่ร่างกายของผู้รับวัคซีนสร้างขึ้นทั้งสิ้น 

พวกเขาพบว่าถ้าเริ่มประเดิมเข็มแรกด้วยวัคซีนไวรัสเว็กเตอร์ แล้วค่อยตามด้วยวัคซีนประเภทอื่น ทั้งเชื้อตาย โปรตีนซับยูนิต หรือเอ็มอาร์เอ็นเอ ผลการกระตุ้นภูมิที่ได้จะดูดีเลิศประเสริฐศรี คนละชั้นเลยเมื่อเทียบกับสองเข็มของวัคซีนแบบไวรัสเว็กเตอร์ หรือวัคซีนเชื้อตาย 

แต่ถ้าเอาไปเทียบกับผลของการฉีดสองเข็มด้วยวัคซีนตัวท็อปอย่างเอ็มอาร์เอ็นเอหรือโปรตีนซับยูนิตก็ต้องบอกว่าใกล้เคียงสูสีหรืออาจจะดีกว่าเล็กน้อย 

แต่อย่าลืมว่างานนี้ยังเป็นแค่การทดลองในสัตว์เท่านั้น ซึ่งแม้จะทำแค่ในหนู แต่ผลของงานวิจัยนี้ก็ได้จุดประกายแนวคิดใหม่ๆ ในการทำ Heterologous prime-boost สำหรับวัคซีนโควิดได้แล้วเป็นอย่างดี 

  

นเวลาเดียวกัน นักวิจัยอีกหลายทีมจากค่ายยุโรปก็กำลังซุ่มทำวิจัยและวิเคราะห์ผลของ Heterologous prime-boost อยู่เช่นกัน แต่ของยุโรปดูจะแอดวานซ์กว่า เพราะการทดลองนั้นข้ามขั้นไปทำในคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

แอสตร้าเซนเนก้าเป็นหนึ่งในวัคซีนเจ้าปัญหาที่โดนหลายประเทศในกลุ่มยุโรปสั่งห้ามใช้ในกลุ่มประชาชนบางกลุ่ม ด้วยการที่วัคซีนจากค่ายแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหนึ่งในวัคซีนหลักของค่ายยุโรป การสั่งห้ามใช้จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบ คือจะได้วัคซีนแค่เข็มเดียว หนทางเดียวที่จะทำให้พวกเขาได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสได้ ก็คือต้องยอมเปลี่ยนค่ายไปฉีดยี่ห้ออื่นแทน 

ในเดือนพฤษภาคม 2021 ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยสาธารณสุขคาร์ลอสที่สาม (Carlos III Health Institute) ในประเทศสเปนได้รายงานผลจากการศึกษาของทีมวิจัย CombiVacS ที่เน้นศึกษาผลการฉีดวัคซีนคนละฝานี่แหละว่าอาสาสมัครที่ได้รับเข็มแรกเป็นวัคซีนไวรัสเว็กเตอร์จากแอสตร้าเซนเนก้า พอได้ฉีดวัคซีนเข็มสองเป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอจากไฟเซอร์ บิออนเทค (Pfizer-BioNTech) ผลการสร้างภูมิที่ตรวจเจอนั้นจะอยู่ในขั้นดีมาก แต่การทดลองของทีมสเปนนั้นเป็นเหมือนการทดลองชิมลาง คือยังไม่ได้มีการนำผลไปเปรียบเทียบกลับกลุ่มควบคุมแบบ Head to Head เช่นเปรียบเทียบกับผลการทดลองที่ได้จากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแบบสองเข็ม 

ทางทีมเผยว่า ถ้าเทียบปริมาณแอนติบอดี้อย่างเดียวที่ขึ้นมาหลังจากฉีดเข็มแรก ปริมาณแอนติบอดี้ต้านไวรัสที่ได้มาหลังเข็มบูสเตอร์ (เข็มสอง) นั้นพุ่งสูงขึ้นมามากถึง 37 เท่าของภูมิเดิม และการตอบสนองทางเซลล์ก็ออกมาดูไม่เลว ผลการทดลองของกลุ่ม CombiVacs พ้องกับผลการทดลองของทีมนักวิจัยอีกทีมจากมหาวิทยาลัยซาร์แลนด์ (Saarland University) ในเยอรมนีเป็นอย่างดี ทีมเยอรมันก็พบเช่นกันว่า การฉีดสองเข็มสองยี่ห้อนั้นให้ผลการกระตุ้นภูมิดีมาก เข้าขั้นเทียบเคียงได้กับผลที่ได้จากการฉีดวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอสองเข็มจากไฟเซอร์ที่ขึ้นชื่อลือชาว่ากระตุ้นภูมิได้ดี และดีกว่าแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็มค่อนข้างชัดเจน 

ปลายเดือนมิถุนายน 2021 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ก็ได้เผยแพร่งานวิจัยของทีมวิจัย Com-COV ของอังกฤษที่ออกมาเป็นหลักฐานช่วยยืนยันอีกครั้งถึงความสำเร็จของแนวคิดการฉีดวัคซีนแบบสองเข็ม คนละฝาแบบนี้ 

แต่แม้ทุกการทดลองที่ตีพิมพ์ออกมาจวบจนถึงปัจจุบันจะตีความได้ไปในแนวทางเดียวกันว่าการฉีดวัคซีนแบบข้ามประเภท ข้ามยี่ห้อ คนละฝาแบบนี้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในการกระตุ้นภูมิ และน่าจะเป็นโปรโตคอลที่เราควรใช้ต่อไปในอนาคต 

ทว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน และเป็นที่น่ากังวล 

  

ระเด็นแรกก็คือ จำนวนอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมทดลองการฉีดแบบนี้ยังถือว่าน้อยนัก น้อยเกินกว่าจะเจอผลข้างเคียงที่พบได้ยากอย่างการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน (vaccine-induced prothrombotic immune thrombocytopenia, VIPIT) หรืออาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) จากวัคซีน อาการเหล่านี้มักจะพบได้แค่เมื่อเอาไปใช้จริงในคนกลุ่มใหญ่แล้วเท่านั้น ดังนั้น เรื่องผลไม่พึงประสงค์จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง 

อีกหนึ่งประเด็นที่คงจะบอกได้ยากนอกจากจะมีการทดลองต่อไปอย่างละเอียด ก็คือ วัคซีนคู่ไหนที่จะดีที่สุด และดีที่สุดสำหรับบุคคลในกลุ่มไหน และต้องฉีดอย่างไร เพราะทั้งลำดับการฉีด และชนิดของวัคซีนส่งผลอย่างเห็นได้ชัดต่อความสามารถในการกระตุ้นภูมิต้านโรค 

และสิ่งสำคัญที่ยังต้องติดตามค้นหาต่อไป ก็คือภูมิ หรือปริมาณแอนติบอดี้ที่ดูพุ่งขึ้นสูงจริงๆ นั้น ขึ้นแล้วจะอยู่ยง ยาวนานสักแค่ไหน…เพราะถ้าขึ้นไว แต่ไปเร็ว ฉีดแล้วยังติดได้ ก็อาจจะเป็นปัญหาได้เหมือนกัน และถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็อาจจะต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่าจะเริ่มเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรดี 

อย่างไรก็ตาม นี่คือก้าวแรกที่ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่เปิดฉากได้อย่างสวยงาม แม้จะยังมีสิ่งที่ต้องค้นหาต่อไปอีกมากกว่าที่เราจะเข้าใจกลไกอันซับซ้อนของการสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสได้ 

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดแบบทะลุกรอบแบบนี้แหละ ที่อาจจะเปลี่ยนวิธีและแนวทางในการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่อาจจะช่วยนำพาพวกเราให้ไปถึงจุดสิ้นสุดของวิกฤตการณ์แห่งโรคระบาดในครั้งนี้ได้ก็เป็นได้ 

เพื่อที่วิถีชีวิตอิสระแบบวันก่อนๆ จะได้ย้อนกลับคืนมาเสียที